แนวคิดจัดการ Work & Travel อย่างปลอดภัย


บันทึกนี้ตอนแรกเขียนเป็นความเห็นในบันทึก ลูกรักในมหานครกับก้าวใหม่ด้านการบริหารจัดการ(2) ของพี่ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี แล้วเห็นว่าเนื้อความน่าคิด น่าจะเขียนเป็นบันทึกเลยมากกว่า เลยยกมาเขียนเป็นบันทึกครับ

ผมเคยคิดไว้ก่อนหน้านี้ว่า Work & Travel เป็นแนวคิดที่ดี เพราะการที่เด็กได้ออกไปเจอโลกกว้างที่แตกต่างจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองนั้นทำให้เด็กได้เติบโตทางความคิดมากขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

โบราณว่า "เดินทางพันลี้ ดีกว่าการอ่านหนังสือหมื่นเล่ม" คำนี้จริงอย่างแน่นอนที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เดินทางกับกรุปทัวร์แล้วไม่อ่านหนังสือ เหมือนที่หลายคนพยายามแปล แต่หมายถึงการเดินทางด้วยตัวเองเพื่อเรียนรู้และอ่านหนังสือเพื่อให้เข้าใจ คือทั้งเดินทางและทั้งอ่านนั่นเอง

การศึกษาของหลายประเทศให้ความสำคัญกับการเผชิญโลกของเด็กวัยรุ่นมาก ยกตัวอย่างเช่นประเทศอังกฤษจะมี Gap Year ให้เด็กได้ไปเจอโลกก่อนจะมาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อเขาจะได้รู้ว่าเขาอยากเป็นอะไรและอยากทำอะไรต่อไปในอนาคต

แต่เท่าที่ผมสังเกต เด็กไทยเราไม่ได้มีความเป็นผู้ใหญ่เท่ากับเด็กอังกฤษ สังคมเราไม่ได้สอนการเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุน้อยๆ ดังนั้นการจะปล่อยให้เด็กไปเผชิญโลกด้วยตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย

สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้นั้นมีความเสี่ยงสูงเพราะธุรกิจนี้อยู่ในมือเอกชนเป็นหลัก ถ้าเจอบริษัทที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าเจอบริษัทที่มีปัญหานั้นก็เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว

ยิ่งกว่านั้นการควบคุมคุณภาพของบริการเหล่านี้ก็ไม่มีระบบ ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นกลไกที่สำคัญสำหรับกระบวนการด้านการศึกษาอย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้น

สมัยผมเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ จะมีจดหมายประทับตราด่วนและสำคัญมากจาก ศธ. เรื่องปัญหาของบริษัท Work & Travel อ่านแล้วใจหาย แต่อย่างน้อยก็ได้รู้ว่า ศธ. รู้ว่าปัญหานั้นมี ได้แต่คาดหวังว่า ศธ. ก็คงต้องพยายามแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว

ผมไม่ได้ติดตามว่า ศธ. ได้ดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ในบันทึกนี้ผมจะลองคิดดูว่าจะทำอย่างไรดีที่จะให้โครงการอย่าง Work & Travel ได้เกิดประโยชน์มากและอันตรายน้อย?

ผมมีความคิดดังนี้ครับ

มหาวิทยาลัยเอกชนใหญ่ๆ ที่เชี่ยวชาญเรื่องจัดการธุรกิจอยู่แล้วควรจะเปิดบริการส่วนนี้เป็นธุรกิจเสริมเพื่อให้บริการแก่นักศึกษาของตนเอง และยังสามารถดึงลูกค้าบางส่วนมาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐได้ด้วย

ม.เอแบค, ม.กรุงเทพ, ม.รังสิต, ฯลฯ น่าจะมีศักยภาพที่ทำได้ไม่ยากครับ

ส่วนมหาวิทยาลัยรัฐที่ไม่ถนัดเรื่องธุรกิจก็ควรจะจะลงทุนร่วมกันตั้งบริษัทให้บริการ ผมคิดว่าในเวลานี้ถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยของรัฐจะต้องเริ่มมีบริษัทธุรกิจเป็นของตัวเองแล้วครับ

ที่จริงแล้วบริษัทจากการร่วมทุนของมหาวิทยาลัยรัฐนี้จะแข็งแรงมาก เพราะสามารถส่งนักศึกษาไปยังมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มี MOU กับมหาวิทยาลัยของรัฐได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็คงเต็มใจร่วมมืออยู่แล้วครับ ในยุคที่เศรษฐกิจเช่นนี้ เขาเองก็ย่อมอยากจะได้รายได้เสริมจากต่างชาติเช่นเดียวกัน

แต่อย่างไรบริษัทเอกชนก็จะไม่ได้หายไป ดังนั้นเราต้องจัดการเรื่องระบบควบคุมคุณภาพบริษัทเหล่านี้ครับ เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนเรื่องแรกที่จะรีบทำด้วยซ้ำครับ

เรามีการควบคุมคุณภาพบริษัททัวร์ และควบคุมคุณภาพโรงเรียนเอกชน ผมคิดว่าบริษัทที่ให้บริการ Work & Travel นี้เข้าข่ายเป็นทั้งบริษัททัวร์และโรงเรียนเอกชนในเวลาเดียวกัน ดังนั้นย่อมต้องมีการควบคุมคุณภาพครับ

ส่วนการควบคุมจะเป็นอย่างไรนั้นก็คงต้องคิดกันต่อไป แต่ผมเชื่อว่าหากรอภาครัฐดำเนินการนั้นก็คงช้า คนที่จะทำได้เร็วคือมหาวิทยาลัยของรัฐลงขันร่วมมือกันทำ "โครงการรับรองคุณภาพ" (accredited program) ขึ้นมา ผู้บริโภคจะได้รู้ว่ามีบริษัทไหนบ้างที่ผ่านการรับรอง บริษัทไหนที่ไม่ผ่าน ซึ่งผู้บริโภคนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น คือผู้ปกครองและนักศึกษาซึ่งเป็นลูกหลานของเรานั่นเอง

ผมเชื่อว่าถ้าเราเห็นความสำคัญของ Work & Travel โครงการเหล่านี้จะจัดทำได้อย่างรวดเร็วทีเดียวครับ

หมายเลขบันทึก: 484442เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2012 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

..ตรงนี้เห็น..จริงๆๆๆ..ด้วย..เดินทางหมื่นลี้..ดีกว่าอ่านหนังสือ..หมื่นเล่ม..(เพราะ...เวลาที่ผ่านๆไปชีวิตที่เหมือนการเดินทางเรียนรู้ได้ดีกว่า..หนังสือ..ซื้อมากอง.ซึ่ง.ไม่มีเวลาและ..สมาธิจะอ่าน..อ้ะ)..ยายธี

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • เห็นด้วยค่ะน่าจะมีการบริหารจัดการ Work & Travel ภายในสถาบันการศึกษา เหมือนที่พยายามใช้คอนเซปท์  Play & Learn หรือเรียนรู้แบบบูรณาการ  หรือ ที่มีทุนระดับมหาวิทยาลัยแลกเปลี่ยนไปเรียนหนังสือในต่างประเทศ 1 ปี แล้วเทียบเกรดได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้เบาใจ เด็กวัยนี้อยากเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้บ้าง อะไรที่ไม่ต้องเครียดต้องสอบให้ผ่านในปลายภาคนะคะ แต่ประสบการณ์ที่ได้รับเป็นประสบการณ์ชีวิตนำไปปรับใช้ได้เมื่อจบการศึกษาออกไป
  • มหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว มีคณะ สาขาวิชาที่เอื้อต่อการบริหารจัดการ ต้องเลี้ยงตัวเอง น่าจะฉกฉวยโอกาสนี้ไปทำ จะดีไหมคะ

ไหนๆๆก็ไหนๆแล้ว เริ่มที่เกษตรฯเลยดีไหมครับ 555

ถ้าตั้งบริษัทโดยเก้ามหาวิทยาลัยวิจัยไทยลงทุนมหาวิทยาลัยจะล้าน บริษัทนี้ก็มีทุนตั้งต้นดำเนินการเลี้ยงตัวเองอยู่ได้แน่ๆ แล้วครับ หนึ่งล้านบาทต่อมหาวิทยาลัยนี่คุ้มมากเมื่อเทียบกับความปลอดภัยของนักเรียนนักศึกษาครับ

ผมคิดว่าน่าจะมีส่วนนับเกรดได้ด้วย เป็นวิชา "สหกิจศึกษา" เหมือนกับหลายๆ หลักสูตรที่มีสหกิจศึกษาหนึ่งภาคเรียน (โดยปกติปีสี่เทอมสอง) ครับ

ตอนญี่ปุ่นและฟินแลนด์มาค่าย เหมือนดูแลทั้งหมดเลยครับ

เรื่องที่เกิดขึ้นกับ Work and travel เป็นประสบการณ์มากให้เราเช่นกันค่ะ สมาคมจิตอาสาเรามีโครงการส่งคนไทยไปเป็นอาสาสมัครที่ต่างประเทศ แต่ปีนึงนี่น้อยมาก เพราะไม่มีโอกาสได้ประชาสัมพันธ์มากนัก ทั้งเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนไทย มากกว่าไปทำงานเลี้ยงเด็ก หรือนักเรียนแลกเปลี่ยน ที่สำคัญศักยภาพของคนไทยที่สนใจจะไปนั้นเป็นเรื่องที่น่าวิตก ปีหนึ่ง ๆ องค์กรเวียดนามในเครือข่ายของเราส่งคนเวียดนามไปมากกว่าคนไทยมากกว่า 200 เท่า

ภาษาและวุฒิภาวะ คือเรื่องใหญ่ที่เมื่อเกตสัมภาษณ์แล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่ปล่อยให้ไป เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นภายหลังนี่ แทนที่จะเริ่มต้นสวย กลายเป็นจบเสียก่อนเริ่มต้นเลยค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท