๒๙๓.งานวิจัย:การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกฯ ตอน ๒


วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาวในยุคโลกาภิวัตน์

  2. เพื่อศึกษากิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาวในยุคโลกาภิวัตน์

    1. เพื่อศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพระพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชชายแดนไทย-ลาวในยุคโลกาภิวัตน์

  3. เพื่อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนานำไปเป็นแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาว

 

สมมติฐานการวิจัย

1.  บทบาทการมีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาเชิงรุกของประชาชนในชุมชนชายแดนไทย-ลาว ไม่แตกต่างกัน

                2.   ปัจจัยส่วนบุคคล  และกิจกรรมการมีส่วนร่วมมีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาเชิงรุกของประชาชนในชุมชนชายแดนไทย-ลาว

 

วิธีดำเนินการวิจัย

                      วิธีดำเนินการวิจัยครั้งนี้  ผู้วิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิโดยใช้การวิจัยประยุกต์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เป็นการวิจัยที่ทำการศึกษาสภาพต่าง ๆ ตามที่เป็นอยู่โดยผู้วิจัยไม่ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะได้ศึกษาดูผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว ด้วยเทคนิควิธีวิจัยแบบตัดขวาง (Cross-sectional Design)

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 

การศึกษาครั้งนี้  ได้กำหนดประชากรที่จะศึกษาดังนี้

     1. ประชาชนชาวพุทธที่อาศัยอยู่ในชุมชนชายแดนไทย-ลาว อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา  ประเทศไทย จำนวน 123,986  ครอบครัว และเมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 101,000  ครอบครัว  รวมทั้งหมด 224,986 ครอบครัว ซึ่งได้กลุ่มตัวอย่างประเทศละ 399 ครอบครัว รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 798 ครอบครัว

     2. พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เผยแผ่ในเมืองพะเยา  จังหวัดพะเยา  ประเทศไทยและเมืองหลวงพระบาง  แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้วิจัยทำการกำหนดคุณสมบัติซึ่งประกอบด้วย เป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก เป็นพระที่ประชาชนให้การเคารพนับถือ และเป็นพระที่มีแนวคิดด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งฝั่งไทยได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 25 รูป ฝั่งลาวได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 14 รูป รวมทั้งสิ้น 39 รูป

     3. บุคลากรในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเชิงรุกในอำเภอเมือง  จังหวัดพะเยา ประเทศไทย และเมืองหลวงพระบาง  แขวงหลวงพระบาง  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้วิจัยทำการกำหนดคุณสมบัติซึ่งประกอบด้วย เป็นบุคคลผู้ที่ทำหน้าที่จัดกิจการทางพุทธศาสนา และเป็นบุคคลที่ทำงานในสังกัดของหน่วยงานเกี่ยวข้องทางพุทธศาสนา ซึ่งฝั่งไทยได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 25 คน ฝั่งลาวได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 14 คน รวมทั้งสิ้น 39 คน              

 

เครื่องมือการวิจัย   

เครื่องมือหลักที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  ได้แก่

     1.เชิงปริมาณ   เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 1  ฉบับ คือ แบบสอบถามการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนประเทศไทย – ลาว  เป็นแบบสอบถามที่ได้ปรับปรุงข้อคำถามจากแบบสอบถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ มาเป็นแบบสอบถามเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ข้อคำถามมาจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามมาตรวัดและนิยามปฏิบัติการของตัวแปรอิสระและตัวแปรตามที่ต้องศึกษาลักษณะคำถามเป็นคำถามปลายปิด (Closed-ended  Questions) และคำถามปลายเปิด (Open-ended Questions) โดยพิมพ์เป็นภาษาไทย  1  ฉบับและภาษาลาว  1  ฉบับ

                2.เชิงคุณภาพ  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ  ได้แก่  แบบสังเกต  แบบสัมภาษณ์  และสมุดบันทึกประจำวัน

 

การจัดทำกับข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล

                1. ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนาด้านการมีส่วนร่วม ด้วยการหาค่าความถี่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย  t-test  และ  F-test  การทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

                2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ  ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา  (Content  Analysis)จากการบันทึก  การเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามทางมานุษยวิทยา ที่ได้บันทึกไว้ตั้งแต่ผู้วิจัยเข้าสู่สนามวิจัย จนออกจากสนามวิจัยและการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ระหว่างการเก็บข้อมูลจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำไปพร้อม ๆ กันเพื่อนำผลการวิเคราะห์มาปรับแนวคิด เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล  การลงรหัส  จัดหมวดหมู่ของข้อมูล  ตัดทอนข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป  และมีการตรวจสอบซ้ำเพื่อยืนยันสรุปผลด้วยการตรวจสอบแบบสามเส้า  จากการสอบถามหัวหน้าครอบครัว  พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เผยแผ่  และบุคลากรขององค์การที่เกี่ยวข้องต่อพุทธศาสนา  ก่อนนำเสนอในการเขียนรายงานผลการวิจัย

 

สรุปผลการวิจัย

     จากการศึกษาครั้งนี้สามารถกำหนดพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย ได้พุทธศาสนาเชิงรุกใน 3 ด้าน 15 รูปแบบ ดังนี้  ด้านการเผยแผ่ 1.เขียนหนังสือ  2.บรรยายธรรม  3.สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน  4.จัดรายการวิทยุ  5.ให้คำปรึกษา  ด้านการศึกษาสงเคราะห์  6.ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  7.โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี  8.อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น  9.เยาวชนต้นกล้า  10.สถาบันการศึกษา  ด้านการสาธารณสงเคราะห์  11.การอนุรักษ์ป่า  12.การพัฒนาสังคม  13.การผลิตยาสมุนไพร  14.การสะสมทรัพย์  15.ประสานญาติโยม

     ส่วนพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนลาว  ได้พุทธศาสนาเชิงรุกใน 3 ด้าน 9 รูปแบบ ดังนี้

     ด้านการเผยแผ่  1.รุกด้วยการเผยแผ่พุทธศาสนาผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์  2.รุกด้วยการฝึกอบรมเข้าค่ายพุทธบุตร  3.รุกด้วยการเขียนหนังสือ  4.รุกด้วยการตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน  พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการศึกษาสงเคราะห์  5.รุกด้วยการตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม  6.รุกด้วยการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม  พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการศึกษาสงเคราะห์  7.รุกด้วยการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ  8.รุกด้วยการพัฒนาสังคม  9.รุกด้วยการประสานญาติโยม

 

     ดังนั้น จึงสรุปตามวัตถุประสงค์ข้อที่  1 การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาวในยุคโลกาภิวัตน์  พบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกมี 3  ด้านคือด้านการเผยแผ่ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ รายละเอียด ดังนี้

      ด้านการเผยแผ่  ในภาพรวมประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับมาก โดยประเทศไทย พบว่ารุกในด้านการรับฟังความคิดเห็น รองลงมา ความร่วมมือ และการเสริมอำนาจแก่ประชาชน ในส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบในด้านความร่วมมือ รองลงมา การรับฟังความคิดเห็น และการเสริมอำนาจแก่ประชาชน

     ด้านการศึกษาสงเคราะห์  ในภาพรวมของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับปานกลาง โดยประเทศไทย พบว่ารุกในด้านการได้รับข้อมูลข่าวสาร รองลงมา ด้านการเกี่ยวข้อง และด้านการรับฟังความคิดเห็น เท่ากับด้านการร่วมมือ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รุกในด้าน การได้รับข้อมูลข่าวสาร รองลงมาการรับฟังความคิดเห็น และด้านความร่วมมือ

     ด้านการสาธารณสงเคราะห์  ในภาพรวมของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับ ปานกลาง โดยประเทศไทย พบว่ารุกในด้านการรับฟังความคิดเห็น รองลงมา ด้านการเกี่ยวข้อง และด้านการได้รับข้อมูลข่าวสารเท่ากับด้านความร่วมมือ ในส่วนสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว รุกในด้านการรับฟังความคิดเห็นเท่ากับด้านการเกี่ยวข้อง รองลงมา ด้านการรับข้อมูลข่าวสาร เท่ากับด้านการเสริมอำนาจแก่ประชาชน และด้านความร่วมมือ มาก าธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับปานกลาง

                สรุปตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ศึกษากิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพระพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาวในยุคโลกาภิวัตน์ พบว่า กิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาว ในยุคโลกาภิวัตน์ มี  4  กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย กิจกรรมกุศลพิธี กิจกรรมทานพิธี กิจกรรมบุญพิธี และกิจกรรมปกิณกะ รายละเอียด ดังนี้

     กิจกรรมด้านกุศลพิธี ในภาพรวมของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับ รู้แต่ไม่เข้าใจ เมื่อแยกเป็นรายข้อ พบว่าประเทศไทยรู้และเข้าใจในการปฏิบัติธรรม รองลงมา รู้และเข้าใจในการรักษาอุโบสถศีล (ศีล  8) และ  รู้และเข้าใจในการไหว้พระสวดมนต์   ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รู้และเข้าใจในการปฏิบัติธรรม รองลงมารู้และเข้าใจในการเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และรู้และเข้าใจในการรักษาอุโบสถศีล (ศีล 8)

      กิจกรรมด้านทานพิธี ในภาพรวมของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับ รู้แต่ไม่เข้าใจ เมื่อแยกเป็นรายข้อพบว่า ประเทศไทยรู้และเข้าใจด้านการทำบุญตักบาตรเท่ากับการทำบุญในวาระมงคลต่าง ๆ เช่น ทำบุญวันเกิด เป็นต้น รองลงมา การรู้และเข้าใจในการมอบทุนการศึกษา และรู้และเข้าใจในการทำบุญถวายภัตตาหาร ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รู้และเข้าใจในการทำบุญตักบาตร รองลงมารู้และเข้าใจในการมอบทุนการศึกษา และรู้และเข้าใจในการทำบุญผ้าป่า

     กิจกรรมด้านบุญพิธี ในภาพรวมของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับ รู้แต่ไม่เข้าใจ เมื่อแยกเป็นรายข้อพบว่า  ประเทศไทย รู้และเข้าใจในงานทำบุญเลี้ยงพระ รองลงมา รู้และเข้าใจในการปล่อยนก ปลา และรู้และเข้าใจในการไถ่ชีวิตโคกระบือ ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบว่า รู้และเข้าใจในงานขึ้นบ้านใหม่ เท่ากับรู้และเข้าใจในงานทำบุญอัฐิ รองลงมา รู้และเข้าใจในงานมงคลสมรส และรู้และเข้าใจในการทำบุญเลี้ยงพระ (ทั้งในงานมงคลและอวมงคล)

     กรรมด้านปกิณกะ ในภาพรวมของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับ รู้แต่ไม่เข้าใจ เมื่อแยกเป็นรายข้อพบว่าทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รู้และเข้าใจในวิธีการประเคนของถวายพระ รองลงมา วิธีการทำหนังสืออาราธนาและทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัยแก่พระ และวิธีการการไหว้-กราบพระ

 

หมายเลขบันทึก: 483994เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท