“เปิดบันทึกการเดินทางเรียนรู้กับสิ่งที่ไม่เคยรู้”


เช้าตรู่กับการเดินทางลงภาคใต้ ที่ขึ้นชื่อว่าชายแดนใต้ครั้งแรกของผู้เขียน เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินหาดใหญ่

เช้าตรู่กับการเดินทางลงภาคใต้ ที่ขึ้นชื่อว่าชายแดนใต้ครั้งแรกของผู้เขียน เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินหาดใหญ่ ผู้คนพลุกพล่านและการแต่งกายแปลกตาออกไปจากที่คุ้นเคยในกรุงเทพ เมื่อขึ้นรถตู้ที่โรงพยาบาลละงูส่งมาเพื่อรับคณะเดินทาง รถเคลื่อนออกจากสนามบิน บรรยากาศสองข้างทางยิ่งแปลกตาออกไปมากขึ้น มีผู้หญิงใส่ฮิญาบ ผู้ชายใส่กะปิเยาะห์ (สอบถามมาจากผู้รู้อีกที) จำนวนมากเดินไปมาในที่ชุมชน ตลอดระยะเวลาการเดินทางมองเห็นทั้งสวนยางและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ยังมีมาก มองได้ไม่มีเบื่อ จนเวลาผ่านไปสักชั่วโมง ก็มาถึงตลาดก่อนอยู่ก่อนถึงตัวอำเภอละงู ที่นี่คณะเราแวะทานอาหารเช้า เป็นข้าวหมูแดง หมูกรอบและโรตี ชาชัก ของขึ้นชื่อของที่นี่ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปที่โรงพยาบาลละงู จ.สตูล เพื่อร่วมศึกษาดูงานของโรงพยาบาล ทีมงานเดินทางไปถึงเวลาราว 10 โมงเช้า  ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากทีมงานของโรงพยาบาลนำโดยผู้อำนวยการ พาเข้าไปเยี่ยมชมสภาพภายในโรงพยาบาล  ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากมาตรวจรักษา จากนั้นคณะผู้นำ คศน.พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในห้องประชุมของโรงพยาบาลเกี่ยวการดำเนินงานของโรงพยาบาล วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชุนรอบๆ โรงพยาบาล ที่มีการปลูกผักปลอดสารพิษ มาจำหน่ายที่ตลาดภายโรงพยาบาล และการช่วยเหลือฟื้นฟูกำลังใจของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ให้กลับเข้าสู่สังคมได้ บรรยากาศการแลกเปลี่ยนพูดคุย เป็นไปด้วยความอบอุ่นและมิตรภาพ เจ้าภาพจัดอาหารว่างช่วงพัก เป็นขนมขึ้นชื่อของเมืองสตูลชื่อบุหงาปูดะรสชาดอร่อยมาก

ช่วงบ่ายก็ได้มีการคุยต่อเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบในการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบาราเนื่องจากความไม่ชัดเจนของโครงการ การศึกษาถึงผลกระทบของพื้นที่ และชาวบ้านที่อยู่อาศัยรอบบริเวณที่จะก่อสร้าง ทั้งนี้ทางคณะผู้เดินทางได้แนะนำเกี่ยวกับเรื่องแนวทางในการศึกษาหาผลกระทบและการนำเสนอให้ทางหน่วยงานรัฐบาลว่าต้องเข้าถึง เนื่องจากปัจจุบันกระแสในการให้ยุติการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราค่อนข้างได้ยินน้อย ต้องมีการขับเคลื่อนมากกว่านี้ ก่อนที่จะลงดูพื้นที่จริงในวันรุ่งขึ้น และจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมการทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปากน้ำ และพบปะแกนนำซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ HIV แต่สามารถกลับสู่สังคม ทำประโยชน์โดยการเป็นคุณครูถ่ายทอดการจักสานตะกร้าหวายให้กับกลุ่มสตรีพื้นบ้านที่อยู่ในพื้นที่ เสร็จจากดูงานแล้วเข้าที่พักและรับประทานอาหาร หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยเตรียมความพร้อม ซักซ้อมประเด็นกันก่อนที่จะไปดูพื้นที่ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในวันรุ่งขึ้น

 

เช้าวันที่สองของการเดินทาง ทางคณะได้เดินทางไปดูพื้นที่ที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งการก่อสร้างต้องมีการขนดินเพื่อถมทะเลเป็นบริเวณกว้างประมาณ 300 สนามฟุตบอล และอยู่ลึกลงไปในทะเลประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างอาจจะส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกหลายอย่าง เช่น ผลกระทบต่อชาวบ้านในเรื่องของการก่อสร้าง การสะสมของสารพิษ พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติที่มีหญ้าทะเลในบริเวณนี้เป็นจำนวนมากเป็นแหล่งอาหารของพยูน

 

จากนั้นได้เดินทางไปเกาะหลีเป๊ะ เพื่อเยี่ยมชม รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ ที่ทางคณะขนานนามกันเองว่า “รพ.สต. นานาชาติ” เนื่องจากผู้มารักษามีทั้ง คนไทย พม่า ฝรั่ง เป็นจำนวนมาก หลังจากที่จบการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันที่ รพ.สต.หลีเป๊ะ เดินลงมาที่ชั้นล่างปรากฏว่ามีผู้ป่วยที่รอรักษาอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นมีผู้ป่วยชาวพม่า มีอาการบริเวณข้อมือบวมอักเสบ ผู้นำ คศน.ในคณะ คือ นายแพทย์ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย ได้เข้าไปตรวจและลงมือรักษาผู้ป่วยโดยการผ่าตัดกันเองเลยทีเดียว   นอกจากนั้นยังให้การรักษาคนไข้ชาวต่างชาติที่ล้มป่วยระหว่างการเดินทางมาที่เกาะหลีเป๊ะด้วย

 

หลังจากนั้นคณะได้ออกไปศึกษาชีวิตของชาวเลที่ยังคงทำการประมงกันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากปัจจุบันมีกลุ่มนายทุนได้เข้ามาสร้างรีสอร์ท ทำให้มีการลุกล้ำที่ดินบริเวณชายหาด ชาวเล ซึ่งเป็นชาวเกาะแท้จริงบางคนไม่มีที่อยู่อาศัย โดยต้องอาศัยนอนกับพื้นที่หน้าหาด หรือบางส่วนก็ต้องหนีไกลเข้าไปบริเวณแถบชายเขามากขึ้นไปอีก สังเกตดูชีวิตของคนที่นี่มีค่าครองชีพสูง เพราะปัจจุบันได้พัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำให้มีความเจริญเพิ่มเข้ามา ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตจึงเปลี่ยนไป

 

การเดินทางไปพูดคุยกับผู้นำชุมชนและผู้ป่วยโรคน้ำหนีบซึ่งในปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ในเกาะ จำนวน 20 คน โรคนี้เกิดจากผู้ป่วยได้ดำน้ำลึกมากกว่า 30 เมตรเป็นระยะเวลานาน และขึ้นมาบนผิวน้ำด้วยความเร็ว ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ทำให้ก๊าซไนโตรเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอากาศที่หายใจเข้าไปที่ละลายอยู่ในกระแสเลือด เมื่อขึ้นมาสู่เหนือน้ำกะทันหันโดยที่ไม่ได้ดำไต่ระดับให้ก๊าซไนโตรเจนออกจากร่างกาย จึงเสมือนเปิดขวดโซดา ก๊าซในกระแสเลือดกลายเป็นฟองอากาศเล็กๆ  เมื่อมันเคลื่อนไปอุดเส้นเลือดที่เลี้ยงอวัยวะใดก็เกิดอันตราย ณ จุดนั้น อาทิเช่น ที่ข้อก็ปวดข้อ ที่ไขสันหลังก็เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างหรือแข็งขาลีบ ที่หัวใจก็หัวใจขาดเลือดถึงหัวใจวายตายได้ ที่สมองก็จะสมองขาดเลือดถึงพิการหรือตายได้ คนที่ได้พบเจอเคยเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ หลังรักษาหายจะมีรอยโรค หลงเหลืออยู่ มีอาการเดินเซๆ เหมือนเป็นอัมพฤกษ์

 

เมื่อก่อนชาวบ้านเชื่อว่าเกิดจากผีน้ำจะมาเอาชีวิต แต่ปัจจุบันจะทราบวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกันมากขึ้น โดยเมื่อรู้ตัวว่ามีอาการของโรคน้ำหนีบ คือ เมื่อขึ้นมาจากน้ำแล้วเกิดอาการมึนงง วูบวาบ ชา ปวดตามข้อ และปวดลึกๆ แต่ไม่มาก  จะต้องรีบแก้ไข โดยหายใจลึกแล้วการกระโดดลงไปในน้ำที่มีความลึกประมาณ 10 เมตร แล้วค่อยๆ ลอยตัวขึ้นเพื่อเป็นการปรับสภาพก๊าซไนโตรเจนในร่างกาย ก่อนที่จะใส่เครื่องช่วยหายใจและนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

จากนั้นคณะมีโอกาสได้เดินดูบริเวณรอบๆ อุทยานหมู่เกาะตะรุเตายังคงความสวยงามอยู่ แต่การส่งเสริมท่องเที่ยว ทำให้มีนักท้องเที่ยวเข้ามา พบว่ามีขยะและปะการังใต้น้ำเริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากระบบพิทักษ์ดูแลไม่ดีพอ นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการก็ควรที่จะมีจิตสำนึกในการที่จะช่วยในเหลือกันในส่วนนี้ด้วย  ในหมู่เกาะ ยังมีเกาะหินงาม  ตามตำนาน (ของผู้ประกอบการ) กล่าวว่า ให้เรียงหินให้ได้ 13 ชั้น อธิษฐานแล้วจะสมหวัง

 

นักอนุรักษ์บอกว่าจุดนี้เมื่อนำหินก้อนใหญ่จากหน้าหาดเข้ามาด้านในมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้น้ำทะเลซัดหินก้อนเล็กที่หน้าหาดหายลงทะเลไปหมด และต่อไปในอนาคตก็จะไม่มีหินงามให้ชื่นชมกันอีก  อีกเกาะหนึ่ง คือเกาะยางจุดนี้เคยมีปะการังที่สวยงามแต่ปัจจุบันปะการังได้เกิดการฟอกสีและตายลงไปเป็นจำนวนมาก เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำทาครีมกันแดด ทำให้เกิดการละลายของครีมกันแดดลงไปในน้ำ  ซึ่งมีผลกระทบทำให้ปะการังผลิตเมือกเหนียวออกมาและเกิดการฟอกสี กลายเป็นสีขาว และตายลงไปในที่สุด

 

ที่สำคัญเกาะหลีเป๊ะ เปิดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันตลอดทั้งปี ประมาณ 2 ปีแล้ว ทำให้มีการเติบโตของรีสอร์ทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าเสียดายที่วิถีชีวิตของชาวบ้านและธรรมชาติจะเปลี่ยนไปจากเดิม

กลับสู่ฝั่งเดินทางไปเยี่ยมชม รพ.สต.น้ำผุด ก่อนที่จะเดินทางไปต่อเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชนเผ่าซาไก ที่อำเภอมะนัง จังหวัดสตูลต่อ ที่นี่บรรยากาศจะเปลี่ยนไปจากเดิม มีภูเขา ต้นไม้ และน้ำตก บรรยากาศระหว่างนั่งรถขึ้นเขามีฝนตกสลับกับแดดออกตลอดเส้นทาง จนมาถึงจุดนัดพบ “ป๋านึง” ซึ่งเป็นคนคอยดูแลและช่วยเหลือมานิกกลุ่มนี้ หรือที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยเรียกขานกันในนามซาไก คนชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยติดแผ่นดินไทย

 

ป๋านึงเล่าว่าปัจจุบันมีซาไก เหลืออยู่ในแผ่นดินไทยประมาณ 400 คน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ซาไกกลุ่มนี้เข้ามาทำความคุ้นเคยและรู้จักประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา โดยป๋านึงเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่ และสามารถช่วยเหลือให้มีทะเบียนบ้านได้จำนวน 6 คน และจดทะเบียนสมรส 4 คน เพื่อที่จะได้มีสิทธิในแผ่นดินไทย ตอนที่คณะเราไปถึงป๋านึงให้คนไปเรียกซาไกเพื่อให้เข้ามาร่วมพูดคุย เกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ทางซาไกได้ปิดบ้านหนีและหายขึ้นไปบนเขาโดยไม่ยอมลงมาเนื่องจากกลัวคนเมืองที่มาหลายคน แต่หลังจากที่ขึ้นไปแจ้งอีกครั้งว่าเรามาดี และมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความต้องการ ทางซาไกก็ยอมลงมาร่วมพูดคุยด้วย ทั้งหมดจำนวน 18 คน

 

 

จากการที่ได้พูดคุย  ทำให้ทราบว่าซาไกกลุ่มนี้ได้ส่งลูกชายเรียนหนังสือ จำนวน 2 คน และสามารถเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาไทยได้ ทุกคนที่มาล้วนไม่กล้าสบตาและพยายามหลบหน้าคนกรุง มีเพียงนายไข่ ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มที่สามารถตอบโต้เป็นภาษาใต้และพูดคุยกับคนที่ไปเยี่ยมได้ โดยบอกถึงความต้องการของตนว่า ปัจจุบันโดนลุกล้ำที่ดินที่อยู่อาศัย ทำให้ต้องหนีลึกขึ้นป่าขึ้นเขาไปอีก สิ่งที่ทางกลุ่มอยากได้คือที่ดินที่อยู่ เมื่อมาถึงจุดนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงการลุกล้ำสิทธิและความชอบธรรมบนถิ่นที่อยู่อาศัย มีการเอาเปรียบ เห็นแก่ได้ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ในลักษณะที่ผู้แข็งแรงกว่าได้เปรียบและเบียดเบียน กันในสังคมไทยที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ ทำให้รู้สึกอ่อนล้าอยู่ในใจ

 “4 วันที่ของการเดินทางเรียนรู้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้รับรู้ได้ถึงความรู้สึกอะไรหลายอย่าง ว่ามันหนักแค่ไหนในใจ พลังใจในการทำงานคืออะไร ขอขอบคุณผู้ร่วมเดินทางทุกท่าน ที่ทำให้ได้เดินทางเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน”

 

หมายเลขบันทึก: 483752เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2012 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คศน. ชื่อนี้ไม่คุ้น มาได้ยินครั้งแรกจากบันทึกนี้

นับว่าโชคดีที่ได้รู้จักเครือข่ายนี้

สตูล -พัทลุงไม่ไกลกันครับ

เช่นกันค่ะ ติดตามอ่านบันทึกได้เรื่อยๆ นะค่ะ

 

 

...“เปิดบันทึกการเดินทางเรียนรู้กับสิ่งที่ไม่เคยรู้”..... ดีมาก+ดีจังเลย

ทำให้รับรู้....ได้ถึงความรู้สึกอะไรหลายอย่าง... ทั้ง...หนักในใจ ...และ...มีพลังใจในการทำงานว่าคืออะไร

- ขอบคุณมากค่ะ


มาตามคำเชิญครับกำลังติดตามครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท