๒๘๔.ความท้าทายของพุทธศาสนา(เชิงรุก)ในประเทศลุ่มน้ำโขงต่อประชาคมอาเซียน


หลวงปู่พุทธทาส กล่าวว่ายามใดเรามีวิกฤติ ย่อมมีโอกาส ดังนั้น ล้านนา เป็นศูนย์พัฒนาจิตวิญญาณระดับนานาชาติได้หรือไม่? พะเยาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา-วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงได้หรือไม่? หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ตั้งศูนย์วิปัสสนารอเลยดีไหม? นี้คือโอกาส

  

    เมื่อช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ตั้งโจทย์ไว้ว่า "การเข้ามาของประชาคมอาเซียน-เราจะมองเป็นปัญหาหรือโอกาส?" และผู้เขียนยังได้กล่าวอีกว่า "วันนี้ท่านโชคดีนะ เรื่องการปรับตัวของพระพุทธศาสนาลุ่มน้ำโขงต่อประชาคมอาเซียนนั้น ยังไม่มีใครพูด เนื่องจากไปค้นจากสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะจาก Internet มีแต่พูดถึงแต่เรื่องวัฒนธรรม การค้ามนุษย์ สิทธิมนุษยชน แต่เรื่องศาสนาไม่มีใครพูดถึงเลย วันนี้จะเป็นแห่งแรกของประเทศที่ท่านจะได้ฟัง"

 

     ๑.ปัญหาหรือโอกาส

     หากมองโดยความเป็นจริงแล้ว ปัญหาที่จะตามมามีแน่นอน เราจะปฏิเสธไม่ได้ เช่น แรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์-โสเภณี การลักลอบเข้าเมือง สินค้าปลอดภาษีตีตลาด ฯลฯ ล้วนแล้วแต่น่ากลัวเพราะมีการแข่งขันกันสูงมาก

     เมื่อมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูง การชื้อมาขายคล่อง เกิดขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ การเจริญเติบโตทางด้านวัตถุก็มากตาม ผลกระทบตามมาคือจิตใจอ่อนแอ คนไทย หรือคนในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีความบีบคั้นทางจิตสูงขึ้น เป็นเงาตามตัว

     ต้องยอมรับว่าปัจจุบันคนไทยเก่งมาก ประกอบด้วยเป็นประเทศแห่งพระพุทธศาสนา แวดล้อมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ทำไมมีข่าว นายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง-ยิงตัวตาย, ผู้กำกับโรงพักแห่งหนึ่งเคลียร์ปัญหาครอบครัวไม่ได้-ฆ่าตัวตาย และล่าสุดพระอาจารย์มหาวิทยาลัยสงฆ์ฯ ผูกคอตาย  ฯลฯ มันเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย

     หลวงปู่พุทธทาส กล่าวว่ายามใดเรามีวิกฤติ ย่อมมีโอกาส ดังนั้น ล้านนา เป็นศูนย์พัฒนาจิตวิญญาณระดับนานาชาติได้หรือไม่? พะเยาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา-วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงได้หรือไม่? หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ตั้งศูนย์วิปัสสนารอเลยดีไหม? นี้คือโอกาส

 

     ๒.ความท้าทายต่อความรู้เก่า ๆ

     ในขณะที่เราเรียนหนังสือจะระบุว่า พระพุทธศาสนาไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย โดยคณะพระธรรมฑูตได้เดินทางมาที่สุวรรณภูมิคือประเทศไทย โดยการเผยแผ่ครั้งแรกที่จังหวัดนครปฐม โดยมีพระปฐมเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ เราก็เชื่อแบบหลับหูหลับตา ท่องกันมาอย่างนั้น เพราะคนเขียนเป็นผู้ทรงอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น

     แต่ทำไมเราไม่นึกบ้างละว่า โซนทางเหนือนี้ติดกับพม่า และพม่าติดกับประเทศอินเดีย เป็นไปไม่ได้หรือที่พระพุทธศาสนาเราจะมาเข้ามาจากอินเดียโดยผ่านพม่า...เป็นเพราะเรามีอคติกับพม่า เราถูกสร้างให้รังเกียจพม่า จนละเลยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไปอย่างน่าเสียดาย

     ท่านเชื่อหรือไม่ว่า พระพุทธศาสนามหายาน เคยเข้ามาในจังหวัดพะเยา ซึ่งยังมีร่องรอยทางด้านความคิดให้เห็นอยู่หลายประการ

     ความเชื่อแบบเดิมยังมีปนอยู่มากในพระพุทธศาสนา เช่น ศาสนาผี ไสยศาสตร์ การบวงสรวง การบูชาในลักษณะต่าง ๆ ดังนั้น ความท้าทายอยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาในเชิงสัญลักษณ์หรือรูปแบบ แต่เนื้อหายังไม่ชัดเจน คนไทยที่ว่าหนักแล้ว รู้หรือไม่ว่า จีน พม่า ลาว ฯลฯ หนักกว่า

     ทางออกในประเด็นนี้คือ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก เพราะเราตั้งรับมานานพอสมควรแล้ว ซึ่งตอนนี้เราเสวยผลจากการที่รุ่นครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ทำเชิงรุกเอาไว้ในยุคก่อน แต่มารุ่นหลังต้องตั้งท่าให้ดี เน้นคุณภาพให้มากกว่าปริมาณ

     บางครั้งการเผยแผ่ของเราอาจไม่ต้องทำแบบตรง ๆ ก็ได้ แต่อาจจะนำพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ หรือบูรณาการเข้ากับการพัฒนาอาชีพได้หรือไม่ ซึ่งพะเยาเห็นเด็น ๆ อยู่หลายตัว เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของพระราชวิริยาภรณ์มีแค่ ๔ กลุ่ม แต่มีเงินหมุนเวียนในมือชาวบ้านเกือบ ๓๐ ล้านบาท หรือการบวชป่าเป็นอุปัชฌาย์ให้ต้นไม้ของพระโสภณพัฒโนดม ฯลฯ ควรเน้นกิจกรรมเป็นหลัก

 

     ๓.ทิศทางสู่อาเซียนโดยผ่านบริบทของลุ่มน้ำโขง

     มจร.ทำอยู่แล้ว แต่จะถามว่าต่างคนต่างทำใช่หรือไม่? เชียงใหม่ไปอย่าง, แพร่ไปอย่าง, พะเยาไปอย่าง ฯลฯ โดยเฉพาะ มจร.พะเยา ไปจีนไม่ผ่านเชียงรายหรือ? ทำไมไม่นำห้องเรียนเชียงรายไปด้วย, มจร.พะเยาไปหลวงพระบาง-ลาว น่าจะชวนห้องเรียนน่านไปด้วย

     หมายความว่าเรากำลังละเลยลูก ๆ ของเราอยู่ใช่หรือไม่? (ห้องเรียนวัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน และห้องเรียนวัดพระแก้ว จ.เชียงราย ขึ้นอยู่กับ วิทยาเขตพะเยา) นี้ยังไม่ได้พูดถึง วข.แพร่, วข.เชียงใหม่, วส.ลำพูน และห้องเรียนลำปางอีกนะ

     แต่ที่ผู้บรรยาย(ผู้เขียน) เป็นห่วงคือ การไปทำงานร่วมกับประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนั้น มี ๓ ประเด็น คือ

     ประเด็นที่ ๑ เรื่ององค์ความรู้ หมายความว่า การไปแต่ละครั้ง บางแห่งไปเล่นเรื่องกิจกรรม เช่น ถวายพระไตรปิฎก ถวายพระพุทธรูป ถวายสังฆทาน ฯลฯ ทำอย่างนี้มา เป็นสิบ ๆ ปี แต่เราได้ศึกษา รวบรวม หรือทำวิจัยด้านพระพุทธศาสนาในประเทศเหล่านี้มากพอหรือยัง?

     ประเด็นที่ ๒ เรื่องเนื้อหา เราจะปล่อยให้การรวบรวม หรือการทำงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในล้านนาทั้งหมดให้เป็นไปตามธรรมชาติ ทำใครทำมัน สักแต่ว่าทำๆๆๆๆ หรือเรามาร่วมกันทำอย่างมีทิศทางดี?

     ประเด็นที่ ๓ เรื่องการจัดองค์กร การทำงานคนเดียว ทำให้องค์กรไม่เข้มแข็ง เนื่องจากไม่มีเครือข่าย จึงมีความรอบรู้น้อย ขอให้ดูบริษัทขายตรงเป็นตัวอย่าง

     และผู้เขียนทิ้งทายในช่วงนี้ว่า "เราจะปล่อยให้ประเทศเป็นแค่ทางผ่านของอาเซียนจากเหนือไปใต้ จากตะวันตกไปตะวันออก หรือเราจะเตรียมรับมืออาเซียนอย่างมีสติโดยมีพันธมิตรร่วมมือกันในระหว่างองค์กรทางพระพุทธศาสนาดี?"

 

หมายเลขบันทึก: 483493เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ศาสนาพุทธในสิบสองปันนา ในเวียตนามก็น่าเชื่อมต่อกันได้นะครับ (ทั้งเถรวาทและมหาญาณ) ตอนนี้พระ ชี มหาญาณเวียตนามอพยพมาอยู่ปากช่อง โคราช เยอะมากครับ นัยว่าหนีการเบียดเบียนจากรัฐบาลเวียตนาม ประเด็นนี้สำคัญมากเลยครับ ถ้าใช้พลังทางศาสนา ช่วยแก้ประเด็นนี้ได้จะเป็นอานิสงส์ที่ประเสริฐมาก

เจริญพรคุณโยม ประเด็นที่คุณโยมเสนอแนะมาน่าสนใจยิ่ง

ขออนุโมทนา สาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท