๒๘๑.นวัตกรรมความรู้ฯ สู่อาเซียน


 

 

 

 

     วานนี้ ที่ ๒๖ มีนาคม ๕๕ ผู้เขียนไปบรรยายในหัวข้อ “การปรับตัวของพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมในประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ต่อการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมความรู้สู่ภาครัฐและเอกชน : กลยุทธ์การพัฒนาองค์กรเพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน

            โครงการนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์แลกเปลี่ยนพระนิสิต นักศึกษาและการศึกษาพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมในประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

            งานนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน ซึ่งมาจากหน่วยงานต่าง ๆ คือวิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนีพะเยา, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา, ห้องเรียนวัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน, ห้องเรียนวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย และส่วนงานต่าง ๆ ที่สนใจในจังหวัดพะเยา เช่น ประชาสัมพันธ์จังหวัด, สำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด, ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด, สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ฯลฯ

            การจัดงานครั้งนี้ ได้จัดที่ห้องเบญจรงค์ โรงแรมเกทเวย์  ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา โดยมีบุคลากรของ มจร.พะเยา เป็นเจ้าภาพหลัก ส่วนของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ส่งบุคลากรมาร่วมจำนวน ๕ ท่านประกอบด้วย รศ.ดร.สุพัตรา จิรนันทนาภรณ์, รศ.ดร.พัชรินทร์ อนันต์ศิริวัฒน์, อาจารย์ณรงค์กรรณ รอดทรัพย์, อาจารย์มณทิรา ตาเมือง และอาจารย์เพ็ญพิชญา เพ็งศรี

            งานเริ่มตั้งแต่ ๐๘.๓๐ น. มีพระราชวิริยาภรณ์ รองอธิการบดีและเจ้าคณะจังหวัดพะเยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งนั่งฟังตลอดทั้งวัดและกล่าวปิดงานโครงการ

          โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นผู้กล่าวเปิดงานและกล่าวนำปาฐกถาพิเศษไปในตัว

          หลังจากนั้น อาจารย์มณทิรา ตาเมือง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้บรรยายเรื่อง “นวัตกรรมความรู้สู่ภาครัฐและเอกชน : กลยุทธ์การพัฒนาองค์กรเพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน” เพื่อปูพื้นฐานให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบถึงจุดประสงค์ ความเป็นมา องค์ประกอบ สัญลักษณ์ และความจำเป็นของการเป็นประชาคมอาเซียน โดยมีวิสัยทัศน์ของ ASEAN ที่ว่า ONE VISION  ONE IDENTITY  ONE  COMMUNITY ของ ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียน

          และผู้เขียนได้บรรยายได้แสดงทัศนะในหัวข้อ “การปรับตัวของพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ต่อการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน” โดยชี้ให้เห็นถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ๑๐ ประเทศ แต่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา แต่การบรรยายครั้งนี้ขอเจาะประเด็นเฉพาะอาเซียน+๑ โดยมุ่งนำเสนอเฉพาะไทย-ลาว-พม่า และจีนตอนใต้เท่านั้น (ซึ่งจะได้นำมาเสนอในบันทึกต่อๆ ไป)

          ส่วนภาคบ่าย มีการแยกกลุ่มกัน เพื่อทำความเข้าใจและนำเสนอในเรื่องบทบาทพระพุทธศาสนาต่อการเปลี่ยนแปลงต่ออาเซียน ซึ่งได้แง่มุมคิด ความหลากหลาย และประเด็นแรง ๆ จากผู้เข้าร่วมสัมมนาอย่างน่าสนใจยิ่ง(ซึ่งจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป)

           

หมายเลขบันทึก: 483387เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2012 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท