ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ๑๐๐ เปอร์เซนต์ (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๖๗)


จะดีกว่าไหมถ้าสตรีไทย เป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกคน (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๖๗)

จะดีกว่าไหมถ้าสตรีไทย เป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกคน

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง                                                                         ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดระยอง                                         E-mail : [email protected]

สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ....???? ....


           ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ถึงวันนี้ (๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕) และจะต่อเนื่องไปถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ เป็นระยะเวลาที่น้อง ๆ  ครู กศน. ทุกคนได้รับหน้าที่อันสำคัญของรัฐบาลนั่นคือ การลงพื้นที่ไปรับสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในพื้นที่ตำบล หมู่บ้านและชุมชนต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย น้อง ๆ หลายคนบ่นเหนื่อย หนัก ลำบาก เป็นทุกข์ทั้งกาย ทั้งใจ 
แต่น้อง ๆ ครู กศน.ที่รักและเคารพทุกท่านครับ ขอให้พวกเราจงภูมิใจและดีใจในภารกิจนี้เถอะครับ ที่รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของคน กศน.และองคาพยพของ กศน.ทุกภาคส่วนว่าเราสามารถทำงานอันสำคัญที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้

           ความเหนื่อย หนัก ลำบาก เป็นทุกข์ทั้งกายทั้งใจ ผู้บริหาร กศน.ระดับต่าง ๆ ได้รับทราบมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลขาธิการ กศน. ที่ชื่อประเสริฐ บุญเรือง รู้สึกซาบซึ่งในน้ำจิตน้ำใจของน้อง ๆ ครู กศน.ทุกคนที่ตั้งอกตั้งใจทำงานนี้ ผมรู้ว่าน้อง ๆ ส่วนใหญ่ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่กับเรื่องนี้ โดยได้ใช้ความพยายามทุกรูปแบบในการลงพื้นที่รับสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทราบว่ามีปัญหาหลายประการในการลงพื้นที่ ความยากลำบากในการที่จะอธิบายซึ่งเป็นคำถามหลายคำถามที่คน กศน.ตอบไม่ได้ เราทราบอย่างเดียวว่าเราคน กศน.มีหน้าที่รับสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ส่วนเรื่องอื่นนอกเหนือจากนี้เราไม่ทราบ เรามีหน้าที่รับสมัครแล้วจะส่งข้อมูลต่อเพื่อให้หน่วยงานอื่นมารับดำเนินการในบทบาทอื่น ๆ ต่อไป

           ในวันนี้เรามีเพื่อนที่สำคัญหน่วยงานหนึ่ง คือ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ จะมาช่วยรับสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อจะทำให้จำนวนผู้สมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้ต้องการจำนวนผู้สมัครประมาณ ๑๐ ล้านคน แต่อย่างไรก็ตามครับการรับสมัคร ก็คือ การสมัครใจในการที่จะกรอกข้อมูลหรือให้ข้อมูล ที่ต้องประกอบไปด้วยส่วนสำคัญคือเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนครับ นี่คือ สิ่งสำคัญที่พอจะบ่งบอกได้ว่าเราไปรับสมัครจริง ไม่ได้ไปคัดลอกรายชื่อมาจากทะเบียนของกรมการปกครอง  ก็ดีครับที่เรามีหน่วยงานอื่น ๆ มาช่วยกันทำงาน ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

           ตัวเลขที่ กศน.รับสมัครอยู่ถึงวันนี้ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕ ก็เกือบ    ๕ ล้านคนสำหรับกรมพัฒนาชุมชน ตั้งเป้าหมายไว้จะรับสมัครสมาชิก กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้ได้ ภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ อยู่ที่ประมาณ ๑๐ ล้านคน ผมก็ว่ายากพอสมควรกับตัวเลขดังกล่าวหากอยู่ในเงื่อนไขที่ผมกล่าวข้างต้นที่ต้องมีหลักฐานการรับสมัครอย่างสมบูรณ์ครับ

            อย่างไรก็ดี ผมมีข้อเสนอที่อาจเป็นไปได้ และผมเชื่อว่ามีทาง  เป็นไปได้แน่ ๆ ครับ ถ้ารัฐบาลออกกฎหมายมา จะเป็นมติคณะรัฐมนตรีหรือกฎหมายลักษณะอื่น ๆ ที่กำหนดให้สตรีสัญชาติไทย อายุ ๑๕ ปีขึ้นไปทุกคน มีสถานภาพเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี แต่หากใครต้องการสมัครเป็นผู้นำกลุ่ม หรือคณะกรรมการบริหารกองทุนระดับต่าง ๆ จะต้องสมัคร และมีกระบวนการคัดเลือกหรือเลือกตั้ง สำหรับการบริหารจัดการต่อมาก็ให้อยู่ในบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนระดับต่าง ๆ หน่วยงานรัฐมีหน้าที่เพียงช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุน  เท่านั้น นี่เป็นวิธีการที่จะเป็นไปได้และสตรีทุกคนในประเทศไทยก็ได้สิทธิ์นี้ทุกคนด้วยครับ.

หมายเลขบันทึก: 483020เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2012 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับคุณ ครูนางและคุณศิริรักษ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท