ก็ไม่รู้ + กูไม่รับ = ปทปรมะ


เคยอ่านพบในหนังสือเรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง ว่า เด็กๆสมัยนั้น อายุประมาณ 7 ขวบ ก็ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ใหญ่แล้ว และมักไม่ได้รับการดูแลด้านจิตใจ ปัจจุบัน เราให้ความสำคัญกับเด็กมากขึ้น ดังจะเห็นจากความหลากหลายของหนังสือเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่มีวางขายในท้องตลาด ซึ่งมีเรื่องราวต่างๆที่บิดามารดาควรทราบเกี่ยวกับเด็ก เช่น อาหาร การจัดสภาพแวดล้อม การกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อให้เด็กเติบโตโดยมีความบริบูรณ์ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และ สติปัญญา การให้การศึกษา เพื่อพัฒนาการทั้งสมองซีกขวาและซ้าย เป็นต้น จนเป็นเหตุที่น่าให้เชื่อว่าคนในยุคปัจจุบัน หากไม่เป็นเพราะความผิดปกติทางสมอง ก็คงยากที่จะมีใครถูกเรียกได้ว่า ปทปรมะ

คำว่า ปทปรมะ นี้ เชื่อว่าชาวพุทธส่วนใหญ่เรียนรู้มาว่าหมายถึงผู้ที่ โง่ จนไม่สามารถสั่งสอนได้ แม้ว่า ปทปรมะ อาจถูกนำมาเรียกบุคคลดังกล่าว หากมองในยุคปัจจุบัน ผู้ที่มีปัญญา ที่ผู้อื่นสรรเสริญว่าเป็นคน ฉลาด ก็อาจถูกเรียกว่า ปทปรมะ ในทางพุทธศาสนาได้เหมือนกัน

สมเด็จพระสังฆราช ได้อธิบายเรื่องเกี่ยวกับคำว่าปทปรมะไว้ ดังนี้

ปุริสทัมมสารถิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นเหมือนอย่างสารถี ฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก ก็คือ บุรุษบุคคที่ฝึกได้

ซึ่งคำนี้ ปุริสทัมมสรถิ บุรุษบุคคลที่ฝึกได้ หรือ เวไนยนิกร หมู่แห่งชนที่พึงแนะนำได้ อบรมได้ ก็หมายถึงบุคคล ๓ จำพวกดังกล่าวมาแล้ว คือ

อุคฆติตัญญู บุคคลที่รู้ได้เร็ว

วิปจิตัญญู บุคคลที่รู้ได้ช้าเข้าหน่อยหนึ่ง คือ เมื่อยกหัวข้อขึ้นแล้วก็ต้องอธิบาย

เนยยะ บุคคลที่พึงแนะนำได้ อบรมได้ คือ ต้องพร่ำสอนกันอยู่บ่อยๆ หลายครั้งหลายหน

สามจำพวกนี้เป็นปุริสทัมมะ บุรุษบุคคลที่พึงฝึกได้ เป็น เวเนยยะ หรือ เวไนยนิกร หมู่ชนที่พึงฝึกได้ แนะนำอบรมได้ พระพุทธเจ้าย่อมทรงสั่งสอนได้แก่บุคคลทั้ง ๓ จำพวกดังกล่าวนี้ และคำนี้เองก็บ่งว่าจะต้องมีอีกพวกหนึ่ง คือ พวกที่ฝึกไม่ได้ คือ ไม่ใช่ปุริสทัมมะ บุรุษบุคคลที่พึงฝึกได้ แต่ว่าเป็นบุคคลที่ฝึกไม่ได้ ดั่งนี้ก็มีอยู่ บุคคลที่ฝึกไม่ได้นี้เอง ก็เช่น บุคคลมี่มีทิฏฐิมานะมาก ไม่ยอมรับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่า ปทปรมะ มีบทอย่างยิ่ง ก็คือ หมายความว่าเป็นที่ ผู้ที่โง่เง่ามาก ไม่สามารถจะรู้ธรรมที่ทรงสั่งสอนได้ และก็หมายรวมไปถึงผู้ที่มีทิฏฐิมานะมาก ดังกล่าวนั้นด้วย

จำพวกที่มีทิฏฐิมานะมากนั้น ก้ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์สญชัยของท่านพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ที่เมื่อท่านพระอัครสาวกทั้ง ๒ ก่อนที่ท่านจะเข้าบวช ท่านได้พบพระอัสสชิเถระ แล้วท่านกลับไปชักชวนท่านอาจารย์ของท่านคืออาจารย์สญชัย ท่านอาจารย์สญชัยนั้น ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ มีผู้นับถือมาก ก็ไม่ยอมที่จะลดตัวไปเป็นลูกศิษย์ของใครอีก มีทิฏฐิมานะอยู่ จึงไม่ยอมไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทั้งที่ท่านก็รู้ว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นน่าจะต้องดี จึงได้จูงใจเอาศิษย์สำคัญของท่านไปนับถือได้

ท่านจึงถามว่า ในโลกนี้คนฉลาดมาก หรือคนโง่มาก ท่านพระอัครสาวกทั้งสองเมื่อยังเป็นปริพาชก ท่านก็ตอบว่า คนโง่มาก ท่านอาจารย์สญชัยจึงได้บอกว่า คนโง่มาก ท่านอาจารย์สญชัยจึงได้บอกว่า ถ้าอย่างนั้น ให้คนฉลาดไปหาพระพุทธเจ้า ให้คนโง่มาหาท่านก็แล้วกัน ดั่งนี้ก็คือเป็นจำพวกที่เรียกว่า บุรุษบุคคลที่ฝึกไม่ได้ เพราะมีทิฏฐิมานะมาก และตลอดจนถึงผู้ที่โง่เง่าจนเกินไป ก็รวมอยู่ในคำว่า ปทปรมะ อันเป็นจำพวกที่ ๔

(สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒนมหาเถระ) สัมมาทิฏฐิ ตามเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ หน้า ๒๑-๒๒)

จากการอธิบายนี้ คำว่า น้ำเต็มแก้ว น่าจะนำมาเปรียบกับคำ ปทปรมะ ได้นะคะ

คำ ปทปรมะ นี้ นอกจากจะหมายถึงผู้ที่โง่ หรือ ถือดี เกินไป จนไม่สามารถสอนสั่งได้แล้ว พบว่า ยังมีอีกความหมายตามที่พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ตามที่คัดมาจากเชิงอรรถในพระไตรปิฎกแปลว่าหมายถึง

ผู้ที่ฟังไว้มาก แสดงไว้มาก ทรงจำไว้มาก และ พูดไว้มาก แต่ไม่สามารถบรรลุธรรมในชาตินี้ คือไม่สามารถที่จะบำเพ็ญญาณ วิปัสสนา มรรค หรือ ผล ให้บังเกิดได้"

(อง.จตุกฺก.อ.๒๒๓๓/๓๘๐, อง.จตุกฺก.ฎีกา ๒/๑๓๓-๑๓๔/๔๑๗-๔๑๘)

จะเห็นว่าประเภทสุดท้ายนี้ ไม่ได้ถือตนจนไม่รับคำสั่งสอน

หาก รับคำสั่งสอน

แต่

นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตในปัจจุบันไม่ได้

คำสำคัญ (Tags): #ปทปรมะ#มานะ
หมายเลขบันทึก: 482924เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2012 07:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หากเชื่อว่า การเรียนรู้คือการเติบโต
นั่นก็แสดงว่า...
คนๆ นั้นเป็นประเภทน้ำไม่เต็มแก้ว

ขอบคุณครับ

..ขอบคุณกับข้อเขียนดีๆ..เจ้าค่ะ..ยายธี

ขอแสดงความยกย่อง คุณ ณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ ที่ได้นำเอาบทความดี ๆ เป็นอาหารจิตใจมาเผยแพร่เป็นเกร็ดปัญญา เนื่องจาก ปัจจุบัน คนที่อ่านไตรปิฎก มีน้อยกว่าน้อย หรือโอกาสที่หนังสือไตรปิฎก จะถูกเปิดอ่าน มีน้อยมาก

ส่วนตัวแล้ว เข้ามาดูงาน และเทคนิคภาพสีน้ำของคุณเสมอ ด้วยจิตใจชื่นชม

มิตร

เราเอง กล่าวกับผู้คนอยู่เสมอ มิได้เปลี่ยนแปลงว่า พระพุทธเจ้า ท่านเป็นคนดี มีเหตุผล มีคุณค่า ควรแก่การศรัทธา (มิใช่เชื่อ) ท่านเปิดกว้างให้ลองก่อนเชื่อ ฉะนั้นเมื่อมีผู้มาแนะนำว่า มีผู้ควรกตัญญูสูงสุดที่ให้ออกซิเจนพระพุทธเจ้าหายใจ ซึ่งเราอาจถูกปิดกั้นแค่ธรรมชาติ แต่เราขยายปัญญไปกล่าวถึงเจ้าเมืองธรรมชาติ เพื่อสร้างสรรค์กตัญญูขั้นสูงขึ้นไปอีก. ผู้ที่ได้รับฟังน่าจะเกิดสุข เพราะมันคือสิ่งกุศล(แค่กตัญญูไปพลางๆแล้วศึกษาก็กุศลกว่า เนรคุณไปพลางๆแล้วปิดกั้นแล้ว)แต่ในเมื่อเราทำภาระหน้าที่ตามสัญญาขันธ์เรา(หน้าที่=สัญญา. สัญญา=ขันธ์)เราย่อมมีความสุขได้อย่างแท้จริง เพราะ เอนโดฟีนหลั่ง. แต่ผู้ที่ต่อต้าน นั้น ได้กระทำตนให้ตกเป็นผู้ถูกตักเตือน มิได้เปิดกว้าง หรือ สร้างสติปัญญาเพิ่มเลย นั่นคือ การหลั่งสารอาดีนารีนนั่นเอง. แล้วผู้ต่อต้านเรื่องกตัญญูสูงสุดนั้น จะกล่าวได้อย่างไม่มุสาหรือว่า ตนนั้นสุข เช่นเดียวกับผู้ที่อ่านข้อความใดใดแล้วรับไม่ได้ต้องลบทำลาย แต่มุสาว่า สุขๆๆ นั้น รับความจริงแล้วหรือ ท่านถือปรัชญานี้ ตามผู้ใดหรือ. ตรองซิ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท