ละตินอเมริกา : ความอ่อนแอของละตินอเมริกาหลังได้รับเอกราช



 

                ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาส่วนใหญ่ได้รับเอกราชในช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายต่างก็ประสบกับปัญหามากมาย ที่สำคัญเช่น เรื่องเส้นเขตแดน การรุกรานจากต่างชาติ ความทะเยอทะยานของกลุ่มโคดิญโญ่ ความขัดแย้งภายในและภายนอก เหล่านี้ทำให้ประเทศเกิดใหม่อ่อนแอ จนเป็นช่องทางให้อเมริกาเข้ามีบทบาทในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ได้อย่างอิสระ

                ปัญหาหลังการได้รับเอกราช

                       ความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดน เส้นเขตแดนของประเทศเกิดใหม่ถูกกำหนดโดยเส้นแบ่งเขตแดนเดิมของสำนักอุปราชสมัยภายใต้การปกครองของสเปน “ยูดิพอสซิเดดิส ปี1810”  ภายหลังการประกาศเอกราช เส้นนี้ถูกนำมาใช้เพื่อกำหนดเขตแดนการป้องกันจากต่างชาติโดยเฉพาะชาติยุโรป  เนื่องจากเส้นเขตแดนดังกล่าวไม่มีความชัดเจนที่แท้จริง ไม่มีใครทราบเขตแดนที่แท้จริงไม่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีกฎหมายรองรับ  จึงก่อให้เกิดปัญหาให้กับชาติที่เกิดใหม่ ความขัดแย้งเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของชาติ ต่างฝ่ายต่างหยิบหลักฐานเพื่อยืนยันความถูกต้องของเขตแดนตนเองทั้งจากหลังฐานทางสเปน โปรตุเกส เมื่อไม่มีข้อยุติความรุนแรงจึงเกิดขึ้น จนอเมริกาเข้ามาไกล่เกลี่ย เช่น เอกวาดอร์กับเปรู, โบลิเวียกับซิลี, ซิลีกับอาร์เจนตินา เป็นต้น

                      ปัญหาการยอมรับจากต่างชาติ ชาติมหาอำนาจที่สูญเสียอาณานิคมเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ต่างก็ไม่ยอมรับเอกราชของประเทศเกิดใหม่ ประเทศเหล่านั้นจึงไม่มีอำนาจต่อรองบนเวทีโลก  ประเทศละตินฯ จึงไม่แน่ใจในความปลอดภัยของตน เพราะความไม่พร้อมทางด้านกองทัพที่จะป้องกันประเทศ  การคมนาคมที่ไม่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจอ่อนแอ ไม่พร้อมกับการต้านการรุกรานจากมหาอำนาจเก่าที่จะกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง

                   ปัญหาหนี้สิน การพัฒนาประเทศที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่นั้นจำเป็นต้องใช้เงินทุนมากมายมหาศาล ผู้นำจึงจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างชาติ เมื่อครบกำหนดก็ไม่สามารถขำระหนี้ได้ตามกำหนด ประเทศเจ้าหนี้จึงพยายามเข้ามายึดคลองประเทศในละตินฯ โดยอ้างสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ มีการส่งทหารเข้ามายึดครอง เจ้าหนี้ที่สำคัญเช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา เป็นต้น

                      ปัญหาความไม่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ เนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตรไม่หลากหลาย เช่น มะพร้าว สัปปะรด น้ำตาล แร่ธาตุไม่กี่ชนิด เช่นโปรแตสเซียม ทำให้มีผลผลิตออกมาเหมือน ๆ กัน จนล้นตลาดขายไม่ได้ราคา และไม่สามารถสู้กับสินค้าอุตสาหกรรมได้ อีกทั้งเศรษฐกิจเป็นการพึ่งพาต่างชาติมากเกินไป ชาติเหล่านั้นจึงเข้ามากำหนดทิศทางทางเศรษฐกิจได้อย่างเสรี

                      ความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากมายเช่น ชาวพื้นเมืองหรืออินเดียนในกัวเตมาลา โบลิเวีย, ลูกผสมระหว่างชาวผิวขาวกับชาวพื้นเมือง (แม๊สติโซ) ในแม๊กซิโก ปารากวัย, ชาวผิวดำในเฮติ และชาวต่างชาติเช่น อเมริกา สเปน อังกฤษ ที่ประเทศละตินฯ เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยากต่อความเข้าใจกัน

                      ความยากจน ความอดอยาก ความหิวโหย ค่าแรงต่ำ

                      ขาดการศึกษา ประชาชนไม่ได้รับการศึกษาที่เท่าควร สืบเนื่องมาตั้งวแต่การปกครองของสเปนและโปรตุเกส จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่าย เกิดความวุ่นวายทางการเมืองหลายครั้ง

                      ความหนาแน่นของประชากร ประชาชนเดินทาเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เกิดปัญหาการแออัด การเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ขาดที่อยู่อาศัย ขาดสาธารณสุขที่ดี

                      ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง นักปกครองมีความคิดแตกแยกกันระหว่างการปกครองแบบสาธารณรัฐกับระบอบประชาธิปไตย และระหว่างผู้นิยมในระบอบราชาธิปไตยในเรื่องการเลือกตัวบุคคลที่จะเป็นกษัตริย์

                     ขาดเสถียรภาพ ความล้มเหลวทางการเมืองนำไปสู่ผู้นำที่มีอำนาจทางทหารซึ่งคิดว่าตนเหมาะสมที่สุดในการปกครองประเทศ เมื่อยามใดเห็นว่ารัฐบาลพลเรือนไม่อาจรักษาความสงบได้เมื่อนั้นต้องทำการปฏิวัติ จึงมีการปฏิวัติบ่อยครั้ง

                   ที่กล่าวมาทำให้ชาติละตินฯ ที่เกิดขึ้นใหม่จึงอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการปกครองประเทศ จึงเปิดโอกาสให้อเมริกาซึ่งเป็นชาติที่มีความเข้มแข็งเข้ามามีบทบาทและกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ได้อย่างอิสระในภูมิภาคนี้

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

 

เรียบเรียงจากการการบรรยายโดย รศ.มาตยา อิงคนารถ

 

อ้างอิง

 

มาตยา อิงคนารถ,รศ. ประวัติศาสตร์ละตินอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 = History of Latin America in twentieth century : HI 482. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2530.

 

หมายเลขบันทึก: 482765เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2012 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท