คำสั่งอย่างไรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

           ท่านศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้เชียนข้อความเกี่ยวกับครูใน สถานี ก.ค.ศ. ไว้มีประโยชน์มาก

         ท่านระบุว่า " จะขอพูดถึงการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 98 กำหนดให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เช่น

         กรณีผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยหรือครูที่ยังไม่มีวิทยฐานะ ผู้ที่มีอำนาจสั่งแต่งตั้งคือ ผู้อำนวยการโรงเรียน

ถ้าผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ บุคลากรอื่นตามมาตรา 38 ค (2)และผู้ที่มีวิทยฐานะชำนาญการ ชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้ง คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นต้น

            หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด (ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา 53) จะทำให้การสอบสวนที่ดำเนินการมาทั้งหมดต้องเสียไป และต้องถูกเพิกถอนกระบวนการทั้งหมด แล้วกลับไปตั้งต้นดำเนินการมาใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเพราะในเมื่อผู้สั่งแต่งตั้งไม่มีอำนาจ คำสั่งนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ การดำเนินการจากคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย มีผลทำให้สำนวนการสอบสวนเสียไปทั้งหมด

            เช่น กรณีครูผู้ช่วยโรงเรียนแห่งหนึ่งถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกัน 24 วัน ผู้อำนวยการโรงเรียนได้รายงานให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จึงตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกับครูผู้ช่วยนั้น และผลการสอบสวนได้สั่งลงโทษไล่ครูผู้ช่วยออกจากราชการ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ผู้มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวนครูผู้ช่วยคือ ผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วย ตามมาตรา 53 จึงทำให้คำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนที่ลงนามโดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สำนวนการสอบสวนเสียไปทั้งหมด จึงต้องสั่งเพิกถอนกระบวนการทั้งหมดแล้วไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง

           ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบให้ดีว่า ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง เป็นผู้ที่มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 หรือไม่ มิฉะนั้นจะทำให้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

           และจะมีผลทำให้กระบวนการสอบสวนเสียไปทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เสียทั้งเวลา เสียทั้งงบประมาณ รวมทั้งเสียความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้นขอพึงระมัดระวังในเรื่องดังกล่าวให้มากด้วยฉบับหน้าพบกันใหม่จะได้นำเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงว่าเป็นอย่างไรบ้างมาเสนอค่ะ

ที่มา  มติชน

คำสำคัญ (Tags): #เลขาธิการ ก.ค.ศ.
หมายเลขบันทึก: 482517เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2012 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท