๒๗๔.สรุปเวที “ ฮอมกำกึ๊ด ฮอมผญา คนพะเยาสู่การจัดการตนเอง ๒


โดย...แวว-มุทิตา สัตย์สม ขบวนการองค์กรชุมชนคนพะเยาและภาคประชาสังคมพะเยา

4.7 คุณภาพชีวิต

            ประเด็นด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตว่ามีประเด็นที่ค่อนข้างหลากหลาย รายละเอียดใน 5 เรื่องดังต่อไปนี้

1) สถาบันครอบครัว สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักของสังคม ซึ่งปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นคือการขาดการให้คุณค่าต่อครอบครัว อยากให้รัฐส่วนกลางได้สนับสนุน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตครอบครัว ซึ่งจะทำให้เรามีเป็นต้นแบบของครอบครัวที่ดี และนำไปสู่การให้คุณค่าต่อสังคมโดยรวม และเสนอว่าให้ อปท. ได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนการพัฒนาครอบครัวอย่างเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

2) สุขภาพ และผู้ติดเชื้อ อยากให้มีการส่งเสริมสุขภาพใน อปท. อยากให้ส่งเสริมมาตรฐานสุขภาพไทยเป็นมาตรฐานเดียวกัน

3) การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานของแรงงานนอกระบบ จากการทำงานของแรงงาน ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพหลายประการแต่ปัญหาคือการขาดความปลอดภัยทางด้านแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้าง อย่างไรก็ตามจากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าปัญหาคือตัวแรงงานยังไม่รู้จักตัวตนความเป็นแรงงาน ข้อเสนอคือ

1)  ให้คนในชุมชนที่อยู่ในชนบทได้รู้จักตัวตนความเป็นแรงงาน

2) สนับสนุนให้มีข้อมูลสำหรับการนำไปวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับ อปท.

4) การจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ปัจจุบันพบปัญหาการใช้นำมันทอดซ้ำมาก ข้อเสนอคือ

1) ศึกษาข้อมูลการวิจัยของชุมชนเกี่ยวกับน้ำมันทอดซ้ำ และมีการคืนข้อมูลสู่ชุมชน

2) ให้มีการสุ่มตัวอย่างศึกษาในตลาด และประกาศให้คนรู้ว่าร้านไหนที่มีความปลอดภัย

3) อปท. เป็นกลไกในการส่งเสริม และออกมาตรการในการควบคุมการใช้น้ำมันทอดซ้ำ

4) อปท. จัดทำแผนรณรงค์ต่อผู้บริโภคระดับนโยบาย

5) ให้กระทรวงสาธารณสุข ออกแบบเครื่องมือที่ง่าย ราคาถูก แม่นยำ ให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้

 

5. ความร่วมมือและการสนับสนุนข้อเสนอการพัฒนาเมืองพะเยา” ดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์  จันธิมา สถาบันปวงผญาพยาว โดยให้ทุกคนนำเสนอประเด็นความคิดเห็นต่อข้อเสนอการพัฒนาเมืองพะเยา  ดังนี้

          (1)นางสาวอรุณี  ชำนาญยา  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพะเยา และประธานกรรมาธิการพัฒนาเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ 

            ประเด็นข้อเสนอของคนพะเยา เป็นสิ่งที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่างนักการเมือง และภาคประชาชน ซึ่งมีสิ่งที่เป็นอุปสรรค ดังนั้นจะต้องมีการพูดคุยหาทางออก และทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น การทำงานที่ผ่านในจังหวัดพะเยา ทำงานกับหลายองค์กร แต่ไม่ได้ลงลึก ในส่วนของข้อเสนอของคนพะเยา มีความเห็นด้วย แต่การนำไปสู่การปฏิบัติ จะต้องมีการทำงานร่วมกัน เพราะการทำงานมีระบบราชการ นักการเมือง และรัฐบาล

            ข้อเสนอที่จะนำไปสู่การแก้ไข จะต้องอาศัยนักการเมือง และระบบราชการ ซึ่งมีความติดขัด ดังนั้นการเริ่มต้นจะเริ่มจากระดับจังหวัดก่อนที่จะนำไปสู่ระดับชาติ ในส่วนของระบบราชการจะมีขั้นตอน และมีตัวแทนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับล่างขึ้นบน คือ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาท้องถิ่น ถ้าเป็นตัวแทนของประชาชนได้ จะทำให้แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการที่เราจะนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติได้ ต้องมีการนำเสนอปัญหาจากนักการเมือง และการติดตามข้อเสนอจากภาคประชาชน ซึ่งจะต้องมีกระบวนการร่วมมือจากภาคีทุกฝ่าย และทุกภาคส่วน

            ข้อเสนอแนะ ควรเพิ่มเติมวิธีคิดทางด้านธรรมะ และคุณธรรม เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้เราอยู่อย่างมีคุณค่า และมีศักดิ์ศรี การพัฒนาคนให้มีความโอบอ้อมอารี ให้สังคมมีความสุข ปัญหาทั้งหมดอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะมีธรรมะในใจ ทำดี และเป็นคนดีของสังคม

 

            (2) นายวิสุทธิ์  ไชยดรุณ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพะเยา และ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร

            โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องปากท้องของพี่น้องเป็นเรื่องเร่งด่วน ปัญหาคือความเป็นหนี้ นำไปสู่การหา “ผญา” ไม่ออก ทั้งนี้เท่าที่เห็นปัญหาของพี่น้อง คือ ปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งต้องช่วยกัน แต่ในบทบาทของ สส. นั้น นั้นไม่แน่นอนซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ละคนที่เข้ามาก็มีนโยบายที่ต่างกัน ดังนั้นจึงจะรอแต่ภาคการเมืองไม่ได้

จากข้อเสนอของคนพะเยา จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่คนพะเยาติดขัด เพราะไม่มีรายได้ที่มั่นคง จึงวางยุทธศาสตร์ของจังหวัดพะเยาว่า “ที่ดอนปลูกยางพารา ที่นาปลูกข้าว” ป่าไหนปลูกยางพารา จะไม่มีไฟป่า และครอบครัวอบอุ่น เพราะกลับมาทำงานที่บ้านทั้งคนสามวัย ซึ่งการมีอาชีพรองรับ โดยปลูกยางพาราได้สร้างงาน ให้เกิดรายได้ ถ้าไม่มีที่ดิน จะมีการอบรมกรีดยาง ให้มีทักษะอาชีพติดตัว เป้าหมายที่วางไว้ คือ สามแสนไร่  ถ้าทำได้ ป่าที่ปลูกข้าวโพด จะเปลี่ยนเป็นยางพารา และไม่ให้มีการบุกรุกป่า เพื่อปลูกข้าวโพดอีกต่อไป  การพัฒนาอาชีพต้องมีการปลูกป่า และไม่ปลูกข้าวโพด

            ในส่วนของข้อเสนอคือการพัฒนาลุ่มน้ำ ปัจจุบันจังหวัดพะเยามีจุดเด่น คือ การจัดการลุ่มน้ำอิง ซึ่งเราได้พัฒนาเป็นจุดดูงานของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ส่วนในลุ่มน้ำยม ซึ่งต้นน้ำยมอยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยานั้นอยู่ที่ อ.ปง และ อ.จุน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วน้ำยมซึ่งไหลไปทางใต้ได้ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด หลายฝ่ายเสนอทางออกว่าให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่ก็มีชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ว่ามันจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ในฐานะของคนต้นน้ำสามารถช่วยโดยการผันจากทางต้นน้ำยมมาสู่ลุ่มน้ำอิงได้ ซึ่งจะเป็นการลดปริมาณมวลน้ำที่จะไหลลงสู่ตอนกลางของประเทศได้

            ข้อเสนอ คือ เรามักจะคิดและฝัน แต่สิ่งที่เรามักขาดคือการลงมือทำด้วย ดังนั้นเราจะต้องลงมือช่วยกันทำจึงจะสำเร็จได้

 

            (3) นายสวัสดิ์ หอมนาน  รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา

            ในส่วนของอบจ. ในการร่วมคิด ร่วมสร้างชาวพะเยา ในการทำงานที่ผ่านมา อบจ.ยังขาดหน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนาอาชีพ ความเป็นอยู่ สุขภาพ ในปีนี้อบจ.พะเยาจึงได้มีการจัดตั้งกองพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อประสานงานกับชุมชนในด้านกองทุนสวัสดิการ สุขภาพ ตามนโยบายของอบจ.  เช่น การจัดการลุ่มน้ำอิงและยม อบจ.ได้มีส่วนในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ทำแก้มลิง ขุดลอกเหมืองฝาย โดยบูรณาการกับท้องถิ่นในทุกภาคส่วน การส่งเสริมปลูกป่า โดยปลูกยางพารา ซึ่งในตำบลทุ่งกล้วยจะเป็นโมเดลที่ทำให้เห็นว่ายางพาราทำให้คนอยู่ดีกินดี มีรายได้ประจำ มีอาชีพที่มั่นคง  

 

(4) นางสาวราณี วงค์ประจวบลาภ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.พะเยา

ในบทบาทของหน่วยงานราชการ จะส่งเสริมภาคประชาชน และภาคีที่เกี่ยวข้องในการทำงาน โดยขับเคลื่อนไปตาม 7 พันธกิจของผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แก่

1)      ลือเลื่องเมืองพะเยา “เมืองแห่งกว้าน”

2)      ศิลปวัฒนธรรมเมืองพะเยา

3)      สร้างพะเยารักป่ารักน้ำ ตามพระราชดำริ

4)      สร้างเกษตรปลอดภัย สายใยพะเยา

5)      สร้างเด็ก เยาวชน สตรี ศรีพะเยา

6)      สร้างพะเยา ศูนย์กลางยางพาราแห่งล้านนา

7)      สร้างบ้านสวย เมืองงาม นามพะเยา

ในส่วนของภาคราชการก็ยินดีที่จะร่วมพัฒนา โดย สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.พะเยามีหน่วยงานย่อยที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน คือ ศูนย์พัฒนาสังคมฯ ที่ 31 จ.พะเยา และบ้านพักเด็ก จ.พะเยา ยินดีจะร่วมพัฒนาจังหวัดพะเยาให้ลุล่วงตามข้อเสนอของภาคประชาชน  โดยทำงานร่วมกับ 7 ภาคีหลัก คือ ภาคราชการ ภาคท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง ภาคสื่อมวลชน ซึ่งหน่วยงานราชการเป็นแกนหลักในการทำงานร่วมกับภาคี 

 

(5)นายเลือดไทย วงค์ใหญ่  ท้องถิ่นจังหวัดพะเยา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

     ปัจจุบันปัญหาใหญ่ของพะเยา คือ ปัญหาหมอกควัน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งนี้การมีกองทุนพัฒนาสังคม โดยหน่วยงานด้านท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวทีของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนั้นกองทุนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน จำเป็นต้องมีสร้างความร่วมมือกันกับสภาท้องถิ่น โดยสภาของแต่ละ อปท. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย และงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอยู่แล้ว

            ในส่วนของงบประมาณนั้น เนื่องจากว่างบประมาณมีจำกัด ดังนั้นภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องคุยกันเพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนาว่าจะทำอย่างไร  

 

(6) นายปฏิภาณ จุมผา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

      ข้อเสนอของคนพะเยาร้อยละ 70 เป็นข้อเสนอต่อตนเอง ส่วนที่เหลือเป็นข้อเสนอในระดับนโยบาย โดยข้อเสนอนั้นมีความสอดคล้องกับชีวิต วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และทุนทางสังคม ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อคนพะเยา นอกจากนี้ถ้าจะให้ข้อเสนอบรรลุในเชิงนโยบาย จะต้องบรรจุเป็นแผนงาน และออกข้อบัญญัติในระดับท้องถิ่น ทั้ง 7 เรื่องจะต้องเป็นแผนพัฒนาพะเยา ที่สอดคล้องกับพันธะของผู้ว่าราชการจังหวัด

     พอช. ภาคเหนือ จะมีการสนับสนุนสิ่งที่คนพะเยาคิด ภายหน้าคนพะเยาจะต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง โดยเครื่องมือคือ กระบวนการเรียนรู้ เวทีพูดคุย และงบประมาณ รูปธรรมที่ผ่านมาเช่น การจัดสวัสดิการชุมชน รัฐบาลได้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การจัดการที่ดินโดยชุมชน การพัฒนาสภาองค์กรชุมชน เรื่องที่สำคัญคือ กลไกการติดตาม ซึ่งหลายเรื่องได้บรรจุเป็นแผนงานตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ถึงนโยบาย แต่ขาดการติดตามให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริง จึงต้องมีการกำหนดทิศทางการติดตามนโยบายให้ชัดเจน

            สิ่งที่อยากจะเสนอเพิ่มเติมคือ กลไก หรือ คณะทำงานด้านการติดตาม ซึ่งจะต้องมีกระบวนการติดตามว่าข้อเสนอและประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีการดำเนินการไปสู่การปฏิบัติได้จริงได้อย่างไร

 

(7) ดร.วณี ปิ่นประทีป รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูปประเทศไทย (สปร.)

            บทบาทของ สปร. ได้สนับสนุนนโยบายการจัดการตนเอง ซึ่งคนพะเยาได้แสดงทัศนะที่จะจัดการตนเอง โดยมีเรื่องหลัก ๆ อยู่ 7 ประเด็น ทั้งนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายของ สปร. อยู่แล้ว

            ส่วนหนึ่งที่ชื่นชมข้อเสนอคนพะเยา คือ ข้อเสนอได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับตัวเอง ระดับจังหวัด และระดับนโยบาย ซึ่งได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าเราอยากทำอะไร และบางส่วนเราได้กำหนดไว้แล้วว่าเราจะทำอะไรก่อนที่จะให้คนอื่นมาช่วย นอกจากนี้เราก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่าเราอยากให้คนอื่นมาช่วยเราอย่างไรบ้าง โดยเวทีสมัชชาปฏิรูป ได้กำหนดข้อในปีนี้ว่า “เพิ่มพลังพลเมือง สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ” เมื่อได้เห็นข้อเสนอของคนพะเยาแล้วก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนับสนุนการพัฒนาดังกล่าว

     สำนักงานปฏิรูปฯ สนับสนุนการจัดการตนเอง ใน 7 เรื่อง และ4 กลุ่มหลัก เรื่องเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับมติของสมัชชาปฏิรูปที่ผ่านมา โดยข้อเสนอของคนพะเยา ได้แยกออกมาชัดเจน ซึ่งมีข้อเสนอต่อตนเองก่อนที่จะให้ระดับอื่นทำ ซึ่งตัวอย่างของพะเยา จะนำไปขยายผลยังจังหวัดอื่น ซึ่งหลายเรื่องเป็นสิ่งที่คนพะเยามีความภาคภูมิใจ

หมายเลขบันทึก: 482488เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2012 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท