สัมมนาและเปิดตัวหนังสือ“8K’s+5K’s: ทุนมนุษย์คนไทยรองรับประชาคมอาเซียน”


สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์          ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และ Chira Academy จัดโครงการสัมมนาสาธารณะ (Public Seminar) และเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “8K’s+5K’s: ทุนมนุษย์คนไทยรองรับประชาคมอาเซียน” ของศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องประชาคมอาเซียนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) สร้างความตระหนักในความสำคัญและผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ทั้งที่เป็นโอกาสและความเสี่ยง สามารถแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ตามทฤษฎี 8 K’s และ 5 K’s (ใหม่) ของศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมาใช้เพื่อการพัฒนาตนเอง องค์กร ชุมชน สังคม และประเทศให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างเข้มแข็งและสง่างาม เมื่อวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

โปรดคลิกที่ลิ้งค์นี้เพื่อชมวีดิทัศน์

http://www.youtube.com/watch?v=yZm-OOBh7Ao&context=C3de7789ADOEgsToPDskLcRjMZDKhnMm58btwckIzj

โปรดคลิกที่ลิ้งค์นี้เพื่อดูภาพบรรยากาศงาน 

http://www.facebook.com/#!/media/set/?set=a.398556323503163.83502231.100000463969628&type=1

 

หมายเลขบันทึก: 480472เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2012 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

ขอขอบพระคุณอาจารย์จีระเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้โอกาสผมได้ร่วมเข้าฟังการสัมมนาสาธารณะและ

ร่วมแสงความยินดีในการเปิดตัวหนังสือ "8k's+5k's ทุนมนุษย์คนไทยรองรับประชาคมอาเชียน" การสัมมนา

ในครั้งนี้ทำให้ผมได้ทราบถึงความเสียสละ ความตั้งใจและการทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจอย่างมากมาย

ในการที่จะให้คนไทยและสังคมไทยได้รับทราบและซาบซึ้ง ซึ่งคุณค่าของมนุษย์และความเป็นมนุษย์ที่

มีคุณภาพ เพื่อการแข่งขันและอยู่รอดอย่างแข็งแรงและยั่งยีนในการเข้าสู่ประชาคมอาเชี่ยนและประชาคม

เศรษฐกิจอาเชียน ในอีก 3 ปีข้างหน้า อีกเรื่องหนึ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นผู้ร่วมเสวนาเต็มบนเวที

และความร่วมใจในลูกศิษย์ทุกระดับการศึกษา ทุกเพศและทุกวัยของอาจารย์มาเต็มห้องประชุมศรีบูรพา

ผมมั่นใจว่าหนังสีอ "8k's+5k's ทุนมนุษย์คนไทยรองรับประชาคมอาเชี่ยน" จะได้รับความสนใจและ

เป็น "Best Selling" พ็อคเก็ตบุ้คเล่มหนึ่งอย่างแน่นอน

ที่สำคัญขอให้อาจารย์สละเวลาดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อเป็นเสาหลักทุนมนุษย์ของคนไทยอย่างยั่งยินและยาวนาน

ขอแสดงความนับถีอ

ธงชัย วัฒนศักดากุล

ประเทศไทยกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับ

มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และ Chira Academy จัดโครงการสัมมนาสาธารณะ และเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “8K’s+5K’s: ทุนมนุษย์คนไทยรองรับประชาคมอาเซียน” ของศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

กิจกรรมสำคัญของโครงการนี้คือ เสวนา: 8K’s+5K’s: ทุนมนุษย์คนไทยรองรับประชาคมอาเซียนที่แบ่งออกเป็น 2 ช่วง

ช่วงที่ 1 หัวข้อ ประเทศไทยกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเปี่ยมด้วยประสบการณ์ด้านอาเซียนมาแลกเปลี่ยนทัศนะกันดังนี้

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์     เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า คนไทยต้องรู้จริงเกี่ยวกับอาเซียนโดยศึกษาประวัติความเป็นมาของอาเซียน จากการที่ได้ไปสัมภาษณ์ดร.เตช บุนนาค ทำให้ทราบว่า อาเซียนมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย 3 ประการ ประการแรก คนคิดเรื่องอาเซียนคือ พ.อ.(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ แล้วมีการเซ็นสัญญาที่แหลมแท่น ประการที่สอง นายอานันท์ ปันยารชุนริเริ่ม AFTA ในสมัยที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ประการที่สาม ASEAN Regional Forum เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงเกิดขึ้นในยุคดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ นี่คือสิ่งที่คนไทยควรภูมิใจในอาเซียน อาเซียนประกอบด้วย 3 สิ่งคือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความไม่แน่นอน สิ่งที่ทายไม่ออก ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่คนไทยต้องศึกษาให้ดี ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อจัดการกับความยั่งยืนให้ได้ อาเซียนมีทั้งโอกาสและภัยคุกคาม ต้องรู้จักฉกฉวยประโยชน์ให้สำเร็จ โดยพัฒนามาตรฐานให้สูงขึ้นโดยเฉพาะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาเซียนมาพร้อมกับทฤษฎี 4C’s Competitiveness ทำให้ประเทศไทยต้องแข่งขัน และคนไทยพัฒนาตนเองเพื่อให้แข่งขันได้ Cooperation (Collaboration) เรามีโอกาสมากมายที่จะทำงานร่วมกันในอาเซียน Connectivity เราต้องเชื่อมโยงกัน Confidence ประเทศไทยเปิดเสรี เราจัดการกับสังคมเปิดมาโดยตลอด หนังสือ เรื่อง “8K’s+5K’s: ทุนมนุษย์คนไทยรองรับประชาคมอาเซียน”จะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้คนไทยคิด Local Act Global จัดการกับอาเซียนได้ดี

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับ AEC ที่มุ่งเปิดเสรี 4 ด้านคือ สินค้า บริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายบุคลากร ในด้านสินค้า กำแพงภาษีของทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนจะถูกลดลงจนเหลือ 0% ในปี 2558 ประเทศไทยลดกำแพงภาษีจนเป็น 0 เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2553 ส่วนประเทศลาว กัมพูชาและเมียนม่าร์จะลดกำแพงภาษีเป็น 0 เสร็จสิ้นในปี 2558 ในด้านการลงทุนผลิตสินค้า มีการเปิดเสรีเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วให้ต่างประเทศมาลงทุนได้ และไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเพราะรัฐบาลและ BOI ส่งเสริมอยู่แล้ว ประเทศไทยดำเนินการเปิดเสรีด้านการลงทุนเสร็จสิ้นแล้ว ในด้านการเปิดเสรีภาคบริการถือเป็นเรื่องที่กีดกันได้ยาก  แต่ก็สามารถทำได้โดยกฎหมายห้ามชาวต่างชาติถือหุ้นเกิน 49 % แต่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติถือหุ้นได้เป็น 70% ในปี 2558 ปีนี้ ประเทศไทยจะเปิดให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 51% ตอนนี้ประเทศไทยพยายามขอยกเว้นการเปิดเสรีในด้านที่จะได้รับความกระทบกระเทือนมาก และพยายามขยายขอบเขตบางด้านที่กระทบกระเทือนไม่มากเพื่อใช้ประโยชน์ระหว่างกันในอาเซียน ส่วนในด้านการเคลื่อนย้ายบุคลากร จะมีการเปิดเสรีใน 7 สาขาอาชีพ คือ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร นักสำรวจ สถาปนิกและนักบัญชี ในการที่จะมาทำงานได้ ต้องมีการสอบที่เป็นไปตามข้อบังคับในประเทศด้วย แต่จำนวนที่เข้ามาอาจจะมีไม่มาก  กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก AEC มากที่สุดคือ รายเล็กและรายย่อย SMEs แต่ SMEs ต้องมีความยืดหยุ่นสูง ดังนั้นจึงต้องการคนมีความยืดหยุ่น เก่งพอที่จะเข้าถึงข้อมูลตลาดและใช้สิทธิประโยชน์

นายฉัตรชัย มงคลวิเศษไกวัล รองประธานคณะกรรมการกฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศประธานคณะอนุกรรมการด้านการค้าการบริการ รองประธานอนุกรรมการติดตามผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หนังสือ เรื่อง “8K’s+5K’s: ทุนมนุษย์คนไทยรองรับประชาคมอาเซียน” เป็นแนวทางสำคัญในการปรับตัวเข้าสู่ AEC มนุษย์ต้องเก่งจริง มีคุณธรรม จริยธรรม มิฉะนั้นจะไม่เกิด AEC Integration การเปิดเสรีคือ Harmonize จากการประสบการณ์ทำงานเรื่องนี้มา 10 ปี ได้ทำงานร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการบูรณาการศักยภาพอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว (Single Market) เป็นฐานผลิตเดียวกัน วันที่ 1 มกราคม 2553 ประเทศไทยเริ่ม Harmonize Serial สินค้าแล้ว ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ และเวียดนามยังมีเวลาปรับตัวถึงปี 2558 ซึ่งกำหนดให้กำแพงภาษีทุกประเทศในอาเซียนเป็น 0% เราต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยและประเทศอื่นๆในอาเซียนให้มีศักยภาพระดับเดียวกันด้วย เราเริ่มพัฒนา Roadmap มีการแก้ไขตลอดเวลาและนำไปปรับใช้ บริการก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะส่งเสริมการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคและต้องอาศัยคนอย่างมาก เช่น Logistics ต้องอาศัยคนขับรถ อาเซียนเหมือนนำแต่ละประเทศมารวมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน AEC เหมือนเอารั้วของบ้าน(แต่ละประเทศ)ออก เสาที่สำคัญที่สุดก็คือ สังคมและวัฒนธรรม ต้องมีความมั่นคง แต่ตอนนี้ก็มีแค่ Roadmap ยังขาด Tools ในการจัดการ

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กล่าวว่า เวลาพูดถึง AEC มันมาจาก EEC ประชาคมเศรษฐกิจ ก็คือตลาดร่วม AFTA เป็นองค์ประกอบที่ 1 ของ AEC ซึ่ง AFTA จบลง 2 ปีที่แล้ว ไทยไม่ควรปลูกปาล์มน้ำมันแข่งกับมาเลเซีย แต่ควรปลูกยางพารา ไทยต้องเน้นสินค้าระดับกลาง ย้ายฐานการผลิต และขายสินค้าที่มีปัญหาให้ที่อื่น ในด้านการเปิดเสรีจะขยายตัวไปมากกว่า 7 อาชีพ จะมีการเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ ภาคบริการจะขยายตัวเป็น 70% ในปี 2558 และหลังจากนั้นจะขยายตัวเป็น 80-100% รัฐบาลทุกประเทศในอาเซียนยกเว้นสิงคโปร์จะตั้งกำแพงภาษีสินค้านอกกลุ่ม AEC กำหนดสินค้าต้องมีมาตรฐานเดียวกัน เมื่อเปิดพรมแดน ก็จะมีแรงงานต่างชาติเข้ามามากขึ้น แรงงานต้องมีหนังสือเดินทางเชงเก้น ตอนนี้เรากำลังไปสู่ ASEAN+3 และ ASEAN+6  ดังนั้น สินค้าจากญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ภาษีจะเหลือ 0% SMEs ต้องปรับตัวจึงจะรอดได้ กระทรวงพาณิชย์ต้องให้การสนับสนุน เช่น ร้านอาหารต้องทำอาหารมีรสชาติตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ต้องสอนให้คนทำได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คนไทยมักไม่เร่งรีบทำอะไร เราต้องปรับตัว จากประสบการณ์ที่ได้ไปต่างประเทศ เช่น เกาหลี สร้างสนามบินอินชอนเสร็จแล้วได้องค์ความรู้มาตั้งบริษัทรับบริหารสนามบินทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงระบบที่ดี ต่างจากประเทศไทยที่เน้นความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งมาจากระบบการศึกษาไทยที่สอนให้จำไม่ใช่คิด ควรจะสอนให้คนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ให้เยาวชนและประชาชนได้แสดงออกความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพทั้งหมด ถ้าขาดความคิดสร้างสรรค์ก็จะปรับตัวไม่ได้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คนไทยต้องมี 3K’s คือ Knowledge (ความรู้) Know-how (รู้วิธีการ) และ Know-who (รู้จักคน มี connection) ปี 2558 เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นประชาคมอาเซียนซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและทรัพยากรที่แบ่งปันกันได้ ต้องคิดนำมาสร้างรายได้ ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทยที่จะแบ่งปันโอกาสและร่วมมือแก้ปัญหา เช่น อาเซียนนำเข้าอาวุธปีละ 7 แสนล้าน ถ้าประเทศไทยมี Common Request อาจใช้ความรู้ ประสบการณ์ และ Network ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ AEC คือความท้าทาย ต้องเปลี่ยนโมเดลจากการรับจ้างผลิตเป็นนำ Intellectual Property มาใช้ทำให้มีรายได้มากขึ้น ถ้ามีคนที่คิดเก่งและทำเก่ง ประเทศก็จะรอด ปี 2558 เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยและอาเซียน ต้องเดินทางสายใหม่ให้ AEC นำคุณภาพชีวิตที่ดีมาให้ ส่งเสริม Happiness Capital เปลี่ยนหนี้เป็นความสุข ให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาผู้ประกอบการ     

นายผ่านพบ ปลั่งประยูร ผู้อำนวยการกองอาเซียน 3 กรมอาเซียน กล่าวว่า ในแง่ธุรกิจและตัวบุคคลต้องปรับตัวให้ขีดความสามารถสูงขึ้น การรวมของอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวเป็นการเพิ่มขนาดตลาดให้ใหญ่ขึ้น มีการลงทุนจากจีนและอินเดียมากขึ้น 7 สาขาอาชีพที่มีการเปิดเสรีอาเซียนต้องปรับตัวมากขึ้น เพราะอาจจะพบกับคู่แข่งมากขึ้นแต่ก็มีโอกาสไปทำงานต่างประเทศมากขึ้นด้วย อาเซียนยังมีจุดอ่อนด้านทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะอินโดนีเซีย กัมพูชา ต้องพยายามขับเคลื่อน 3 เสาและเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคม เมื่อมีอาเซียน ก็มีการเปรียบเทียบ Benchmark มากขึ้น และทำให้แข่งกับระดับโลกได้ ในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องสร้างนวัตกรรม ตอบสนองสิ่งที่เป็นความสนใจของชาวโลก ในความเป็นอาเซียน ต้องเข้าใจภาษาและวัฒนธรรม ต้องเสริมจุดแข็งคือ Cluster และแก้ไขจุดอ่อนคือ การศึกษา

รศ.ดร.พิภพ อุดร ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนาได้สรุปว่า จากนี้ไป ความรู้และความคิดจะจำกัดอยู่แค่ในประเทศไม่ได้ ต้องคิดให้ใหญ่ขึ้นกว่าประเทศตนเอง ต้องรู้จากเพื่อนบ้านอาเซียนให้ดี คนไทยต้องยกระดับความสามารถเพื่อเทียบกับชาวต่างประเทศ ในด้านการเรียนภาษาต่างประเทศ ไม่ควรจำกัดแค่ภาษาอังกฤษ แต่ควรเรียนรู้ภาษาที่ 3 คือภาษาอาเซียน ต้องเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านเท่ากับที่เขาเข้าใจเรา ต้องมีทักษะการทำงานข้ามวัฒนธรรมและใช้ประโยชน์จากความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วย

เรียบเรียงโดย

 

จิตรลดา ลียากาศ

(โปรดติดตามช่วงที่ 2 ที่นี่เร็ว ๆ นี้)

โปรดคลิกที่ลิ้งค์นี้เพื่ออ่านสรุปเสวนาช่วงที่ 2

http://www.gotoknow.org/posts/485971

ที่มา: FIHRD-Chira Academy Reviews ภาคพิเศษ. ฉบับเดือนเมษายน 2555

โปรดคลิกเพื่ออ่านข่าวเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้

http://www.gotoknow.org/posts/598044

ที่มา: FIHRD-Chira Academy Newsletter รายปักษ์ ประจำวันที่ 2 - 16 ธันวาคม 2558

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท