๒๔๗.ตัวอย่างความขัดแย้งและวิธีแก้ไขในสมัยพุทธกาล


ดังนั้น ต้องยอมรับกันก่อนว่า "ความขัดแย้งจะต้องเกิดขึ้นในทุกเวลา แม้ในอดีตก็มีเหตุการณ์ให้เห็นมากมาย ทั้งสถานการณ์โลก สถานการณ์ไทย นับประสาอะไรจะไม่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต"

    

   จากการบันทึกเทปรายการ "เวทีสาธารณณะ" ของสถานีโทรทัศน์ฯ Thai PBS เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ณ ลานหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

     งานนี้มีผู้เข้าร่วมรวม ๙ รูป/คน ประกอบไปด้วยคุณแวว ณาตยา แวววีรคุปต์-พิธีกร, คุณชัยวัฒน์-สื่อท้องถิ่น, อ.วัชระ-นักคิดนักเขียนอิสระ, ผศ.มนตรา-มหาวิทยาลัยพะเยา, พ่อสมาน-เครือข่ายเกษตรกรพะเยา, คุณชุมพล-แกนนำเสื้อเหลืองล้านนา, คุณศิริวัฒน์-แกนนำเสื้อแดงพะเยา, คุณประพันธ์-โครงการครอบครัวเข้มแข็ง และผู้เขียน-พระสงฆ์พะเยาตัวน้อยๆ

     ประเด็นก็คือ ทางรายการสนใจ "บทบาทสถาบันปวงผญาพยาว" ที่สามารถเป็นสื่อกลางให้แกนนำเหลือง-แดงในจังหวัดพะเยามาคุยกัน ได้อย่างสันติ? ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๒ ซึ่งเหตุการณ์กำลังร้อน ๆ อยู่ขณะนั้น และเท่าที่ผ่านมาการชุมนุมของเหลือง-แดงในจังหวัดพะเยา ไม่ค่อยเกิดวิกฤติความขัดแย้งรุนแรง เพราะเหตุใด?

     เป็นการ "ถอดระหัส" ความขัดแย้งที่ผ่านมา และคนพะเยาเห็นสัญญาณความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น กรณีคณะนิติราษฎร์, เงินเยียวยา, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, มาตรา ๑๑๒ ฯลฯ ว่าอย่างไร?

     จากประเด็นดังกล่าว ผู้ร่วมรายการทั้ง ๘ ท่านได้กล่าวให้ข้อคิดไว้มากมาย ซึ่งผู้เขียนคงไม่นำมากล่าวในที่นี้ กลัวความคลาดเคลื่อน แต่ผู้อ่านหาดูได้ในรายการเวทีสาธารณะของช่อง TV.Thai PBS วันเสาร์ เวลา ๑๔.๐๕ น.

     แต่วันนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอในสิ่งที่พูดและสิ่งที่ไม่ทันได้พูดในวันนั้นเนื่องจากเวลาน้อยมาก (๑ ชม.ครึ่ง) ซึ่งผู้เขียนได้เสนอว่า

     ประเด็นที่ ๑ ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เมื่อคนมาอยู่ด้วยกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปต้องมีปัญหาแน่นอน  แม้อยู่คนเดียว ยังมีความขัดแย้งระหว่างความคิดของฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว อย่างคนโบราณสอนว่า "อยู่คนเดียว-ให้ระวังความคิด อยู่กับมิตร-ให้ระวังคำพูด"

     ดังนั้น ต้องยอมรับกันก่อนว่า "ความขัดแย้งจะต้องเกิดขึ้นในทุกเวลา แม้ในอดีตก็มีเหตุการณ์ให้เห็นมากมาย ทั้งสถานการณ์โลก สถานการณ์ไทย นับประสาอะไรจะไม่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต"

     เมื่อมองดูความขัดแย้งในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงใช้เทคนิคในการแก้ไขความขัดแย้งในหลากหลายมิติ ดังจะยกกรณีศึกษามา ๓ ประการ คือ

     ๑.ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์

     สถานการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า ๒ ฝ่ายคือฝ่ายพระบิดาและฝ่ายพระมารดา แย้งน้ำเพื่อจะทำนากัน พระพุทธเจ้าใช้วิธีการเจรจาไกล่เกลี่ย ให้พระประยูรญาติทั้ง ๒ ฝ่ายเห็นข้อดีข้อเสีย โดยชี้ให้เห็นเหตุและผลของการทำลายล้าง

     โดยเฉพาะคำถามเด็ดของพระองค์ที่ว่า "คุณค่าของชีวิตคน กับคุณค่าของน้ำ คุณค่าไหนสำคัญกว่ากัน?..." ซึ่งปริศนานี้ ถูกเข้าใจโดยพระประยูรญาติทั้ง ๒ ฝ่ายและทำให้เห็นว่าคนโบราณมีสติและเหตุผล

     ๒.ความขัดแย้งเรื่องหลักการ

     สถานการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อพระเทวทัตได้นำเสนอวัตถุ ๕ เพื่อใช้เป็นกฏเหล็กสำหรับพระสงฆ์ในยุคนั้น เช่น ให้พระภิกษุในพระพุทธศาสนางดฉันเนื้อตลอดชีวิต ฯลฯ

     แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าจะเป็นการผูกมัดภิกษุสงฆ์มากเกินไป ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งจะทำให้กลายเป็นกลุ่มคนที่เลี้ยงยาก ไม่เหมาะสมสำหรับบางพื้นที่ บางสถานการณ์ บางเวลา แต่พระเทวทัตใช้ประเด็นนี้นำภิกษุบวชใหม่ ๕๐๐ รูปหลีกหนีไป(ไปตั้งคณะสงฆ์ใหม่) อันเป็นการยังสงฆ์ให้แตกจากกันครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

     ประเด็นนี้พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา คือปล่อยให้สถานการณ์สุกงอมเต็มที่ก่อน เนื่องจากอารมณ์ผู้คนในขณะนั้นกราดเกี้ยวและรุนแรง พระองค์ทรงใช้ความสงบและให้เวลาเป็นเครื่องเยียวยารักษาตัวของมันเอง เมื่อเวลาพร้อม พระพุทธเจ้าทรงส่งพระอัครสาวกไปชี้ผิดชี้ถูก จนภิกษุผู้บวชใหม่ ๕๐๐ รูปกลับมาเหมือนเดิม จนพระเทวทัตที่เพลอหลับไปตื่นขึ้นมาถึงกับกระอักโลหิต(หาอ่านได้จากพระไตรปิฎกหรือธรรมบท)

     ๓.ความขัดแย้งเรื่องบทบัญญัติหรือกฏหมายในที่นี้ก็คือพระวินัย

     สถาณการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อพระวินัยธรซึ่งมีลูกศิษย์มากกับพระธรรมธรซึ่งมีลูกศิษย์มากเช่นกัน เหตุเกิดในเรื่องของน้ำครึ่งขัน แต่ต่างฝ่ายต่างกลัวเสียหน้า ผสมกับทิฐิที่ต้องการเอาชนะเชิงทฤษฎีของแต่ละกลุ่ม

     ผนวกกับบรรดากองเชียร์ของลูกศิษย์แต่ละฝ่าย(อันนี้สำคัญมาก กองเชียร์) เมื่อพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีตักเตือนแล้วยังไม่เชื่อ หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงให้สติแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม จนพระพุทธเจ้าทรงหลีกออกไปอยู่รูปเดียว(คงเป็นที่มาของการปลีกวิเวก)

     จนชาวบ้านทั้งหลาย เกิดความระอาใจที่พระภิกษุสงฆ์ทะเลาะกัน และยังทำให้พระบรมศาสดาต้องหลีกออกจากหมู่ อยู่เพียงลำพังโดยมีช้างและลิงอุปฐาก ต่างก็พากันไม่ใส่บาตร (คงเป็นที่มาของการคว่ำบาตร-ประเด็นนี้ผู้เขียนไม่มั่นใจ) จนพระสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างมานั่งปรึกษากันเนื่องจากเห็นว่า ไม่มีประโยชน์ ชาวบ้านไม่ใส่บาตร จึงเกิดความระอายใจและสงบศึกกันโดยอัตโนมัติ

     ประเด็นนี้ หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้มาตรการที่ ๑ คือให้สติก่อน เมื่อไม่ฟังพระองค์จึงให้ภิกษุทั้งสองกลุ่มเรียนรู้ ประสบการณ์ด้วยตนเอง หรือสัมผัสถึงหายนะเชิงประจักษ์ด้วยตัวเอง

     นี้คือแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงใช้มาแล้ว เมื่อกว่า ๒๕๐๐ ปี ซึ่งตัวอย่างมีอีกมากมาย แต่....

(มีต่อ)

    

หมายเลขบันทึก: 480398เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2012 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

บางคนบอกว่าพระไม่ควรเล่นการเมือง แต่พระไม่ได้เล่นการเมืองแต่ช่วยแก้ปัญหาให้ญาติโยมต่างหาก หาทางออกให้กับผู้ที่มีตามืดบอดให้ตาสว่างเท่านั้นเอง

นมัสการครับ ที่ได้ติดตามและช่วยหาทางออกให้กับสังคม

เป็นแนวคิดที่งดงามครับ สาธุ....

นมัสการ เช่นกันครับ และยินดีที่ได้มีโอกาสช่วยสังคมเพราะเกิดมาเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ต้องสนใจความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในสังคมให้มาก ผมเป็นเพียงลูกศิษย์ตถาคตตัวเล็ก ๆ ซึ่งนำปัญญามาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งตามแนวทางของอาจารย์ของพวกเราคือ คำสอนของท่านนะ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท