"มหาอุทกภัย 2554" ถอดบทเรียนการจัดการด้านสาธารณสุข จ.ขอนแก่น(ตอนที่ 3) :การออกหน่วยปฏิบัติการย่อยเพื่อช่วยเหลือจังหวัดอื่น


ในตอนที่ผ่านมาเป็นการถอดบทเรียนการจัดการด้านสาธารณสุขในเรื่องของการบริหารจัดการระดับจังหวัดและศูนย์วิชาการ นอกจากจะต้องบริหารจัดการจะต้องดูแลผู้ประสบอุทกภัยภายในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่นแล้ว ยังได้รับมอบหมายภารกิจให้การออกปฏิบัติการช่วยเหลือจังหวัดผู้ประสบอุทกภัยจากจังหวัดอื่นด้วย ได้แก่ จังหวัดลพบุรี อยุธยา นนทบุรี และปทุมธานี โดยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลสีชมพู และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอซำสูง ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการการรํกษาผู้ป่วยในจังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี นอกจากนั้นได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยการเยียวยาบริการปฐมภูมิถึงบ้านและครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งการดำิเนินการแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้


1.ระยะเตรียมความพร้อม

1.1 ด้านนโยบาย

นโยบายของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในออกหน่วยปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภายในจังหวัดดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ 2P2R ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1การป้องกันและลดผลกระทบ(Prevention and mitigation)

มาตรการที่ 1.1 จัดทำแผนเตรียมด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณาการ

มาตรการที่ 1.2 สร้างและเพิ่มองค์ความรู้ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลผู้ประสบภัยเบื้องต้นให้กับผู้บริหาร ผู้นำชุมชน ประชาชน ผู้ปฏิบัติในพื้นที่เสี่ยง

มาตรการที่ 1.3 การประเมินความเสี่ยงภัยของสถานบริการสุขภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเตรียมความพร้อม(Preparedness)

มาตรการที่ 2.1 จัดทำโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน

มาตรการที่ 2.2 สร้างระบบและกลไกการเชื่อมโยงระบบแจ้งเตือนภัย (Warning system) และการกระจายข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

มาตรการที่ 2.3 จัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณาการทุกระดับ


มาตรการที่ 2.4 เตรียมพร้อมบุคลากร ทรัพยากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข


มาตรการที่ 2.5 กำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนทุกระดับ


มาตรการที่ 2.6 จัดทำฐานข้อมูลทรัพยากร(คน เงิน สิ่งของ)ด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้พร้อมและเป็นปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารจัดการฉุกเฉิน(Emergency Response Management)

มาตรการที่ 3.1 จัดให้มีศูนย์เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เป็นศูนย์กลางในการสั่งการ อำนวยการ และการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพทุกระดับตามประเภทของภัย


มาตรการที่ 3.2 จัดระบบการสื่อสารฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนระบบบัญชาการ

มาตรการที่ 3.3 สนับสนุนและจัดการให้มีหน่วยกู้ชีพ/กู้ภัย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บจากพื้นที่เกิดเหตุไปสู่สถานบริการทางการแพทย์

มาตรการที่ 3.4 จัดให้มีระบบการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งเชิงรับและเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ มีโครงข่ายเชื่อมโยง ช่วยเหลือร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการหลังเกิดภัย(Rehabilitation and Reconstruction Recovery)

มาตรการที่ 4.1 ประเมินและดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและมลพิษต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้อยู่ในสภาพที่ดี เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในระดับที่ยอมรับได้

มาตรการที่ 4.2 ควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรการที่ 4.3 ดำเนินการด้านโภชนาการและอาหารปลอดภัย ให้กลับสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว

มาตรการที่ 4.4 ฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แก่ผู้ประสบภัยให้สามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติ

ข้อเสนอ : นโยบายในการออกปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดอื่นควรมีความชัดเจนเพื่อที่เจ้่าหน้าที่จะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

1.2 แผนปฏิบัติการหรือแผนดำเนินงาน ยังขาดความชัดเจนในการดำเนินงานเนื่องจากความเร่งด่วนและขาดข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานที่ที่ต้องออกปฏิบัติงานสนับสนุน

ข้อเสนอ : ควรมีการจัดทำแผนดำเนินงานให้มีความชัดเจน ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งระยะสั้น ระยะยาว ระดับกระทรวงและพื้นที่

1.3 การซ้อมแผนอุทกภัย

ในการออกหน่วยปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดอื่น คณะผู้ปฏิบัติงานได้ออกดำเนินการโดยได้รับข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ที่เคยไปปฏิบัติงานมาก่อน แต่ไม่เคยผ่านการซ้อมแผนเพื่อปฏิบัติการในสถานการณ์อุทกภัย

ข้อเสนอ : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดควรเป็นเจ้าภาพในการจัดซ้อมแผนเพื่อเตรียมรับและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยครอบคลุมทุกระดับ

1.4 การแต่งตั้งทีมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดอื่น

การจัดตั้งทีมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดอื่น เป็นการรวมทีมโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อาสาไปปฏิบัติงานภายใต้ความคุ้นเคยในการทำงานร่วมกันเป็นทีมในชุมชน

ข้อเสนอ : ควรมีการแต่งตั้งทีมปฏิบัติการให้ครอบคลุมสหสาขาวิชาชีพ โดยมอบหมายภารกิจไว้ล่วงหน้า

1.5 การประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์

ผู้ที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดอื่นขาดข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ปฏิบัติการ ข้อมูลระบบการประสานงาน รวมถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือแต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ในขณะที่บางพื้นที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม

ข้อเสนอ : ควรมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารในระดับเขตและกระทรวง และจัดประชุม War room เป็นประจำเพื่อให้แก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

1.6 ระบบสื่อสาร

ระบบการสื่อสารค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ยังขาดการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จากหน่วยงานราชการ ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ทรัพยากรส่วนบุคคลเอง

ข้อเสนอ : ทางหน่วยงานราชการควรจัดสรรงบเพื่อใช้จัดซื้อ จัดหา อุปกรณ์สื่อสารให้เพียงพอให้ได้หลากหลายช่องทาง

1.7 ศูนย์ประสานงานการสื่อสาร

การประสานงานในหน่วยงานสาธารณสุขระกับจังหวัดยังไม่มี แต่ใช้การประสานงานเครือข่ายหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกโดยผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอ : ควรจัดตั้งศูนย์ประสานงานจัดการด้านสาธารณสุขระดับจังหวัด โดยการนำเครือข่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน

1.8 งบประมาณ

ในปีงบประมาณ 2554 ทางจังหวัดไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการสถานการณ์ปัญหาอุทกภัย งบประมาณส่วนใหญ่ที่ใช้ในการดำิเนินงานได้รับจากการบริจาค หรือการสำรองเงินส่วนตัวเพื่อใช้ในการดำเนินการ

ข้อเสนอ : ควรมีการจัดตั้งงบประมาณเตรียมการไว้สำหรับดำเนินการด้านนี้ รวมถึงการระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ

1.9 การจัดเตรียมทรัพยากร

หน่วยงานราชการต่างๆไม่ได้มีการเตรียมการเพือ่รองรับสถานการณ์ปัญหาอุทกภัยไว้ล่วงหน้า ดังนั้นจึงประสบปัญหาการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ โดยไม่สามารถจัดซื้อ จัดหาได้ บางครั้งสามารถจัดซื้อ จัดหามาได้แต่เป็นของที่ด้อยคุณภาพ

ข้อเสนอ : ควรจัดทำแผนบริหารทรัพยากร ให้ครอบคลุมการสำรวจทรัพยากร การจัดหา การบริหารจัดการ และการกระจายทรัพยากร

2.ระยะดำเนินการ(ออกหน่วยบริการ)

2.1 การจัดการข้อมูลข่าวสาร

หน่วยงานระดับจังหวัดมีระบบการจัดการข้อมูลข่าวสารค่อนข้างดี แต่เป็นการสื่อสารข้อมูลทางเดียว โดยเสนอข้อมูลต่อผู้บริหารและหน่วยงานในส่วนกลางเท่านั้น

ข้อเสนอ : ควรสื่อสารข้อมูลให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย

2.2 การบริหารด้านกำลังคน

ในการออกหน่วยปฏิบัติการ มีการจัดตั้งทีมปฏิบัติการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปฐมภูมิ 6-8 คน ระดับทุติยภูมิ 8-16 คน ระดับตติยภูมิ 30 คนขึ้นไป

ข้อเสนอ : ในแต่ละทีมฏิบัติการควรมีบุคลากรด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุมสหวิชาชีพ

2.3 การบริหารจัดการเครือข่าย

ระบบการบริหารจัดการเครือข่ายยังขาดความชัดเจน

ข้อเสนอ : ควรมีการวางแผนเพื่อเตรียมกำลังคนและการประสานเครือข่าย

2.4 ระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน(EMS)

ในปีที่ผ่านมายังไม่มีการจัดหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน(EMS)สำหรับการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงใช้วิธีการหาเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจากหน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาล

ข้อเสนอ : ควรจัดหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมที่จัดการในสถานการณ์ทั่วไป และทีมที่ออกปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอุทกภัย

3.หลังเกิดอุทกภัย

การถอดบทเรียนการจัดการทางด้านสาธารณสุขสถานการณ์ มีการดำเนินการ โดยกลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานด้านนี้

ข้อเสนอ ควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นแนวทางในวางแผนการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมดำเนินงาน

หมายเหตุ : ข้อมูลจากประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ทิศทางการบริหารจัดการอุทกภัย

จ.ขอนแก่น ปี 2555 ณ โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 จัดโดยกลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น



คำสำคัญ (Tags): #อุทกภัย
หมายเลขบันทึก: 479925เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2012 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2017 06:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท