เผยคนไทยถูกสุนัขกัดปีละเฉียด 4 แสนตายเกือบ 20 ด้วยโรคพิษสุนัขบ้า วอนร่วมมือป้องกันก่อนเสี่ยง


โรคพิษสุนัขบ้า

เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า โรคพิษสุนัขบ้า หรือที่นิยมเรียกว่าโรคกลัวน้ำ  เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต  จัดเป็นติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่ทำให้คนและสัตว์ป่วยและเสียชีวิตด้วยความทรมานทุกราย  พาหะนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข รองลงมาคือแมว  โดยเชื้อไวรัสออกมากับน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ และเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน บางครั้งพบว่าเชื้อสามารถเข้าทางบาดแผลที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ตามผิวหนัง หรือเข้าเยื่อบุของตา  ปาก  จมูก  ที่ไม่มีแผล หรือรอยฉีกขาด

         พบว่าในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโลกปีละกว่า 55,000 ราย  ในประเทศไทยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง  กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่ามีผู้ถูกสุนัขกัดถึงประมาณ 300,000 - 400,000 รายต่อปี  เสียชีวิตประมาณ 15-20 รายต่อปี  โดยในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้วรวมจำนวน 54 ราย   ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการควบคุมป้องกันโรคทั้งในคนและสัตว์มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี  ยังไม่นับรวมค่าความเสียหายและผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก  เหตุผลเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสุนัข และแมวยังดำเนินการได้ไม่ถึงร้อยละ 80 ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด  อีกทั้งยังมีการปล่อยทิ้งสุนัขในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีจำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มมากขึ้น และประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้ทุกประเทศกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2563 ดังนั้น กรมควบคุมโรค และ กรมปศุสัตว์ จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าประจำปี 2555 ขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ  ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2555  โดยเน้นการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานตามกิจกรรม  ต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า  ให้สุนัข แมว ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง  ควบคุมและลดจำนวนประชากรสุนัข แมว มีและไม่มีเจ้าของ   ฉีดวัคซีนสุนัขและแมวในพื้นที่เสี่ยง หรือในที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน ตลาดแหล่งชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ  ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตะหนักถึงอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้า  รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเลี้ยงสุนัขอย่างถูกวิธี 

            เภสัชกรเชิดเกียรติ ยังกล่าวต่อว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการรณรงค์โครงการนี้ คือ  เกิดความร่วมมือประสานงานกันทั้งภาครัฐและเอกชน  ให้สุนัข แมว ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศในเวลาเดียวกัน  ประชาชนในชุมชนให้ความสำคัญในการเลี้ยงและดูแลสุนัขและแมว อย่างถูกวิธีและเห็นความสำคัญในการนำสุนัขและแมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  ลดปัญหาการเพิ่มจำนวนของสุนัขจรจัด  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเห็นความสำคัญ และให้ความร่วมมือในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า  ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เทศบัญญัติ ส่งเสริมการใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า

            หัวใจสำคัญของการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า  คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครอบคลุมจำนวนประชากรสัตว์ทั้งหมดมากที่สุด  การควบคุมการเพิ่มของจำนวนประชากรสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า  ควบคู่ไปกับให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และการร่วมมือกันอย่างแท้จริงจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนประชาชนให้ระวังบุตรหลานเด็กอายุ 5-9 ปี และผู้สูงอายุ ในการเล่นหรือคลุกคลีกับสุนัขหรือแมว  ไม่ยั่วยุให้สุนัขโมโห  แต่หากผู้ใดถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วนต้องรีบล้างแผลด้วยสบู่ และน้ำสะอาดให้ลึกถึงก้นแผล และใส่ยาฆ่าเชื้อโรค  เช่น เบตาดีน  เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสที่แผลโดยเร็ว   แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที และถ้าทำได้ควรติดตามดูอาการสุนัขหรือแมวนั้น  10  วัน  หากยังปกติอยู่รีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหยุดฉีดวัคซีนได้ 

ข้อความหลัก " ถูกกัดต้องล้างแผล  ใส่ยา  กักหมา  หาหมอ  ฉีดต่อจนครบ ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2555/2555_02_22_Rabies.html

 

คำสำคัญ (Tags): #โรคพิษสุนัขบ้า
หมายเลขบันทึก: 479806เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2012 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท