ตอนที่ 2 : ทำไมต้องฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้


          คำว่า “พุทธชยันตี” หมายถึง ชัยชนะของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่มุ่งหมายถึงการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นพุทธบูชาในโอกาสสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเมื่อคราว พ.ศ.2500 ซึ่งถือว่าเป็นยุคกึ่งพุทธกาลนั้น เป็นครั้งแรกของการจัดการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลายในชื่องาน “พุทธชยันตี” จนมาถึงปีนี้ คือ ปี พ.ศ.2555 เป็นอีกวาระหนึ่งที่หลายประเทศได้มีการเฉลิมฉลองวาระมหามงคลซึ่งบางประเทศได้มีการจัดงานมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว การเฉลิมฉลองนั้นเน้นการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก ส่วนการแสดงก็เน้นการแสดงที่มุ่งบูชาคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมครูของโลก จึงเป็นการแสดงที่เน้น “ธรรมคีตะ” หรือ “ธรรมบันเทิง” มากกว่าที่จะเป็นมหรสพรื่นเริงที่เน้นความสนุกสานเหมือนอย่างงานฉลองทั่วไป ภาพการแสดงในลักษณะนี้มีปรากฎให้ได้ชื่นชมอย่างต่อเนื่องในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะประเทศศรีลังกา เป็นต้น

          สำหรับประเทศไทย ในฐานะที่เป็นดินแดนพระพุทธศาสนาที่สำคัญจนโลกยกย่องให้เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ อาจจะยังดูเงียบไปบ้างกับวาระครั้งสำคัญนี้หากเทียบกับเมื่อคราวครบ 2,500 ปี ที่มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่และในนามรัฐบาลยังได้มีการจัดสร้างพุทธสถานที่สำคัญเกิดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ 2,500 ปีแห่งการตรัสรู้ ในพื้นที่ 2,500 ไร่ นั่นก็คือ พุทธมณฑล ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมนั่นเอง

          คำถามก็คือ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองและภัยธรรมชาติที่ล้วนไม่อาจวางใจได้ว่าจะไม่เป็นปัญหาสำหรับสังคมไทยอีกหรือไม่ในระยะอันใกล้นี้ ประกอบกับความบอบช้ำที่เกิดจากปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมา ภาครัฐโดยเฉพาะรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไรกับมหามงคลโอกาสเช่นนี้ หากมองในมุมหนึ่งคงต้องเห็นใจรัฐบาลที่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะคิดการใดสักอย่างที่ยิ่งใหญ่เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในโอกาสสำคัญนี้

แต่หากมองอีกที การกู้วิกฤติชาติที่มีประสิทธิภาพอาจจำเป็นต้องใช้ทุนทางวัฒนธรรม คือ ความศรัทธาทางศาสนาและวิถีชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของไทยที่มีเป้าหมายชัด คือ สันติสุข และความสามัคคี  มาเป็นช่องทางในการสมานรอยแผลและสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้สังคมไทยต่อไป

          การจัดการเฉลิมฉลองพุทธชยันตีในโอกาส 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นโอกาสหนึ่งของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่จะเชิญชวนประชาชนหรือมวลสมาชิกในองค์กรให้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา สาระธรรมที่ควรกล่าวถึงเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาไปด้วยก็คือ

“ปัญญา  เมตตาและสามัคคี”

ซึ่งก็สอดคล้องกันแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่ว่า “รู้ รัก สามัคคี” นั่งเอง

ทำอย่างไรให้โอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ เป็นโอกาสแห่งการสร้างกระแส “รู้ รัก สามัคคี” ให้กระจายไปอย่างทั่วถึง

ด้วยสำนึกในพระพุทธคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระมหากรุณาธิคุณแห่ง “พ่อของแผ่นดิน” ผู้ทรงเป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภ์ในแผ่นดินไทย


          (โปรดอ่านต่อฉบับหน้าในประเด็น “คุณค่าแห่งการตรัสรู้ต่อมนุษยชาติ”)

คำสำคัญ (Tags): #พุทธชยันตี
หมายเลขบันทึก: 479553เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2012 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท