สัมมนาภาควิชาวิสัญญีวิทยา มข.2555 : AI & Dialogue (1)


...จะอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดก็เหมือนกันตรง “สุนทรีย” นี่แหละ

...เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นประเด็นที่ผู้เขียนเก็บตกมาจากงานสัมมนาที่ภาควิชาฯของผู้เขียน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ Ico64 อาจารย์ MBA มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ที่ปรึกษาเครือข่าย Thailand Appreciative Inquiry Network (www.aithailand.org) เป็นวิทยากรในการจัดสัมมนาภาควิชาฯในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมริมปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

เนื้อหาที่ผู้เขียนเล่าเป็นเพียงประสบการเล็กๆประสบการณ์เดียวในช่วงสั้นๆในมุมมองของผู้เขียนแล้วถอดมาบันทึกเล่าให้เพื่อนที่ไม่ได้ไปด้วยได้ทราบเท่านั้น ไม่อาจนำไปอ้างอิงทางวิชาการเรื่อง สุนทรียสาธก(Appreciative inquiry : AI) หรือ สุนทรียสนทนา (Dialogue) ได้...

...

 ท่านวิทยากรได้เกริ่นนำเรื่องของ “คน” และ “การค้นหาสิ่งที่ดีๆที่มีอยู่ในตัวคน” จึงขอปรับประเด็นการสัมมนาเป็นสุนทรียสาธก หรือ Appreciative inquiry (AI) ไม่ได้เป็นเรื่องของ สุนทรียสนทนา (Dialogue) ล้วนๆอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้แต่แรก

เท่าที่ผู้เขียนจับใจความได้...นัยว่า ไม่อยากให้การสนทนาเป็นเพียงความฝันแต่หวังที่จะให้ผู้ปฏิบัติดึงความฝันให้ใกล้กับความเป็นจริง เรื่องจริง คนที่มีตัวตนอยู่จริงให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดผลเป็นจริงได้ด้วย กิจกรรมที่ปรากฏจึงมิได้เป็นรูปแบบเฉพาะของสุนทรียสนทนา แต่เป็นการผสมผสานเข้าด้วยกัน เป็นสูตรของพ่อครัวที่ปรุงมาแล้ว...พร้อมเสริฟให้ชิมดังบันทึก พ่อครัว Dialogue และ AI .... ของอาจารย์เอง ซึ่งจะโดนใจนักปฏิบัติที่ไม่ชอบอะไรเยิ่นเย้อ ดังนั้น ท่านที่หวังว่าจะได้ดื่มด่ำกับเทคนิคการทำสุนทรียสนทนา ที่หวังว่าจะให้บุคลากรในภาคฯที่ต่าง(พูด)เก่ง ได้หัดฟังแบบลุ่มลึก(deep listening)จึงอาจผิดหวังบ้าง

...จะอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดก็เหมือนกันตรง “สุนทรีย” นี่แหละ

...

  สุนทรียสาธก หรือ Appreciative inquiry (AI) (Coopperrider D.L. and Whitney D., 1999) คือกระบวนการศึกษาค้นหาร่วมกันเพื่อค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคน ในองค์กร หรือของโลกที่อยู่รอบตัวเรา การตั้งต้นคำถามดีๆเพื่อนำไปสู่คำตอบดีๆ และมีความเชื่อว่ามนุษย์มีสิ่งดีๆ เรื่องดีๆอยู่แล้ว การค้นหาเรื่องราว เรื่องเล่าดีๆและใช้ความคิดเชิงบวกจะทำให้เรื่องดีๆเหล่านั้นแตกแขนงต่อยอดต่อไปได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นการใช้จิตวิทยาเชิงบวก(Positive Psychology)... เหล่านี้นำสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ (ที่มา : http://www.aithailand.org/AIboard/index.php?topic=21.0 )

มีคำหลายคำที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ AI ที่อาจารย์พูดถึง ได้แก่ Discover Dream Design และ Destiny ซึ่งทั้งหลาย ทั้งมวลล้วนเป็นกระบวนการนำองค์กรสู่ความสำเร็จ ในแบบคิดเชิงบวก กิจกรรมการสัมมนานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ AI เท่านั้น 

เนื้อหาทฤษฎีฉบับเต็มนั้น ดร.ภิญโญ ผู้เป็นเจ้าของต้นฉบับเล่าไว้ที่นี่แล้วค่ะ..

...

 มีการยกกรณีตัวอย่าง

1)   เรียนรู้จาก “คนล้งกุ้ง”

เรื่องการค้นหาผู้ที่มีเทคนิคการทำงานที่ดีจากกลุ่มผู้ที่ทำงานด้วยกัน ที่เทคนิคดังกล่าวส่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าใคร ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา เป็นต้นแบบที่กลุ่มยอมรับและก่อให้เกิดการนิยมชมชื่นและปฏิบัติตาม และให้ดีขึ้นพัฒนาองค์กรและมีการตามมา เช่น เทคนิคการล้งกุ้ง

2)   เรื่องของ สามคนไม่ธรรมดา ที่เราควรค้นหา คนที่จะเป็นผู้พาเราและองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลง (จากหนังสือ “จุดประกายให้เกิดกระแส (The Tipping Point) ที่มา : www.nidambe11.net/ekonomiz/document/lighten.doc  เพื่อเป็นกุญแจนำสู่ความสำเร็จ

 

สามคนไม่ธรรมดาดังกล่าวได้แก่

-      Connectors (ผู้เชื่อมต่อ) เป็นผู้ที่มีเพื่อนมาก มีความสามารถพิเศษที่ได้สร้างเครือข่ายเอาไว้ในกลุ่มต่างๆหลายกลุ่ม เนื่องจากเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง ชอบการเข้าสังคม มีความอยากรู้อยากเห็น และมีพละกำลังมาก มีเครือข่ายของคนรู้จักที่กว้างขวางและสามารถแพร่ขยายข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว

-      Mavens (ผู้รู้) เป็นภาษายิว แปลว่าบุคคลที่สะสมความรู้ ผู้ที่จะจุดกระแส "การระบาด" ในสังคม และมีข้อมูลมากมายมาแพร่ขยายให้กับบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชี้แจงให้ connectors ได้รับข้อมูล เป็นผู้ที่ไม่ต้องการแสวงหาความรู้แต่อย่างเดียว แต่จะมีความต้องการที่จะเล่าประสบการณ์ของตนให้ผู้อื่นได้รับทราบด้วยกล่าวคือ ไม่มีความต้องการเก็บข้อมูลไว้คนเดียวแต่อย่างใด เพราะ mavens เป็นคนที่ต้องการช่วยเหลือและให้ความรู้กับผู้อื่น

-      Salesman (ผู้โน้มน้าว) จะแตกต่างจาก Mavens ตรงที่ว่า คนประเภทนี้ จะมีความสามารถในการโน้มน้าวให้ผู้ฟังเชื่อตาม บุคคลที่มีลักษณะของ Salesman นั้น จะเป็นคนที่มีพลัง มีความกระตือรือร้น มีเสน่ห์ และเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี มีความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถประสบความสำเร็จในทุกอย่าง ที่เขาพยายามทำ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

หมายเลขบันทึก: 479204เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2012 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท