ครั้งหนึ่ง ในแดนดินปกาญอ..แม่ฮ่องสอน


ก่อนนั้น..ที่ฉันเคยเป็นอยู่คือ..

         ตอนบรรยากาศหนาวๆที่ผ่านมา   ผู้คนแห่เที่ยวเหนือกันอย่างเนืองแน่น  โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ถือว่าอยู่ในท็อปฮิตติดอันดับของแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนกระเหี้ยนกระหือที่จะไป  ช่วงหยุดปีใหม่ที่ผ่านมาเลยได้พบปรากฏการณ์น้ำมันดีเซลขาดปั๊มที่แม่ฮ่องสอน  ต้องรอการขนส่งน้ำมันเพิ่มไปจากเชียงใหม่  เชื่อไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนตั้งหน้าตั้งตาไปกันเยอะมาก  นั่นล่ะมนต์เมืองแม่ฮ่องสอนเขาล่ะ 

แม่ฮ่องสอน  มีชนพื้นเมืองหลากหลาย   หลักๆคือ ไทยใหญ่  กะเหรี่ยง   มูเซอ  จีนฮ่อ ลาหู่  อาข่า  เย้า  แม้ว     

ถ้าเป็นบริเวณชุมชนเมือง  จะพบพี่น้องไทยใหญ่หรือคนไตซึ่งมีมากที่สุด  ถือว่าเป็นชนพื้นเมืองทั่วไปของแม่ฮ่องสอน  ส่วนคนเมืองที่เป็นคนเหนือจริงๆ  จะเป็นผู้ที่ไปอาศัยในแม่ฮ่องสอน ไปรับราชการ  ไปทำมาค้าขาย  นานๆเข้าเลยอยู่ปะปนกับชนดั้งเดิมของแม่ฮ่องสอน  กลายเป็นชนพื้นเมืองของแม่ฮ่องสอนไปด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง  คนไตจะเรียกกลุ่มใหม่นี้ว่าเรียกว่าโยน   

                ช่วงปี พ.ศ. 2543-2548  ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตในจังหวัดแม่ฮ่องสอน  จากการเข้าบรรจุรับราชการครู  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดสอน ตั้งแต่อนุบาล 1- มัธยมศึกษาปีที่ 3 ในชุมชนชาวปาเกอญอ

                โรงเรียนมีระยะทางห่างจากตัวจังหวัด 50 กิโลเมตร  ช่วงนั้นสภาพถนนยังเป็นดินลูกรัง  บางแห่งยังไม่ได้อัดดินแดง  สภาพถนนที่ขรุขระ  รกหญ้ารกพง  คดเคี้ยวลาดชันไปตามหุบเขาลำห้วย  ตอนฝนตกก็ ลื่น  เละ  เป็นบ่อโคลน  สถาพถนนเป็นดินเหนียวปนหิน  เป็นอุปสรรคในการเดินทางอย่างสุดบรรยาย  พวกครูดอยเราต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมงกับระยะทางเพียง 50 กิโลเมตร โดยจักรยานยนต์พาหนะคู่ชีวิตของครูดอย   เวลาในการเดินทางล่าช้าไปกับการดึงลาก  ไส จูง จักรยานยนต์ที่ล้อติดหล่มกับถนนโคลนดินเหนียวฟู  แถมบางช่วงสถาพถนน เกลี้ยงมัน  ลื่นไถล  ยากแก่การขับขี่อีกต่างหาก   เหนื่อยกันสุดชีวิต  บางครั้งต้องค้างคืนที่โรงเรียนทางผ่าน หรือหมู่บ้านระหว่างทาง   เพราะฝนตกหนัก  ไม่สามารถลากดึงสังขารคนกับจักรยานยนต์ไปต่อได้  เรื่องความลำบากในการเดินทาง  ถือว่าเป็นสุดยอดของความลำบาก ที่ทำให้ท้อใจมากที่สุดในขณะนั้น  เห็นจะมีเพียง การเดินทางเรื่องเดียวที่ทำให้ชีวิตดูติดขัด  นอกนั้นสามารถปรับตัวใช้ชีวิตในพื้นที่ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก 

                โดยส่วนตัวแล้ว มีความสนใจและแอบฝันถึงการใช้ชีวิตในวิถีปาเกอญออยู่เป็นทุนเดิมแล้ว  พอมีโอกาสได้สัมผัสคลุกคลี  ดำเนินชีวิตร่วมกับชาวบ้าน  จึงสามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตบนดอยได้ไม่ยากเย็นนัก  ช่วงเวลา 5 ปี 2 เดือน  ทำให้ได้ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนปาเกอะญอ  อย่างที่พอจะรู้จักและเข้าใจ....  วิถีการดำรงชีวิตอันแสนน่าทึ่งและล้ำลึกที่สุด....

                การใช้ชีวิตบนภูเขา  ที่ไร้สิ่งอำนวยความสะดวกทุกชนิด  ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  แต่ก็ไม่ได้ยากเข็ญแร้นแค้นจนอยู่ไม่ได้  สภาพบริบทสิ่งแวดล้อม วิถีหน้าที่การงานทำให้เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว  ปรับทัศนะมุมมอง  รู้จักดัดแปลง  พลิกแพลง  ประยุกต์  ทุกสิ่งรอบตัว  เพื่อให้เราดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ลำบาก  ตั้งแต่  การอาหารการกิน  การพักนอน  การพักผ่อน  กิจกรรมบันเทิง  การรับข้อมูลข่าวสาร  การสัมพันธ์กับชุมชน  และการพัฒนางานในหน้าที่  รวมถึงหน้าที่ปฏิบัติฐานะข้าราชการ  คนของหลวง  เจ้าหน้าที่ของรัฐ

                พูดถึงการปรับตัวในการใช้ชีวิตบนดอย  อย่างที่เมื่อครั้งขึ้นดอยครั้งแรก  ก็หอบหิ้วเสบียงเป็นพะเนินเทินทึก  ซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นกล่องๆ  ปลากระป๋องหลายแพ็ค  มะกะโรนี  หมูหยอง  อาหารกระป๋อง  ขนมขบเคี้ยว  ประหนึ่งว่าจะไปอยู่บนดอยสัก 3 เดือน

                พอไปใช้ชีวิตจริงๆ  ก็สามารถหากินตามพื้นที่ได้อย่างสบาย  เช่น  ซื้อข้าวสารตำครกกระเดื่องแรงคนจากหมู่บ้าน  กินแกงผักป่า  ผักห้วย   หาซื้อเนื้อสัตว์ป่าได้หลากหลาย พวก นก หนู  เก้ง  ไก่ป่า  ไก่บ้าน  วัว ควาย หมู  ที่ชาวบ้านหามา แล้วห่อใบตองเร่ขายให้พวกครูตามบ้านพักกับหมออนามัย  ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยสำหรับการกิน  เรายังสามารถหาผัก หาเนื้อ  มาปรุงอาหารตามปกติเหมือนที่อยู่บ้าน  เพียงแต่อุปกรณ์เครื่องครัวจะไม่มีให้สะดวกเท่านั้นเอง  อาจโขลกเครื่องแกงจากครกไม้สากหิน ใช้ เตาฟืน  แต่ต่อมาก็ขวนขวายซื้อเตาแก็สไปใช้บนดอยกันจนได้  พาชนะ อุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอย ก็เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากป่า  พวกไม้ไผ่  เครือเถาวัลย์  เชือกปอ  ไม้สน 

                สิ่งบันเทิงเริงใจที่พอจะมี  ก็คือสถานีวิทยุ FM อสมท.  เพียงคลื่นเดียว  ที่สามารถให้เป็นช่องทางรับข่าวสารบ้านเมือง และโลกภายนอก  เปิดทิ้งไว้ทั้งวัน  คอยฟังข่าวสารไป  อย่างรายการข่าวในพระราชสำนัก  ข่าวทั่วไทย  ข่าวต่างประเทศ  รายการวิทยุต่างๆ พวกก้าวทันข่าว  ท่องโลกกับBBC ภาคภาษาไทย  ฟังเพลงจากค่ายเพลงต่างๆ  ทำให้เกาะติดกระแสเพลงติดชาร์ตได้อีกด้วย  แต่ละบ้านจึงมีวิทยุใส่ถ่านไว้ฟังข่าวฟังเพลงกันถ้วนทั่ว   เนื่องจากราคาไม่กี่ร้อยที่พอหาซื้อมาเสพสุขกันได้   แถมยังได้ประโยชน์จากการฟังข่าวสาร  รับรู้การติดต่อสื่อสาร  และบันเทิงไปกับเสียงเพลง

  จังหวัดแม่ฮ่องสอนการคมนาคมลำบาก  การติดต่อสื่อสารก็ยากเพราะภูมิประเทศเป็นหุบเขา ไม่สามารถรับสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ได้   การสื่อสารกันผ่านทาง การกระจายข่าวสารทางสถานีวิทยุจึงเป็นทางเลือกที่ไวและได้ผลที่สุด  เนื่องจากมี รายการ “วิทยุเพื่อประชาชน”  ไว้คอยให้บริการประกาศข่าวสารถึงกันได้ฟรี  เป็นต้นว่า  ให้พ่อลงดอยไปรับลูกที่จะกลับบ้าน   ญาติใครหมู่บ้านไหนไม่สบายให้คนนั้นคนนี้ไปหา  หน่วยงานราชการเรียกประชุมก็แจ้งทางวิทยุ  ของหายก็ขอให้ประกาศได้  เก็บของได้ก็ประกาศได้อีก  ขนาดจักรยานยนต์สับกันที่ตลาดสดก็ยังต้องพึ่งรายการวิทยุประกาศเพื่อติดต่อแลกคืน  เป็นศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมมากๆ

     ในหมู่บ้าน  จะมีร้านขายของชำอยู่  3 แห่ง  แม้ว่าราคาจะสูงกว่าปกติไป 20% ก็ไม่ได้สร้างความลำบากใจนัก  เพราะยอมแลกกับการต้องซื้อของในเมืองแล้วแบกขึ้นเป้สัมภาระหนักๆบนหลังขึ้นดอยเอง  บ้านที่ขายของชำจะเป็นบ้านที่มีรถยนต์  ซึ่งปกติใช้เป็นรถโดยสารให้คนในหมู่บ้านขึ้นลงเขา  กับเอาไว้รับจ้างเหมาขนบรรทุกสิ่งของในหมู่บ้าน  เมื่อได้ลงไปในเมืองก็จะเอาสินค้ามาขายที่บ้าน  จะได้ไม่เสียเที่ยวรถตีเปล่ากลับขึ้นดอย   

ร้านขายของชำนี้ไม่ได้เปิดตลอด เพราะร้านค้าจะสร้างเป็นกระต๊อบที่ไว้ต่างหาก แล้วติดกุญแจไว้  เมื่อลูกค้ามาซื้อก็ถือลูกกุญแจมาไข เปิดขายเป็นคราวๆไป     สินค้ามีไม่มากนัก  แต่ก็มีของพอที่จะให้ชีวิตดำเนินไปได้  อย่าง เกลือ   น้ำตาล  น้ำมันพืช    บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  ปลากระป๋อง  นมกล่อง  ถ่านไฟฉาย  น้ำมัน  ยาเส้น  ตะปู  เชือก  สุรา    บางร้านทันสมัยหน่อยอ่านตลาดได้  ว่าลูกค้าที่เป็นครูดอย หมอดอย รวมถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ได้ไปใช้ชีวิตในเมืองมา ซึ่งมีเยอะและมีอัตราการซื้อสูง  ก็จะหาสินค้าที่พื้นราบมีมาไว้ขาย  อย่างเบียร์  ไวน์คูลเลอร์  น้ำอัดลม  กาแฟกระป๋อง  กะปิ  ซ้อสปรุงรส  ฟิล์มถ่ายภาพ  และในหน้าแล้งที่รถขึ้นลงสะดวก  ก็จะซื้อผัก ผลไม้ ขึ้นมาขายด้วย  ส่วนเนื้อสดต่างๆ จะไม่นำมาเพราะไม่มีตู้เย็นให้เก็บรักษาหากขายไม่หมดก็จะเน่าเสีย  เลยมีแต่พวกที่ฝากซื้อ  อาศัยใส่กล่องโฟมโปะน้ำแข็งที่สามารถรักษาให้มาถึงหมู่บ้านได้  และปรุงอาหารในวันนั้นเลย  แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็จะมีวิถีถนอมอาหารไว้กินได้หลายวัน  เนื้อสด ก็ย่างไฟให้แห้งแขวนไว้ต้มยำทำแกงได้อีกหลายมื้อ

กลางคืนแสงสว่างจากไฟฟ้าที่บนดอยไม่มีแน่นอน  ในหมู่บ้านก็จะต้อนรับแขกผู้ไปเยือนด้วยแสงสว่างจากเชื้อไม้สนติไฟวางบนถังใส่ดิน  ไม้สนจะค่อยๆติดไฟลุกไปช้าๆ  ให้แสงสว่างส่องนานเหมือนกัน  พอให้ได้ใช้นั่งคุยกัน2-3ชั่วโมง  หากว่าจะกลับถ้ามืดค่ำแล้ว  เจ้าของบ้านก็จะถากไม้สนเป็นแท่งๆยาว จุดไฟให้ถือส่องทางเดินกลับ  

แต่บรรดาครูดอยอย่างเราๆ  คงไม่มีเวลาและความสามารถไปหาไม้สนมาใช้ได้ตลอดเวลา  เทียนไขก็แสนสิ้นเปลือง  แท่งละ 2 บาท  จุดได้นาน  3 ชั่วโมง  คืนหนึ่งต้องจุดกัน 4-5 จุด  นับ 6 ชั่วโมง  มันก็บั่นทอนค่ารถกลับบ้านตอนสิ้นเดือนเหมือนกัน  ก็ต้องหาวิธีการทำไฟเอง  คือ ซื้อแบตเตอรี่ กับ อินเวเตอร์(Invetor) ก็คือ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า มาทำไฟฟ้าเอง  เนื่องจากว่าในหมู่บ้านมีแผงโซลาเซล (พลังงานแสงอาทิตย์) ที่ชาวบ้านนำแบตเตอรี่ไปชาร์ตไฟ  ก็อาศัยชาร์ตแบตเตอรี่ด้วย  ไฟฟ้าที่ทำเองก็จะอยู่ได้คืนสองคืน 

                การเดินทางขึ้นลงเขา  ระหว่างโรงเรียนกับตัวจังหวัด  เป็นเรื่องที่ครูดอยต้องเจออย่างเลี่ยงไม่ได้  พาหนะที่ใช้กันก็จักรยานยนต์  เนื่องจากครูส่วนใหญ่ไม่มีรถยนต์ใช้   และถึงมี แต่การจ่ายค่าน้ำมันรถเพียงเพื่อการเดินทาง  มันก็ไม่สมเหตุสมผลกับรายได้  ที่ต้องใช้จ่ายเรื่องอื่นที่จำเป็นกว่า  จักรยานยนต์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด  บวกกับความคล่องตัวในการขับขี่  ติดหล่มก็สามารถช่วยกันดึง ลาก ยก ไส กันไปได้ 

 แต่การขับขี่จักรยานยนต์บนเขาในหน้าฝน  ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย  ยางล้อกับความลื่นของถนนลาดชัน  มันเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างยิ่ง จึงต้องหาวิธีเพิ่มแรงเสียดทาน  โดยการนำโซ่จักรยานยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว  มาตัดเป็นท่อนเส้นสั้น ยาวประมาณโอบยางล้อจักรยานยนต์ได้  นำเชือกมาร้อยแต่ละเส้นให้เป็นเหมือนบันไดลิง  เพื่อนนำไปมัดโอบติดรอบยางล้อรถ  เพื่อเพิ่มสมรรถนะการเกาะไต่ถนน  ใช้ประมาณ 11 – 12 เส้น  ถ้าน้อยไประยะก็ห่าง  มากไปก็ติดกันทำให้ล้อขับเคลื่อนลำบาก ต้องใช้เชือกมัดผูก ดึงรั้งให้แน่น  ถ้าหลวมแล้วเชือกจะหย่อนทำให้การรั้งโซ่ขาด  พลอยทำให้หลุดกันทั้งเส้น  แล่นต่อไปไม่ได้  จึงต้องอาศัยความชำนาญและแรงข้อมือที่แข็งแรงในการมัดพันโซ่  การติดพันโซ่กับล้อจักรยานยนต์ทำให้ขับขี่ได้ดีขึ้น  รู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยขึ้นมาหน่อย  พอถึงช่วงใกล้เมือง  เป็นทางลาดยางแล้วต้องแกะเชือกมัดโซ่ออก  เพราะการวิ่งรถบนถนนขณะที่มีโซ่ที่มัด จะทำความเสียหายแก่ยางรถอย่างมาก  ครั้งแรกที่ทำการแกะเชือกออกด้วยตนเองได้สำเร็จ  เป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก  ประหนึ่งว่าได้ผ่านหลักสูตรการใช้รถของครูดอยระดับหนึ่งแล้ว

                ในรอบปี  งานรื่นเริงของชาวบ้าน  จะเป็นกิจกรรมในพิธีกรรมทางศาสนา  อย่างศาสนาพุทธก็จะเป็นพิธีมัดมือและวันปีใหม่  ศาสนาคริสต์ก็จะเป็นพิธีขอบคุณพระเจ้าและคริสมาสต์  แต่ด้วยการที่ครูส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ  ก็เลยได้ร่วมกิจกรรมมัดมือกัน  ส่วนพิธีขอบคุณพระเจ้าของศาสนาคริสต์  จะได้รับเชิญไปกินข้าวปลาอาหารหลังเสร็จพิธี

ส่วนมากแล้ว  พิธีมัดมือ หรือ “เก่จือ”จะมีบ่อยครั้ง เพราะจะเป็นพิธีมงคลในการเรียกขวัญ  และบูชา  ในปีหนึ่งจะทำพิธีอยู่ 2 ครั้ง  คือ หลังฤดูทำนา ตอนปลูกข้างเสร็จ ราวเดือนสิงหาคม  และหลังฤดูเก็บเกี่ยว กลางเดือนพฤศจิกายน  นอกจากนี้ชาวบ้านจะทำพิธีมัดมือกรณีญาติผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัวเจ็บป่วย  เพื่อสืบชะตา  และกรณีที่ลูกหลานที่จากบ้านไปที่อื่นๆนานๆกลับมาบ้าน  ก็จะทำพิธีมัดมือขึ้นมาเฉพาะกิจ   

ในพิธีจะมีผู้นำคนหนึ่งที่เป็นผู้เฒ่าผู้เฒ่าผู้แก่นำสวดในพิธีกรรม  เวียนไปตามบ้านทีละหลัง นำสำรับเครื่องบูชามาวางตั้ง อันมี เหล้า  ข้าว กับข้าว ขนม  ผลไม้ เสื้อผ้า เครื่องมือ  ดอกไม้ ธูปเทียน  เส้นด้าย  เงิน  และอื่นๆที่เป็นสิ่งของในชีวิต  มาวางกลางวงล้อม  แล้วผู้นำก็ยกจอกเหล้าขึ้นเหนือศรีษะบริกรรมบนสวด  รินเหล้าลงพื้นบ้านแล้ว  เวียนให้คนในบ้านจิบเหล้าพิธีให้ครบทุกคน  แม้แต่เด็กทารก แม่ก็ต้องเอานิ้วแตะเหล้าป้ายปากให้   

สำหรับคนนอกแล้ว  ไฮไลท์ของพิธีจะอยู่ที่อาหารการกินและเหล้ามากกว่า  เพราะการทำพิธีจะนำอาหารที่ดีที่สุดมาประกอบพิธีแล้วแจกจ่ายกันกินอย่างอิ่มหนำสำราญ  อาหารที่นิยมมากก็คือ ไก่กับหมู  นำมาแกงกับผักและเครื่องเทศกลิ่นหอม  ที่มีเฉพาะถิ่นเท่านั้น  เช่น ห่อวอ(คล้ายแมงลัก)  ซะเกอล่ะ (คล้ายรากกระเทียมแต่ใหญ่และยาวกว่า)   บางที่นำเนื้อมาแกงกับข้าวสารเพื่อเพิ่มปริมาณ  แล้วกินเป็นกับข้าวเลี้ยงแขก  เสิร์ฟพร้อมกับขนม “เมโต่ผิ” คือ ข้าวเหนียวตำคลุกน้ำตาลและงา เป็นที่ถูกใจของบรรดาครูสาวๆนัก  มักจะได้รับเมโต่ผิห่อใบตองกลับโรงเรียนทุกที  เพราะถ้าแห้งแข็งแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ  ทอด  จะพองกรอบเหมือนข้าวตัง  สุดยอดของความหอมอร่อยบนยอดภู

การเข้าหมู่บ้านเป็นกิจกรรมประจำหลังตะวันตกดินของเหล่าครูดอย  ครูผู้ชายก็ไปหาพ่อบ้าน พ่อเฒ่าทั้งหลาย  ที่ต้มเหล้าขาย  แต่ละคนก็สะพายย่ามอันมีกับแกล้มจากเมืองไปแบ่งปันเจ้าของบ้าน  พวกปลาแห้ง กุนเชียง หมูยอ  ปลากระป๋อง ไข่ไก่  ควบมอเตอร์ไซค์ปุเรงๆไปซื้อเหล้าขาวแล้วนั่งกินที่บ้านนั้นเลย   แล้วให้แม่บ้านหรือลูกสาวของบ้านทำกับแกล้มให้  กับแกล้มที่ว่านั้นก็สามารถเป็นกับข้าวมื้อเย็นของบ้านนั้นไปด้วย   ส่วนครูผู้หญิงก็ตระเวนไปเที่ยวบ้านนักเรียน พบปะเจอะเจอผู้ปกครอง   หาซื้อของใช้ของกินที่จำเป็นจากในหมู่บ้าน  บางทีก็ได้ผัก ผลไม้  มาเป็นเสบียง  ครูผู้รับผิดชอบดูแลอาหารกลางวันนักเรียน  ก็จะไปสั่งซื้อฟัก  แตง  ถั่ว  ผักกาด  ตามฤดูกาลที่มี  เพื่อนำมาเตรียมไว้ให้นักเรียนต้มแกงเป็นอาหารมื้อกลางวันที่โรงเรียน   

ด้วยการที่ไม่มีที่ไหนให้เป็นแหล่งบันเทิงเริงรมย์  การเข้าไปเที่ยวหมู่บ้านหลังเลิกเรียน  จึงเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันไปแล้ว  วันไหนไม่ได้ออกไป  จึงเหมือนชีวิตมันขาดอะไรไปเลย 

                แฟชั่นยอดฮิตของเหล่าครูดอย  คงไม่พ้นเสื้อทอมือ  ทุกคนเป็นต้องมีต้องหามาใส่จนได้  เพื่อให้กลมกลืนชื่นชมกับพื้นที่  ครูผู้ชายจะชอบใส่สีแดงและสีน้ำตาลธรรมชาติ  ส่วนครูผู้หญิงจะเป็นสีฟ้า  สีขาว และสีดำ  (ก็เล่นสวมเสื้อทอกับกางเกงยีนส์กันจนเป็นผู้นำแฟชั่น  ทำให้บรรดาสาวๆในหมู่บ้านใส่ตามอย่างเท่ห์กันไปเลย)    และต้องมีย่ามคู่ใจสะพายกัน  ครูแต่ละคน จะมีย่ามคนละไม่ต่ำกว่า 3 ใบ  อันได้แก่  ย่ามปากกาดินสอ   ย่ามเก็บผักในป่า  ย่ามใส่อาหารยามเข้าหมู่บ้าน  และย่ามอื่นๆตามอัธยาศัย  เช่น ย่ามสวยสุดไว้สะพายโชว์ยามเข้าเมือง  ย่ามใบเล็กไว้คล้องคอใส่โทรศัพท์   ย่ามใบโตใส่สัมภาระยามเดินทาง   อย่างทุกวันนี้ ก็ยังมีย่ามที่ได้มาจากยอดภูมาสะพายไปไหนมาไหนด้วยความภูมิใจ  ก็เป็นของขวัญจากเพื่อนครู ชาวบ้านและเด็กๆให้ไว้ตอนจะย้ายกลับบ้าน  มันเป็นของที่ระลึกที่ทรงคุณค่าทางจิตใจจริงๆ

แม้วันนี้  ได้ย้ายออกมาจากพื้นที่แล้ว  ตามวิถีราชการ  ก็ยังคิดถึง  .... ความเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของชุมชน  วิถีชีวิตที่คงความเป็นตัวตนไว้ได้มากที่สุด  ท่ามกลางความดิบของธรรมชาติ  ที่คงรักษาไว้ได้อย่างแน่นหนา  เชื่อว่าทุกคนที่ได้ผ่านการใช้ชีวิตบนยอดภูแล้ว  จะอยู่ไหนก็จะไม่ลำบากแน่ๆ  เพราะได้ฝึกการดำรงชีวิตทุกรูปแบบแล้ว  ใครที่พบว่าตนเองยังขาดแคลนทักษะการใช้ชีวิตอยู่   ก็ลองหาทางส่งตังเองขึ้นไปเป็นครูดอยกันดู  แล้วจะพบแหล่งฝึกคนชั้นเยี่ยม  ทั้งครูที่เป็นคนและคนที่เป็นครู

ณ วันนี้มีครูใหม่รุ่นน้องๆหมุนเวียนขึ้นไปใช้ชีวิตแทนเรื่อยๆ  ก็คงยังได้ใช้ชีวิตท่ามกลางวิถีที่งดงามนี้อยู่  เป็นความโชคดีและโอกาสอันควรของผู้ที่มีความมุ่งมั่นศรัทธาในวิชาชีพครู  ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสทำคุณให้แผ่นดิน  ไปช่วยเหลือแบ่งปันให้กับส่วนที่ยังขาดแคลนในมุมเล็กๆของประเทศ  แล้วคงพบว่าเราสามารถใช้ชีวิตในขณะที่หาเลี้ยงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า  และงดงามที่สุด

จังหวัดแม่ฮ่องสอน  คือภาพแห่งความความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ยังคงความดิบ และความโดดเด่นในวัฒนธรรม อารยธรรมวิถีของผู้คน  อีกทั้งมีปัจจัยเอื้อ คือลักษณะภูมิประเทศที่ห้อมล้อมด้วยม่านหมอก ขุนเขาอันเขียวขจี

ใครได้ไปเยือนเหมือนโดนมนต์ให้รักให้หลง  จากไปเป็นได้คิดคนึงถึง  จนต้องหาโอกาสให้ได้กลับไปเยือนอีกสักครั้งหนึ่ง

                                                                                                 

 

                                                                                                                            

                              

               

หมายเลขบันทึก: 478359เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ยินดีด้วยนะคะ กับห้าปีแห่งความทรงจำอันน่าประทับใจมิรู้ลิมเลือน

รุ่นพี่เคยเล่าให้ฟังว่า ช่วงเป็นปลัดเมืองสามหมอกได้ขี่ม้าไปชุมชนด้วย

ตอนนี้สอนที่ไหนแล้วคะ ส่งกำลังใจคุณครูเพื่อเด็กน้อยค่ะ

ตามมาอ่านเรื่องของคุณครู ไปอยู่ที่อำเภอไหนของแม่ฮ่องสอนครับ ผมเคยไปจัดค่ายให้ที่ปาย นักเรียนน่ารักมากๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท