Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คนต่างด้าวที่ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและคนพลัดถิ่น : แตกต่างและเหมือนกันหรือไม่ ? อย่างไร ?


ตอบคุณณัชชาเรื่องความเหมือนและความต่างระหว่างคนที่ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และคนพลัดถิ่น โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทรเริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕

คุณณัชชา ได้อีเมลล์โดยผ่าน [email protected] เข้ามาตั้งคำถามต่ออาจารย์แหวว เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ เวลา ๑๙.๕๖ น. โดยมีโดยตั้งหัวข้อว่า “คนต่างด้าว” และมีใจความว่า “อาจารย์ครับ คนต่างด้าวที่มีใบสำคัญต่างด้าว ที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าพาสปอร์ต กับคนพลัดถิ่นต่างกันมั้ยครับ”

---------------------------

คำตอบของอาจารย์แหวว

---------------------------

ในประการแรก คุณถามถึงคนที่ถือ “ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว” ซึ่งเอกสารนี้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ  พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.๒๔๙๓ เอกสารนี้เป็นคนละเรื่องกับ “หนังสือเดินทาง (passport)” ซึ่งเป็นเอกสารรับรองตัวบุคคลที่รัฐออกให้แก่คนสัญชาติของตนที่จะต้องเดินทางข้ามชาติ การสับสนระหว่างใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและหนังสือเดินทาง อันนี้ เราจึงจะต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ไม่เข้าใจ

รัฐไทยจะออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่คนต่างด้าว ๒ ประเภท กล่าวคือ (๑) คนต่างด้าวอายุ ๑๒ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่ได้รับอนุญาตเข้ามาในประเทศไทยตามกฎหมายคนเข้าเมือง และ (๒) คนต่างด้าวที่เสียสัญชาติไทย

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งรักษาการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวได้ยกเว้นหน้าที่ที่จะถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะไม่ถาวร ดังนั้น ในปัจจุบัน ในประเทศไทย คนต่างด้าวที่ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจึงได้แก่คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้สิทธิอาศัยอยู่ถาวรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบัน กฎหมายนี้ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๒

ที่จะต้องตระหนักต่อไป ก็คือ คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยทั้งถาวรและไม่ถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ได้รับการรับรองให้มีสิทธิร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ในปัจจุบัน ก็คือ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๘ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

ในส่วนของหนังสือเดินทางนั้น คนต่างด้าวที่ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวอาจร้องขอหนังสือเดินทางจากรัฐเจ้าของสัญชาติของตน แต่ในกรณีที่คนต่างด้าวดังกล่าวประสบปัญหาความไร้สัญชาติและเป็นคนต่างด้าวที่อยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและทะเบียนคนต่างด้าวของรัฐไทย รัฐไทยก็มีอำนาจที่จะออกเอกสารเดินทางข้ามชาติให้ได้ แต่เอกสารนี้ถูกเรียกว่า “เอกสารเดินทาง (Travel Document)” ไม่เรียกว่า “หนังสือเดินทาง (Passport)” แต่อย่างไรก็ตาม เอกสารทั้งสองชื่อที่ออกให้แก่คนต่างด้าวโดยรัฐไทยในปัจจุบันมีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่แตกต่างกัน

ในประการที่สอง คุณถามถึง “คนพลัดถิ่น” ซึ่งในภาษาอังกฤษ ก็คือ “displaced person” คำนี้มาจากภาษากฎหมายระหว่างประเทศที้เรียกมนุษย์ที่อพยพจากประเทศหนึ่งมายังอีกประเทศหนึ่ง ดังนั้น โดยทั่วไป คนพลัดถิ่นมักเป็นคนต่างด้าว แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีกรณีที่คนพลัดถิ่นเป็นคนสัญชาติที่เคยอพยพออกไปจากประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง และอาจเสียสัญชาติไทยด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งในช่วงที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ก็เป็นไปได้ แต่ในอีกช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขาอาจจะอพยพกลับเข้ามาในประเทศไทย ในหลายกรณี มนุษย์อาจไม่เสียสัญชาติไทย แต่ถูกเชื่อว่า เป็นคนต่างด้าวจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย

ในกรณีของประเทศไทย เราเผชิญกับ “คนไทยพลัดถิ่น” อีกด้วย กล่าวคือ พวกเขาเป็นคนเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เราเสียแก่อังกฤษและฝรั่งเศสในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งต่อมาเป็นดินแดนของประเทศพม่าหรือกัมพูชา พวกเขาส่วนหนึ่งเสียสัญชาติไทยเพราะผลของอนุสัญญาว่าด้วยการโอนดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่โดยรัฐไทยให้แก่รัฐอังกฤษหรือรัฐฝรั่งเศส ผลของกฎหมายระหว่างประเทศนี้ พวกเขาจึงเป็นคนต่างด้าวเมื่อพวกเขาได้อพยพหนีภัยความไม่สงบในประเทศพม่าหรือกัมพูชาในราว พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๕ 

ในขณะที่คนไทยพลัดถิ่นอีกส่วนหนึ่งเป็นคนสัญชาติไทยที่อพยพไปทำงานในพม่าหรือกัมพูชาในดินแดนที่เสียไปหลังการเสียดินแดน แต่ก่อนการจัดทำทะเบียนราษฎรของรัฐไทยอย่างครอบคลุมทั้งประเทศโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่พวกเขาจะไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและไม่มีบัตรประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยบัตรประชาชน เมื่อพวกเขาอพยพกลับมาในประเทศไทยเพื่อหนีภัยความไม่สงบในประเทศพม่าหรือกัมพูชา พวกเขาจึงถูกสันนิษฐานโดยมาตรา ๕๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ว่า เป็นคนต่างด้าวจนกว่าจะพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยได้

ในที่สุด จึงตอบได้อีกว่า คนพลัดถิ่นทั้งที่มีเชื้อสายต่างด้าวหรือเชื้อสายไทย อาจถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหากมีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง และอาจถือเอกสารเดินทางตามกฎหมายไทยหากยังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ

และสิ่งที่ต้องทราบในปัจจุบัน รัฐสภาไทยได้ยอมรับที่จะเสนอให้มีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ เพื่อคืนสิทธิในสัญชาติไทยดั่งบุพการี กล่าวคือ สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตแก่คนไทยพลัดถิ่นหรือคนพลัดถิ่นเชื้อสายไทย แล้ว พระราชบัญญัตินี้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว และกำลังรอการยืนยันโดยสภาผู้แทนราษฎร และรอการลงพระปรมาภิไธยของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับได้จริง เมื่อคนไทยพลัดถิ่นได้รับคืนสัญชาติไทยแล้วโดยกฎหมายนี้ พวกเขาก็ไม่ต้องถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวอีกต่อไป

ในส่วนคนพลัดถิ่นเชื้อสายต่างด้าวที่เกิดนอกไทยและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ พวกเขาก็ไม่ต้องถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวอีกต่อไป และหากบุตรของคนพลัดถิ่นที่มีเชื้อสายต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยได้รับสัญชาติไทย พวกเขาก็ไม่ต้องถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเช่นกัน

------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 478113เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2012 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท