เรียนรู้เรื่องสถาปัตยกรรมเขมรจากละคร อมฤตาลัย


ปราสาทเขมร ศาสนสถานที่ใช้ประดิษฐานรูปเคารพและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

          สวัดสดีค่ะเพื่อนๆ วันนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร  มีเรื่องราวดีๆ มาฝากกันอีกแล้วค่ะ  โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดี  
          ในขณะนี้มีละครทางโทรทัศน์เรื่องหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากที่เดียวค่ะ  ละครเรื่องนี้ได้ผูกเรื่องราวต่างๆ โดยเชื่อมโยงประวัติศาสตร์เขมรบ้างส่วนไว้ด้วย  ตัวเอกของเรื่องเป็นเจ้าหญิงเขมร  ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ายโศธรวรมัน  พระนางมีอิทธิ์ฤทธิ์และเป็นอมตะ  เฝ้ารอคอยชายคนรักมานานนับพันปี  เกริ่นมาเท่านี้  เพื่อนๆ คงรู้แล้วนะคะว่าละครเรื่องนี้คือ  อมฤตาลัย  ฉากที่เราเห็นกันบ่อยๆในละครเรื่องนี้ คือ ปราสาทหิน  การดำเนินเรื่องของอมฤตาลัยค่อนข้างสมจริงสมจัง โดยเฉพาะการที่ไม่ใช้ปราสาทหินเป็นพระราชวัง แสดงว่าทีมผู้สร้างละครมีการค้นคว้าข้อมูลที่ดีทีเดียวค่ะ
       

         

          ปราสาทหินที่เราเห็นกันอยู่ในละคร หรือในประเทศไทยหรือในประเทศกัมพูชา ไม่ใช่ปราสาทราชวังหรือที่ประทับของพระมหากษัตริย์นะคะ แต่เป็นศาสนสถานที่ใช้ประดิษฐานรูปเคารพและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่นับถือกันในสมัยนั้นๆ  ปราสาทเขมรแต่ละแห่งที่สร้างขึ้นคือ  สัญลักษณ์แห่งเขาพระสุเมรุที่ถูกจำลองขึ้นเป็นศูนย์กลางอันศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง และเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองค่ะ

เรามาดูกันนะคะว่า  ปราสาทเขมรที่เราเห็นในละคร  มีความเป็นมาอย่างไร

          ปราสาทเขมรที่เราเห็นกันอยู่ได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากประเทศอินเดียและมีการปรับรูปแบบจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง    นอกจากนั้น ปราสาทเขมรยังได้ส่งอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมให้ประเทศไทยด้วยคือ พระปรางค์ นั่นเองค่ะ

          ในระยะแรกปราสาทเขมรมักจะก่อเป็นปราสาทหลังเดียว  ตั้งอยู่โดดๆ  ต่อมานิยมสร้างเป็นหมู่ตั้งแต่  ๓  หลัง  ๕  หลัง  ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน รวมทั้งมีปราสาทบริวาร  บรรณาลัย  (ห้องสมุด) ตั้งรวมอยู่ด้วย  สิ่งก่อสร้างทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมที่อาจจะมีระเบียงคต  กำแพง  และคูนำล้อมรอบ  ทางเข้าปราสาทชั้นในมีซุ้มประตูที่เรียกว่า โคปุระ

          ปราสาทเขมรมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสมอค่ะ  แต่ก็มีบางแห่งที่หันหน้าไปทิศอื่นๆ เช่น  ปราสาทหินนครวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันตก  ปราสาทเขาพระวิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือ  และปราสาทหินพิมายหันหน้าไปทางทิศใต้  เป็นต้น

          วัสดุสำคัญในการก่อสร้างปราสาท  คือ  อิฐ  ศิลาทราย  ศิลาแลง  และมีการใช้ไม้เสริมในบางส่วนด้วย  เช่น ใช้เป็นส่วนคานเหนือทับหลังด้านใน  และเพดาน

โครงสร้างที่สำคัญของตัวปราสาท  แบ่งออกเป็น  ๓  ส่วน  คือ

          ๑. ส่วนฐาน  มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า
          ๒. ตัวปราสาท  หรือที่เรียกกันว่าเรือนธาตุ  ก่อเป็นห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ  (ห้องครรภคฤหะ)  มีผนังหนาล้อมรอบ  มีประตูทางเข้าด้านเดี่ยวคือทางด้านหน้า  อีก  ๓  ด้านเป็นประตูปลอม  หรือมีทางเข้าได้ทั้ง  ๔  ด้าน
          ๓. ส่วนยอด  หรือส่วนหลังคา  สร้างเป็นชั้นๆ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป  แต่ละชั้นมีการประดับด้วยอาคารจำลองเล็กๆ กลีบขนุน  บนสุดประดับด้วยกลศหรือดอกบัว

เทคนิคในการก่อสร้างและการประดับตกแต่ง

          ปราสาทที่สร้างด้วยอิฐ  ใช้อิฐเรียงต่อขึ้นไปโดยมีนำยาชนิดหนึ่งเป็นตัวเชื่อม  สันนิษฐานกันว่าคงเป็นน้ำยาที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่มีคุณภาพดีมาก  เพราะอิฐแต่ละก้อนยึดติดเกาะกันแน่นแทบจะเป็นก้อนเดียวกัน  สำหรัยในส่วนของกรอบประตู  เสาประดับกรอบประตูจะใช้ศิลาทรายเสมอ  การตกแต่งประดับลวดลายมีทั้งที่แกะสลักลวดลายลงบนอิฐและใช้ปูนปั้นพอกทับลงบนลวดลาย

          ปราสาทที่สร้างด้วยศิลาทราย  (หินทราย)  ใช้ก้อนศิลาทรายที่ตัดแบ่งเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกันวางซ้อนกันขึ้นไปตามรูปทรงที่กำหนดไว้ในผัง  โดยอาศัยนำหนักของหินแต่ละก้อนกดทับซึ่งกันและกัน  และพยายามให้รอยต่อของหินแต่ละก้อนเหลี่ยมกัน  การเรียงหินก่อขึ้นไปนี้ไม่ใช้เครื่องสอหรือเครื่องยึดหินเข้าด้วยกันแต่อย่างใด  นอกจากส่วนที่มีความจำเป็นต้องเสริมความมั่นคงเป็นพิเศษ  เช่นขอบหรือมุมอาคาร  จะใช้แท่งเหล็กรูปตัว I หรือ Z เป็นแกนยึด โดยวางแท่งเหล็กลงในร่องที่บากหินไว้  แล้วใช้ตะกั่วหลอมละลายราดทับลงไปอีกที  การตกแต่งปราสาทที่สร้างด้วยศิลาทรายจะแกะลวดลายลงบนผิวหน้าของศิลาทรายที่เป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่  ฐาน  ทับหลังประดับ  หน้าบัน  เสาประดับกรอบประตู  เสาประดับผนัง  ชั้นเชิงบาตร  และองค์ประกอบต่างๆ ของส่วนยอดปราสาท

          ปราสาทที่สร้างด้วยศิลาแลง  มีเทคนิคในการก่อสร้างแบบเดียวกับศิลาทรายที่กล่าวมาข้างต้น  แต่ไม่อาจสลักลวดลายลงบนผิวศิลาแลงเหมือนที่แกะลงบนศิลาทรายได้เพราะเนื้อศิลาแลงหยาบมาก  จึงใช้ปูนปั้นพอกประดับเป็นลวดลายแทนการสลัก

          เป็นอย่างไรบ้างค่ะ  สำหรับเรื่องราวของปราสาทหินเขมรที่เรานำมาฝาก  เราหวังว่าเพื่อนๆ ที่อ่านเรื่องนี้แล้วคงได้รับความรู้และเพิ่มความสนุกสนานในการชมละครเรื่อง อมฤตาลัย มากขึ้นนะคะ
แล้วพบกันใหม่ค่ะ

เอกสารอ้างอิง

- มยุรี  วีระประเสริฐ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์. "การเผยแพร่อารยธรรมเขมรโบราณและหลักฐานโบราณคดีสมัยลพบุรี". โครงการอบรมครูสังคมด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย  ภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร  ๒๔ - ๒๘  เมษายน  ๒๕๔๔.  (เอกสารอัดสำเนา) 

หมายเลขบันทึก: 47740เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2006 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท