หลายข้อคิดดีๆ จากงานเสวนา SME Restart by KTB


ยุคนี้คือยุคบูรพาภิวัฒน์ ยุคของประเทศในฝั่งตะวันออกของโลก ทรัพยากรใต้ดินของโลกฝั่งตะวันออกมีค่าดั่งทองคำ ราคาของสินค้าเกษตรจะไม่ถูกอีกต่อไป โลกกำลังเข้าสู่ยุคของ aging society

ทำงานอิสระมานาน ก็เพิ่งเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปฟังเสวนา SME Restart ที่ธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าภาพ โดยครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวานนี้ที่โรงแรมสยามเคมปินกี้ ได้เข้าร่วมฟังเสวนาครั้งนี้แล้วรู้สึกดีที่ไปเปิดมุมมอง เคาะสนิม ฟังผู้ประกอบการผู้มีประสบการณ์ตรงเค้าพูดถึงเหตุการณ์การล้มลุกคลุกคลาน ผ่านร้อนผ่านหนาวจนมาแจ้งเกิด จากผู้ประกอบการไทยขนาดเล็กๆ แบบ SME จนมาถึงวันที่เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เหมือนในปัจจุบัน  ก็ชอบใจมากอยากนำหลายข้อคิดและคำพูดดีๆ จากงานเมื่อวานมาแบ่งปันกันค่ะ

 

งานนี้ได้คุณกิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติมาเป็นองค์ปาฐกพิเศษ ในหัวข้อ “ทางรุ่ง...รับศักราชใหม่” นอกจากนั้นธนาคารกรุงไทยยังเชิญผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจที่มีประสบการณ์ รวมทั้งนักธุรกิจรุ่นใหม่หลายคนมาร่วมเสวนาในหัวข้อ “โลกเปลี่ยน...SME ต้องปรับ” โดยผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คุณธนทัต ชวาลดิฐ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด และคุณอภิสิทธิ์ ธนสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เฟรชมีท ฟู้ด โปรดักส์ มาเป็นแขกรับเชิญ โดยมีพี่หนูแหม่ม สุริวิภา กุลตังวัฒนาเป็นพิธีกร ก็ยิ่งทำให้การเสวนาสนุกมีรสชาติตลอดจนไม่อยากให้จบเร็วๆ เลย

ท่านรัฐมนตรีกิตติรัตน์ได้แสดงปาฐกถาในภาพกว้าง ภาพเศรษฐกิจของประเทศ ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมาที่เห็นเป็นรูปธรรมถึง 1.4 ล้านล้านบาทส่งผลให้ GDP ของไทยในปีที่ผ่านมาหายไปถึง 3% ท่านรัฐมนตรีได้แนะนำการปรับตัวของผู้ประกอบการที่มีกำลังสามารถข้ามผ่านไปทำการค้าขายในต่างประเทศได้ โดยอยากให้ได้ไปเปิดกิจการหรือโรงงานของตัวเองในประเทศนั้นๆ เลย ได้ใช้พื้นที่ ทรัพยากร แรงงานท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ จะดีกว่าการนำเข้าไปเป็นสินค้าหรือบริการจากประเทศไทยที่มีโอกาสโดนกีดกันทางการค้าได้มากกว่า ถ้าเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ควรไปแบบเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงคือมีการพัฒนาแล้วจะดีกว่าไปเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์แบบมูลค่าเพิ่มต่ำ อย่างไรก็ดีท่านรัฐมนตรียังได้
ให้ข้อคิดในการเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของกำลังซื้อภายในประเทศที่จะปรับตัวขึ้นหลังน้ำท่วมและกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นหลังการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาแล้วหรือกำลังจะออกมาโดยเฉพาะนโยบายเรื่องค่าแรงและเงินเดือนขั้นต่ำ ท่านรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำในประเด็นการสร้างความสัมพันธ์หรือความคุ้นเคยระหว่างนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศว่าทุกคนสามารถสร้างความสัมพันธ์สนิทสนมเพื่อเป็นลูกค้ากันและกันหรือมีโอกาสได้เกื้อกูลกันในวันหนึ่งข้างหน้าได้


ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กล่าวถึงภาพรวมของ SME ไทยในช่วงของการเสวนาไว้ว่ามีถึง 2.9 ล้านกิจการในประเทศไทยที่ลงทะเบียนเป็น SME อย่างถูกต้องไว้ในระบบ โดย SME ทั้งที่มีการลงทะเบียนถูกต้องในระบบและไม่อยู่ในระบบนี้ส่งผลต่อรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยมีผลต่อการส่งออกถึง 28% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด  SME ไทยส่วนใหญ่มีถึง 50% ที่ไม่ทราบจะทำอะไรกับตัวเองแล้วมาเป็นผู้ประกอบการ SME แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น SME ทั้งหมดก็มีความแข็งแกร่งที่จะเติบโตในตลาดได้ดีโดย SME ของไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของ SME ที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายหลังการเปิดกิจการไปได้ 3 ปีแรก โดย ดร.ยุทธศักดิ์ยังเน้นย้ำให้ SME ใหม่พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ต้องใหม่ สูง และเร็ว คือ ใหม่จนไม่สามารถต่อรองราคาได้ มีมูลค่าสูง และตอบสนองต่อตลาดได้รวดเร็ว และยังฝากไว้ให้พึ่งการปรับตัวของธุรกิจในประเทศให้แข็งแรงก่อนจะมุ่งการส่งออกไปต่างประเทศ

คุณธนทัต ชวาลดิฐ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ เล่าถึงการเติบโตของเอสบี เฟอร์นิเจอร์จากรุ่นคุณพ่อของคุณธนทัตที่เริ่มจากการเป็นช่างไม้ที่ใช้หลักการ ขยันกว่าคนอื่น อดทนกว่าคนอื่น ฝ่าฟันอุปสรรคขนาดที่โรงงานไหม้ไฟไหม้จนธุรกิจติดลบแต่ก็อดทนทำอย่างต่อเนื่องจนได้พบกับเทคโนโลยีไม้วิทยาศาสตร์และการทำเฟอร์นิเจอร์แบบ knock-down ที่ยังไม่มีในประเทศไทยในสมัยนั้นจึงนำมาบุกเบิกโดยได้รับความสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงไทยสาขาเยาวราช พัฒนาให้มีการทำแคตตาล็อกของเฟอร์นิเจอร์เป็นเจ้าแรก เปิดจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์เป็นครั้งแรกเจ้าแรกในห้างสรรพสินค้า คือ เซ็นทรัลลาดพร้าวจากนั้นก็ขยายต่อมายังมาบุญครองและที่อื่นๆ ในปัจจุบัน คุณธนทัตเน้นย้ำว่าจุดแข็งของ SME คือความรวดเร็วและยืดหยุ่น ให้รู้ลึกรู้จริงกับผลิตภัณฑ์และกิจการของตัวเอง เน้นการสร้างความแตกต่าง (Differentiate) ของใหม่ๆ มีเทคโนโลยี อย่าทำงานบนการแข่งขันเรื่องราคา เหมือนเอสบี เฟอร์นิเจอร์ที่เน้นการขาย Solution ขาย lifestyle ขายการบริการ ไม่ได้ขายแค่ชิ้นงานของเฟอร์นิเจอร์อีกต่อไป คำพูดสุดท้ายที่คุณธนทัตฝากไว้ คือ เราอย่าทำแฮมเบอร์เกอร์แข่งกับฝรั่ง แต่ให้ทำส้มตำของเราให้อร่อย 

คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก 2 มหาวิทยาลัยทั้ง Harvard และ MIT บริหารกิจการน้ำมันรำข้าวสกัดสืบต่อจากคุณพ่อที่เสียชีวิตหลังจากเพิ่งเริ่มก่อร่างสร้างธุรกิจไปได้ไม่เท่าไหร่ จากหนี้สินเป็นร้อยล้าน โรงงานที่เพิ่งตั้งต้นมาสู่กิจการระดับโลกในวันนี้ คุณพิธาเน้นย้ำถึงการเริ่มธุรกิจใหม่ที่ยากต่อการกู้ยืมเงินในระบบที่ต้องมีเครดิตในระดับหนึ่ง ต้องมีความสามารถในการโน้มน้าวชักจูงให้เกิดความมั่นใจในธุรกิจของเรา ต้องใช้ความเร็ว ช้า หนัก เบาเป็นจังหวะ ประกอบธุรกิจใหม่ๆ ให้เน้นการบริหารงาน เมื่อทำธุรกิจตั้งตัวได้ระดับหนึ่งแล้วให้เน้นการบริหารคน โอบกอดโลกาภิวัฒน์คือนำสิ่งที่ดีๆ เทคโนโลยีดีๆ ต่างๆ ในโลกมาใช้กับการดำเนินธุรกิจ คุณพิธายังได้เล่าถึงว่าการได้มีโอกาสร่วมรับประทานอาหารกับมหาเศรษฐีของโลกท่านหนึ่ง คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซี่งท่านได้กล่าวไว้ว่ยุคนี้คือยุคบูรพาภิวัฒน์ ยุคของประเทศในฝั่งตะวันออกของโลก ทรัพยากรใต้ดินของโลกฝั่งตะวันออกมีค่าดั่งทองคำ ราคาของสินค้าเกษตรจะไม่ถูกอีกต่อไป โลกกำลังเข้าสู่ยุคของ aging society ประโยคเด็ดที่คุณพิธาได้กล่าวไว้คือ SME จริงๆ แล้วประกอบด้วย 3 ลักษณะที่สำคัญเลย คือ S Small  M Moody และ E Exhausted เล็ก จน เครียด เหนื่อย ต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปซึ่ง ดร.ยุทธศักดิ์ ท่านได้ให้ข้อคิดไว้ว่าควรเปลี่ยนไปเป็น S Strength  M Motivation และ E Energize ให้ได้ 

คุณอภิสิทธิ์ ธนสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เฟรชมีท ฟู้ด โปรดักส์ ผู้เสวนาอีกท่านที่เชี่ยวชาญเรื่องหมูๆ หรือสินค้าเกี่ยวกับเนื้อสุกรหรือเนื้อหมูที่เราเรียกกัน บริษัท เฟรชมีทฯ เป็นบริษัทคู่ค้าส่งสินค้าเนื้อหมูรายแรกและรายเดียวของร้านเอ็มเคสุกี้ และยังส่งเนื้อหมูให้กับร้านอาหารรูปแบบสาขาร้านอื่นๆ อีกหลายร้านในตลาดอาหารบ้านเรา จุดเปลี่ยนของการประกอบกิจการของคุณอภิสิทธิ์คือราคาเนื้อหมูตกต่ำทำให้ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำเนื้อหมูเข้าตลาดใหม่ พัฒนาไปจนถึงขั้นที่สามารถส่งออกจำหน่ายในหลายประเทศได้ คุณอภิสิทธิ์เน้นย้ำเรื่องความเข้าใจและเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ของตนเอง เช่น ขายหมูก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องหมูในทุกๆ ด้าน ให้ตอบคำถามเรื่องผลิตภัณฑ์ในส่วนของตัวเองได้ถูกต้องและชัดเจนกว่าคนอื่น ให้เน้นการเรียนรู้จากการไปเห็นไปรู้ด้วยตนเอง เดินทางไปศึกษาประเทศรอบๆ ดูการตลาด วัฒนธรรม ข้อกำหนด และประเมินขีดความสามารถของตัวเองในการแข่งขันว่าทำได้ระดับใด อย่าเกรงกลัวยักษ์(ผู้นำตลาด) ขอให้ใช้ประโยชน์จากยักษ์เพราะยักษ์จะรู้การเปลี่ยนแปลงก่อน รู้เทคโนโลยีก่อนและทำก่อน เป็นผู้เบิกทางกฎเกณฑ์และเงื่อนไข ให้ผู้ประกอบการประเมินจุดแข็งที่เป็นจุดแข็งจริงๆ โดยอย่าสรุปเอง ให้ลูกค้าหรือคู่ค้าเป็นผู้บอก เน้นมุ่งด้านเดียว ให้รู้ลึกรู้จริง 

ต้องขอบคุณธนาคารกรุงไทยที่จัดงานเสวนาดีๆ แบบนี้และผู้เสวนาทุกๆ ท่าน เนื้อหามีเยอะมากที่บันทึกไม่ทันและตกหล่นไป ผู้ประกอบการหลายรายทั้งในงานสัมมนาและที่มีโอกาสได้อ่านบันทึกนี้คงได้รับประโยชน์หรือข้อคิดดีๆ จากพี่ใหญ่บนเวทีผู้ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนจนประสบความสำเร็จยืนอยู่บนจุดที่มั่นคงได้วันนี้ไปบ้างไม่มากก็น้อยค่ะ
หมายเลขบันทึก: 476948เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2012 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท