ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

นโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องกับ กศน. (กศน. เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๖๒)


นโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องกับ กศน. (กศน. เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๖๒)

นโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องกับ กศน.

(กศน. เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๖๒)

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดระยอง

E-mail : [email protected]

************************

         มีน้อง ๆ ครูผู้ช่วย และหัวหน้า กศน.ตำบล หลายคน ได้พบกันถามถึงความเคลื่อนไหวของกิจกรรมและงานที่ผมได้นำข้อมูลมาบันทึกไว้ใน  gotoknow.org ว่าช่วงนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวเลย   ก็ต้องขอขอบคุณน้อง ๆ ที่ติดตามงานของพี่มาโดยตลอดครับ  เนื่องจากว่าผมเพิ่งมารับตำแหน่งใหม่เป็น ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่กำลังปรับตัวของผม และบุคลากร ตลอดจน การปรับปรุง และพัฒนางานของ สำนักงาน กศน.จังหวัดระยองในระยะที่ผ่านมา วันนี้ (๒๗ มกราคม ๒๕๕๕) ถือได้ว่าการวางระบบการบริหารจัดการและการปฏิบัติงานของผู้บริหารและบุคลากร  สำนักงาน กศน.จังหวัดระยอง โดยรวมเป็นไปได้ด้วยดี จึงพอมีเวลาที่จะมาบันทึกกิจกรรมและงาน ตลอดจน แสดงความคิดเห็นเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้แล้ว  โดยเริ่มจากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ชาว กศน.ได้รับฟังนโยบายของ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาราธำรงเวช เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมาแล้ว บอกว่าท่านไม่ได้มอบนโยบายหรือพูดถึงงาน กศน.เลย

  

        ในวันนี้จึงขอนำนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกี่ยวข้องกับ กศน.มาเล่าสู่กันฟังนะครับพี่ ๆ น้อง ๆ ชาว กศน.ครับ ถึงแม้ว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้มอบนโยบายหรือพูดถึงงาน กศน. โดยตรงในวันนั้น พวกเราก็ต้องเข้าใจและเห็นใจท่านเหมือนกันเพราะว่า วันนั้นมีการถ่ายทอดสดทั้งวิทยุ และโทรทัศน์ ที่มีระยะเวลาอย่างจำกัด จึงไม่สามารถที่จะมอบนโยบายหรือกล่าวถึงงานทุกงานหรือทุกหน่วยงานได้ทั้งหมด แต่หากพิจารณาดูถึงเอกสารที่ทีมงานของท่านได้กรุณาอนุเคราะห์นำมามอบให้กับผู้บริหารที่เข้าร่วมรับฟังนโยบายในวันนั้นก็จะเห็นว่ามีความครอบคลุมในนโยบายหรืองานของทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการได้ทั้งหมดแล้ว เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน กศน. สามารถสรุปแนวทางตามนโยบาย ได้ดังนี้

        นโยบายข้อที่ ๑ “จัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชนทุกคน” คำว่าเยาวชน คือเด็กตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เยาวชนต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันทุกแห่งไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ไม่ว่าจะเป็นโดยรัฐหรือเอกชน การประกอบอาชีพเมื่อ    จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ รัฐบาลประกันรายได้ ๓๐๐ บาทต่อคนต่อวัน

        จะเห็นได้ว่านโยบายข้อที่ ๑ ก็จะครอบคลุมถึงงานของ กศน. ทั้งงานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ กศน.จัดในระดับประถมศึกษา  มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย  ตลอดจน การจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำและมีรายได้   ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มอบให้ กศน.และหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่

         นโยบายข้อ ๒ “ปั้นนักศึกษาไทยให้เป็นมืออาชีพ” คำว่า นักศึกษา คือ อุดมศึกษา อาชีวศึกษา หรือสูงกว่ามัธยมศึกษาปีที่ ๖ ขึ้นไป นักศึกษาจบแล้วต้องเป็นมืออาชีพ พร้อมกับรัฐบาลประกันรายได้ปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อเดือน โดยกำหนดเป้าหมายให้นักเรียนและนักศึกษา เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย มีทักษะหลากหลาย มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ และอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่วางอยู่บนฐานความรู้

        จะเห็นได้ว่านโยบายข้อที่ ๒ ก็จะครอบคลุมถึงงานของ กศน.เช่นกัน ได้แก่ เป้าหมายให้นักศึกษาเติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย  มีทักษะหลากหลาย           มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ และอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่วางอยู่    บนฐานความรู้  ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ จะสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษา กศน.อยู่แล้ว

การขยายโอกาสทางการศึกษา

  ด้านที่ ๓ โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนทุกคนสามารถเติบโตได้   ในโลกที่เป็นจริงการเรียนรู้บนการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning)

- คนไทยที่อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป สามารถเทียบประสบการณ์จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้ สามารถเรียนในเวลาและนอกเวลาเพื่อให้ทันโลกและทันลูกหลาน

        จะเห็นได้ว่านโยบายการขยายโอกาสทางการศึกษา ข้อที่ ๓ ก็จะเกี่ยวข้อง   กับงานของ กศน.เช่นกัน ได้แก่ การเทียบระดับการศึกษา ที่ กศน.ดำเนินการอยู่   ที่กำลังได้รับ  ความสนใจและกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการมากขึ้น รวมทั้ง มีการขยายสถานศึกษาเทียบระดับการศึกษามากขึ้น ให้ครอบคลุมพื้นที่และบริการกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มขึ้น

     ด้านที่ ๔ โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ (โดยใช้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ)

     - โครงการ Internet ตำบล และ Internet หมู่บ้าน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนค้นหาความถนัดของตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อการต่อยอด     ในสิ่งที่ต้องการทำ และสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนวิชาชีพ

      - สถานที่รวมกลุ่มอย่างสร้างสรรค์แก่เด็กวัยเรียน โดยมีคอมพิวเตอร์ให้ใช้มีวายฟาย (Wi-Fi) ให้มีครูที่จะสอนการบ้าน

         จะเห็นได้ว่านโยบายการขยายโอกาสทางการศึกษา ข้อที่ ๔ นี้ ดูจะเกี่ยวข้องกับงานของ กศน.โดยตรง และเกี่ยวเนื่องในการใช้สถานที่รวมกลุ่มอย่างสร้างสรรค์เช่นกัน ได้แก่การจัดบริการ Internet ใน กศน.ตำบล รวมทั้ง การจัดการเรียนการสอน การจัดตั้งศูนย์ต่าง ๆ ใน กศน.ตำบล ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของชุมชน (Information Center) ศูนย์การเรียนชุมชน (Learning Center) ศูนย์สร้างโอกาสการเรียนรู้  (Opportunity Center) และศูนย์ชุมชน(Community Center)

         พี่ ๆ น้อง ๆ ชาว กศน.และชาวกระทรวงศึกษาครับ ผมว่าเป็นโอกาสอันดี  อย่างยิ่งของคนกระทรวงศึกษาธิการครับที่เราได้เจ้ากระทรวงที่มีทั้งตำแหน่ง      ทางวิชาการ ในระดับศาสตราจารย์ และตำแหน่งทางสังคม ผมว่าหายากครับ        คงเป็นโอกาสของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องแสดงศักยภาพของการพัฒนาคน  และการพัฒนาประเทศครับ.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 476514เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2012 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท