รูปแบบการเรียนรู้ (ตอนที่ 2)


รูปแบบการเรียนรู้ของ Gregorc and Butler, McCarthy, Grasha and Reichmann. และช่องทางการเรียนรู้

ตอนนี้ต่อจากตอนที่แล้วนะครับ คิดว่าได้รวบรวมรูปแบบการเรียนรู้ทั้งหมดไว้แล้วครับ

4. Gregorc and Butler และช่องทางการเรียนรู้

Anthony F. Gregorc and Kathleen A. Butler ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการสอดแทรกเทคโนโลยีไว้ในกิจกรรมในชั้นเรียน รวมทั้งการเรียนรู้ไว้หลายชิ้น พวกเขาได้ใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกันออกไป โดยการกล่าวถึงช่องทางการเรียนรู้ไว้ 4 แบบ แต่ถึงแม้จะแบ่งออกเป็นสี่แบบแต่พวกเขาเน้นย้ำว่าจะมี 1 หรือ 2 แบบเท่านั้นที่ใช้บ่อยๆ และ 1 หรือแบบนี้แหละที่จะมีผลต่อการเรียนรู้ของเรา พวกเขาได้ยังบอกด้วยว่าแต่ละช่องทางการเรียนรู้จะมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง และแตกต่างจากช่องทางอื่นๆ และพวกเขาเรียกว่าช่องทางการเรียนรู้นี้ว่าแบบรูปแบบหรือรูปแบบของการคิด (Style) รูปแบบการเรียนรู้หรือช่องทางการเรียนรู้มี 4 แบบ ดังนี้

1. ประเภทเป็นลำดับ-รูปธรรม (Concrete-sequential) พวกนี้จะชอบสิ่งของที่เป็นโครงสร้างจัดไว้เป็นอย่างดี เช่น แบบฝึกหัด คู่มือ และการสาธิต ใช้ฉลาดหรือชื่อในการจำ และควบคุมองค์ประกอบที่เป็นชิ้นเป็นอันของสภาพทางสิ่งแวดล้อม

2. ประเภทเป็นลำดับ-นามธรรม (Abstract-sequential) พวกนี้จะชอบการฟังบรรยาย เทปซีดี และการศึกษารายบุคคล นอกจากนี้ยังชอบแนวคิด ทฤษฎี ตรรกะ เหตุผล และสมมติฐาน หรือความคิดที่เป็นนามธรรม     

3. ประเภทสุ่มตัวอย่าง-นามธรรม (Abstract-random) พวกนี้ชอบการอภิปรายในกลุ่ม ภาระงานที่มีเวลาคิด และการฟังบรรยายที่มีการตั้งคำถามและตอบคำถาม นอกจากนี้พวกนี้ยังชอบโอกาสที่จะมีประสบการณ์ตรงกับสภาพแวดล้อม ไม่เพียงแต่แค่บทเรียน หรือนักเรียนด้วยกันเอง หรือกับครูเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาพอากาศ แสง เสียง ภาษากาย เจตคติ และอารมณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนอีกด้วย

4. ประเภทสุ่มตัวอย่าง-รูปธรรม (Concrete-random) พวกนี้จะชอบคอมพิวเตอร์และเกม สถานการณ์เหมือนจริง ปัญหาปลายเปิด 3

5. McCarthy และ the 4MAT System

Bernice McCarthy ผู้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้เป็นคนแรกเป็นนักการศึกษา

ชาวอเมริกันที่มีประสบการณ์ในการสอนหลายระดับชั้นเรียนมาเป็นเวลานาน รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำเด็กทั้งหลาย ทำให้เธอเกิดความเข้าใจและมั่นใจว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านสติปัญญา การรับรู้ และการเรียนรู้อย่างสิ้นเชิง จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดงานวิจัยของเธอขึ้นมา เธอเห็นว่าวิธีการที่เรารับรู้และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เรารับรู้นั้นจะสร้างกระสวนตลอดระยะเวลาที่ที่เรารับรู้มันซึ่งเธอได้ประยุกต์มาจากแนวคิดของ David Kolb Kolbได้กล่าวถึงผู้เรียนจำแนกตามการรับรู้และกระบวนการไว้ 4 แบบ ดังนี้

ผู้เรียนแบบที่ 1 (Active Experimentation) จะเรียนรู้ได้ดีและเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็ต่อเมื่อเขาได้ลงมือกระทำ มือไม้แขนขาได้สัมผัสและเรียนรู้ควบคู่ไปกับสมองทั้งสองด้านสั่งการเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ทั้งเนื้อทั้งตัวที่ต้องผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆประกอบกัน

ผู้เรียนแบบที่ 2 (Reflective Observation) จะเรียนรู้โดยการผ่านจิตสำนึกจากการเฝ้ามองแล้วค่อยๆ ตอบสนอง

ผู้เรียนแบบที่ 3 (Abstract Conceptualization) จะเรียนรู้โดยใช้สัญญาณหยั่งรู้มองเห็นสิ่งต่างๆเป็นรูปธรรมแล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์จากการรับรู้ที่ได้มาเป็นองค์ความรู้

ผู้เรียนแบบที่ 4 (Concrete Experience) จะเรียนรู้ได้ดีต่อเมื่อผ่านการวิเคราะห์ การประเมินสิ่งต่างๆ โดยการเอาตัวเองเข้าไปพิสูจน์

การเรียนรู้แบบ 4 MAT
แมคคาร์ธี ได้ขยายแนวคิดของคอล์บออกไปให้กว้างขึ้น โดยเสนอว่าผู้เรียนมีอยู่ 4 แบบ

หลักๆ  ดังนี้

ผู้เรียนแบบที่ 1 (Type One Learner) ผู้เรียนถนัดการใช้จินตนาการ (Imaginative Learners)ผู้เรียนจะรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสและความรู้สึก และสามารถประมวลกระบวนการเรียนรู้ได้ดียิ่งในภาวะที่ตนเองได้มีโอกาสเฝ้ามอง คำถามที่คิดจะพูดขึ้นมาเสมอๆ คือ “ทำไม” “ทำไม” หรือ Why?ผู้เรียนที่อยู่ในรูปแบบนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมพวกเขาต้องเรียนสิ่งเหล่านี้ แล้วจะเกี่ยวข้องกับตัวเขาหรือสิ่งที่เขาสนใจอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องค่านิยม ความเชื่อ ความคิด คตินิยม ความรู้สึก ชอบขบคิดปัญหาต่างๆค้นหาเหตุผล และสร้างความหมายเฉพาะของตนเอง ผู้เรียนเช่นนี้จะต้องหาเหตุผลที่จะต้องเรียนรู้ก่อนสิ่งอื่นๆ จะเรียนรู้ได้ดีหากมีการถกเถียง อภิปราย โต้วาที กิจกรรมกลุ่ม การใช้การเรียนแบบร่วมใจ ครูต้องให้เหตุผลก่อนเรียนหรือระหว่างการเรียน

ผู้เรียนแบบที่ 2 (Type Two Learner) ผู้เรียนถนัดการวิเคราะห์ (Analytic Learners) จะรับรู้ในลักษณะรูปธรรมและนำสิ่งที่รับรู้มาประมวลกลไกหรือกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะของการมองสังเกตสมองซีกขวาเสาะหาประสบการณ์ที่จะสามารถผสมผสานการเรียนรู้ใหม่ๆ และต้องการความแจ่มกระจ่างในเรื่องคำตอบขององค์ความรู้ที่ได้มา ในขณะนี้สมองซีกซ้ายมุ่งวิเคราะห์จากความความรู้ใหม่เป็นพวกที่ชอบถามว่าข้อเท็จจริง คำถามที่สำคัญที่สุดของเด็กกลุ่มนี้คือ “อะไร” หรือ What? ผู้เรียนแบบนี้ชอบการเรียนรู้แบบดั้งเดิม ต้องการศึกษาหาความรู้ ความจริง ต้องการข้อมูลที่เหมาะสม ถูกต้อง แม่นยำโดยอาศัยข้อเท็จจริง ข้อมูล ข่าวสาร มีความสามารถสูงในการนำความรู้ไปพัฒนาเป็นความคิดรวบยอด(Concept) ทฤษฎีหรือจัดระบบหมวดหมู่ของความคิดได้อย่างดี เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้โดยมุ่งเน้นรายละเอียดข้อเท็จจริงความถูกต้องแม่นยำ จะยอมรับนับถือเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้จริง หรือผู้มีอำนาจสั่งการเท่านั้น เด็กกลุ่มนี้จะเรียนอะไรต่อเมื่อรู้ว่าจะต้องเรียนอะไร และอะไรที่เรียนได้ สามารถเรียนได้ดีจากรูปธรรมไปสู่ความคิดเชิงนามธรรม การจัดการเรียนการสอนให้เด็กกลุ่มนี้จึงควรใช้วิธีบรรยายและการทดลอง การวิจัยหรือการทำรายงาน การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น

ผู้เรียนแบบที่ 3 (Type Three Learner) ผู้เรียนถนัดใช้สามัญสำนึก (Commonsense Learners) รับรู้โดยผ่านจากกระบวนความคิดและสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่การประมวลความรู้นั้น ผู้เรียนประเภทนี้จะต้องการการทดลอง หรือกระทำจริง สมองซีกขวามองหากลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบขององค์ความรู้ไปสู้การนำไปใช้ ในขณะที่สมองซีกซ้าย มองหาสิ่งที่จะเป็นข้อมูลเพิ่มเติมคำถามยอดนิยมของกลุ่มนี้ คือ “อย่างไร” หรือ How? ผู้เรียนแบบนี้สนใจกระบวนการปฏิบัติจริงและทดสอบทฤษฎีโดยการแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการวางแผนจากข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่เป็นนามธรรมมาสร้างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน“ใครเขาทำอะไรไว้บ้างแล้วหนอ” เด็กกลุ่มนี้ต้องการที่จะทดลองทำบางสิ่งบางอย่าง และต้องการที่จะฝึกปฏิบัติและต้องการเป็นผู้ปฏิบัติ (ถ้าครูยืนบรรยายละก็ เด็กพวกนี้จะหลับเป็นพวกแรก) พวกเขาใฝ่หาที่จะทำ สิ่งที่มองเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์และตรวจสอบว่าข้อมูลที่ได้มานั้นสามารถใช้ได้ในโลกแห่งความจริงหรือไม่ พวกเขาสนใจที่จะนำความรู้มาสู่การปฏิบัติจริงและอยากรู้ว่าถ้าจะทำสิ่งนั้น สิ่งที่ทำได้ ทำได้อย่างไร รูปแบบการเรียนการสอนที่ดีที่สุด คือ การทดลองให้ปฏิบัติจริง ลอง
ทำจริง

ผู้เรียนแบบที่ 4 (Type Four Learner) ผู้เรียนที่สนใจค้นพบความรู้ด้วยตนเอง (Dynamic Learners) ผู้เรียนจะรับรู้ผ่านสิ่งที่เป็นรูปธรรมและผ่านการกระทำ สมองซีกขวาทำงานในการถักทอความคิดให้ขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น ในขณะที่สมองซีกซ้ายเสาะหาการวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและโดดเด่นขึ้น เป็นพวกที่ชอบตั้งเงื่อนไข คำถามที่ผุดขึ้นในหัวใจของเด็กกลุ่มนี้บ่อยๆ คือ “ถ้าอย่างนั้น”“ถ้าอย่างนี้” “ถ้า……” หรือ IF ? ผู้เรียนแบบนี้ชอบเรียนรู้โดยการได้สัมผัสกับของจริง ลงมือทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ และค้นพบความรู้ด้วยตัวเอง ชอบรับฟังความคิดเห็นหรือคำแนะนำ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลเป็นความรู้ใหม่ เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถที่จะมองเห็นโครงสร้างของความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นรูปแบบของความคิดที่แปลกใหม่เพื่อตนเองหรือผู้อื่น เด็กกลุ่มนี้จะมองเห็นอะไรที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง มีความซับซ้อน จะเรียนได้ดีที่สุดโดยใช้วิธีการสอนแบบค้นพบด้วยตนเอง (Self Discovery Method)

วัฎจักรแห่งการเรียนรู้ ( 4 MAT ) สร้างขึ้นโดยใช้วงกลมเป็นสัญลักษณ์ แทนการเคลื่อนไหวของกิจกรรมการเรียนรู้ พื้นที่ของวงกลม ถูกแบ่งออกโดยเส้นแห่งการเรียนรู้ และเส้นแห่งกระบวนการจัดข้อมูลรับรู้เป็นสี่ส่วน กำหนดให้แต่ละส่วนใช้แทนกิจกรรมการเรียนการสอน 4 ลักษณะดังนี้ 

ส่วนที่ 1 คือ บูรณาการประสบการณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของตน ใช้คำถามเป็นคำถามนำกิจกรรมคือ ทำไม (Why)

ส่วนที่ 2 คือ สร้างความคิดรวบยอด คำถามที่เป็นคำถามนำกิจกรรมส่วนนี้คือ อะไร (What)

ส่วนที่ 3 คือ ปฏิบัติและเรียนรู้ตามลักษณะเฉพาะตัว คำถามที่เป็นคำถามนำกิจกรรมส่วนนี้คือทำอย่างไร (How)

ส่วนที่ 4 คือ บูรณาการประยุกต์กับประสบการณ์ของตน คำถามที่เป็นคำถามนำกิจกรรมส่วนนี้คือ ถ้า ( If)

6. Grasha and Reichmann และประเภทของนักเรียน

Grasha and Sheryl Reichmann ได้พัฒนาแบบสอบวัดการเรียนรู้ของ Grasha and Sheryl Reichmann ขึ้นเรียกว่า the Grasha-Reichmann Learning Style Scales (GRLSS) ในปี 1974 เพื่อที่จะกำหนดการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของนักเรียนวิทยาลัย รูปแบบของ Grasha and Sheryl Reichmannเน้นไปที่เจตคติของผู้เรียนต่อการเรียนรู้, กิจกรรมในชั้นเรียน, ครู, และเพื่อนๆ มากกว่าที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการ, รูปแบบของนักเรียน, และผลสัมฤทธิ์

Grasha เริ่มสนใจในรูปแบบการเรียนรู้ในขณะที่เป็นผู้ช่วยสอนจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยของCincinnati. ความสนใจครั้งแรกของเขาคือรูปแบบที่เขาคิดว่าเป็นลบ (หลีกเลี่ยง, แข่งขัน, พึ่งพิง) เขาสัมภาษณ์นักเรียน 50-75 คนเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อกระบวนการในชั้นเรียนที่พวกเขาเคยพบ และพบว่าปฏิสัมพันธ์ที่เป็นลบซึ่งต่อมาเขาเรียกมันว่ารูปแบบ

                เพื่อที่จะทดสอบความคิดของเขา เขาเปรียบเทียบเจตคติของนักเรียนในห้องที่เรียนกับเขาและเด็กวิทยาลัยอื่นที่ยังเรียนแบบโบราณอยู่ เขาพบว่านักเรียนนของเขาเป็นนักเรียนที่ชอบการมีส่วนร่วม, ชอบร่วมมือ,และสามารถเรียนได้ด้วยตนเองมากกว่าเด็กที่มีการเรียนแบบโบราณ อย่างไรก็ตามความคิดช่วงแรกของเขามีเพียงแค่ เด็กที่ชอบหลีกเลี่ยง, พึ่งพิงผู้อื่น, และชอบแข่งขันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา

                เขายังเสนอว่ารูปแบบการเรียนรู้ทั้ง 6 แบบนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการใช้เทคนิควิธีการสอน รูปแบบการเรียนรู้ทั้ง 6 แบบมีดังนี้

                1. พวกชอบหลีกเลี่ยง เด็กนักเรียนพวกนี้มีแนวโน้มที่เป็นพวกสุดท้ายถ้ามีการกระจายคะแนนเป็นโค้งปกติ พวกเขามีแนวโน้มที่จะขาดเรียน พวกเขายังจัดระเบียบงานได้ไม่ค่อยดี และมีความรับผิดชอบน้อยในการเรียนหนังสือ

            2. พวกชอบการมีส่วนร่วม พวกนี้จะยอมรับความรับผิดชอบที่จะเรียนด้วยตนเอง และทำงานกับเพื่อนได้ดี

                3. พวกชอบแข่งขัน พวกนี้จะสงสัยต่อเพื่อนเสมอ จนนำไปสู่การแข่งขันเพื่อการได้รับรางวัลและชื่อเสียง

                4. พวกการร่วมมือ นักเรียนพวกนี้จะทำงานร่วมกับเพื่อนได้เป็นอย่างดี

                5. พวกพึ่งพิง นักเรียนพวกนี้จะรู้สึกสับสนเมื่อพบกับสิ่งที่ไม่เคยเห็นหรือพบในชั้นเรียน เช่นวิธีการสอนใหม่ แบบฝึกหัดที่นอกเหนือจากที่สอนไว้

                6. พวกอิสระ นักเรียนพวกนี้ชอบทำงานค่อยเดียว ไม่ต้องให้ครูสนใจพวกเขาเท่าใดนัก

            2. ทฤษฎีรูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้ในการสำรวจครั้งนี้

                Lynne Cell Sarasin (http://www.baker.edu/departmants/eh) ได้พยายามที่จะสังเคราะห์คุณลักษณะที่ได้บรรยายไว้ข้างต้น ไปสู่วิธีการซึ่งสามารถนำไปสู่การแปลงเป็นยุทธวิธีในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย และแม้ในชั้นเรียนเอง

                โมเดลของ Sarasin พยายามบ่งชี้นักเรียนในรูปแบบที่นักเรียนเหล่านั้นรับรู้และนำเข้าข้อมูล 3 วิธี คือ ทางตา หู และกาย แต่ถึงแม้ว่านักเรียนใช้วิธีการรับรู้และนำเข้าข้อมูลทั้ง 3 วิธีผสมกันไปแต่พวกเขาจะชอบวิธีใดวิธีหนึ่งมากกว่าอย่างอื่น

                วิธีการในการรับรู้และนำเข้าข้อมูล

                1. ทางหู พวกนี้จะชอบได้ยินข้อมูล ทำงานจากส่วนๆไปถึงทั้งหมด นักเรียนเหล่านี้เป็นคนมีระเบียบและมีลำดับ และสามารถที่จะคิดแบบนามธรรมได้ พวกนี้ยังเป็นพวกชอบคิด ชอบจัดระบบ ชอบวิเคราะห์ และรักการใฝ่หาความรู้รักในความรู้โดยธรรมชาติ ดังนั้นรูปแบบการสอนที่เหมาะกับเด็กพวกนี้ก็คือการบรรยาย

                ลักษณะเฉพาะของพวกเด็กที่ชอบรับข้อมูลทางหู

                1. เป็นลำดับและเป็นนามธรรม เด็กพวกนี้จะชอบนำเอาชิ้นส่วนเล็กๆ และนำมาปะติดปะต่อกันให้เป็นระเบียบ หรืออีกนัยหนึ่งการเรียงจากย่อยไปหาใหญ่ก็เพื่อเข้าใจสังกัปนั่นเอง

                2. พวกชอบคิด พวกนี้ต้องการเวลาในการเรียนรู้ เพราะต้องนำชิ้นส่วนเล็กๆไปใว้ในสมองนั้นเอง

                3. พวกอิสระ พวกนี้ชอบอยู่คนเดียว เพื่อที่จะคิดใคร่ครวญสิ่งที่เรียนมาทั้งหมด

                4. พวกเป็นที่หนึ่ง พวกนี้จะชอบที่ทำแบบทดสอนให้ได้ผลดี ชอบเอาชนะการแข่งขัน

                5. พวกนักจำ พวกนี้จะจำข้อมูลและสิ่งต่างๆได้โดยง่าย

                6. พวกชอบแข่งขัน ชอบสถานการณ์ที่จะมีผู้ชนะและผู้แพ้

                7. พวกชอบทักษะ พวกนี้ชอบการเรียนรู้ทักษะใหม่ ไม่ค่อยชอบเรียนหลักการหรือทฤษฎี

                วิธีการสังเกตพวกเรียนทางหู

                1. เรียนโดยการฟัง จำข้อมูลโดยการฟัง

                2. เสียสมาธิได้ง่าย ไม่ว่าจะโดยเสียง หรือดนตรี

                3. พูดกับตัวเองเสียงดัง

                4. มีส่วนร่วมในการอภิปรายในห้อง

                5. ฟังเทปก่อนแล้วฟังสอนทีหลัง

                6. ชอบใช้เครื่องมือช่วยจำ เช่น นำอักษรตัวแรก นำที่จะจำมาเรียงเป็นประโยค คำเป็นเพลงหรือคำคล้องจองเป็นต้น

                2. ทางตา พวกนี้จะชอบแผ่นชาร์ต กราฟ และตัวช่วยที่เป็นการเห็นอื่นๆ เพื่อที่จะเข้าใจในสื่อ งาน ที่เริ่มจากเรื่องทั่วไปไปสู่เรื่องเฉพาะ นักเรียนพวกนี้จะสร้างภาพเพื่อช่วยในการเรียน นอกจากนี้ยังชอบการสุ่ม องค์รวม เรื่องส่วนรวม การรับรู้ รูปธรรม และมีจินตนาการ

                ลักษณะเฉพาะของพวกเด็กที่ชอบรับข้อมูลทางตา

                1. เป็นการสุ่มและเป็นนามธรรม พวกนี้ชอบเรียนและรับรู้ข้อมูลจากหลายแหล่ง เมื่อต้องเรียนสังกัปใหม่ๆ

                2. พวกชอบส่วนรวม พวกนี้ชอบเห็นภาพใหญ่ก่อนที่จะเป็นภาพเล็กๆ

                3. พวกชอบรูปธรรม พวกนี้ชอบเห็นสิ่งต่างๆเพื่อที่จะเข้าใจพวกมัน

                4. พวกกระตือรือร้น ชอบเคลื่อนไหวทางากาย

                5. พวกใช้อารมณ์ ชอบเชื่อมโยงการเรียนรู้กับอารมณ์

                6. พวกมีความรู้สึกในโลกรอบข้าง

                7. พวกรูปธรรม มองเห็นสังกัปก่อนที่จะไปดูเป็นส่วนๆ

                วิธีการสังเกตพวกเรียนทางตา

                1. ชอบกราฟ รูปภาพ ไดอะแกรม

                2. พบว่าคำสั่งที่เป็นภาษานั้นเข้าใจยาก เพราะจิตใจของพวกเขาชอบที่จะเดินไปอย่างไม่มีจุดหมายในขณะบรรยาย

                3. ชอบอ่าน โดยเฉพาะเก่งในการสะกด

                4. ชอบเขียนอากาศ หรือลายเส้น

                5. จัดระเบียบได้ดี

                6. มีลายมือที่สวย

                7. ชอบรายละเอียด             

                3. ทางกาย พวกนี้จะเรียนได้ดีถ้าได้เข้าร่วมในกระบวนการเรียนรู้ พวกนี้จะเป็นพวกที่ชอบทำหรือเคลื่อนไหว โดยธรรมชาติ และต้องทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนรู้ ในบางครั้งก็เพื่อที่จะเข้าในความหมายหลายนัยและเรียนรู้เรื่องสังกัปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม

                ลักษณะเฉพาะของพวกเด็กที่ชอบรับข้อมูลทางกาย

                1. เป็นทั้งพวกพึ่งพึงและอิสระ พวกนี้ตอนรับข้อมูลก็ต้องการข้อมูลและสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อม และสื่ออื่นๆ แต่พวกได้รับข้อมูลแล้วก็จะชอบทำงานอยู่คนเดียว

                2. พวกสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในทางแก้ไขปัญหาและการทำงาน

                3. พวกพฤติกรรม ต้องใช้การเคลื่อนไหวทางกายในการเรียนรู้

                4. พวกชอบปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะในเรื่องทางกาย เช่น พละ หรือเมื่ออ่านก็ต้องทำปากขมุบขมิบขณะอ่าน หรือใช้มือลายตามไป

                5. พวกผัสสะ ชอบใช้ผัสสะทั้ง 5 ในการมีประสบการณ์กับการเรียนรู้

                วิธีการสังเกตพวกเรียนทางกาย

                1. ชอบการเคลื่อนไหว

                2. อยู่ไม่สุข ชอบเต้น หรือหมุนปากกาบ่อยๆ

                3. มีแนวโน้มที่จะสะกดผิด

                4. ไม่ชอบอ่าน

                5. ใช้มือเมื่อต้องพูด

                6. แก้ปัญหาโดยใช้มือหรือร่างกาย

                3. ยุทธวิธีในการสอนพวกที่ถนัดทางหู

                สิ่งใดก็ตามที่ทำให้คุณสามารถที่จะนำเสนองานหรือข้อมูลโดยใช้การพูดเหมาะที่สุดสำหรับเด็กประเภทนี้ไม่ว่าการนำเสนอนั้นก็เป็นอะไรตาม เช่น การพูด วิดีโอ หรือเทป เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว พวกเขาเป็นพวกชอบจัดเรียงโดยเป็นธรรมชาติ ดังนั้นครูควรสอนโดยย่อยหน่วยออกเป็นหน่วยเล็กๆหรือเรื่องเล็กๆ หลังจากนั้นจึงให้นักเรียนเรียงเรื่องเล็กๆเหล่านี้มาเป็นหน่วยใหญ่ๆ หรือภาพใหญ่ๆ อย่างไรก็ตามเรื่องเล็กๆเหล่านี้ควรนำมาเรียงกันเป็นภาพใหญ่ได้โดยหลักเหตุผล หรือหลักการ ครูควรใช้คำถาม เช่น รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง, ได้ข้อมูลนี้มาจากที่ไหน, นักเรียนเคยเจอเรื่องนี้ไหม คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ พยายามถามถึงสิ่งที่กำลังใกล้เข้ามา ถามคำถามที่คุณจะตอบในระหว่างการสอน และคำถามที่ถามต้องเป็นคำถามที่ต้องได้เพียงอย่างเดียวและเฉพาะเจาะจง ทุกคำถามต้องมีหลักการให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงเป็นภาพใหญ่ได้ สุดท้ายครูต้องบอกถึงจุดหมาย จุดประสงค์ เหตุการณ์ในการเรียนรู้ ที่ครูวางไว้ให้เขาเรียน ยุทธวิธีในการสอนพวกถนัดทางหูมีดังนี้ 1.การบรรยาย 2. การอภิปราย 3. กิจกรรมช่วยจำ 4. งานเดี่ยว 5. การแข่งขัน 6. การแยกทางภาษา เช่น การสะกด 7. มีการในการถาม-ตอบ

                4 ยุทธวิธีในการสอนพวกที่ถนัดทางตา

                การกระตุ้นนักเรียนพวกนี้ต้องให้ภาพที่เป็นภาพใหญ่ อาจเป็นชาร์ต ไดอะแกรม พยายามเขียนคำถามที่คุณใช้สำหรับพวกถนัดทางหูไว้บนกระดานดำ พยายามเขียนหรือใช้กิจกรรมคู่ หรือกิจกรรมที่ใช้การแบ่งปัน การให้ทำงาน พยายามให้นักเรียนเขียน แล้วแบ่งปันร่วมกับเพื่อนๆ นำเสนอแผนการหรือตารางที่เป็นการเรียนในคาบต่อไป เพื่อเด็กจะได้รู้ว่าจะเรียนอะไรในตามต่อไป ยุทธวิธีในการสอนพวกที่ถนัดทางตา มีดังนี้ 1. พยายามใช้หรือเสนอด้วยโปรแกรม PowerPoint  การนำเสนอนั้นอาจมีชาร์ต หรือไดอะแกรม และควรมีภาพมากๆ 2. พยายามใช้กระบวนการกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ก็ตาม 3. พยายามให้ผู้เรียนมีโอกาสในการเห็นภาพที่เคลื่อนไหว 4. พยายามให้ผู้เรียนได้ใช้ประสาทให้มาก 5. ให้เวลานักเรียนได้มีอิสระในการเรียนรู้ 6. พยายามให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมติ สาธิต ทำแผนผังความรู้ หรือต้นไม้ความรู้ 7. กระตุ้นด้วยการให้รางวัลเมื่อทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ

                5 ยุทธวิธีในการสอนพวกที่ถนัดทางกาย

                การกระตุ้นนักเรียนที่ถนัดทางกายทำได้โดยให้เวลาพวกเขาในการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆในบทเรียน แล้วตั้งคำถามเกี่ยวผลการมีปฏิสัมพันธ์นั้น เช่น พวกเขารู้สึกอย่างไร พยายามตกแต่งให้มีสีสัน โต๊ะควรจัดเป็นวงกลม ให้นำเสนอสื่อวัสดุเป็นรูปธรรม  ยุทธวิธีในการสอนพวกที่ถนัดทางกาย มีดังนี้ 1. ให้เวลาในการนำเสนอ เพื่อให้เขาได้รู้สึก ว่าได้ทำบางสิ่งบางอย่าง 2. พยายามให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้เรียนจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต 3. จัดทัศนศึกษา 4. พยายามจัดการเรียนการสอนแบบมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้นให้มากๆ 5. พยายามจัดให้เด็กแสดงบทบาทสมมติ หรือภาพเหมือนจริง โดยใช้เทคโนโลยี 6. พยายามสาธิตเมื่อต้องสอนทักษะใหม่ๆ

หมายเลขบันทึก: 475902เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2012 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท