กินอร่อยคอยนรก...(ตอน ลิ้นรสลวงโลก)


คนติดในรสชาติอาหารย่อมทำความชั่วได้ทุกอย่าง ซ้ำร้ายอาจรุนแรงเสียยิ่งกว่าการโกหก

 รสอาหาร..ภัยอธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด

การติดในรสอาหารนั้น เป็นการเสพติดที่รุนแรงที่สุดอย่างหนึ่งในโลก แต่เราท่านมักอนุโลมว่าเป็นการเสพติดที่ยอมรับได้ กฎหมายก็ไม่ห้ามการเสพติดประเภทนี้อีกต่างหาก

 

มีคำสอนของพพจ.ว่าคนที่โกหกได้ ย่อมทำความชั่วได้ทุกอย่าง  พร้อมยกตัวอย่างประกอบที่น่าเชื่อถือ (แต่การโกหกที่ดีๆก็มีมากนะ  ลองคิดสร้างนิทานประกอบแข่งกับพพจ. ดูสิ)

 

ถ้าเราเอานัยยะแห่งการเสพติดรสอาหารมาเทียบเคียงคำสอนดังกล่าว ก็น่าสรุปได้ว่า คนติดในรสชาติอาหารย่อมทำความชั่วได้ทุกอย่าง  ซ้ำร้ายอาจรุนแรงเสียยิ่งกว่าการโกหก (การสงครามในโลกนี้ล้วนมีที่มาจากเรื่อง “ปากท้อง” เป็นส่วนใหญ่)

 

 เช่น พออยากกินก็สั่งฆ่าได้หมด ดังความในประวัติศาสตร์ว่า เมีย(น้อย)พระเจ้าบุเรงนองแพ้ท้อง เกิดอยากกินดินที่ใจกลางกรุงอยุธยาแห่งสยาม  ก็เลยสั่งบุกมาฆ่าชาวไทย คนแก่ ลูกเล็กเด็กแดงตายไปหลายหมื่น เป็นต้น

 

นายหัวบุช สั่งบุก เกาหลี เวียตนาม อิรัก  อัฟกานิสถาน ลองตรองดูสิ มูลเหตุจากเรื่องปากท้องทั้งนั้น

 

อันว่าการติดในรสชาติอาหารนั้นมันแปลกประหลาดมากๆ ใครติดอะไรก็ว่าอันนั่นอร่อย เช่น คนอีสานติดในปลาร้า (ที่แสนเหม็น )  คนเหนือก็ลาบเลือด ต้มขม แอบอ่องออ (สมองหมู..แหวะ)  คนกลางก็กะปิ น้ำปลา คนใต้ก็ น้ำบูดู ขมิ้น(อาหารส่วนใหญ่มีขมิ้น แกงเหลืองอันแสนโอชะหลักๆก็คือแกงส้มของคนภาคกลางที่ใส่ขมิ้นและเผ็ดมากขึ้น)

 

ส่วนอาหารฝรั่งก็เนื้อย่าง (เสต็ก) นม เนย ชีส ทางแสกนก็ปลาดอง (คล้ายปลาร้าเรา)  เยอรมันก็ขาหมูผักดอง ญี่ปุ่นปลาดิบ เกาหลีกิมจิ อิสลามก็แพะ  ออสซี่ก็แกะ  ล้วนเหม็นๆ ทั้งนั้น (เช่นเนื้อย่างก็เหม็นคาวเลือดของสัตว์ตระกูลนั้นๆ)   หมูเนื้อไก่แกะแพะปลา ล้วนมีความเหม็นเฉพาะตัว (แต่พอกินไปนานๆจนชินก็ว่าหอม)

 

แม้แต่ผักก็เหม็นเสียมากเช่นผักแพว (ผมเป็นคนชอบกินผักแต่ผักแพวเนี่ย แพ้ทางกันจริงๆ)  ผักขะแยง ผักกาดฮินของอีสาน (หรือ mustard green ของมะกัน)  หรือไม่ก็ขม เช่น สะเดา สะตอ มะระ (ซึ่งคนชอบก็ว่าอร่อยไปอีกแบบ)  ผักที่คนเราว่าหอมเช่นตะไคร้หอม ยุงมันกลับบอกว่าเหม็นจนไม่ยอมเข้าใกล้

 

ใครมีจริตอย่างไรก็ว่าสิ่งนั้นๆ อร่อย หอม  ส่วนอีกพวกกลับเห็นว่าสิ่งเดียวกันนั้นน่าขยะแขยงเป็นที่สุด เช่นพวกอินเดียที่เป็นมังสะวิรัชมาแต่กำเนิด อย่าว่าแต่กิน เพราะเพียงได้กลิ่นสะเต็กเนื้อสันอันที่พวกฝรั่ง(และไทยที่ชอบกินตามฝรั่ง)ว่าแสนหอมนุ่มอร่อยนั้น พวกเขาก็แทบจะอ้วกโดยไม่ต้องเห็นด้วยซ้ำไป  ทั้งที่เมื่อก่อนพวกพรามหณ์ฮินดูพวกนี้ก็ฆ่าสัตว์บูชายัญกันมานักต่อนัก

 

 

พวกติดรสชาติผัก ก็ว่าผักอร่อย มักดูถูกพวกกินเนื้อว่าเป็นพวกบาปหนา ..เห็นบ่อยๆในเทศกาลกินเจของชาวไทยจีนที่มักขึ้นป้ายใหญ่ๆว่า กินเจแล้วได้บุญ  

โห..แบบนี้วัวควายกินแต่หญ้ามันคงสะสมบุญจนตรัสรู้กันหมดแล้วกระมัง

 

 

สรุปคือ..ใครมีจริตอย่างไรก็ติดในรสชาติอาหารอย่างนั้น

 

ส่วนผู้บรรลุพุทธธรรมขั้นสูงแล้ว ท่านพ้นการยึดติด กินอาหารรสชาติอย่างไรก็ได้  ก็อร่อยหรือไม่อร่อยเท่ากันเสมอ  มันกินเพื่ออยู่ทำประโยชน์ให้โลกไปงั้นเอง ไม่ได้กินเอามันเอาเผือกอะไร แบบว่ากินอาหารแบบกินเนื้อลูกตัวเองที่ป่วยตายกลางทะเลทราย (คำสอนท่านพุทธทาสภิกขุ)

 

คงเป็นด้วยเหตุนี้ที่พพจ.ท่านไม่ทรงบัญญัติให้พุทธศาสนิกต้องเป็นมังสะฯ กินอะไรก็ได้ถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อความ “กำหนัด” ในรสอาหาร

 

 

เราชาวพุทธที่มุ่งหวังการหลุดพ้นแบบพุทธ จะกินอะไรก็กินไปเถิด อย่าไปยึดติดว่าเป็นโน่นเป็นนี่เลย แต่ควรกินด้วยสติ และระลึกถึงในพระคุณของผักหญ้าเนื้อและดินน้ำลมไฟ ที่ทำงานหนักจนกลั่นตัวมาเป็นอาหารให้เราประทังชีวิตและเมามันในรสลิ้นได้ถึงปานนั้น ดังที่ผมได้เสนอไว้ในบทความก่อนๆ แล้วว่า ก่อนกินอาหารมื้อใดควรสวดขอบคุณ “ธรรมชาติ” เสียก่อน ก็จะเป็นการเตือนสติที่ดี

 

..คนถางทาง (๑๗ มกราคม ๒๕๕๕)

หมายเลขบันทึก: 474977เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2012 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • โอ้โห! รู้หลากหลาย Variety จริงๆ นะคะนี่ รู้ทั้งการเมืองเรื่องต่างประเทศ เรื่องกินทุกมุมเมือง ยันเรื่องศาสนา และภาษาอั้งม้อ
  • ตอนแรกคิดว่าเป็นคนอีสาน เห็นเขียนเรื่องผักอีสานหากินได้ยาก กลายเป็นชาวปราจีนบุรีไปเสียนี่
  • มะกันมีผักกาดฮีนด้วยเหรอคะ อ้อ! มะกันเรียก Mustard Green แสดงว่า พ่อใหญ่สอจมูกถึง เพราะแกบอกว่า ผักกาดฮีนฉุนเหมือน Mustard
  • ผักแพวนี่ กินเพียวๆ ไม่อร่อยหรอกนะคะ แต่แม่เคยใส่ก้อยกุ้งที่คลุกมะกอกลงไปด้วย อร่อยจนนึกถึงนิราศ (ของเจ้าฟ้ากุ้ง) หรือเปล่าก็ไม่รู้ที่ว่า ก้อยกุ้งปรุงประทิ่น   วางถึงลิ้นดิ้นแดโดย น่ะค่ะ
  • เห็นว่าจะเขียนเรื่องมะเดื่อ อยากอ่านนะคะ เพราะมีอยู่ต้นหนึ่งชอบมาก ตอนซื้อไม่รู้หรอกว่าต้นอะไร คนขายก็ไม่รู้จัก เห็นเกิดอยู่ข้างสวน ฟอร์มต้นสวย (ติดในรูป) เลยให้เขาขุดให้ ตอนหลังหน้าตาเป็นอย่างในรูปค่ะ

                

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้ว ไม่อยากบอกว่า ข้าพเจ้าหยุดทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดมาสิบกว่าปีแล้วค่ะ เหตุผลแรกก็คือเพื่อสุขภาพ และตามมาด้วยความคิดที่ว่าหากเราหยุดกินเนื้อได้ อย่างน้อยๆ ในหนึ่งปี คงมีหมูที่ไม่ถูกฆ่าสักสองตัว วัวที่ยังมีชีวิตอีกสักตัว ไก่สักสิบตัว ปลาและอาหารทะเลสักห้าสิบชีวิต ฯ ตามหลักของ demand และ supply...

มาถึงวันนี้ยังแทบจะไม่เชื่อตัวเองว่าห้ามใจไม่ให้ลิ้มลองเนื้อสัตว์ทั้งหลายได้อย่างไร แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความอยากก็ไม่ค่อยโผล่ออกมาบ่อยครั้งนัก ชีวิตก็ดำเนินไปได้โดยดีมาก ไม่ติดขัดอะไร หาอาหารที่ไม่มีเนื้อได้ทุกที่ทุกเวลา

ตอนนี้สบายใจดีค่ะ ไม่มีข้อขัดแย้งที่ต้องคอยถามตอบตัวเองอยู่เสมอ ในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ และความรู้สึกผิดที่เราเป็นเหตุให้ชีวิตหนึ่งต้องจบลงมาอยู่บนจาน จะต่อหน้าหรือลับหลัง กลับกลายเป็นชีวิตที่เรียบง่าย อยู่ง่าย กินง่าย ไม่ต้องปวดหัวว่าจะเลือกอาหารแบบไหนดี...

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับประโยคที่ว่า "คงเป็นด้วยเหตุนี้ที่พพจ.ท่านไม่ทรงบัญญัติให้พุทธศาสนิกต้องเป็นมังสะฯ กินอะไรก็ได้ถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อความ “กำหนัด” ในรสอาหาร"

แต่ด้วยความที่ยังอยู่ไกลห่างจากจุดนั้นมากมาย ตอนนี้ขอทำในสิ่งที่เน้นความสบายใจส่วนตัวและเอาช่องว่างที่เหลือใส่ใจเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องการกินไปก่อน

ขอบคุณบันทึกนี้ที่ช่วย reflect ตัวเองในค่ำคืนนี้ค่ะ

มันเป็นบางอารมณ์น่ะ หากวันไหนร่างกายต้องการ โปรตีน บ้าง ก็จำใจต้อง เบียดเบียน กินเนื้อสัตว์

แต่ส่วนใหญ่ ไม่ได้โกหกนะ ก็ต้องการอาหาร ประเภท (เนื้อ นม ไข่ )ทุกวัน ไม่งั้น มันหิวๆ ยังไงไม่รู้ 55

หากแต่วันไหน นึกภาพเวลา พวกหมู ไก่ ปลา โดนเชือด ก็กินไม่ลง เพราะปลง กับคำว่า มนุษย์ชอบ

กิน ซากศพ สัตว์ (แหวะ...อยากจะอ..)

อ่านแล้วก็สบายใจขึ้นตรงที่ พพจ. ท่านไม่ทรงบัญญัติให้พุทธศาสนิกต้องเป็นมังสะฯ กินอะไรก็ได้ถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อความ “กำหนัด” ในรสอาหาร นี่ สินะ ที่เค้าว่ากันว่า ไม่ให้ ยึดติด ใน "รส รูป กลิ่น เสียง"

คุณปริม คุณ nop ครับ พพจ.ไม่ทรงบัญญัติก็จริง แต่ทรงห้ามฆ่าสัตว์สำหรับฆราวาส และห้ามฆ่าพืชด้วยสำหรับพระ (พรากของเขียว) แต่ก็ยังไม่ทรงกำหนดให้เป็นมังสะอยู่ดี นี่แสดงถึงความรอบคอบ เพราะถ้าสัตว์ตายเองล่ะ แบบนี้ก็กินได้ (เช่นปลามาเกยตื้นตาย) หรือวัวตายเพราะเสือกัดแล้วกินไม่หมด ป่วยตาย เป็นต้น

คุณแม่ผมเล่าว่าที่อ.กบินทร์ จ.ปราจีน สมัยก่อนที่แม่เป็นเด็ก คนไทยจะไม่กินเนื้อไก่ หมู วัว ควาย กินแต่ผักและปลาเท่านั้น หรือตอนสัตว์มันป่วยตายเอง มาเริ่มกินเนื้อกันก็เมื่อชาวจีนอพยพมา แล้วมาแล่เนื้อสัตว์ขายนั่นเอง

ผศ. วิไล ครับ การรู้หลากหลายแบบผมบางทีถ้ามองในแง่ลบเขาก็หาว่า หมอนี่จับฉ่าย อิอิ แต่ผมชอบสาระแนสอดรู้ไปหมดทุกเรื่องแหละครับ พบว่ามันสามารถบูรณาการกันได้แบบเหลือเชื่อ เช่น การปรุงอาหารกับหลักฟิสิกส์ ..บทความบางบทผมได้คิดค้นวิธีผัดผักให้อร่อยโดยใช้หลักการทางฟิสิกส์มาแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท