ก้าวข้ามความโกรธด้วยการ "เห็นแล้วปล่อยวางอารมณ์" ไม่ใช่ "ควบคุมอารมณ์"


เรามักไม่สามารถ "ควบคุม" ใครให้ทำอะไรตามใจเราได้ แม้แต่เราก็ใช่ว่าจะ "ควบคุมตนเอง" ให้ "ไม่โกรธคนอื่น" ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าวรุนแรงกับคนอื่น เมื่อคนอื่นทำอะไรไม่ถูกใจตน
อาจารย์ที่สอนวิชาการรู้จักตนเองคนหนึ่งส่งรายชื่อโครงงาน นศ.วิชานี้มาให้ช่วยดู ผมพบว่ามี นศ.ที่พบตนเองเป็นคน "ธาตุไฟ" ใจร้อน ทำโครงงานประเภท "ควบคุมอารมณ์โกรธของข้าพเจ้า" กันหลายคน ผมหวังว่าในการปฏิบัติ การ "ควบคุม" ที่ว่านั้น หมายถึงความพยายามในการ "สังเกต" อารมณ์ของตนเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการไปพยายาม "ควบคุม" อารมณ์ตนอย่างที่เขียน เนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวของผม พบว่า ความโกรธนี้ ยิ่งผมพยายามไป "ควบคุม" มัน ผมก็จะยิ่ง "โกรธ" มากขึ้น รวมทั้งหันกลับมาโกรธตนเองที่มักควบคุมตนไม่ได้

นอกจากนี้ การใช้วิธี "ควบคุม" จะไปเสริม "ธาตุไฟ" ในตัวเราให้หนักขึ้นอีก เพราะความโกรธมักเกิดจากการพยายาม "ควบคุม" คนอื่นให้เป็นไปดังใจเรา เช่น อยากให้คนอื่นทำให้ "ถูกต้อง" (ตามความเข้าใจของเรา) แต่ความจริงอันหนึ่งของโลกคือเรามักไม่สามารถ "ควบคุม" ใครให้ทำอะไรตามใจเราได้ แม้แต่เราก็ใช่ว่าจะ "ควบคุมตนเอง" ให้ "ไม่โกรธคนอื่น" ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าวรุนแรงกับคนอื่น เมื่อคนอื่นทำอะไรไม่ถูกใจตน (และก็อดเสียใจไม่ได้แทบทุกครั้งที่ไปรุนแรงกับเขา แต่ปีแล้วปีเล่าก็หยุดไม่ได้ มีแต่เราเอง คนโกรธง่าย ที่รู้ว่าอารมณ์นี้สร้างความทุกข์ทรมานใจให้ตนเองแค่ไหน)

เมื่อเชื่อว่า ใช้วิธี "ควบคุม" ไม่ได้ (ไม่ว่าคนอื่นหรือตนเอง) ในขั้นต้นของการฝึก ผมจึงมักแนะนำให้คนธาตุไฟทำอะไรให้ช้าลง เช่น เดินช้าลง พูดช้าลง ตอบโต้ช้าลง ขับช้าลง อ่านหนังสือช้าลง เขียนช้าลง ฯลฯ แล้วสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นจากการช้าลงนั้น

เมื่อเห็นตรงนั้นชัดเจนขึ้น คุ้นเคยขึ้นแล้ว หรือ "เอาอยู่" มากขึ้นแล้ว นั่นคือ เริ่มช้าลงได้แล้ว เริ่มสงบลงได้มากขึ้นแล้ว หยุดตอบโต้ ไม่เสียงดัง ด่าว่า ตำหนิใครแล้ว ขั้นต่อไป ฝึกกลับมา "อยู่กับเนื้อกับตัว"  คือ ฝึกมองกลับเข้ามาพิจารณาข้างใน(ใจ)ตนว่า ความโกรธนั้นๆ เกิดจาก "ความคาดหวัง" อะไรในใจฉัน ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า อารมณ์โกรธเกิดขึ้นจาก "ความผิดหวัง" ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง สังเกตข้างในไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่มเห็น "รูปแบบ" (pattern) หรือที่มาของอารมณ์โกรธตน ซึ่งแต่ละคนอาจต่างกัน เรื่องที่ทำให้คนหนึ่งโกรธ อาจไม่ทำให้อีกคนโกรธก็ได้ เราแต่ละคนจึงเป็น "เจ้าของ" อารมณ์และความรู้สึกของเราเอง อย่างที่เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Satir) บอกว่า "I own my feeling." เพราะ "เธอ" กับ "ฉัน" ต่างกัน ไม่มีใครเหมือนใคร แม้เป็นคนธาตุเดียวกัน (มีบุคลิกภาพแบบเดียวกัน) ตามที่ผมได้เขียนไว้ในเอกสารประกอบการเรียนวิชานี้

ในภาคการศึกษาแรกของปีที่สอง นักศึกษาสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (ม.ชีวิต) จะได้เรียนวิชา สันติศึกษา ซึ่งเป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝนตนเองต่อเนื่องจากวิชาการรู้จักตนเอง นศ.จะได้เรียนรู้จักตนเองในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น และจะได้ฝึกหัดในเรื่องที่กล่าวมาทั้งในชั้นเรียนและในการทำโครงงาน

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

๑๗ ม.ค.๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 474973เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2012 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 05:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แค่เพียงตามให้เท่าทันอารมณ์ ใช้ได้กับทุกอารมณ์ โกรธรู้ว่าโกรธ ดีใจรู้ว่าดีใจ เสียใจรู้ว่าเสียใจ แล้วพิจารณาว่าอารมณ์เหล่านั้นมันไม่ได้อยู่ตลอด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท