บทบาทสภามหาวิทยาลัย


 

          เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ค.๕๔ ผมได้รับเชิญจากนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ไปบรรยายเรื่อง “บทบาทสภามหาวิทยาลัยในการกำกับดูแลและพัฒนามหาวิทยาลัย” และทางมหาวิทยาลัยได้ถอดเทปบันทึกเสียง ให้ผมเกลาสำนวน จึงนำมา ลปรร. ที่นี่

 

บทสรุป

การ Orientation และ Retreat ระดมความรู้ประสบการณ์

เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ระหว่างวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ณ โรงแรมพูลแมน พัทยา ไอศวรรย์ จังหวัดชลบุรี


 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช บรรยายเรื่อง “บทบาทสภามหาวิทยาลัยในกำกับดูแลและ

พัฒนามหาวิทยาลัยเน้นการพัฒนาการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดี

รวมทั้งการจัดโครงสร้างและระบบการบริหาร

 

          กราบเรียนท่านนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และท่านผู้บริหารทุกท่าน การบรรยายวันนี้จะบรรยายเฉพาะความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยและวิธีการปฏิบัติ ซึ่งจะพูดเพียงกว้าง ๆ และทางที่ดีการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นน่าจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

          การบรรยายจะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอีกหนึ่งชั่วโมงตามที่ได้เรียนนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีไว้ การบรรยายเรื่องการทำหน้าที่สภามหาวิทยาลัย คงจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นหลักการสำคัญ ๆ แต่หลักการนั้นเมื่อนำไปปฏิบัติจะขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม กาละเทศะ บริบท ต้องใช้วิจารณญาณอย่างมากเรื่องที่จะบรรยายนี้คงมิได้เน้นว่าอย่างใดถูกหรือผิดเป็นหลักใหญ่ แต่ที่แน่นอนมีหลายเรื่องที่สามารถบอกได้ว่าลักษณะนี้ถูกหรือผิด แต่โดยทั่วไปแล้วหลายเรื่องมิใช่ขาวกับดำต้องใช้วิจารณญาณพอสมควร เพราะฉะนั้นการแลกเปลี่ยนกันน่าจะเป็นการเรียนรู้วิธีทำหน้าที่สภามหาวิทยาลัยได้ดีที่สุด ในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยจะบัญญัติไว้ว่า สภามหาวิทยาลัยคืออะไร แต่เมื่อโยงเข้าสู่วิธีปฏิบัติความคิดความเชื่อของคนในประเทศไทยเข้าใจว่าคิดต่างกัน สภามหาวิทยาลัยในอดีตเป็นสภานโยบาย คือคอยอนุมัติหรือไม่อนุมัติเรื่องที่ฝ่ายบริหารเสนอเข้าสภามหาวิทยาลัยแล้วผ่านเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทุกเรื่องผ่านหมดและมีข้อกำหนดว่าเรื่องใดต้องเข้าสภามหาวิทยาลัยนี่เป็นวิธีเก่า แต่ปัจจุบันนี้สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ “ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย” ตามพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ความหมาย คือ เป็นกลไกสูงสุดขององค์กร (Governance Mechanisms) ในการที่จะให้องค์กรเป็นหรือไม่เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าองค์กรเกิดความผิดพลาดผู้รับผิดชอบ คือ สภามหาวิทยาลัยในประเทศไทยคนทั่วไปเมื่อเกิดเหตุจะโทษอธิการบดี คณบดี หรือคณาจารย์ทั้งหลายที่จริงแล้วผู้รับผิดชอบคือสภามหาวิทยาลัย การที่ได้เริ่มทำงานในสภามหาวิทยาลัยเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมามีความเข้าใจสภามหาวิทยาลัยแบบหนึ่ง แต่ความเข้าใจในเวลานี้แตกต่างไปจากเดิม เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัย และเป็นประธาน กกอ. รวมทั้งเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อให้ช่วยคิดในการทำ CSR คืนกำไรให้สังคมเกี่ยวกับเรื่องเยาวชน เมื่อได้เข้าไปทำงานได้พบเห็นการบริหารงานภาคเอกชน การบริหารงานการเงิน มีตัวระบบที่แข็งแรงมาก และได้เห็นระบบกำกับดูแลที่มีรูปแบบแตกต่างจากของระบบอุดมศึกษา ทำให้มีความเข้าใจว่าหน้าที่กำกับดูแล หมายความว่า เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดไม่จะดีหรือไม่ดีจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจสูงสุด เป็นผู้บอกตำแหน่งบอกทิศทาง แต่สังคมไทยมิได้คิดเช่นนี้ เมื่อปฏิบัติจริงก็ไม่ตรงกัน ในกฎหมายหลายฉบับบ่งบอกไว้ชัดเจนว่าสภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่กำกับดูแล แต่ในระบบธนาคารและตลาดหลักทรัพย์มีระบบกำกับดูแลระบบการเงินที่แข็งแรงมาก ระบบกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไม่แข็งแรง จึงไม่สามารถใช้กลไกบังคับในจุดที่สำคัญเชิงระบบ ถึงมีกลไกก็เป็นการบังคับในจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่สาระสำคัญ ทุกครั้งที่ได้ไปบรรยายจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยทุกแห่งว่าถ้าต้องการให้มหาวิทยาลัยมีความเจริญก้าวหน้าอย่ารอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ระบบที่ดีต้องสร้างเองอย่ารอให้ผู้อื่นมาสร้างให้ เพราะสร้างเองจะแข็งแรงกว่าและต้องคิดว่าเพื่อทำประโยชน์ให้บ้านเมือง การที่มาดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็เพื่อที่ทำหน้าที่แทนบ้านเมืองและสังคม ด้วยการควบคุมดูแลมหาวิทยาลัย จากการที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยและนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อห้าปีที่ผ่านมา พบว่าคำนิยาม “การกำกับดูแลมหาวิทยาลัย” มีความหมายลึกมากกว่าที่คิด เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกรณีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยอีสาน ถ้าท่านเป็นนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีสานท่านคิดว่าควรต้องรับผิดชอบอย่างไร

 

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

 

นายธีระยุทธ ฉายสว่างวงศ์

          - ลาออกทันที และก่อนเข้าดำรงตำแหน่งต้องคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ต้องสืบประวัตินายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ

          - สิ่งนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดี สภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่กำกับดูแล หมายถึง สภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบแต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบหรือไม่จะต้องดูว่ากรรมการที่นั่งอยู่ในที่ประชุมให้ความคิดเห็นอะไรต่อสภามหาวิทยาลัยหรือไม่ ถ้าได้สอดส่องดูแลมหาวิทยาลัยด้วยความตั้งใจมิต้องรับผิดชอบแต่อธิการบดีต้องรับผิดชอบ แต่ถ้ากรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่มีความตั้งใจอนุมัติให้ปริญญาบัตรตามผู้อื่นต้องรับผิดชอบ เลขานุการสภามหาวิทยาลัยจึงต้องจดรายงานการประชุมอย่างรัดกุมเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประชุม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

          จะเกิดคำถามที่ว่าเวลาที่ผ่านมาสภามหาวิทยาลัยแห่งนั้นได้พิจารณาหรือไม่ได้พิจารณาเรื่องใดบ้าง เรื่องใดที่สำคัญนำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่สภามหาวิทยาลัยควรจะเป็นผู้กำหนดอนุมัติตรวจสอบทั้งหลาย จากการคาดเดาคิดว่าสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่มีคณะอนุกรรมการที่คอยตรวจสอบกิจการหลักและตรวจสอบสถานะการเงินของมหาวิทยาลัย จากการศึกษาข้อมูลพบว่าเรื่องการเงินไม่ได้นำเสนอสภามหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยก็มิได้เรียกร้องแสดงให้เห็นว่าสภามิได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนตามกลไกการตรวจสอบ จะเห็นได้ว่ายังมีโอกาสที่จะปรับปรุงสภามหาวิทยาลัยอีกมากถ้าจะให้มหาวิทยาลัยเจริญก้าวหน้าจริง การที่ได้เคยศึกษาเรื่องหลักการกำกับดูแลจากหลักสูตรของ IOD ทำให้เข้าใจและทราบถึงความจริงเชิงลึกในการทำหน้าที่กำกับดูแลตามหลักการ

 

นายสุนทร อรุณานนท์ชัย

          เรียนว่าทุกท่านทราบกรณีตัวอย่างนี้และมหาวิทยาลัยอีสานเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนตั้งขึ้นเพื่อหากำไรการที่สภามหาวิทยาลัยจะตรวจสอบทุกเรื่องคงจะยาก แต่ถ้ากรรมการสภามหาวิทยาลัยกำกับให้มหาวิทยาลัยเปิดเผยการแสดงทรัพย์สินหรืองบการเงินให้สภามหาวิทยาลัยทราบก็จะไม่เกิดปัญหา

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

          สภามหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบต่อสังคม (Accountable) และวิธีที่จะรับผิดชอบต่อสังคม คือ นายกสภากับกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะต้องช่วยกันทำให้ตัวระบบการกำกับดูแลให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องการเงินที่ไม่ได้มีการตรวจสอบ และระบบการตรวจสอบต้องมีสองชั้น คือ จัดทำรายงานประจำปีต่อสภามหาวิทยาลัยชั้นหนึ่ง อีกชั้นหนึ่งมีกรรมการตรวจสอบที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เข้าใจวิธีการตรวจสอบมาเป็นประธานแล้วทำให้มีระบบตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยโดยมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง สภามหาวิทยาลัยอีสานไม่มีระบบตรวจสอบจึงแสดงว่าสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่บกพร่อง และนายกสภามหาวิทยาลัยควรจะต้องถูกขึ้นบัญชีดำ (Black list) ยกเว้นมีหลักฐานเหตุผลว่านายกสภาได้ทำหน้าที่อย่างดีแล้ว

          หน้าที่ความรับผิดชอบ

          สภามหาวิทยาลัยกำกับดูแลสถาบัน สถาบันอยู่ในระบบอุดมศึกษาที่สำนักงานคณะ กรรมการการอุดมศึกษาดูแลระบบ โดยที่ทั้งหมดทำงานเพื่อบ้านเมือง เพื่อความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นในการที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็ดูแลกำกับตัวสถาบัน (Act Institutionally) แต่มิได้มองเฉพาะผลประโยชน์ของสถาบันฝ่ายเดียว ต้องมองประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นเป้าหมายสุดท้าย ที่ว่า Think Systematically & Nationally. System หมายถึง Higher Education System คือมองตัวระบบ ของอุดมศึกษา ที่เป็นตัวขับเคลื่อนความเจริญของบ้านเมือง แล้วสถาบันเป็นส่วนหนึ่งของตัวระบบ เพราะฉะนั้นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะต้องมีมุมมองอย่างนี้ ถ้าเมื่อไรกรรมการสภามหาวิทยาลัยคิดว่าเป้าหมาย มีอย่างเดียว คือ ทำให้สถาบันนั้น มหาวิทยาลัยนั้นเจริญ อย่างอื่นไม่สนใจถือว่าคิดผิด เพราะอาจจะเป็นการ ทำร้ายบ้านเมืองได้ หรือทำให้ระบบรวน ในความเป็นจริงแล้วระบบอุดมศึกษาต้องการอุดมศึกษาที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแบบไหนก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ยอดเยี่ยมได้ทั้งสิ้น ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่ามหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคล โชคดีกว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องปรับตัวมาก เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เก่งเรื่องเทคโนโลยีเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี และยิ่งนับวันมหาวิทยาลัยที่กลุ่มนี้เป็นความ ต้องการสูง แต่การที่จะให้เป็นเลิศด้วยตัวเองโดยไม่คบค้ากับมหาวิทยาลัยอื่นนั้นทำได้ยาก จึงต้องคบค้ากับ มหาวิทยาลัยแห่งอื่นที่มีความชำนาญแบบอื่น และต้องทำความร่วมมือกับฝ่าย Demand Side มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือหนึ่งเชิญกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมาจาก Demand Side จำนวนหนึ่งมาช่วย

          การเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย

          การเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสิ่งที่ได้รับมิใช่เงิน แต่เป็นเกียรติที่ได้รับและความสุข ที่ได้จากการให้ แต่เวลาที่ให้ประสบการณ์ ให้คำแนะนำ จะต้องระวังในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) สภามหาวิทยาลัยต้องการคนที่มีความคิดที่แตกต่างหลากหลายและประสบการณ์ที่ หลากหลายด้วย และต้องมาจากหลายที่มาจากหลากหลายความคิดเห็นที่แตกต่างกันแล้วมาทำงานเป็น องค์คณะจึงจะมีความเข้มแข็งได้ การทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นการทำโดยองค์คณะ นายกสภามหาวิทยาลัยมิใช่ผู้ที่จะตัดสิน แต่เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีโดยองค์คณะ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่รับฟังซึ่งกันและกันแล้วลงมติเป็นมติขององค์คณะ เมื่อมีการลงมติ ร่วมกันแล้ว แม้มติไม่เป็นเอกฉันท์ก็ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ใหญ่ มีมารยาท รู้วิธีการทำงานต้องไม่ออกมาพูดเอาดีเข้าตัวว่าไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ เพื่อหาคะแนนให้ตัวเอง เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง จุดที่สำคัญหลายครั้งที่คนไม่เข้าใจว่า สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐรวมถึงกรรมการสภา มหาวิทยาลัยเอกชน การเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนของรัฐที่เข้ามาดูแลมหาวิทยาลัย นี่คือความหมายที่สำคัญและรับผิดชอบในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

          หน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย

          การทำหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเมื่อสามสิบปีที่แล้วมา ส่วนใหญ่จะทำงานละเอียดคืออนุมัติตามวาระที่ฝ่ายบริหารเสนอและวาระตามที่กำหนดในกฎหมาย แต่เป็นงานประจำ แต่ส่วนของการกำกับดูแล ที่เป็นงานหลักเรื่องใหญ่มากไม่ค่อยทำ หรือไม่มีวาระให้ทำ ส่วนนี้คือ การกำกับทิศทาง จุดเน้น ระบบ ดูแลให้มีคุณธรรมรับผิดชอบต่อสังคม สภามหาวิทยาลัยจึงต้อง ตรวจสอบตัวเองว่าทำหน้าที่ดีแล้วหรือยัง และเอาใจใส่จริงจัง และต้องพยายามหาทางทำงานหลักให้ได้ เป็นการท้าทาย การประชุมสภามหาวิทยาลัยทุกเดือนจึงควรกันเวลาไว้สักหนึ่งชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง เพื่อทำงานหลักเชิงนโยบายเรื่องที่เป็นหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีทางเลือกหนึ่ง สอง สาม มีข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยง ความยากลำบาก อย่างไร และผลที่เกิดในทางที่สอง ที่สามเป็นอย่างไรแล้วก็ตัดสิน แต่ในทางปฏิบัติในปัจจุบันส่วนใหญ่การเสนอเรื่องเชิงนโยบายต่อสภามหาวิทยาลัย ไม่ได้เสนอเป็นทางเลือก

 

          ข้อเตือนใจในการปฏิบัติหน้าที่บอร์ด

          การทำหน้าที่บอร์ดศึกษาจากหลักสูตรการอบรม IOD ว่ามีหน้าที่ 4 อย่าง คือ

          - Duty of Care คือการทำงานด้วยความเอาใจใส่ด้วยความระมัดระวัง

         - Duty of Loyalty คือการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร ไม่ใช่ประโยชน์ขององค์กรอื่นหรือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

          - Duty of Obedience คือทำตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ซึ่งทั้งกำหนดที่กฎหมายเหนือเรากำหนดและขณะเดียวกันเราก็กำหนดไว้

          - Duty of Disclosure คือ เปิดเผยข้อมูลที่ทำหน้าที่ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส

          สาเหตุใหญ่ 4 ประการของความหย่อนสมรรถภาพของบอร์ด

          1. หย่อนด้านกระบวนการกลุ่ม : องค์ประกอบไม่เหมาะสม การสื่อสารไม่ดี เป็นอริกัน ฯลฯ

          2. ไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจการทำหน้าที่ ทำงาน แบบ reactive ไม่ได้ทำงานแบบ proactive

          3. ไม่รู้หน้าที่ หน้าที่ของบอร์ด คือหน้าที่ตั้งคำถาม ไม่ใช่หน้าที่ตอบคำถาม หน้าที่ตอบคำถามอยู่ที่ฝ่ายบริหาร หลายครั้งการประชุมสภามหาวิทยาลัยจะมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ เป็นที่เคารพนับถือและมีความรู้ดีมากเสนอความคิดเห็นให้ความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งและผู้ร่วมประชุมคน อื่นนิ่งเงียบ ซึ่งหมายความว่าเรื่องนั้นมหาวิทยาลัยต้องรับไปปฏิบัติ แต่เรื่องลักษณะนี้มักเงียบหายไป จึงเกิดความคิดขึ้นว่ากรรมการที่ออกความเห็นเป็นเรื่องที่ดีจริง แต่สงสัยท่านไม่เข้าใจบริบทของมหาวิทยาลัย แห่งนี้ ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะทำสิ่งที่ดีถึงขนาดนั้นได้หรือไม่ ถ้าหากทำได้จะทำให้ผ่านความขัดแย้งในหลาย ด้านอย่างไรบ้าง จะเห็นได้ว่าความคิด (Idea) ที่ดี ๆ หลายครั้งจะสร้างความยุ่งยากวุ่นวายถ้าหากจัดการ ความคิดที่ดี ๆ ไม่เป็น การที่จะนำความคิดที่ดีในสภามหาวิทยาลัยไปดำเนินการจะต้องนำกลับไปคิดต่อ คิดให้เป็นระบบและคิดด้วยความรอบคอบ พร้อมทั้งมีกระบวนการที่จะลงมือทำ แล้วจึงนำมารายงาน ต่อสภามหาวิทยาลัย ให้สภามหาวิทยาลัยตัดสินใจ

          4. ผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนกลุ่ม จะทำให้บอร์ดเกิดความไขว้เขว

 

          หน้าที่สำคัญ 5 ประการ ของบอร์ด

          1. กำหนดและปรับปรุง mission & strategy ขององค์กร

          2. ตรวจสอบ performance ขององค์กร และดูแลให้ผู้บริหารรับชอบและรับผิด

          3. สรรหา แต่งตั้ง และปลด ซีอีโอ

          4. จัดหาและดูแลทรัพยากร ทั้งที่เป็นเงินและเครื่องใช้

          5. เชื่อมโยง สร้างความราบรื่น ระหว่างองค์กรกับสภาพแวดล้อม

          นี่คือหน้าที่สำคัญของบอร์ดที่เลียนแบบมาจากเอกชน ข้อสามปลดและแต่งตั้งซีอีโอ และซีอีโอไปแต่งตั้งผู้อื่นต่อเพื่อให้เป็นทีมในการทำงาน ทำงานตามข้อหนึ่งคือต้องทำอะไรบ้าง ไปทางไหนแล้วก็สรรหาคนมาเป็นซีอีโอ และข้อสอง ข้อสี่ และข้อห้าสภามหาวิทยาลัยช่วยสนับสนุน จึงมีคำถามว่ามหาวิทยาลัยคิดตาม ๕ ข้อนี้ถูกต้องหรือไม่ ที่จริงถูกแต่มีสิ่งที่ไม่ตรงระหว่างห้าข้อนี้ที่ใช้ใน เอกชนกับที่ใช้ในมหาวิทยาลัย คือข้อสามสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ปลดและแต่งตั้งเฉพาะซีอีโอ เราตั้งคณบดี ด้วย แล้วสภาจะสร้างความราบรื่นเป็นทีมบริหารมหาวิทยาลัยได้อย่างไรก็เป็นโจทย์ให้เห็นประเด็น เพื่อจะได้เห็นด้วยว่าหลายครั้งความไม่ราบรื่นอยู่ในระบบ ซึ่งในหลายมหาวิทยาลัยก็พยายามแก้ไข ซึ่งการแก้ไขนั้นก็อาจจะมีข้อดีและไม่ดี

          จากการที่ได้อ่านหนังสือและพยายามสังเคราะห์ออกมาว่าความเข้าใจผิดของคนในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะฝ่ายบริหารมักจะกล่าวว่ามหาวิทยาลัยมีนโยบาย ทิศทางอย่างนั้นอย่างนี้ มหาวิทยาลัย หมายถึง อธิการบดี ส่วนสภาเรียกว่าสภา อาจารย์เรียกว่าอาจารย์ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง มหาวิทยาลัยต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ฝ่ายปฏิบัติคืออาจารย์และเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ฝ่ายจัดการคือฝ่ายบริหาร และฝ่ายกำกับดูแลคือสภามหาวิทยาลัย ทั้งหมดรวมเรียกว่ามหาวิทยาลัย สามฝ่ายทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดต้องทำหน้าที่ให้สอดคล้องกัน เสริมแรงซึ่งกันและกัน เพื่อทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ และภารกิจหลัก และสามส่วนนี้ต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นี่คือหลักสำคัญและสภามหาวิทยาลัยต้องช่วยทำให้เกิดสภาพนั้น ในสามส่วนนี้ต้องไม่มีฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะคนในมหาวิทยาลัยโดยธรรมชาติมีความเป็นตัวเองสูง และการที่จะทำให้เกิดสภาพสามส่วนเท่ากับหนึ่งเดียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต้องมีการทำตลอดเวลาผ่านกระบวนการต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล สิ่งที่พยายามทำ คือพยายามทำให้ทุกคนเห็นว่า มหาวิทยาลัยมีโอกาสที่จะทำผลประโยชน์ให้แก่สังคมและบ้านเมืองเพิ่มขึ้น โดยให้คนรู้จักคุณค่าของที่ต่าง ๆ ส่วนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยจะไปเยี่ยมชื่นชมหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะได้รับรู้ ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มีคุณค่ามีประโยชน์ต่อบ้านเมือง รับรู้ถึงกระบวนการทำงานและเข้าใจ การทำงานของแต่ละส่วนงาน เป็นความรู้สำหรับนำมาใช้กำกับดูแลให้เกิด synergy ระหว่างส่วนงาน เพื่อทำประโยชน์แก่บ้านเมืองได้เพิ่มขึ้น

 

          การจัดการและกำกับดูแลมหาวิทยาลัย

          แนวโน้มโลก

          การกำกับดูแลมหาวิทยาลัยศึกษาวิธีการจากทั่วโลกด้วยการสืบค้นทางอินเตอร์เนตสามารถทำได้ง่าย วิธีการทางด้านการกำกับดูแลจะมีแนวเดียวกันหมด คือ จะมุ่งผลสัมฤทธิ์ สร้างผลสัมฤทธิ์ให้แก่ องค์กร ซึ่งต้องมีคุณภาพ มี CQI และประสิทธิผล ต้องมีตัวชี้วัด

          เป้าหมายของมหาวิทยาลัยมิใช่กำไรแต่อยู่ที่ประโยชน์ทางสังคม

          การทำหน้าที่กำกับดูแล 3 มิติ

          การทำหน้าที่กำกับดูแล คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มากที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยทั่วไป จะไม่ตระหนัก จากการที่ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย จึงค้นคว้าหนังสือเพื่อพยายามศึกษา Governance as Leadership เป็นหนังสือที่เขียนดีมาก พบว่าเรื่อง Governance จะต้องทำสามมิติ มิติที่มักจะทำคือ Fiduciary Mode เป็นสภามหาวิทยาลัยที่คอยดูแลงบประมาณที่รัฐจัดสรรมาให้กับ มหาวิทยาลัย และได้นำไปทำหน้าที่มหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์แก่สังคม จริง ๆ แล้วการกำกับดูแลต้องทำ มิติที่สองและมิติที่สาม Strategic Mode และ Generative Mode.

          Strategic Mode คือเข้าไปเป็น Partner กับฝ่ายบริหาร ร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์ ที่ท้าทายและเหมาะสม มิติที่สาม Generative Mode คือเข้าไปร่วมกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายคณาจารย์และฝ่าย ผู้ทำงาน ช่วยกันคิดไปข้างหน้าว่าจะต้องเตรียมการที่จะทำให้องค์กรไปได้ดีในอนาคตอย่างไร ต้องทำสามมิตินี้ให้ได้ ซึ่งได้เขียนรายละเอียดไว้และสถาบันคลังสมองรวบรวมข้อความจาก Blog ที่เขียนไว้ จัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ

 

          ธรรมชาติของ Governance 3 แบบ

          Governance 3 มิตินี้จะชี้ให้เห็นว่า Type I, Type II, Type III, มีธรรมชาติ (Nature) ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง Type 1 เป็นมิติที่เราคุ้นเคย มิติที่ 2 เป็นมิติที่ใช้ข้อมูล และการวิเคราะห์ เพื่อที่จะคิดอย่างเป็นระบบ มีหลักการที่จะต้องมีการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกมาเป็น policy option ทางเลือกทั้งหลายจะอยู่ที่ Strategic Mode แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ Generative Mode ซึ่งหลาย ๆ ครั้งไม่ได้ใช้เหตุผล แต่ใช้ Intuition ใช้ Leadership ของคนหลาย ๆ คนมาช่วยกันคิดไปข้างหน้า การทำหน้าที่ Generative Mode ไม่สามารถทำได้ใน Board room ทำได้ยากมากเพราะเป็นสัญลักษณ์ของ ความคุ้นเคย ถ้าจะทำหน้าที่ Generative Mode ต้องจัดการประชุมแบบ Retreat ในบรรยากาศที่ไม่ เป็นทางการ ให้ทุกคนสื่อสารแลกเปลี่ยนออกมาจากใจ เป็นหลัก อย่างไรก็ตามสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ก็ต้องหาลักษณะจำเพาะ จุดเด่นของตัวเอง และพยายามเข้าสู่จุดเด่นที่ตัวเองสามารถทำหน้าที่ได้ดี สภามหาวิทยาลัยจะต้องเข้าช่วยทำให้เกิดสภาพนั้น โดยที่สภามหาวิทยาลัยจะต้องมีวิธีการที่จะทำหน้าที่ ในมิติที่ ๓ ได้ เริ่มต้นด้วยองค์ประกอบที่เหมาะสม และร่วมกันหาวิธีทำงานเพื่อดึงความริเริ่มสร้างสรรค์ และมองบทบาทของมหาวิทยาลัยไปข้างหน้า 5 ปี 10 ปี 20 ปี

          สภามหาวิทยาลัยต้องตระหนักตลอดเวลาว่าอนาคตคือคนรุ่นใหม่ และการพัฒนาคนที่ มีอยู่แล้ว การทำหน้าที่แบบ Generative Mode ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการเตรียมคน ระบบก็สำคัญ และสิ่งที่คนมักจะละเลยก็คือตัวบอร์ดเองก็ต้องเรียนรู้ร่วมกัน (Intellectual Capital) ว่าการทำหน้าที่ บอร์ดที่ดีคืออะไรและจะเพิ่มองค์ประกอบของบอร์ดให้ดีขึ้นได้อย่างไร และทำหน้าที่ได้ดีหรือยังเพื่อให้เกิด ความน่าเชื่อถือ (Reputational Capital) จากบุคคลภายนอก แต่กระนั้นพฤติกรรมของบอร์ดก็มีความสำคัญ อีกสิ่งหนึ่งที่บอร์ดควรทำ คือ เป็นที่รับฟังเสียงของคนในองค์กรทั้งความพอใจ ไม่พอใจ ความปรารถนา ความมุ่งมั่น จะต้องมีช่องทางรับฟังในเสียงที่บุคคลภายในองค์กรแสดงความคิดเห็นคือเป็น (Political Capital) และต้องมองถึงลักษณะขององค์กรว่ามีความเข้มแข็งหรืออ่อนแอในขณะนั้น และสภามหาวิทยาลัย จะต้องฟังเสียงหรือความต้องการของสังคมภายนอกด้วย สิ่งสุดท้ายของการทำหน้าที่ของบอร์ด คือการสร้าง ความสัมพันธ์ภายใน (Social Capital) สมาชิก บอร์ด ไม่ใช่เพียงมาประชุม แต่จะต้องหาเวลานอก การประชุมทำความคุ้นเคยปรึกษาหารือกันอย่างไม่เป็นทางการด้วย เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ภายในบอร์ด จะเป็นพลังของบอร์ดที่ไม่ได้คิดถึงมากนัก นี่เป็นพลังสี่ด้านของสมาชิกบอร์ด

          หนังสือ Richard T. Ingram. Effective Trusteeship (1995) กล่าวไว้ว่าบอร์ดมีความ รับผิดชอบ 12 ประการ จะมีลักษณะคล้ายกับหน้าที่สำคัญ 5 ประการของบอร์ดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น คือ -

           กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ คือ กำหนดว่าองค์กรนี้ทำอะไร จะไปทางไหน

           - สรรหาอธิการบดี

          - สนับสนุนงานของอธิการบดี

          - ติดตาม – กำกับการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย

          - ประเมินการปฏิบัติงานของสภามหาวิทยาลัย หลักการทำหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยมีจำนวนมาก

          - ยืนหยัดให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ คือ องค์กรนี้จะไปอย่างไร การจัดทำแผนยุทธศาสตร์เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร และสภามหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้ชี้ให้จัดทำและมีการทบทวนอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย

          - ทบทวนภาระกิจหลัก คือ โปรแกรมการศึกษาและโครงการบริการสังคมเพื่อนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุง (ควบคุมค่าใช้จ่าย จัดสรรทรัพยากรใหม่ ลดแรงกดดันขึ้นค่าเล่าเรียน ปรับโครงสร้าง) สภามหาวิทยาลัยของประเทศไทยควรที่จะเน้น (Focus) ในเรื่องนี้ให้มาก

          - ประกันความพอเพียงของทรัพยากร

          - ประกันการบริหารจัดการที่ดี

          - ยึดมั่นในความมีอิสระของสถาบัน

          - เชื่อมโยงสถาบันสู่ชุมชน และเชื่อมโยงชุมชนสู่สถาบัน

          - บางครั้งทำหน้าที่เป็นศาลอุทธรณ์

 

          การกำกับดูแลที่ดี 15 ประการ

          1. บ่มเพาะวิสัยทัศน์ ส่งเสริมให้คนในองค์กรกล้าฝัน และร่วมกันทำให้เป็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และมีความจำเพาะ (“Cradle” Vision)

           2. ระบุคุณค่าขององค์กรอย่างชัดเจน การตัดสินใจเป็นเรื่อง ๆ ไม่สำคัญเท่ากับการกำหนดคุณค่าภาพรวมขององค์กร (Explicitly address fundamental values)

          3. ทำให้องค์กรมุ่งเป้าภายนอกองค์กร (Force and External focus) ตามปกติผู้คนในองค์กรมีแนวโน้มจะคิด-ปฏิบัติเรื่องที่เป็นเป้าหมายภายใน บอร์ดต้องชักจูงกึ่งบังคับให้ต้องเน้นคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียภายนอก

          4. ส่งเสริมให้เป็นองค์กรที่เน้นผลลัพธ์ เน้นผลลัพธ์ที่ตรงกับปณิธานความมุ่งมั่นขององค์กร (Enable an outcome-driven organization system

          5. แยกแยะเรื่องใหญ่ออกจากเรื่องเล็ก (Separate large issues from small ones)

          6. ทำให้มีการคิดไปข้างหน้า (Force forward thinking)

          7. ส่งเสริมการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Enable proactive)

          8. ส่งเสริมให้มีการคิดแตกต่างหลากหลาย โดยมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Facilitate diversity & unity)

          9. กำหนดความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย เช่น ลูกค้า ผู้ถือหุ้น เพื่อนบ้าน และเจ้าหน้าที่ (Describe relationship to relevant Constituencies)

          10. กำหนดกติกาในการทำหน้าที่ของบอร์ด คือ บอร์ดต้องสร้างวินัยให้ตนเองปฏิบัติ (Define a common basis for discipline)

          11. กำหนดบทบาทของบอร์ด ในเรื่องต่าง ๆ อย่างชัดเจน ให้สมาชิกของบอร์ด พูดเหมือนกัน คือ สมาชิกบอร์ด พูด & ทำ เป็นองค์คณะ ไม่ใช่เป็นปัจเจก (Delineate the board’s role in common topic)

          12. กำหนดว่าต้องการสารสนเทศอะไรบ้างเพื่อการทำหน้าที่ สารสนเทศต้องเหมาะสมไม่มากไม่น้อยเกินไป และนำเสนอในเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งต้องไม่ใช่สารสนเทศที่ไม่ตรงความจริง (Determine what information is needed)

          13. ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างพอดี (Blance) ไม่ตึงเกิน (overcontrol) และไม่หลวมเกิน (undercontrol)

          14. ใช้เวลาของบอร์ด อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อองค์กร (Use board time efficiently)

          15. ทำหน้าที่อย่างมีพลัง และสร้างสรรค์ ไม่เป็นอุปสรรคต่อฝ่ายบริหาร (Enable simultaneously muscular and sensitive use of board power)

 

          การทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย

          • เป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์ แต่อาจผิดก็ได้บางครั้งแล้วแต่สถานการณ์

          • ต้องทำงานเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ

          • กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้ให้มากกว่ารับ ที่ได้รับคือความภาคภูมิใจที่เห็นมหาวิทยาลัยเจริญก้าวหน้าและได้ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง

          • มุ่งผลประโยชน์ส่วนใหญ่มากกว่าส่วนน้อย หลายครั้งต้องไม่มุ่งแต่ประโยชน์ของมหาวิทยาลัยแต่จะต้องมุ่งถึงประโยชน์ของบ้านเมืองให้มาก

          • เคารพ/ปฏิบัติตามกติกา

          • ตั้งกติกา เปิดเผย ปฏิบัติตาม

          • ทำงานด้วยความเอาใจใส่ รอบคอบ

 

( มีต่อ)

          งานฝาก จากระบบราชการ

         

หมายเลขบันทึก: 474814เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2012 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท