๒๓๕.บทบาทพระ สรณะของสังคม


เมื่อเราจำสัญลักษณ์ว่านี้เป็นพระ นี้เป็นคำสอนแล้ว ก็จะเกิดการคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีงามเหมาะแก่การเคารพสักการะ และยึดถือเป็นสรณะของชีวิต

 

     พระสงฆ์ไทย ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นวิถีชีวิตประจำวันในฐานะสมณะ หรือพระในพระพุทธศาสนาแล้ว ส่วนหนึ่งก็หนีไม่พ้นการรับใช้สังคม อันเนื่องมาจากสังคมต้องการผู้นำทางจิตวิญญาณ แม้หลายครั้งดูแล้ว ไม่หน้าจะเป็นหน้าที่ของพระโดยตรง แต่หากไม่สงเคราะห์สังคม ๆ ก็จะขาดเจตจำนงค์ที่ดีงาม

     ทำไมพระพุทธเจ้า จึงทรงสั่งสอนให้พุทธสาวกในมงคล ๓๘ ข้อแรก ๆ ว่า อเสวนา จ พาลานํ  ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา (การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต) นั้นก็หมายความว่า สภาพแรกที่มนุษย์จะต้องรับรู้ด้วยประสาทตาและหู(คือการมองเห็นและการได้ยินได้ฟัง) ศัพท์ทางศาสนาเรียกจุกษุวิญญาณและโสตวิญญาน อันเป็นการรับรู้เบื้องต้น แต่เมื่อเข้าไปสู้ประสาทสัมผัสนั้นแล้ว ก็เกิดจำได้คือสิ่งที่ดีงาม (การครองผ้า หรือแม้แต่คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

     เมื่อเราจำสัญลักษณ์ว่านี้เป็นพระ นี้เป็นคำสอนแล้ว ก็จะเกิดการคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีงามเหมาะแก่การเคารพสักการะ และยึดถือเป็นสรณะของชีวิต

     เมื่อคิดดีแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดวาจาที่ดีงาม และเป็นการกระทำที่ดีตามด้วย นี้เป็นข้อสรุปประเด็นหนึ่งว่าการที่พระบ้าน(คามวาสี) ได้รับใช้สังคม มันเกิดปาฎิหารย์อย่างที่กล่าวมานี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสังคมโดยภาพรวม หากเกิดกิจกรรมดี ๆ ที่มีพระสงฆ์เข้าไปร่วม ย่อมเกิดสาระธรรมดี ๆ เข้าไปด้วย แม้ว่ากิจกรรมนั้น ๆ จะเจือปนไปด้วยเหยื่อล่อบ้าง แต่ก็ต้องปรับปรุง ช่วยกันกระตุ้นให้อยู่ในกรอบหลักในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งอุบาสก อุบาสิกา ก็ต้องมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเตือนพระภิกษุเหล่านั้นด้วย

     ช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนก็ได้สนองตอบต่อสังคมหลายประการ (เฉพาะวันที่ ๑๓ มค.) มีกิจกรรมที่ดี ๆ อยู่ ๔ กิจกรรมด้วยกัน คือ

     ๐๘.๐๐ น. ไปรับบิณฑบาต โรงเรียนอนุบาลพะเยา เนื่องในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทางโรงเรียนได้ฝึกเด็ก ๆ จำนวน ๓,๐๐๐ คนให้รู้จักถวายทาน แม้ว่าจะวุ่นวายนิดหน่อย แต่ก็อภัย เนื่องจากเด็กยังมุ่งทำเล่นๆ มากกว่าจะซาบซึ้งอะไรมากนัก แต่ก็เหมาะสมกับวัยที่ให้รู้จักไหว้ ทำบุญ กิริยาท่าทางที่แสดงออกก็เป็นที่น่าพอใจ

     นอกจากนี้แล้ว ผู้เขียนในฐานะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลด้วย มีครูโทรมาขอของขวัญ ๑ ชิ้นเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับคณะครูและผู้บริหาร ผู้เขียนจึงมอบหนังสือที่พิมพ์ชุดใหม่จำนวน ๑๕๐ เล่ม พร้อมคำอวยพรปีใหม่ ให้คำอวยพรไม่ซ้ำกัน นัยว่าใครจะได้รับคำอวยพรว่าอย่างไร โดยถือว่าเป็น ส.ค.ส. ก็แล้วกัน

     ๑๐.๓๐ น.ไปเป็นประธานมอบวุฒิบัตรและให้โอวาทแก่นักเรียนชั้น ป.๕ โรงเรียนประชาบำรุง จำนวน ๕๐ คนและคุณครู ๒๐ คน เนื่องในการฝึกอบรมการปฏิบัติการศาสนพิธี คือโรงเรียนแห่งนี้ ทางวัดศรีโคมคำได้ส่งพระเข้าไปช่วยสอน และให้เข้ามาสอบธรรมศึกษาในส่วนของสำนักเรียนวัดศรีโคมคำทุกปี ๆ ๕-๖๐๐ คน แต่ครูพระที่ไปสอนคือพระมหาธีรวัฒน์  รตนเมธีและพระครูสมุห์สุวิทย์ กลฺยาณธมฺโม เห็นว่าการสอน ๆ อย่างเดียว มักไม่ได้ผลเท่าที่ควร

     ดังนั้น จึงชวนกันสละทรัพย์ เพื่อนำเด็กและครูเหล่านี้มาฝึก-ปฏิบัติ เรียกง่าย ๆ ว่าสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยให้ลงมือทำตั้งแต่จัดสถานที่พิธี จัดโต๊ะหมู่ ไหว้พระ อาราธนารับศีล ถวายทาน ฯลฯ ทุกอย่าง ให้ครูและนักเรียนได้สัมผัสด้วยตนเอง     นั้นก็หมายความว่าเด็กได้เรียนรู้ในแง่ของสร้างกุศลด้วยตนเองแล้ว

     ๑๓.๐๐ น. ไปร่วมเสวนางานวิจัย ณ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นการจัดขึ้นครั้งแรก ในส่วนของห้องศาสนา ปรัชญา สถาปัตย์ ฯลฯ ได้เห็นแนวคิดที่คณาจารย์ต่าง ๆ ได้นำเสนอ ก่อนออกมาจากงาน มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้เอ่ยกับผู้เขียนว่า การวิจัยเรื่องสัตตภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่จุดบูชาพระที่เราเห็นทุก ๆ วัน แต่ญาติโยม นำไปทำการวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวได้...

     ประเด็นนี้ ผู้เขียนได้ให้ทัศนะไปว่า อะไรก็ตามถ้าเราเห็น เป็นประเด็น มันก็สามารถเป็นวิจัยได้ แต่สิ่งที่เราเห็นทุก ๆ วัน แต่ไม่คิดวิจัย นั้นเป็นเพราะเรามองข้ามไป หรือคิดว่าเป็นสิ่งที่ธรรมดา ไม่เห็นความหมาย ความเป็นมาของมัน จึงทำให้เกิดการไม่สนใจ ใส่ใจ เมื่อไม่เกิดการสนใจ ก็ไม่คิดหาประเด็น ที่ทำให้เกิดเป็นงานวิจัยได้ ดังนั้น มองอะไร? ต้องหาประเด็นให้ได้ จึงจะเกิดแนวคิดในการทำวิจัยเพื่อหาคำตอบ?

     ๑๗.๐๐ น.ถึงเวลาที่ต้องมาจัดรายการวิทยุ แต่วันนั้นไม่ไหวจริง ๆ เมื่อเจอหลาย ๆ งานเข้า ร่างกายประท้วง ทำท่าว่าจะเป็นไข้ ประกอบกับรูปที่จัดรายการร่วมกันก็มีปัญหาเช่นกัน

     วานนี้(๑๔ มค) ไปเจริญพุทธมนต์ที่สถานีตำรวจภูธรภาค ๕ พะเยา ทางสถานีแนะนำให้จัดรายการที่ญาติโยมปรึกษาได้ ผู้เขียนก็บอกว่ามีรายการประเภทนี้อยู่ และได้พูดเปรย ๆ ว่า ทุกวันนี้โยมนำปัญหามาปรึกษาพระ พระรับปัญหามากๆ เอาไปเอามาพระนั้นแหละจะมีปัญหาเสียเอง เนื่องจากปัญหาของโยมมากเหลือเกิน นี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าคิด

     อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่สังคมไทย ยังเป็นสังคมพุทธอยู่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระก็ต้องรับใช้สังคม เพื่อให้สังคมได้ขับเคลื่อนต่อไปในทิศทางที่ดีงาม สาธุ...

 

    

หมายเลขบันทึก: 474697เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2012 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท