ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๗๐. น้ำลด กล้า....ดี โผล่



          วันที่ ๑๕ ธ.ค. ๕๔ ผมเดินทางไปลพบุรี ไปร่วมกิจกรรมมอบชุด ๓ พร้อม ของโครงการกล้า...ดี: ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์   ดู YouTube ข่าวเปิดตัวโครงการที่นี่  และกิจกรรมในวันนี้มีดังนี้

          อ่านจากเว็บไซต์ของโครงการผมจึงรู้ว่ากิจกรรมมอบชุด ๓ พร้อมนี้ เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   และเปิดรับคนนอกเข้าร่วมกระบวนการด้วย   และเขาจัดวันที่ ๑๔ - ๑๕ ธ.ค. ไล่มาตั้งแต่จังหวัดอุทัยธานี   แต่เขาเห็นใจพวกคนแก่ จึงจัดให้ไปร่วมที่จุดเดียว ที่ไม่ไกลมาก คือลพบุรี    ดูรายชื่อผู้ไปร่วมที่นี่

          ผมออกเดินทางจากบ้านเวลา ๑๐ น. ขึ้นทางด่วนไปลงบางปะอิน   ระหว่างทางสังเกตสภาพหลังน้ำท่วม เห็นไม้ยืนต้นจำนวนมากเป็นพุ่มแห้งยืนต้นตายจากน้ำท่วม   ผมสังเกตว่ามะพร้าวไม่ตาย แต่ไผ่ตาย   มะม่วงตายประมาณครึ่งหนึ่ง   พอลงทางด่วนเข้าถนนสาย ๓๒ ก็เห็นร่องรอยน้ำท่วมถนน เห็นคราบน้ำที่เสาซีเมนต์ บอกว่าตอนน้ำขึ้นสูงได้ท่วมถนนด้วย   แต่ตอนนี้ไม่เห็นร่องรอยของน้ำท่วมแล้ว   ยกเว้นในนามีน้ำขังเต็มและนกปากห่างและนกกระยางมาหากินเป็นฝูงๆ

          คุณคณิต โชเฟอร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเตรียมศึกษาเส้นทางมาอย่างดี   เลือกไปทางถนนสายใหญ่คือทางหลวงหมายเลข ๑   ไม่ใช้เส้น ๓๔๗ ผ่านบางปะหัน เพราะเป็นถนนเล็ก ๒ เลน แม้จะย่นระยะทางแต่จะขับได้ช้ากว่า   เราผ่านทางเข้าเมืองเอกอันมีชื่อเสียงว่าน้ำท่วมลึกมาก   แต่ตรงปากทางที่รถผ่านไม่เห็นร่องรอยน้ำเลย  

          ใช้เวลาเพียง ๒ ชั่วโมง ก็ไปถึงร้านอาหารบัวหลวง ในตัวจังหวัดลพบุรี    ซึ่งคณะใหญ่ที่เดินทางโดยรถบัสวีไอพี ๑๘ ที่นั่ง ออกจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่สวนลุมฯ เพิ่งมาถึงเพียงไม่กี่นาที    เรากินอาหารเที่ยงที่นี่ อาหารอร่อยมาก   

          แต่ก่อนรับประทานอาหารมีการบรรยายสรุปโครงการกล้า...ดี    ซึ่งข้อความรู้ที่สำคัญที่สุดสำหรับผม คือคณะทำงานของโครงการลงพื้นที่อย่างมีหลักวิชาการทำงานร่วมกับชุมชน   และแม้คนเหล่านี้จะช่ำชองกับงาน แบบนี้มาทั่วประเทศ   พอมาพบสภาพจิตใจของคนในชุมชนท่ามกลางสภาพ น้ำท่วม ก็...เซอร์ไพร้ส์   ชาวบ้านเขา ไม่รู้สึกเดือดร้อนมากอย่างที่เราได้ยินได้เห็นจากสื่อมวลชนครับ   ชาวบ้านเขาบอกว่าลำบากน่ะลำบากจริง แต่เขาปรับตัวได้ และช่วยเหลือกันเองได้ในระดับหนึ่ง    คือสังคมไทยในชนบทเป็น ชุมชนเข้มแข็งมากกว่าที่ เราคิด

          โครงการนี้ริเริ่มและดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่ลงเงินประเดิม ๕ ล้านบาท   แล้วมีบริษัทต่างๆ บริจาคเงินเข้ามา ปิดท้ายด้วยรัฐบาลมีมติมอบเงิน ๒๕ ล้านบาท รวมเป็นเงิน ๘๐ ล้านบาท   ทำโครงการในภาค กลาง ๘ จังหวัด ครอบคลุมผู้ประสบภัยน้ำท่วม ๑๒๐,๐๐๐ ครัวเรือน  โดยมอบถุงของแห้งเครื่องประกอบอาหาร (พริก กระเทียม) กับกล้าพืชสวนครัว คือมะเขือเปราะ มะเขือยาว พริกซูเปอร์ฮ็อท พริกชี้ฟ้า  กระเพรา  โหระพา   และเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว

          วิธีทำงานแบบ mass production ผลิตต้นกล้า ๒ ล้านต้น ภายในเวลาอันรวดเร็ว ๒ เดือน   เป็นสิ่งน่า ประทับใจมาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายมาก    อย่างกองบิน ๒ ลพบุรี ที่เราไป ทำกิจกรรมมอบชุด ๓ พร้อม ก็เป็นหนึ่งใน ๒ ศูนย์ผลิตกล้าพืชสวนครัว    โดยนอกจากใช้แรงงานทหารแล้ว ยังมีอาสาสมัครมาร่วม ทำงานด้วย
แต่ที่ผมคิดว่าสำคัญกว่า มีพลังกว่าวัตถุสิ่งของคือจิตใจ   กระบวนการทำงานของโครงการ เป็นเครื่องสร้างพลังชุมชน เชื่อมโยงกับหลากหลายฝ่าย ที่คุณชายดิศนัดดา บอกว่าเป็นพลัง 3P คือ Public (ราชการ), Private (ภาคธุรกิจ) และ People คือภาคประชาสังคม

          ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี บอกว่า ท่านจะสนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการนี้

          เราไปร่วมกิจกรรมมอบชุด ๓ พร้อม   จึงต้องเฉลยเสียหน่อย ว่า ๓ พร้อมคืออะไร   คำเฉลยคือ พร้อมกิน พร้อมปลูก และพร้อมเพาะ  อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

          ชื่อ กล้า...ดี ก็เช่นกัน มีความหมายได้หลากหลายนัย    อาจหมายถึงกล้าทำดี ก็ได้   หรือกล้าพืชสวนครัว พันธุ์ดี ก็ได้ 

          พอได้เวลา ๑๔ น. ประธานในพิธีคือ ฯพณฯ อดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน และคณะก็เดินเข้าไปใน บริเวณงาน ที่กางเต๊นท์มีผู้คนมาร่วมงานคับคั่งประมาณ ๒ พันคน จากหลายจังหวัด   คณะที่ไปได้รับการต้อนรับ จากนักแหล่ (ชาย) จากชลบุรีชื่ออะไรผมจำไม่ได้   แหล่ต้อนรับแบบด้นกลอนสดเอ่ยชื่อผู้ใหญ่ที่ไปร่วม รวมทั้ง บอกเรื่องราวของงาน สร้างความครึกครื้นได้ดีมาก   เป็นครั้งแรกที่ผมเคยเห็นการใช้แหล่สร้างความรู้และความ ครึกครื้นของงาน   ทั้งนี้ คนแหล่ต้องเก่งมาก

          มองในมุมหนึ่ง โครงการกล้า...ดี คือโครงการเยียวยาน้ำท่วม ที่เน้นด้านจิตใจ ด้านความเข้มแข็งของ ชุมชน ด้านสร้างความรักสามัคคีในบ้านเมือง มากกว่าด้านวัตถุ

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ ธ.ค. ๕๔

เจ้าหน้าที่ตอนผู้ใหญ่ไปปักธงบนถุงกล้าที่ตนชอบ มาทราบภายหลังว่า ทหารที่ยืนระวังตรงอยู่ทำหน้าที่ขนกล้า

ที่ได้รับการคัดเลือกไปให้พวกเราทำพิธีมอบ ท่านที่กำลังปักธงคือ ดร. เสนาะ อูนากูล

 

 

อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ สมพล เกียรติไพบูลย์

 

 

แถวกล้าไม้พร้อมแจกจ่าย

 

 

นักแหล่มาต้อนรับท่านนายกฯ อานันท์ นำไปสู่เต๊นท์ที่นั่งและแหล่ต่ออีกหลายเพลง

 

 

มรว. ดิศนัดดา เล่าเรื่องราวของโครงการ

 

 

อดีตนายกฯ อานันท์ กล่าวความประทับใจ …ทุกคนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ

 

 

เตรียมมอบกล้าแก่ผู้นำชุมชนที่มาในพิธี

 

 

กำนันหญิงของจังหวัดอุทัยธานีกำลังเล่าเรื่องการปรับตัวช่วยตัวเองและช่วยเหลือกันเองของชาวบ้านในภาวะน้ำท่วม

 

 

หน่วยงานที่สนับสนุนทุนแก่โครงการ

 

หมายเลขบันทึก: 474515เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2012 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท