ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๖๘. ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการแพทย์ ปี ๒๕๕๔


           รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี ๒๕๕๔ ได้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยิ่งใหญ่ด้านโรคจิตประสาท ๒ ท่าน   คือ ศ. อารอน ที. เบ็ค  กับ ดร. เดวิด ที. วอง    ท่านแรกค้นพบวิธีการรักษาโรคจิต ประสาทด้วยวิธีการ CBT    ท่านหลังค้นพบยา ฟลูอ็อกซีทีน สำหรับรักษาโรคซึมเศร้า

          อ่านประกาศรางวัลที่ประกาศเมื่อวันที่ ๑๔ ธ.ค. ๕๔ ที่นี่

         เรื่องราวของชีวิตคนที่ทำงานค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบเกาะ(กัด)ติดถวายชีวิต   อ่านแล้วได้รสชาติ สนุกสนานและประเทืองปัญญา    ดังประวัติของ ศ. อารอน เบ็ค ที่ทำวิจัยพัฒนาวิธีรักษาโรคทางจิตด้วยวิธีคุยกับ ผู้ป่วยเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดหรือเปลี่ยนความคิดของผู้ป่วย อันจะช่วยให้โรคทุเลาหรือหาย ที่เรียกว่า Cognitive Therapy กับ Behavior Therapy   ท่านเอาสองวิธีมารวมกันเป็น Cognitive Behavioral Therapy ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี เป็นที่ยกย่องและนำมาใช้งานทั่วไป รวมทั้งเป็นวิธีมาตรฐานที่ NHS ของอังกฤษกำหนดให้ใช้    ผลงานของ ศ. อารอน เบ็ค มีมากมาย  อ่านได้ที่นี่   และอ่านเรื่อง CBT ได้ที่นี่

           อ่านแล้วจะพบตอนหนึ่งที่บอกว่า ศ. อารอน เบ็ค เคยถูกปฏิเสธการสมัครเป็นสมาชิกของ American Psychoanalytic Institute ด้วยเหตุผลว่า ศ. อารอน เบ็ค เป็นนักวิทยาศาสตร์ เน้นทำงานวิจัย   ไม่ใช่นักจิตวิเคราะห์   และในเอกสารอธิบายเรื่อง CBT ก็มีตอนหนึ่งที่เขียนข้อคัดค้านทฤษฎีและวิธีการ CBT ว่าใช้ไม่ได้ผล

          วงการวิชาการต้องเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งทั้งด้านบวกและด้านลบ มีหลักฐานผลงานวิจัยอ้างอิงให้ผู้ สนใจศึกษารายละเอียดและตัดสินเอาเองว่าจะเชื่อฝ่ายไหน   นี่คือวัฒนธรรมวิชาการ    และต้องเข้าใจธรรมชาติ ของการทำงานค้นหาสิ่งใหม่ ว่าจะต้องมีผู้ไม่เห็นด้วย หรือไม่เชื่อข้อค้นพบนั้นเสมอ   อาจต้องรอการพิสูจน์นาน

          การพัฒนา CBT เริ่มเมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว    ส่วนยาประเภทที่เรียกว่า SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) เริ่มพัฒนาเมื่อ ๔๐ ปีมาแล้ว    และ ดร. เดวิด วอง ใช้เวลาวิจัยถึง ๑๕ ปี จึงได้รับอนุญาตจากองค์การอาหาร และยา (FDA) ของสหรัฐให้ขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าได้ภายในเวลา ๒ ปีหลังยา Fluoxetine (ชื่อการค้าว่า Prozac) วางตลาดก็เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่ขายดีที่สุด   และเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา ๒๔ ปีแล้ว  

          อ่านประวัติของ ดร. เดวิด ที. วอง ได้ที่นี่เรื่องของ SSRI ที่นี่   เรื่องของ Fluoxetine ที่นี่   จะเห็นว่ายานี้ เป็นยาตัวแรกที่มาจากวิธีพัฒนายาแบบที่เรียกว่าrational drug design   คือมีเป้าหมายของจุดที่ต้องการให้ยาไป ออกฤทธิ์โดยตรง   แล้วค้นคว้าหาโมเลกุลชนิดที่มีฤทธิ์ ณ จุดดังกล่าว   นักเคมีทั้งหลายจะกล่าวขวัญถึงความ สามารถด้านการเป็นนักเคมีที่ทำงานวิจัยพัฒนายาของ ดร. เดวิด วอง    โดยที่ท่านเลือกเรียนเคมีด้วยใจรักจริงๆ

          ลองอ่านประวัติของท่านดูเถิดครับ จะเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ช่วยให้ท่านดำเนินชีวิตถูกทาง    ปัจจัย สำคัญอย่างหนึ่งคือ แม้จะเป็นการทำงานในบริษัทยา แต่ท่านก็ได้รับอิสระในการเลือกเป้าหมายของการวิจัย    ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ผมไม่เคยคิดว่าจะเป็นเช่นนี้   นำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ทั้งด้านธุรกิจยา และด้านคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

          ท่านที่อ่านรายละเอียดของยา ตามลิ้งค์ที่ แนะนำ จะเห็นว่า แม้ยานี้จะมีคุณมหาศาลต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า    แต่ก็เป็นยาที่มีผลข้างเคียงได้มาก   
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทั้งสองท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างมากมายมหาศาล   ในด้านการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้า 

          เมื่อ ๗ ปีที่แล้ว ในปี ๒๕๔๗ ได้พระราชทานรางวัลด้านการแพทย์ให้แก่ผลงานด้านจิตเวชไปแล้ว ครั้งหนึ่ง แก่ศาสตราจารย์ Norman Sartorius จากผลงานคิดค้นวิธีจำแนกโรคทางจิตเวช

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ ธ.ค. ๕๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 474227เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2012 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท