๒๓๒.ประเพณีที่ห่างหาย กลับกลายเป็นโหยหา


บางครั้งเจตนาดี ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ กล่าวคือความเชื่อของชาวบ้านคือฤดูหนาวกลัวองค์พระเจ้าตนหลวงจะหนาว ก็จึงถวายผ้าห่ม แต่ลืมนึกไปว่าเมื่อถึงฤดูร้อนก็ดี ฤดูฝนก็ดี ลืมเอาผ้าห่มองค์พระออก โดยลืมไปว่าองค์พระไม่ร้อนบ้างหรือ?

 

    สิ่งใดๆ ก็ตามที่เคยปรากฏขึ้นมา แล้วดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วกลับห่างหายไปนาน หากสิ่งนั้น ๆ มีดี ทรงคุณค่า และหากย้อนเวลาได้ก็มักจะเข้าไปจัดการ จึงเกิดการโหยหา โดยเข้าตำราที่ว่า "ประเพณีที่ห่างหาย กลับกลายเป็นโหยหา" นี้คือปรากฏการณ์หนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีที่ดีงาม

     หนึ่งในประเพณีดังกล่าว เมืองพะเยา จังหวัดเล็ก ๆ ทางภาคเหนือแถบถิ่นดินแดนแห่งล้านนา ก็หนีกระแสดังกล่าวไม่พ้น

     หากนับย้อนไปในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จมานมัสการองค์พระเจ้าตนหลวง พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ปรากฏว่าภาพถ่ายพระเจ้าตนหลวงมี "ผ้าห่ม" อยู่

     เวลาล่วงเลยไป ๕๓ ปี จึงมีคนทักขึ้นว่า "ผ้าห่มพระเจ้าตนหลวงหายไปไหน?" จึงเกิดประเด็นตามมาคือการพูดคุยกันปากต่อปาก ผ่านรุ่นสู่รุน จนมีผู้เฒ่าผู้แก่เอ่ยขึ้นว่าในอดีตเมืองพะเยา มีประเพณีแห่ผ้าห่มพระเจ้าตนหลวง จึงเป็นที่มาของการโหยหาประเพณีเดิมขึ้น

     ว่ากันตามจริงแล้ว ผ้าห่มพระเจ้าตนหลวงในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "ผ้าพันตา" หรือ "ผ้า ๑,๐๐๐ ตา" ก็คือผ้าห่มที่ใช้นั้นมีความยาวเท่าไหร่ไม่ทราบชัด แต่เมื่อจะใช้ห่มพระเจ้าตนหลวง ชาวบ้านต้องตีตารางให้เกิดเป็นช่อง จำนวน ๑,๐๐๐ ช่องเพื่อใช้กระดาษที่เป็นลวดลายดอกไม้ติดตามช่องนั้น เรียกว่า "พันตา" หรือ พันช่องนั่นเอง

     ในการนี้ ทางเทศบาลเมืองพะเยา ได้มอบหมายให้โรงเรียนเทศบาล ๕ (แก้วปัญญาอุปถัมภ์) ซึ่งเป็นชื่อของอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำที่ได้มอบที่ดีสร้างไว้นั้น ร่วมกับชุมชนวัดศรีโคมคำ ที่ตามตำนานพระเจ้าเมืองแก้วและพระเจ้าเมืองตู้ อดีตเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่และเมืองพะเยา ได้สละไพร่เมืองละ ๑๐ ครอบครัว รวมเป็น ๒๐ ครอบครัวเพื่อให้มาดูแลรักษาพระเจ้าตนหลวงทุ่งเอื้องเมืองพะเยาแห่งนี้

     ในงานดังกล่าวมีอยู่สองช่วงคือ วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๕ ตอนเย็นได้มีการสมโภชผ้าห่มที่ญาติโยมได้มีศรัทธา วิริยะในการช่วยกันตัด เย็บ และติดดอกให้ครอบ ๑,๐๐๐ ตา(ดอก) และวันที่ ๖ มกราคม ตอนเช้ามีการจัดกระบวนแห่งจากร้านค้าชุมชนหนองระบู เป็นขบวนยาวเดินทางมามอบถวายให้กับวัดศรีโคมคำ

     ประเด็นก็คือ ไม่มีการห่มผ้าให้กับพระเจ้าตนหลวง แต่มีพิธีการแห่ผ้าถวาย เนื่องจากคนต่างถิ่น เมื่อต้องการมาถ่ายรูป คารวะ และต้องการเห็นภาพที่ไม่มีผ้าห่ม เพราะจะปกปิดความงดงามขององค์พระไป

     บางครั้งเจตนาดี ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ กล่าวคือความเชื่อของชาวบ้านคือฤดูหนาวกลัวองค์พระเจ้าตนหลวงจะหนาว ก็จึงถวายผ้าห่ม แต่ลืมนึกไปว่าเมื่อถึงฤดูร้อนก็ดี ฤดูฝนก็ดี ลืมเอาผ้าห่มองค์พระออก โดยลืมไปว่าองค์พระไม่ร้อนบ้างหรือ?

     เนื่องจากบางวัดมีพระดี ๆ เช่น วัดแห่งหนึ่งมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง แต่ชาวบ้านให้ผ้าห่มถวาย เมื่อถึงเวลาพระไม่กล้าเอาออกเพราะเป็นคหบดีผู้มีอุปการคุณต่อวัด จึงเกิดการเกรงใจ ผู้เขียนจึงบอกว่า คนต่างจังหวัดเขาอยากเห็นองค์พระทั้งองค์ เขาอยากเห็นศิลปะและความงดงาม ไม่ใช่ผ้าที่ใช้ห่ม

     ยิ่งร้ายไปกว่านั้น บางวัดมีพระพุทธรูปหินทรายงดงามมาก และมีพระเจดีย์ที่ทำจากหินทรายที่มีลวดลายโบราณ แต่ด้วยความศรัทธาจึงชื้อสีมาทาเพื่อให้เป็นสีทอง ถ้าเจ้าอาวาสรู้ว่าอะไรคือศิลปะ อะไรคือความต้องการของโยม ก็สามารถคัดค้านได้ แต่นี้ดันไปเจอเจ้าอาวาสและกรรมการวัดที่ไม่เห็นคุณค่า สรรพสิ่งก็เอวัง ดังที่กล่าวมาแล้ว.....

หมายเลขบันทึก: 474165เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2012 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มารับทราบเรื่องราวดีๆ กราบนมัสการครับผม

ขอบคุณเช่นเดียวกันครับ

ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง มีพลานามัยที่สมบูรณ์... ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท