ชีวิตในวัยเด็ก


“จากทุ่งนาถึงป่าคอนกรีต” ที่ท่านอ่านกันอยู่ในขณะนี้

ชีวิตในวัยเด็ก          บุญช่วย มีจิต

 

                เมื่อขาดแม่เสียแล้ว  เราจึงตกอยู่ในความอุปาการะของยาย (คุณยายเกียน  ชมพูเลิศ แม่เลี้ยงตัวจริงของเรา ) ยายเขามีลูกคนสุดท้องอายุสองปีกว่า ๆ    คือ

น้าบัวลี  ชมภูเลิศ

 ยังไม่หย่านมดี  เราก็ไปแย่งน้ากินนมยายจนโต  โตจนจำความได้ว่าขณะกินนม  มีคนบอกจะเอาขี้ไก่ทานมยาย  เพื่อไม่ให้เราดูด ( ให้หย่านม )

  ยายรักเรามาก  รักเหมือนลูกในไส้  รักมากกว่าลูกตัวเองด้วยซ้ำไป

 เพราะเหตุว่า  ท่านรักลูกสาวและคิดถึงลูกสาวของท่านมากนั่นเอง

เราก็รักยายมาก  รักเหมือนแม่  เรียกแม่ และนึกว่าเป็นแม่จริง ๆ  ด้วย  ติดยายมาก  จะไปไหนก็ไม่ยอมให้ไป  ต้องร้องตามทุกครั้ง  ในขณะนั้นยังเด็กเกินไป  ไม่มีใครกล้าบอกความจริง

      แล้วก็เกิดการแย่งกันรักระหว่างพ่อซึ่งถึงแม้สติของท่านจะวิปลาสไปแล้ว   ก็ยังคงรักลูกมาก

แต่รักแบบคนบ้า  เรากลัวโยมพ่อมาก  เพราะท่านเสียงดัง  ดุ  และกันเราไม่ให้ไปหายาย ฝ่ายหนึ่ง

 กับ ยายซึ่งรักเรามากและเราก็รักท่านมาก ไม่อยากให้เราไปหาพ่อ อีกฝ่ายหนึ่ง 

การแย่งกันรักนี่เองทำให้เราถูกโยมพ่อเตะล้มกลิ้งไปตามพื้นดินหลายตลบ  เมื่อมาเรียกแล้ว  เราไม่ยอมไปด้วย  ท่านเลยมากระชากออกจากอ้อมกอดของยายซึ่งได้แต่ร้องไห้ทำอะไรไม่ถูก  โยมพ่อกระชากลากถูไปพร้อมกับเตะเราจนล้มกลิ้ง   ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของญาติ  ๆ  ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย  เดชะบุญได้ป้าแก้ว [1]  เข้ามาแย่งไว้   ซึ่งโยมพ่อนับถือป้าคนนี้มาก  ท่านจึงยอมปล่อยและคงได้สติกลับคืนมา 

ไม่งั้นป่านนี้คงไม่ได้มานั่งเขียนประวัติอยู่อย่างนี้หรอก!!

                พออายุได้  6 ขวบ ( โดยประมาณ )  ยายได้ไปฝากเรียนที่โรงเรียนวัดบ้านนากระเดา[2]  เมื่อ พ.ศ. 2496

                เนื่องจากว่าเราจัดอยู่ในประเภทหัวดี  หรือ

 “ ป่อง ”

 จึงได้สอบผ่านไปเรียน ป. 2  เลย  ไม่ต้องเรียนชั้นเตรียมหรือชั้นขี้ไก่เหมือนเพื่อนคนอื่นเขา    เรียนอยู่ได้สองปี  พอขึ้น ป.3 ได้ย้ายโรงเรียนไปรวมกับบ้านกุดตาใกล้  โดยไปขนไม้มาจากบ้านหินลาด  ซึ่งไกลออกไปประมาณยี่สิบกิโล   สำหรับเด็ก  ๆ  นับว่าไกลมากและเหนื่อยมากกับการไปแบกไม้มาสร้างโรงเรียน  ที่ใกล้ป่าช้า

 ตั้งชื่อว่าโรงเรียนคุรุราษฎร์สามัคคี 

ใหม่  ๆ  ก็สร้างเป็นแบบเพลิงหมาแหงน   ตั้งม้ายาวกับพื้นดิน  หลังคามุงด้วยหญ้าคา  ฝาล้อมด้วยฝาแตบตอง[3] 

การเรียนก็อยู่ในเกณฑ์ดี   แต่เราเป็นคนขี้อายมาก   ไม่กล้าพูดคุยกับใคร  เป็นคนเก็บตัว  เล่นอยู่คนเดียว  เพราะมีปมด้อยมาแต่กำเนิด   เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน  ไม่มีอาหารกลางวันกินเหมือนคนอื่น  เพราะสมัยนั้นต้องห่อข้าวไปจากที่บ้าน   แต่เราไม่มีข้าวให้ห่อ  [4]

จึงได้แต่มองเพื่อน ๆ  เขากินข้าวตอนกลางวัน 

 ไม่เคยมีเสื้อผ้าดี ๆ  ใส่  ใส่แต่เสื้อผ้าปะตูด

 อยากเป็นลูกเสือ  ก็ไม่มีเงินซื้อหมวก กับหน้าเสือ ( สำรอง ) และเข็มขัดลูกเสือ

 เป็นคนผอม ๆ  ประเภทขาดสารอาหาร  เล่นแต่กับญาติ ๆ  ของตัวเองเท่านั้น  จึงมักถูกคนอื่นรังแกอยู่ตลอดเวลา

 วิชาพลศึกษา เป็นวิชาที่ไม่ชอบ ไม่เอาใจใส่   นอกจากถูกบังคับให้เรียน   เพราะวิ่งทีไรครูเรียกตำรวจทุกที   เพราะได้ทีโหล่เป็นประจำ ไม่เคยได้เข้าร่วมแข่งกีฬาใด ๆ กับเขาเลย 

 การเรียนเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น เพราะโยมพ่อเริ่มอาละวาด 

ไม่ยอมให้ไปเรียนด้วยหาว่าถูกเพื่อนรังแก

และพาเดินทางไปอยู่บ้านทุ่งมนเสียเกือบปี [5]

เมื่อกลับมาก็เป็นเวลาสอบปลายปี

ยังดีที่ครูใหญ่เข้าใจอนุญาตให้สอบเลื่อนชั้น ป.4 ได้

ทั้ง  ๆ  เกณฑ์เวลาเรียนนั้นไม่มีสิทธิ์สอบแน่นอน

ผลการสอบปรากฏว่าสามารถผ่านขึ้นไปเรียนชั้น ป.4 ได้แบบหวุดหวิด

ครูจะช่วยบวกคะแนนด้วยหรือเปล่าไม่ทราบได้

จากนั้นก็พยายามเรียนจนจบชั้น ป. 4 ด้วยผลสอบเป็นอันดับที่สองของห้องและของชั้น

จบ ป.4 แล้วพ่อก็พาตระเวนไปทางสกลนคร  นครพนมและหลายต่อหลายแห่ง  อันเป็นที่มาของ

จากทุ่งนาถึงป่าคอนกรีต

ที่ท่านอ่านกันอยู่ในขณะนี้

 



[1] ป้าแก้ว เป็นลูกของย่าทิดไหม  ซึ่งเป็นพี่สาวของปู่พิมพ์  จึงมีศักดิ์เป็นพี่สาวของพ่อและเป็นป้าของเราไปด้วย  เราเป็นญาติสนิทและนับถือกันมาก

[2] เป็นโรงเรียนแต่ไม่มีอาคารเรียน  อาศัยศาลาวัดเล็ก ๆ เป็นอาคารเรียน  โดยใช้กระดานดำกั้นระหว่างห้อง มีครูสองคน คือ คุณครูยงยุทธ  วรรณหอม ( ครูใหญ่ )   กับ คุณครูก้าน  พลนาคู  เป็นครูสอนคนละสองชั้น

[3] เอาใบตองกุง ( พื้นบ้าน )  มาวางในตอกไม้ไผ่   สานเป็นตาห่าง ๆ  ประกบกันสองข้าง  ใช้ตอกผูกให้แน่น  เป็นฝาบ้านของคนจน : ผู้เขียน

[4] ดูกินกลอยต่างข้าว

[5] ดูทุ่งมนมีมนต์ขลัง

หมายเลขบันทึก: 473684เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท