วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : 43. การจัดการเชิงรุกของมหาวิทยาลัย ในส่วนการสร้างผลงาน


สถาบันอุดมศึกษาสามารถทำภารกิจ นำวิชาการที่ตนมีอยู่ เอาไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้มากกว่าที่ทำอยู่แล้วอย่างมากมาย โดยที่สังคมก็กระหายหรือมีความต้องการ กล่าวคือโอกาสเปิดให้แก่สถาบันอุดมศึกษา แต่มีตัวปิดกั้น คือวิธีการจัดการ และกฎเกณฑ์กติกา รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีทางวิชาการที่ล้าสมัย ที่แยกตัวนักวิชาการออกจากชีวิตการทำมาหากินและความเป็นอยู่ของผู้คน

วิชาการสายรับใช้สังคมไทย  : 43. การจัดการเชิงรุกของมหาวิทยาลัย ในส่วนการสร้างผลงาน

ผมเคยเขียนเรื่องการจัดโครงสร้างของมหาวิทยาลัยเพื่อทำงานวิชาการสายรับใช้สังคมไว้ที่นี่    วันนี้จะขยายเพิ่มเติมส่วนการลงมือดำเนินการจัดการวิชาการแนวใหม่ ที่เป็นเชิงรุก และเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของนักวิชาการ

ย้ำว่า วิชาการสายรับใช้สังคมไทยเป็นโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษามีช่องทางพิสูจน์ตนเอง โดยการสร้างผลงานที่กิดผลกระทบต่อความอยู่ดีกินดี ความมั่นคงวัฒนาถาวรของสังคมไทย ได้มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สถาบันต่างๆ ในสังคม จะต้องมีสติเตือนใจตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า ตนเองต้องพิสูจน์ตน ให้สังคมเห็นคุณค่า ว่าควรมีสถาบันนั้นๆ อยู่ในสังคม    พูดอีกแบบหนึ่ง ต้องพิสูจน์ว่าตน “ให้” มากกว่า “เอา”    มิฉนั้น ตนเองก็จะเข้าสู่ความเสื่อม

ผมได้กล่าวอยู่เสมอว่าการทำหน้าที่ตามแนวเดิม คือผลิตบัณฑิต วิจัย และทำนุบำรุงคุณธรรมจริยธรรมและศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งบริการวิชาการแก่สังคม อย่างที่ดำเนินการอยู่ หากทำอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ก็ถือว่าได้ทำงานวิชาการรับใช้สังคมแล้ว

แต่บัดนี้ เราเห็นโอกาสยิ่งใหญ่ร่วมกันว่า สถาบันอุดมศึกษาสามารถทำภารกิจ นำวิชาการที่ตนมีอยู่ เอาไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้มากกว่าที่ทำอยู่แล้วอย่างมากมาย    โดยที่สังคมก็กระหายหรือมีความต้องการ    กล่าวคือโอกาสเปิดให้แก่สถาบันอุดมศึกษา แต่มีตัวปิดกั้น คือวิธีการจัดการ และกฎเกณฑ์กติกา รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีทางวิชาการที่ล้าสมัย ที่แยกตัวนักวิชาการออกจากชีวิตการทำมาหากินและความเป็นอยู่ของผู้คน

เรื่องกติกาหรือข้อบังคับ กำลังมีการแก้ไข โดยที่ผมมีความเห็นว่าต้องมองเป็นการเดินทางไกล ต้องมีกระบวนการพัฒนาข้อบังคับ และวิธีประยุกต์ใช้ เป็นกระบวนการระยะยาว ดังในบันทึกนี้ 

จึงขอเสนอแนวคิดว่า มหาวิทยาลัยต้องจัดระบบการจัดการในส่วนของการสร้างผลงานขึ้นใหม่ ทั้งในส่วนโครงสร้าง (ดังบันทึกไว้ที่นี่) และส่วนกระบวนการจัดการ   บันทึกนี้จะเสนอส่วนกระบวนการจัดการ (โดยมหาวิทยาลัย) เพื่อสร้างผลงานที่มีทั้งคุณค่าเชิงผลกระทบต่อสังคม และคุณค่าเชิงวิชาการ

เคล็ดลับของการทำงานวิชาการสายรับใช้สังคมก็คือ ต้องตั้งประเด็นหรือหัวข้อวิจัย/พัฒนา จากมุมของสังคมเป็นหลัก   ไม่ใช่ตั้งจากมุมของนักวิชาการ หรือจากมุมของสาขาวิชาการเป็นหลัก   แล้วพัฒนาขึ้นเป็นโจทย์วิจัย   มหาวิทยาลัยต้องถือเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่ง ที่จะต้องมีการจัดการเพื่อแสวงหาและเลือกประเด็นหรือหัวข้อของการวิจัย/พัฒนา   ย้ำว่า ต้องทั้งแสวงหาและทั้งเลือกประเด็น และต้องดำเนินการเป็น university agenda (ภารกิจของมหาวิทยาลัย)   ไม่ใช่ปล่อยให้อาจารย์หรือนักวิชาการแต่ละคนดำเนินการเอง ที่อาจเรียกว่า individual agenda  (ภารกิจส่วนบุคคล)

งานวิชาการรับใช้สังคมไทยต้องจัดการอย่างเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ภารกิจส่วนบุคคล

แต่ละมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาทักษะในการจัดการนี้ อันได้แก่

  • ทักษะในการเข้าถึงกิจการต่างๆ และความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมหลากหลายภาคส่วน (sector)
  • ทักษะในการเลือกหัวข้อวิจัย/พัฒนา ที่เหมาะสมต่อขีดความสามารถ และต่อการสร้างผลกระทบต่อสังคม
  • ทักษะในการสร้างภาคี (partnership) ในการทำงานกับหลากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งในฐานะ (๑) ผู้ร่วมลงมือทำ (๒) ผู้สนับสนุนทรัพยากรหลากหลายแบบ (๓) ผู้ชื่นชมให้กำลังใจ (๔) ผู้สื่อสารสร้างกระแสเพิ่มพูนพลัง  (๕) ผู้ร่วมตีความสร้างและสั่งสมเผยแพร่ความรู้ที่เกิดจากการลงมือทำ  (๖) ทักษะในการดึงดูดนักวิชาการต่างศาสตร์มาทำงานร่วมมือกัน
  • ทักษะในการพัฒนาประสบการณ์เชิงพัฒนาเป็นความรู้เฉพาะสาขา หลากหลายสาขา จากประสบการณ์หรือชิ้นงานพัฒนาชิ้นเดียวกัน  
  • ทักษะในการจัดการส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ผลงานวิชาการในระดับตอบคำถาม Why  หรือเผยแพร่เชิงอธิบาย (explain) ด้วยทฤษฎี หรืออธิบายว่าไม่เป็นไปตามทฤษฎี อย่างไร   ไม่ใช่เพียงนำเสนอแบบเล่าสิ่งที่ลงมือทำและสิ่งที่เกิดขึ้น (descriptive)  

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 473241เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2012 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ทุกข้อคิดเห็น

ทุกข้อสรุป และทุกข้อเสนอแนะเลยครับ

และถ้าเมื่อไรอาจารย์ต้องการแนวร่วม

ระดับคณะในเชิงปฎิบัติการหรือนำร่อง

ผมในฐานะคนที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง

จะร่วมผลักดันในคณะที่ผมทำงานอยู่นี้ด้วยคนครับ

ขอบพระคุณมากครับสำหรับประสบการณ์ดีๆ ในปีใหม่ครับ

ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงนะครับ สรุปสิ่งดีเหล่านี้

ให้กับคนรุ่นพวกผมได้รับรู้อย่างต่อเนื่องต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท