ชีวิตที่พอเพียง : 1463A. วิจัยซ้อนวิจัยเพื่อส่งเสริมปฏิบัติการทางสังคมด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนและชุมชน


แค่ ๒ กรณีตัวอย่างผลการวิจัยตามในหนังสือเล่มนี้ เราก็ได้โจทย์วิจัยเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนปรัชญาและการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทยแล้ว เพียงพอที่จะให้ SCBF กับ HITAP คุยกันต่อ

ชีวิตที่พอเพียง  : 1463A. วิจัยซ้อนวิจัยเพื่อส่งเสริมปฏิบัติการทางสังคมด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนและชุมชน

เช้าวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๕๔ วันสิ้นปี    ผมหยิบหนังสือ การวิจัยเพื่อส่งเสริมปฏิบัติการทางสังคมด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนและชุมชน โดยเนาวรัตน์ พลายน้อย และสมศรี ศิริขวัญชัย ที่สนับสนุนการวิจัยและจัดพิมพ์โดยมูลนิธิสยามกัมมาจลขึ้นมาอ่าน เพื่อทบทวนชีวิตของตนเองในปี ๒๕๕๔

น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้หาอ่านไม่ได้บนอินเทอร์เน็ต

หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าตรงที่ทีมของแต่ละโรงเรียนเป็นผู้ทำวิจัย เพื่อ empower ตนเองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนและชุมชน    ทำวิจัยแล้วมีการบันทึกผลและข้อเสนอแนะไว้ในหนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้จึงเป็น “ข้อมูล” สำหรับนำมาใช้ในการทำวิจัยต่อได้    โดยมีโจทย์วิจัยว่า ผลข้อค้นพบที่เป็นวิธีปฏิบัติที่ดีในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนและชุมชน ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่    ข้อเสนอแนะจากรายงานการวิจัยแต่ละเรื่อง มีการนำไปปฏิบัติเพียงใด    หากมีการนำไปปฏิบัติปัจจัยอะไรที่ทำให้มีการนำไปปฏิบัติ    หากไม่มีการนำไปปฏิบัติ ปัจจัยอะไรที่ทำให้ไม่มีการนำไปปฏิบัติ    ในส่วนที่มีการนำไปปฏิบัติต่อเนื่องเกิดผลกระทบอย่างไร ต่อใครบ้าง    เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีการนำไปปฏิบัติ แตกต่างกันอย่างไร   ข้อค้นพบนี้บอกประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในการทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทยอย่างไรบ้าง 

ผมเกิดอาการ “ของขึ้น” เช่นนี้ เพราะเมื่อเย็นวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๕๔ ผมไปร่วมประชุมหารือระหว่าง HITAP กับ SCBF เรื่องความร่วมมือวิจัยประเมินผลกระทบของ Social Intervention ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลดำเนินการไปแล้ว    และงานชิ้นหนึ่งคือการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติผ่านกลไกของโรงเรียน   ที่เราอาจสงสัยว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องหรือไม่    เพราะในความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบัน โรงเรียนเป็นสถาบันที่อ่อนแอในเชิงอุดมการณ์ และในเชิงความมั่นใจในตัวตนของตนเอง เพราะอยู่ใต้อาณัติของอำนาจเบื้องบนอย่างเคร่งครัดเป็นเวลานานมาจนปัจจุบัน

เมื่อมีประเด็นสงสัยเชิงนโยบาย ทีมวิจัยของ HITAP จะมีความชำนาญในการตอบคำถามยากๆ เช่นนี้   โดยตอบและเสนอทางเลือกหลายทางพร้อมคำอธิบาย

หลังจากกลับจากการพูดคุยตอนเย็นวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๕๔ กลับมานอนฝันไตร่ตรอง ๑ คืน   ผมก็สรุปกับตนเอง (ไม่ทราบว่าสรุปผิดหรือเปล่า) ว่า SCBF ไม่ควรชวน HITAP (และ HITAP ก็ไม่ควรรับ) ทำวิจัยเสนอแนะนโยบายในเรื่องเล็กๆ เฉพาะกิจ   แต่ควรใช้ให้ประเมินเรื่องนโยบายทางเลือกในการดำเนินนโยบายภาพใหญ่   และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะเป็นเรื่องใหญ่มาก

 ผลการวิจัยในหนังสือเล่มนี้ เรื่องเแรกชื่อ การสร้างค่านิยมตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้โครงงานบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกัลยาณวัตร  อ. เมือง  จ. ขอนแก่น   ตรวจสอบผลกระทบต่อนักเรียนที่ทำโครงงานบูรณาการ “KW Model”   ในเรื่องค่านิยม ๗ ด้าน  ได้แก่ แกร่ง กล้า สามัคคี ซื่อสัตย์ ประหยัด มีน้ำใจ และ พึ่งตนเอง    โดยใช้แบบสอบถามถามนักเรียน ครู และใช้แบบสัมภาษณ์ผู้ปกครอง

ผมไม่ทราบว่าคณะครู ๖ คนที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ และผู้บริหาร รร. กัลยาณวัตร มองเป้าหมายการทำวิจัยชิ้นนี้อย่างไร   แต่ผมมองว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็น internal evaluation  หรือ formative evaluation   สำหรับใช้ผลการวิจัยในการปรับปรุงการทำงานของตนเอง   ผมอยากรู้ว่ามีการนำผลการวิจัยไปปรับปรุงการทำงานของตนเองแค่ไหน

ผู้วิจัยเขียนข้อเสนอแนะไว้ ๒ ข้อ   ผมอยากรู้ว่าผู้วิจัยและผู้บริหารโรงเรียนกัลยาณวัตรนำข้อเสนอแนะไปใช้บ้างหรือไม่ ใช้อย่างไร

ที่จริงข้อเรียนรู้ที่ผมอยากเห็นจากการวิจัยคือ ครูทำหน้าที่ facilitator หรือ mentor อย่างไร    นักเรียนจึงจะเรียนรู้ค่านิยมได้ลึกและเกิดเป็นทักษะและฉันทะ ได้อย่างมีประสิทธิผล   แต่การวิจัยนี้ไม่ได้ตั้งโจทย์ไว้    

ผลงานวิจัยเรื่องที่ ๒ ในหนังสือเล่มนี้คือ ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน  โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย  อ. ชะอำ  จ. เพชรบุรี   ใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยแบบสอบถามให้นักเรียนกรอก   ข้อค้นพบที่น่าสนใจอยู่ที่หน้า ๓๒ ของหนังสือ ดังนี้ “3.9 บุคคลที่สำคัญในครอบครัวที่อบรมกล่อมเกลานักเรียน   ไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา ปู่ย่าตายายและอื่นๆ ไม่มีผลให้การปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้ง 4 มิติ” 

และผมติดใจข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป ดังนี้ “1. จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า เพื่อนมีบทบาทมากกว่าครูในการโน้มน้าวชักจูงนักเรียนให้ปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงควรวิจัยเรื่อง วิธีเพิ่มบทบาทให้ครูเป็นต้นแบบแก่นักเรียนในการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น”    ข้อเสนอแนะนี้สร้างคำถามขึ้นในใจผมว่า ผู้บริหารโรงเรียนได้นำข้อสรุปนี้ไปใช้งานอย่างไรบ้าง 

เอาแค่ ๒ กรณีตัวอย่างผลการวิจัยตามในหนังสือเล่มนี้ เราก็ได้โจทย์วิจัยเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนปรัชญาและการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทยแล้ว    เพียงพอที่จะให้ SCBF กับ HITAP คุยกันต่อ

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๕๔

หมายเลขบันทึก: 473096เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2011 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

วันที่ ๔ – ๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดการประชุมระดมความคิดเกี่ยวกับงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษา ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อทบทวนผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาที่ผ่านมา และวางแผนการทำงานในอนาคต

หนูตามไปเรียนรู้ และทำบันทึกข้อเสนอเรื่อง ปลูกความพอเพียงลงในแผ่นดิน ตอนที่ ๑ และ ๒ ไว้ดังนี้ค่ะ

gotoknow.org/blog/krumaimai/364716

gotoknow.org/blog/krumaimai/364717

พร้อมกันนี้ยังได้นำบันทึกนี้เรียนเสนอต่อ ดร.ปรียานุช ซึ่งท่านได้ตอบกลับมาว่า

ขอบคุณครูใหม่ สำหรับบทสรุปที่นำไปสู่ข้อคิดที่ดีค่ะ

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท