ปัญหาคลื่นถล่มภาคใต้ - การกัดเซาะของชายฝั่ง: ว่าด้วยปัญหาและการแก้ปัญหา


หวังว่าหากท่านผู้มีอำนาจตัดสินใจได้เห็นบทความนี้ผ่านตา ท่านจะลองติดต่อไปทาง มอ. เพื่อปรึกษานักวิจัยในทีมดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป

เมื่อวันที่ 24-25 ธันวาคมที่ผ่านมามีปรากฎการณ์คลื่นลมแรงพัดเข้าใส่ชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศไทย กระทบ 7 จังหวัด คือจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา จันทบุรี และปัตตานี (http://www.komchadluek.net/detail/20111227/118843/) ปภ.สรุปความเสียหายคลื่นยักษ์ถล่ม7จ.ภาคใต้.html คลื่นดังกล่าวมีความสูง 3-5 เมตร แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ในบางพื้นที่รายงานว่ารุนแรงที่สุดใน 50 ปี (อ.หลังสวน จ.ชุมพร, http://www.dailynews.co.th/thailand/4666) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชนและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆตลอดแนวชายฝั่ง ข่าวรายงานว่า สาเหตุนั้นเกิดจากลมมรสุมกำลังแรงพัดเข้ามาทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่พัดเข้าหาชายฝั่ง

แม้ว่าคลื่นยักษ์จะเพิ่งมีให้เห็นเด่นชัดตอนนี้ แต่ว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกนั้นมีมานานแล้ว ซึ่งก็คือปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะของชายฝั่ง ที่เกิดขึ้นจากทั้งปัจจัยในธรรมชาติ คือ คลื่นลม ร่วมกับผลจากการกระทำของมนุษย์เราที่ทำลายแนวปะการัง (ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการประมงและเรื่องคุณภาพน้ำ) และป่าชายเลน (จากการใช้พื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมและนากุ้ง) ที่จะช่วยลดแรงของคลื่นที่จะซัดเข้าหาฝั่ง 

คุณประสาท มีแต้ม เคยเขียนบทความลงในผู้จัดการเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ไถ่ถามถึงพรรคการเมืองว่าพรรคใดบ้างจะมีนโยบายแก้ปัญหานี้ พร้อมทั้งชี้ให้เป็นประเด็นว่า การสร้างโครงสร้างถาวรขึ้นบริเวณชายฝั่งแบบไม่ดูธรรมชาติของการไหลของน้ำนั้น สร้างปัญหาการกัดเซาะอย่างยิ่ง ซึ่งคุณประสาทชี้ประเด็นว่า รัฐบาลและผู้รับผิดชอบไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้เพื่อผลานงบเล่นกันแน่ (http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000068519) ตรงนี้ก็คงแสดงความเห็นกันได้ยากนะครับ แต่อย่างน้อยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ และข่าวต่างๆก็ทำให้เห็นว่า ไม่น่าจะมีความใส่ใจจริงจังในการแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ต้นสักเท่าไหร่ 

ต่อมาผมลองค้นหาต่อไปจึงพบจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (http://mgr.manager.co.th/asp-bin/PrintNews.aspx?NewsID=9540000160630) ว่า ออกข่าวว่า เทศบาลนครสงขลา ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัทโปลีเทคโนโลยีจำกัด ที่ช่วยนำทีมวิศวกรจากประเทศนอร์เวย์มาลงพื้นที่ชายฝั่งหาดชลาทัศน์ เพื่อดูความเป็นไปได้ของการสร้างเขื่อนแบบต่างๆที่ใช้ป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งได้ ซึ่งจากข่าว ระบุว่า เขื่อนเหล่านี้สามารถป้องกันการกัดเซาะได้ 100% 

ตรงนี้มีประเด็นอยู่ว่า การสร้างเขื่อนนี้ คณะผู้สร้างมีการศึกษาหรือเข้าใจระบบการไหลเวียนของน้ำบริเวณชายฝั่งมากน้อยเพียงใด และการสร้างเขื่อนในบริเวณนี้จะมีผลกระทบต่อชายฝั่งบริเวณอื่นและระบบนิเวศน์ในบริเวณนี้หรือไม่อย่างไร จากบทความของคุณประสาทที่อ้างถึงข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การสร้างโครงสร้างถาวรโดยขาดความเข้าใจเรื่องระบบการไหลเวียนของน้ำในพื้นที่อาจจะทำให้ปัญหานั้นแย่ลงกว่าเดิมก็ได้ นอกจากนี้ผลกระทบในแง่ระบบนิเวศน์ก็อาจจะต้องดูให้ชัดเจนเช่นกัน

เรื่องนี้มีประเด็นน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อผมพบว่า มี 4-5 ปีก่อน ( มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ได้มีการทำวิจัยในปัญหานี้ และได้นำเสนอทางแก้ โดยการสร้างปะการังเทียม ที่มีโครงสร้างลักษณะที่ลดแรงคลื่นได้ 60-70% ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นปะการังเทียมที่จะช่วยฟื้นฟูปะการังในพื้นที่ได้ด้วย (http://www.smart-project.org/main.html) โครงการดังกล่าวผ่านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ รวมถึงทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่หาดสมิหลา อันจะเป็นพื้นที่ทดลอง อย่างไรก็ดี นายอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลาในสมัยนั้น เห็นประโยบน์ในหลักการ ว่านอกจากจะส่งผลดีต่อเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ยังเป้นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำอีกด้วย แต่ให้ความเห็นว่าเรื่องงบประมาณจะต้องพิจารณาก่อน

ต่อมาในเดือนมีนาคม 2553 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้นำเสนอความคืบหน้าของโครงการนี้ (http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9530000032062) ว่าได้ผ่านมาถึงเฟส 3 แล้วโดยก่อนหน้านี้ในเฟสหนึ่งได้ทำการศึกษาปัญหาบริเวณหาดขลาทัศน์ (ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่จะมีโครงการสร้างเขื่อนข้างต้น) แล้วใช้ข้อมูลในการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์​ ออกแบบปะการัง และสร้างห้องทดลองเพื่อทำการทดสอบ ต่อมาได้ขยายผลไปยังบริเวณจังหวัดระยองและจันทบุรีภายใต้การสนับสนุนของกรมทรัพยากรธรณี ต่อมาในเฟสที่ 3 นี้เอง ที่จะเริ่มมีการสร้างปะการังเทียมนี้และทดลองจริงในเขตจังหวัดเพชรบุรี โดยวางในพื้นที่สาธิต ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ผู้วิจัยยังได้ให้ข้อสังเกตถึงการประยุกต์ใช้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอย่างจังหวัดสงขลาว่า จะต้องสำรวจข้อมูลเฉพาะพื้นที่ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา นิเวศน์วิทยา และเชิงสังคมให้รอบคอบ เพื่อจะได้ปรับให้้เหมาะกับพื้นที่นั้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีการทำแผนแม่บทระยะยาวป้องกันแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเร่งด่วนอีกด้วย ให้เหมาะกับแต่ลักษณะทางธรรมชาติและทางสังคมของแต่ละพื้นที่

ข้อมูลที่ได้ค้นพบในเวลาไม่ถึง 4 ชั่วโมงที่ได้เขียนให้อ่านข้างต้นนี้ แสดงให้เห้นว่า จริงๆแล้วในนักวิชาการในประเทศไทยก้ได้ทำการศึกษาและตื่นตัวกับปัญหานี้ไม่น้อย มีการศึกษาและร่วมมือกันอย่างเป็นระบบกับหน่วยงานของรัฐอยู่ก่อนแล้ว เพื่อให้รอบคอบและสร้างผลกระทบทางลบทั้งในเชิงนิเวศน์และสังคมให้น้อยที่สุด และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในบริเวณนั้นให้มากที่สุด หากได้มีการประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านี้อย่างจริงจัง อีกทั้งมีแผนแม่บทที่ครอบคลุมจังหวัดที่มีปัญหาบริเวณชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ก็จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

ความเห็นส่วนตัวของผมเห็นว่า เทศบาลนครสงขลา ควรจะคิดเรื่องนี้ให้รอบคอบ ปรึกษากับทางมหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว หรืออย่างน้อยก็ประสานให้ทั้งทางทีมวิจัย Smart Project ได้ทำงานร่วมกับวิศวกรจากนอรเวย์ก้น่าจะดีกว่า เพราะว่าเรื่องเขื่อนนี่ถ้าทำอย่างไม่รอบคอบผลกระทบเชิงนิเวศน์และเชิงสังคมจะกว้างใหญ่ในแบบที่ประเมินได้ยากทีเดียว 

อีกคววามเห็นหนึ่ง อาจจะเป็นคำถามมากกว่า ก็คือว่า เพราะเหตุใดเทศบาลนครสงขลาซึ่งมีส่วนร่วมกับโครงการ Smart Project ด้วย ถึงไม่ประสานกับม.อ. และหาทางทำให้งานวิจัยข้างต้นได้ถูกใช้ในพื้นที่นี้จริงๆ ทั้งๆที่จุดเริ่มของงานวิจัยก็คือพื้นที่นี้นี่เอง ซึ่งจังหวะนี้เป็นจังหวะที่เหมาะมากที่จะริเริ่มให้มีการวางแผนแม่บทและดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างจริงจัง เพราะปัญหามันเริ่มรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสื่อเองก้ให้ความสนใจ … 

ถ้ามองในแง่ดีก็คือ อาจจะไม่รู้ หรือคุยกันแล้วและได้ความเห็นสนับสนุนจากทีมวิจัยว่าถ้าเกิดเร่งด่วนก็ทำไปเถอะ แต่ถ้ามองในแง่ร้าย ก็คงจะมองได้ว่า แทนที่เทศบาลนครสงขลาจะใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาระยะยาว กลับใช้โอกาสนี้ในการสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมเสียแล้ว … ฉะนั้นหากเป็นในแง่ดีก็หวังว่าหากท่านผู้มีอำนาจตัดสินใจได้เห็นบทความนี้ผ่านตา ท่านจะลองติดต่อไปทาง มอ. เพื่อปรึกษานักวิจัยในทีมดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 472780เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2011 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ...มาติดตามด้วยความห่วงใย..

ชายทะเลบางแห่งแทบจะไม่เหลือทรายชายหาดแล้ว บางแห่งน้ำรุกคืบจนหมู่บ้านหายไปทั้งหมู่บ้าน ก็ไม่รู้ต่อไปพื้นที่ชายฝั่งจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท