จิตตปัญญาเวชศึกษา 179: NEW EDUCATION (3) จะเอื้ออย่างไร ขึ้นกับภายในของคุณเอื้อ


จะเอื้ออย่างไร ขึ้นกับภายในของคุณเอื้อ

ผมเขียนไว้ว่าการจะ facilitate learning หรือจะเอื้ออำนวยการเรียนรู้นั้น เป็นศิลปศาสตร์แขนงหนึ่ง และเป็นแขนงที่บูรณาการมาจากหลายๆมิติ เพราะการเรียนรู้เป็นพฤติกรรมขั้นสูงแห่งความเป็นมนุษย์เลยทีเดียวก็ว่าได้

ใน mode ปกติ เซลล์ของมนุษย์สามารถเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สื่อสาร และสำคัญที่สุดคือเรียนรู้ เวลาผิวหนังเราเกิดแผลมีดบาด เซลล์จะเริ่มแบ่งตัว เพิ่มปริมาณ ขยายขนาด เยื่อบุผิวหนังจะเริ่มครอบคลุมแผลจากขอบหนึ่งไปตามผิวแผลสด คืบคลานไปจนกว่าจะเจอะเจอสื่อสารกับการคืบคลานของเซลล์จากขอบแผลอีกด้านหนึ่ง say hello กันเรียบร้อย เกิด "การเรียนรู้" ว่าตอนนี้น่าจะพอแล้ว เพราะแผลหายแล้ว ถ้าขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเสียไป ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้นได้ ถ้าขอบแผลมาชนกันแล้วสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ฉันยังจะแบ่งตัวคืบคลานต่อไป สถานเบากลายเป็น keloid สถานหนักก็อาจจะเลยเถิดไปเป็นมะเร็ง

การทำงานของเซลล์ของมนุษย์ยิ่งมหัศจรรย์ล้ำลึก การผันแปรเปลี่ยนสารพันธุกรรมในเซลล์ปกติ กลายไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติซึ่งอาจจะกลายเป็นมะเร็งนั้น เกิดขึ้นทุกวัน เพียงแต่ทันทีที่เซลล์นั้นๆ สะท้อนตนเองว่าตูเปลี่ยนไปเยอะ น่าจะเป็นอันตราย เซลล์ของเราก็จะประกอบกิจ ฆ่าตัวตายไปเอง เรียกว่ากระบวนการ apoptosis (suicidal programme) เซลล์ที่ยอมฆ่าตัวตายในลักษณะนี้เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม จะตายอย่างสงบ ไม่มีการอักเสบเกิดขึ้น เม็ดเลือดขาวยักษ์จะค่อยๆเดินทางมาเก็บทรากเซลล์ไปจากที่เกิดเหตุ โดยไม่ปล่อยสารเคมีอักเสบใดๆมาให้เป็นที่รำคาญแม้แต่น้อย

เราสามารถจะเลียนแบบการทำงานของเซลล์ ในการทำงาน หรือทำกิริยา facilitation เอื้ออำนวยการเรียนรู้ก็ได้

"สภาวะภายใน" ของเซลล์มนุษย์นั้น จะมีระบบสะท้อนตนเอง และสะท้อนสิ่งแวดล้อมอันซับซ้อนมหาศาลตลอดเวลา ศูนย์การตอบสนองของระบบต่อมไร้ท่อ (hormone) หรือระบบประสาทบางครั้งอยู่ห่างไกลจากอวัยวะเป้าหมายอย่างมาก แต่ร่างกายก็ยังสามารถรับรู้ message ที่ส่งต่อมายังศูนย์ และส่ง target products ในรูปของเซลล์ หรือสารเคมีต่างๆ กลับไปยังตำแหน่งต้นกำเนิดสัญญานภัยได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วมาก การทำงานสอดคล้องกันตั้งแต่สัญญานภายนอก มาสัมผัสพื้นที่ผิวของเซลล์ ส่งสัญญานรหัสจำเพาะจากผนังเซลล์ด้านใน ไปยังศูนย์นิวเคลียส และตัดสินใจสร้างท่อนโปรตีน ท่อนฮอร์โมน ที่มีความจำเพาะอวัยวะ เดินทางไปนับพันๆกิโลเมตร (สัมพัทธ์ระหว่างขนาดของเซลล์ไปยัง target organ) โดยไม่หยุดแวะเสียเวลาเรื่อยเปื่อยที่ไหน เป็นการทำงานที่อุทิศเพื่อส่วนรวมอย่างที่สุด

มนุษย์เรามีการ "สื่อสารเพื่อการเรียนรู้" และยิ่งไปกว่านั้นคือ การเรียนรู้ที่ล้วนมีวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น คือ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ได้แก่ ร่างทั้งร่าง องค์กรทั้งองค์กร ไม่ใช่เพื่ออวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง แต่ for the whole ถ้าเราทำงานเสมือนกระจกเงาการทำงานระดับเซลล์ ในที่สุดเราจะพบว่าทักษะประการหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาหน้าที่ของชีวิตคือ ระบบสะท้อนภายใน และระบบสะท้อนภายนอก ซึ่งจากการประสมประสานแบบไร้ตะเข็บของทั้งสองระบบนี้เท่านั้นที่สมดุลที่ดีที่สุดจะสัมฤทธิ

ในสถานการณ์ทั่วไป มีบริบทมากมายที่จะเป็น "บริบทรบกวน" ต่อสมดุลที่ดีที่สุดนี้ อาทิ ความเจ็บป่วยทางกาย สภาวะทางอารมณ์ความรู้สึก การเอียงของสมดุลอารมณ์ และระดับที่สูงกว่านั้น เช่น การพังภินท์ของโครงสร้างจิตวิญญาณ และแม้ว่าเราสามารถจะควบคุมจัดการกับระบบภายนอกได้มากพอควร แต่ที่ยากและท้าทายกว่าคือความสมดุลภายใน และนี่คืองานหลักของกระบวนกร (facilitator)

การ "เอื้อ" การเรียนรู้เป็นหนทางในการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และแต่ละคนพึงค้นหาวิถีที่ตนเองถนัด ชอบ และได้ผลมากที่สุด ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนหนึ่งๆ อาจจะต้องมีหลายระบบ หลายวิธี ที่จะเหมาะสมสำหรับพลังงานแต่ละรูปแบบไม่เหมือนกัน งานของกระบวนกรที่ทำหน้าที่ facilitate ยิ่งท้าทายกว่า เพราะจะต้องจัด "บริบท" เหล่านี้ให้กับคนจำนวนมากขึ้น ไม่ใช่แค่หนึ่งคน จนกระทั่งเราอาจจะคาดได้อย่างสมเหตุสมผลว่า น่าจะมีอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างกระบวนกรและผู้เรียนที่จะทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่เท่าไหร่ก็ได้

สภาวะภายในของคุณเอื้อ

สภาวะภายในของคนเรียนสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้มากเท่าไหร่ สภาวะภายในของกระบวนกรผู้จัดกระบวนกรยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ไม่เพียงแต่กระบวนกรต้อง "เรียนไปด้วยตลอดเวลา" แต่ยังต้องขยายการรับรู้ของตนเองให้ไวพอที่จะ handle พลังงานของกลุ่มให้ได้มากที่สุด

จะเห็นได้ว่ามีเหตุผลสมบูรณ์มากที่มนุษย์จะ "ไว" และ "แม่นยำ" ต่ออารมณ์ มากกว่าเนื้อหา เหตุผล หรือความคิดเยอะ เราบอกได้ว่าคนข้างหน้ากำลังทุกข์ สุข มั่นใจ หวาดกลัว แต่พอไปถึงระดับเพราะอะไร มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น มักจะเป็นการคาดเดาที่ยากที่จะถูกต้อง แม่นยำ เหมือนที่เราจับอารมณ์ได้ น่าเสียดายที่บางทีระบบการเรียนบางรูปแบบยิ่งทำให้ทักษะด้านอารมณ์ของมนุษย์ลดความสำคัญลงไปอีกอย่างมาก จนเราอาจจะใช้ความสามารถของเราเพียงแค่นิดเดียวเท่านั้นจากสิ่งที่เราทำได้จริงๆทั้งหมด

ก่อนทำกระบวนการ หากกระบวนกรสามารถทำกิจกรรมเสริมสมาธิ และปรับดุลสภาวะภายในของตนเองให้ได้ดี จะเสริมประสิทธิภาพได้เยอะ ที่จริงก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ commonsense แต่คนเราเดี๋ยวนี้ นอกจากไม่ดูแลสภาวะภายในตนเองแล้ว ยังมักแสวงหาพลังงานด้านมืดมา feed อารมณ์ลบของตนเองอย่างขะมักเขม้น ความ aggression ดุดัน เถื่อนดิบ ลุกลามกินพื้นที่ความเป็นมนุษย์ (มน/ใจ + อุษยะ/สูง คือ "ใจสูง") ให้มีแต่การทำลายล้าง กดขี่ผู้อื่น และทำให้จิตใจของตนเองมืดหมองตลอดเวลา

การจัดการบริบทของเราเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเราจะ "เห็นเอง" ว่ามันมีประโยชน์จริงๆ เมื่อเราจะไปทำให้คนอื่น ก็จะเป็นการทำที่มี conviction หรือความเชื่อความศรัทธาจริงๆ เป็น first-hand knowledge ไม่ใช่แค่อ่านจากตำรา rote learning จำเอามาเฉยๆ

ตอนหน้าจะเขียนต่อเรื่อง "กับดักของ facilitator"

หมายเลขบันทึก: 472108เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2011 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คนเราเดี๋ยวนี้ นอกจากไม่ดูแลสภาวะภายในตนเองแล้ว ยังมักแสวงหาพลังงานด้านมืดมา feed อารมณ์ลบของตนเองอย่างขะมักเขม้น

     ไม่บวก  แล้ว ยังลบ อีกนะครับ

      ก่อนที่คุณเอื้อจะไปเอื้อให้ใคร  ให้กลับมาเอื้อที่ตัวเองก่อนนะครับ

                   ขอบคุณครับ

รักตัวเองให้เป็น ให้ชัด. ให้รู้ว่ามัน "ดียังไง". ก่อนจะไปสอน ไป empower คนอื่นๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท