45 หัวหน้าหัดขับ


อย่าใช้บทบาทของการเป็นหัวหน้าที่องค์กรให้มานั้น มาทำการสั่งการ ตรวจสอบและควบคุมการทำงานของผู้อยู่ใต้บังคัญบัญชา โดยลืมไปว่า ลูกน้องก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความต้องการ มีความรู้สึกนึกคิดซึ่งไม่แตกต่างไปจากตัวเราที่เป็นหัวหน้าเช่นกัน

ผู้เขียนได้เชิญชวน “พี่หยอย” (คุณลัดดาวัลย์  ชุมตรีนอก)  ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างานเมื่อไม่กี่เดือนมานี้มาเล่าเรื่องประสบการณ์การเป็นหัวหน้าใหม่   เพื่อแบ่งปันประสบการณ์กันฟัง  ในฐานะของ ...หัวหน้าขัดขับ  

 

เริ่มเรื่องเล่าโดยพี่หยอย เล่าว่า ได้รับการทาบทามจากหัวหน้าพยาบาลว่าให้เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อไปรับผิดชอบเป็นหัวหน้างานจ่ายกลาง-ซักฟอก แทนพี่ตุ๊  หัวหน้าคนเก่าที่มีความจำเป็นต้อง  Early_Retire  เพราะภารกิจส่วนตัว  แรกๆก็ไม่สนใจ ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้  เพราะไม่อยากเป็นหัวหน้า  เพราะคิดว่าตนเองคงทำไม่ได้

 

แต่พอวันหนึ่งเมื่อมีคำสั่งให้พี่ตุ๊ลาออกได้   เอาล่ะทีนี้จะทำไง ..... ตั้งตัวไม่ติด  ทำอะไรไม่ถูก อยู่หลายวัน  พอตั้งสติได้ก็พยายามนึกว่าเราจะปรึกษาใคร  และไปดูตัวอย่างที่ไหนดี 

 

พี่หยอย

......คนแรกที่คิดถึงคือคู่ชีวิต คนใกล้ตัวที่คิดว่าน่าจะรู้ใจและรู้จักตัวเองได้มากที่สุด  ถามสามีว่าจะทำอย่างไรดี ?  คำตอบ ที่ได้คือ  ต้องเปลี่ยนตนเองก่อน  ต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน  เสมอต้นเสมอปลายกับทุกคน  และที่สำคัญคือต้องมองว่าทุกๆคนที่อยู่รอบข้างล้วนเป็นคนดี

 

.....คนที่สองที่ไปปรึกษา คือ พี่แหม่ม  นักให้การปรึกษาคนเก่งของศูนย์อนามัยที่ 10  ด้วยคำถามที่ว่า  “พูดอย่างไรให้คนรัก คนชอบ..”

 

พี่แหม่ม(คุณภาวนา ปัณฑจักร)

นอกจากจะมีที่ปรึกษาชั้นดีแล้ว  พี่หยอย ยังมีครูชั้นเยี่ยม ที่คอยศึกษาและดูการทำงานของเขาเป็นแบบอย่าง

....ครูคนแรก  คือ พี่อ้อย หัวหน้างานโภชนาการ   ด้วยเพราะลักษณะการทำงานและทีมงานของพี่อ้อยคล้ายกับของตนเอง คอยแอบดูแบบครูพักลักจำ  ว่าพี่อ้อยทำอย่างไร  พูดอย่างไร ลูกน้องจึงรักและให้ความร่วมมือในการทำงานอย่างดี

 

พี่อ้อย (คุณวรุณยุพา  หนันต๊ะ)

 

ส่วนครูคนที่สอง   คือ พี่พร  ซึ่งแต่ก่อนจะมีบุคลิกพูดจาแบบตรงไปตรงมา  ลุยๆ  ถ้าไม่ผิดเป็นไม่ยอมใคร   แต่ปัจจุบันพี่พรเปลี่ยนไปมากๆ  พุดจาสุภาพ อ่อนหวาน  ใจเย็น  ก็เลยคิดว่า  พี่พร ยังเปลี่ยนได้ทำไมตัวเองจะเปลี่ยนตัวเองไม่ได้

พี่พร (คุณอุไรพร   รุ่งไพโรจน์เจริญ)

 

เป้าหมายแรกที่ตั้งไว้  คือ   จะทำอย่างไรให้ทีมงานไม่ต่อต้าน  เพื่องานจะได้ไม่มีปัญหา..

 

วันแรกที่เริ่มงาน  เวลา 08.00 น. ของวันที่ 2 ตุลาคม 2554  ตั้งใจมาจากบ้านว่า ถ้าเจอใครจะยกมือไหว้สวัสดี  โดยไม่คำนึงถึงคุณวุฒิและวัยวุฒิ  แนะนำตัวเอง   เพราะเรามาใหม่ต้องให้ความนับถือกับคนเก่า   จะทำแบบนั้นกับทุกคน   และยังทำอยู่จนถึงปัจจุบัน     หลังจากนั้นไม่กี่วัน  ก็ได้รับการตอบรับจากเพื่อนร่วมงาน   ด้วยการสวัสดีทักทายเราก่อน  ด้วยคำว่า   “ สวัสดีค่ะ/ครับหัวหน้า..”  แรกๆรู้สึกเขิน ที่ได้รับเกียรติ 

 

ความคิดส่วนตัวที่ยึดมั่น คือ..

  • คิดว่าลูกน้อง  คือเพื่อนร่วมงาน

  • คิดว่าลูกน้อง คือ เจ้านายในบางเรื่องที่เราต้องคอยดูแล  เพื่อให้งานลุล่วงด้วยดี

  • คิดว่า  จะพูดจาแบบสร้างสรรค์แทนการตำหนิกับพื่อนร่วมงาน

 ผู้ที่ล้อมวงฟังเรื่องเล่าในวันนั้น

 

พี่หยอย เล่าเรื่องราวมากมาย  ซึ่งผู้เขียนพอจะสรุปประเด็นสำคัญที่ทำให้พี่หยอยเป็นหัวหน้าที่ประสบความสำเร็จได้เร็ว  ดังนี้

  1. การเรียนรู้ตัวเอง    ด้วยการฝึกฝน มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น   ด้วยการปรับปรุงและสร้างนิสัยที่อ่อนน้อม ถ่อมตน  พัฒนามนุษยสัมพันธ์กับบุคลลรอบข้างได้อย่างดี 

  2. การเรียนรู้คนรอบข้าง  เพราะในการอยู่บนโลกใบนี้ เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น  จึงจำเป็นที่เราต้องเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความคิด  เข้าใจพฤติกรรมของคนอื่นๆ  เพราะการรู้จักเขาได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งทำให้เราได้เปรียบและสามารถนำคนอื่นๆได้เร็วเท่านั้น

  3. การสื่อสารที่ดี   เพราะเพื่อนร่วมทีมของพี่หยอยเป็นลูกจ้างทั้งประจำและชั่วคราวทั้งหมด  จำเป็นต้องใช้ทักษะในการบอกเล่าสื่อสารให้เขาเข้าใจตรงกับสิ่งที่เราต้องการสื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ

  4. จริงใจกับทุกคน   เพราะการจริงใจทำให้ทีมงานเกิดความเชื่อใจ  และคล้อยตาม

 

 

วันนั้น  พี่ศรี  ซึ่งทำหน้าที่เป็น FA ได้ร่วมแบ่งปันด้วย  “ การจะเป็นหัวหน้าที่ดี  สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องมีใจที่คิดอยากเปลี่ยนแปลงตนเอง  สามารถรับได้ทุกบทบาท  เป็นทั้งคุณเอื้อ  คุณอำนวย  ที่คอยสนับสนุนผู้ร่วมงาน  เพื่อให้งานบรรลุ  ตัวอย่างของพี่หยอย เป็น KM ระดับบุคคล  ที่ดึงเอาสิ่งดีๆที่อยู่รอบตัวมาพัฒนาตนเองได้อย่างดี"

 

พี่ศรี  (ทพ.หญิงธนัชพร  บุญเจริญ)

สำหรับผู้เขียนเองในฐานะเป็นรุ่นพี่ซึ่งเป็น “หัวหน้าหัดขับ”  มาสักระยะหนึ่งแล้ว  แต่จะสอบใบขับขี่ผ่านหรือไม่นี่ยังไม่แน่ใจ  เห็นว่า นอกจาก 4 ประเด็นที่พี่หยอยได้ปฏิบัติแล้ว  ก็อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ตรงที่ตนเองได้ปฏิบัติอยู่ให้บ้าง 

  1. ต้องมีจุดยืนของตนเอง  แต่ไม่ใช่หัวแข็งหัวรั้น  ไม่เอนเอียงตามคนใดคนหนึ่ง  หรือใครว่าอะไรดีก็ตามเขาไป  ซึ่งเรื่องนี้  ส่วนตัวของผุ้เขียนเองคิดว่าสำคัญ   แต่ขณะเดียวกันเราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงถ้าความคิดดีๆส่วนใหญ่ของเพื่อนร่วมงานนั้นมีประโยชนืและมีความเป็นไปได้

  2. นำเสนอ  สอดแทรกความคิดดีๆให้กับเพื่อนร่วมงานบ่อยๆทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ  เพื่อให้เขาได้ซึมซับแนวคิดนั้น  และช่วยกันคิดเพื่อให้สามารถเป็นจริงได้

  3. การรู้จักสร้างแรงจูงใจให้เพื่อนร่วมงาน   เพราะเขาจะทำงานให้เราอย่างเต็มใจ  โดยเราไม่ต้องไปคอยควบคุมมากนัก

  4. รู้จักเสียสละ  ต้องรู้จักให้ ในบางโอกาส  การให้นี้ก็ไม่ได้หมายถึง สิ่งของที่มากค่า  แต่เป็นสิ่งที่ให้จากใจ  ให้ความเคารพ  ให้ความเชื่อใจ  ให้โอกาส/เวลา  และสุดท้ายคือต้องรู้จักการให้อภัย

  5. เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งทางดีและไม่ดีที่เกิดจากการทำงาน  เป็นบทเรียนให้ตัวเอง  ในบางครั้งที่เราทำงานผิดพลาดและไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว  เราก็อย่าไปมัวกังวลให้เสียเวลา  แต่ให้มองว่า  ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีกเราจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น หรือไม่ให้เกิดซ้ำ

  6. และสุดท้ายซึ่งผู้เขียนคิดว่าสำคัญมาก  คืออย่าใช้บทบาทของการเป็นหัวหน้าที่องค์กรให้มานั้น  มาทำการสั่งการ ตรวจสอบและควบคุมการทำงานของผู้อยู่ใต้บังคัญบัญชา  โดยลืมไปว่า  ลูกน้องก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความต้องการ  มีความรู้สึกนึกคิดซึ่งไม่แตกต่างไปจากตัวเราที่เป็นหัวหน้าเช่นกัน 

 

การเป็นหัวหน้าที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ใครๆก็สามารถทำได้   บางคนอาจใช้เวลาปรับปรุงตนเองไม่นานก็เป็นหัวหน้าที่ดีได้  ในขณะที่บางคนอาจใช้ความอดทนค่อนข้างนาน  หรือบางคนอาจไม่ได้เลย  ทั้งนี้ขึ้นกับพื้นฐานนิสัยส่วนตัว  ทักษะและความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของ “หัวหน้าขัดขับ”  แต่ละคนค่ะ

 


ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 471598เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2011 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 00:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มาเชียร์พี่เขี้ยวค่ะ

แบบ พี่เขี้ยวนี่รับรอง "ผ่าน" ฉลุยเลยจ้า ^_^

สวัสดียามดึกคุณมนัญญา หัวหน้าขับชับ

สำหรับคุณลัดดาวัลย์ หัวหน้าหัดขับ แกก็ชับเรื่องเรียนรู้

คนเป็นลูกน้องอย่างผมชอบข้อนี้ครับ"อย่าใช้บทบาทของการเป็นหัวหน้าที่องค์กรให้มานั้น มาทำการสั่งการ ตรวจสอบและควบคุมการทำงานของผู้อยู่ใต้บังคัญบัญชา "

หัวหน้าต้องเป็นผู้กำกับ ไม่ใช่มาเล่นบท ตัวเอกของงาน

เห็นหัวหน้าหลายคน ลงมาเล่นเองทุกบท

เห็นหัวหน้าหลายคน ไม่ยอมเล่นสักบท และไม่กำกับ

เป็นหัวหน้า ในองค์กรเป็นไปตามระบบ คนเป็นหัวหน้า ต้องเป็นผู้นำด้วย อย่าเป็นแต่หัวหน้า

"คนต้องนำ วัวควายต้องยิก จึงมาทั้งฝูง ถ้าต้องจูงมาไม่หมดฝูง"

ต้องปริ้นบันทึกนี้ให้คนที่เป็นหัวหน้าหัดขับ บ้านเรามั่งแล้ว

มีคุณค่ามากค่ะ ทั้งเป็นลูกน้องและหัวหน้าอ่านแล้วมีประโยชน์ทั้งนั้นเลย

เราและเพื่อนร่วมงานรอบตัว หากนำสิ่งดี ๆ ในข้อเขียนนี้ไปใช้มาก ๆ

จะรู้ใจซึ่งกันและกัน เป็นที่ทำงานที่สร้างสรรค์ในการเรียนรู้ มีความสุขในชีวิตการงานแน่นอนเลย

จาก...ผู้เป็นลูกน้องและหัวหน้ามาเป็นเวลา 7 กว่าปี ในองค์กรเล็ก ๆ แผนกเล็ก ๆ และ 6 ปีกว่า ในองค์กรกลาง ๆ แผนกเล็ก ๆ

พี่เขี้ยวเจ้า กึดเติงหาโตยเจ้า

บันทึกนี้ไอเดียบรรเจิด ขอบคุณเจ้า

  • หัวหน้าแบบนี้ คงจะส่งผลให้ "งานได้ผล คนเป็นสุข"
  • เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลยค่ะ
  • บันทึกนี้ เป็นบทเรียน ที่น่าเรียนรู้ จด จำ และทำตาม จริงๆ เลย
  • ขอบคุณนะคะ

หัวหน้าหัดขับจะขับไปทางไหน ออกนอกเลนบ้าง ขับเร็วขับช้าไปบ้างก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ขอแต่ลูกพี่&ลูกน้องช่วยกันบอกทาง ช่วยกันเข็นรถบ้าง........ ด้วยเพราะรักกัน เป็นทีมเดียวกัน และใจเดียวกันก็เยี่ยมยอดแล้ว ขอปรบมือให้กำลังใจหัวหน้าหัดขับทุกคนค่ะ

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕ ค่ะ Ico64 ขอส่งความสุขด้วยคำกล่าวว่า สุขสันต์ วันปีใหม่ และทุกวันคืนตลอดไปนะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท