เยี่ยมชื่นชมมหาวิทยาลัยเอกชนที่ฟิลิปปินส์



          บ่ายวันที่ ๙ พ.ย. ๕๔ เจ้าภาพงาน 6th AAAH Conference พาผู้เข้าร่วมประชุมไป Site Visit   แยกเป็น ๓ สาย   ผมไปสาย ๑ ไปดูการผลิตบุคลากรสาธารณสุขเพื่อหนุนบริการสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ที่ Southwestern University

          SWU เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน มี นศ. ๑๐,๐๐๐ คน   สอน ๒๐ สาขาวิชา    ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมีเกือบครบทุกสาขา    คณะแพทยศาสตร์รับ นศ. ปีละ ๕๐ - ๕๕ คน   ที่เขาจัดให้เรามาดูเป็นการผลิตแพทย์แบบพิเศษที่อาจเรียกว่า community-based track   เขาเรียกชื่อว่า Pinoy MD Scholarship  ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน (ซึ่งถูกมาก ปีละไม่ถึงแสนบาท)   เรียน ๕ ปี  จบแล้วทำงานใช้ทุน ๑๐ ปี   รับปีละ ๑๐ คน   ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล

          เราได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับหลักสูตรแพทย์ชนบทจากอาจารย์ ๑ คน และ นศพ. ๒ คน   โดยเฉพาะ นศ. เล่าชีวิตการออกไปฝึกงานในชนบท ให้ความสุขใจที่ชุมชนให้การยอมรับ และได้เรียนรู้มาก    ผู้ไปเยี่ยมชมสงสัยว่าไปทำงานใช้ทุน ๑๐ ปีเรียกร้องมากไปไหม    จึงได้ข้อมูลว่าออกไปทำงานในชนบท ๒ ปีแรก ก็จะได้ปริญญาโทด้วย   และหลังจากนั้นเงื่อนไขให้ทำงานในประเทศแต่ไปอยู่ที่ไหนก็ได้   และจะได้ปริญญาหรือ บอร์ด สูงขึ้นเป็นระยะๆ 

          คณะแพทยศาสตร์ ของ SWU เป็นโรงเรียนแพทย์ที่อยู่นอกมานิลา แห่งแรกของประเทศ    เวลานี้ทั้งประเทศฟิลิปปินส์มีโรงเรียนแพทย์ ๖๐ แห่ง    แพทย์ที่จบ ๔๐% ไปทำงานนอกประเทศ

          คนไทยนิยมมาเรียนแพทย์ที่ SWU   เขาบอกว่ามีศิษย์เก่าคนไทย ๓๐๐ คน    เราได้พบ ๒ คน คนหนึ่งจบ ป. ตรี แพทย์แผนไทยประยุกต์มาจากเมืองไทย

          สภาพของมหาวิทยาลัยไม่มีตึกสวยงามกว้างขวางทันสมัยอย่างบ้านเรา   สถานที่ดูเก่าๆ ง่ายๆ ไม่หรูหรา    แต่ดูแล้วเข้าใจว่าคุณภาพใช้ได้ทีเดียว    เราไปเข้าห้องน้ำ ก็ใช้ร่วมกับนักศึกษา    ความสะอาดปานกลาง เป็นสถานที่เก่าๆ โทรมๆ    

          เราได้เรียนรู้ว่าที่จริงโครงการ Pinoy MD Scholarship ทำในหลายโรงเรียนแพทย์    และยังมีมาตรการหลักสูตรแพทย์ที่ส่งเสริมการออกไปทำงานในชนบทแบบอื่นๆ อีก    แต่ไม่มีการรวบรวมนำเสนออย่างเป็นระบบ

          ที่จริงเจ้าภาพเขาพาเราไปดูโรงเรียนแพทย์ที่ดำเนินการสนับสนุนบริการสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage)    และเลือกที่ SWU   ทางมหาวิทยาลัยก็เลือกให้เราดูโครงการ Pinoy MD Scholarship Program   โดยเขาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า หลักสูตรปกติเป็นอีกแบบหนึ่ง (Traditional Track) จะเห็นว่า เมื่อพูดเรื่องการ จัดการศึกษาที่สนับสนุนระบบบริการสุขภาพที่เน้นการครองคลุมถ้วนทั่ว โรงเรียนแพทย์ทั้งหลายก็เอาเฉพาะส่วน น้อยมาบอกว่านี่ไง   ไม่มีแนวคิดว่าที่จริงแล้วต้องคิดขยายออกไปครอบคลุมการดำเนินการทั้งหลักสูตร หรือดำเนินการต่อนักศึกษาแพทย์ทั้งหมด   อาจเป็นเพราะการดำเนินการทั้งหมดมันสวนกระแสสังคมเกินไปหรือ เปล่าก็ไม่ทราบ

          จบจากดูงาน เขาพาไปดู Magellan’s Cross  และ Basilica ที่อยู่ใกล้    แล้วพาไปเลี้ยงอาหารเย็น   ระหว่างนั่งโต๊ะอาหารผมได้คุยกับอดีต รมต. สาธารณสุขฟิลิปปินส์ เพื่อนของหมอสุวิทย์   ได้ความรู้ว่า ร้อยละ ๔๐ ของ จีดีพี ของประเทศฟิลิปปินส์ มาจากคนที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ๑๐ ล้านคน (เป็นคนทางวิชาชีพสุขภาพ ๓ ล้าน)   จากพลเมืองทั้งหมด ๙๕ ล้านคน   เงินที่ไหลเข้าประเทศจากแรงงานฟิลิปปินส์ข้ามชาติปีละ US$ 30,000 ล้าน   คนเหล่านี้อาจทิ้งครอบครัวไม้ที่บ้าน   หรือทิ้งลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง   แต่ละปีจะกลับมาเยี่ยมบ้าน   และส่งเงินมาให้ครอบครัว    ฟังแล้วคล้ายคนอีสานของเรา 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ พ.ย. ๕๔

สวมเสื้อต่างสี เพื่อบอกว่าไปดูงานสายไหน ผมไปสายเขียว


 

ระหว่างนั่งรถบัสไป SWU ได้รูปรถจี๊ปนี่ ยานพาหนะหลักของคนฟิลิปปินส์


 

รถตำรวจนำ


 

สภาพความเป็นอยู่ของผู้คน


 

ถึงแล้ว Southwestern University


 

คณะผู้ดูงานลงจากรถ


 

ฟ้อนฟิลิปปินส์ต้อนรับที่หน้าตึก


 

นักศึกษาแพทย์ทำหน้าที่พิธีกร


 

ต้อนรับด้วยเพลงประสานเสียงอันไพเราะ


 

หลังการนำเสนอด้วยเรื่องเล่า คณะดูงานรัวคำถาม


 

ข้าวเหนียวมะม่วงและขนมถ้วยฟู


 

กะหรี้ปั๊บและแคบหมู


The Cross of Magellan


 

 

หมายเลขบันทึก: 471405เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2011 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท