ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๕๒. หมดยุคมนุษย์ขวางน้ำ



          วันที่ ๒ ธ.ค. ๕๔ ผมไปร่วมประชุมวิชาการ พระราชดำริ : แสงส่องสู่ทางออกจากน้ำท่วม จัดโดย สกว., กปอ., และ สสท.   ฟังการนำเสนอตลอดวันแล้วผมสรุปว่า “หมดยุคมนุษย์ขวางน้ำ”   เพราะกรุงเทพและปริมณฑลอยู่ในที่ราบลุ่มทางไหลของน้ำลงสู่ทะเล

          เราไม่มีทางปลูกสร้างบ้านเรือน นิคมอุตสาหกรรม ถนน ถมที่ และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อย่างเสรีอย่างเดิมโดยไม่คำนึงถึงการเปิดทางให้ น้ำไหลลงทะเลอย่างสะดวกได้อีกแล้ว   เพราะยิ่งนับวันภูมิอากาศจะยิ่ง รุนแรง   โอกาสที่ฝนจะชุกและน้ำท่วมอีกจะสูงขึ้น   เป็นผลจากการเปลี่ยน แปลงภูมิอากาศ

          วิทยากรพูดตรงกันว่า วิธีการทำคันกั้นน้ำไม่ให้ล้นตลิ่งส่วนไหลผ่าน เมืองในหน้าน้ำ มีแต่จะทำให้น้ำล้นตลิ่งในช่วงไม่ผ่านเมือง ล้นออกไปท่วม ส่วนพื้นที่ลุ่มโดยรอบที่เรียกว่าแก้มลิง   จึงต้องจัดแก้มลิงให้น้ำล้นออกไป และหาทางระบายลงทะเลโดยเร็ว    เวลานี้นักจัดการน้ำรู้หมดว่าส่วนไหน คือแก้มลิงตามธรรมชาติ   ที่จะต้องไม่ฝืนธรรมชาติ

          วิธีระบายน้ำจากแก้มลิงนี้มีหลายวิธี   นักวิชาการเสนอทางเลือก หลายแบบ  เช่นแนวคิดซูเปอร์เอ็กซเพรส ฟลัดเวย์ ของ ศ. ดร. ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล   รวมทั้งวิธีขุดลอกคลองส่งน้ำที่มีอยู่แล้วขยายให้เป็นคลอง ระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว   แต่แนวคิดแบบคำนึงถึงแต่น้ำและการระบายน้ำนั้นเห็นพ้องกันว่าเป็นวิธีคิดที่ผิด   โดยแนวคิดที่ถูกต้องคือต้องคิดให้ครบถ้วนทั้งระบบ นิเวศ รวมทั้งต้องคำนึงถึงคนและความรู้สึกนึกคิดของคนที่ดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ และต้องประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตด้วย   

          ผมได้เรียนรู้ว่าการดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมต้องทำ ๒ แนวทางร่วมกัน   คือแนวทางใช้สิ่งก่อสร้าง กับแนวทางที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง  ที่ต้องดำเนินการ ๒ แนวทางนี้ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน

          แนวทางที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้างมีบทบาทสำคัญกว่า   แนวทางนี้ได้แก่ การปรับปรุงการจัดการอ่างเก็บน้ำ  การจัดการพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นประจำ  การจัดการแหล่งน้ำ  กฎระเบียบและองค์กร

          รศ. ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล บอกว่า มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างที่ยัง ไม่ได้ดำเนินการได้แก่ (๑) การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณ น้ำท่วมถึง (flood plain)   (๒) กฎระเบียบกติกาสำหรับจัดการอุทกภัย ขนาดใหญ่ถึงใหญ่มากอย่างมีธรรมาภิบาล  (๓) การกำหนดการมีส่วนร่วมของประชาคมทุกภาคส่วนเมื่อเกิดอุทกภัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มาก

          รศ. ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี แห่ง มก. ไปทำวิจัยถอดบทเรียนจาก อุทกภัยจังหวัดลพบุรี ปี ๕๓ และ ๕๔  และที่นครราชสีมาปี ๕๓ เสนอมาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ๑๒ มาตรการ ได้แก่ (๑) อนุรักษ์และ ฟื้นฟูป่าไม้  (๒) อนุรักษ์แหล่งน้ำ  (๓) ปรับปรุงเกณฑ์การจัดการอ่างเก็บน้ำ  (๔) ระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้ารายฤดู  (๕) ปักปันเขตแม่น้ำ/ห้วย  (๖) ใช้ผังเมืองกำหนดผังระบายน้ำและพื้นที่ควบคุมการก่อสร้าง  (๗) ควบคุมการพัฒนาที่ดินหรือโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางไหลของน้ำ  (๘) กำหนดพื้นที่เกษตรรับน้ำนอง  (๙) จัดตั้งกองทุนอุทกภัย  (๑๐) ระบบ คาดการณ์และเตือนภัยล่วงหน้า  (๑๑) ระบบคาดการณ์ระดับน้ำ  (๑๒) แผนการบริหารจัดการน้ำเมื่อเกิดอุทกภัยขนาดต่างๆ 

          ผมสรุปกับตัวเองว่า ขณะนี้ประเทศไทยจัดการน้ำท่วมแบบตัวใคร ตัวมัน และใช้สถานการณ์น้ำท่วมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนพรรค สูงสุด   ไม่คำนึงถึงประโยชน์ภาพรวม   สภาพเช่นนี้ผลลัพธ์คือทุกฝ่ายเป็น ผู้แพ้   เราต้องหาทางกลับใจเปลี่ยนเป็นรวมกันเราอยู่ เพื่อทุกฝ่ายชนะหรือ ได้ผลประโยชน์มากกว่าสภาพปัจจุบัน 

          การสื่อสารสังคมเพื่อสร้างกระบวนทัศน์อยู่กับน้ำอย่างเคารพน้ำและ ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำอย่างมีกุศโลบาย และมีวิธีการที่กระทบใจ   ผมจึงเสนอต่อ ศ. ดร. สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผอ. สกว. ว่าน่าจะใช้เครื่องมือ “ฉากสถานการณ์” (scenario technique) สำหรับการสื่อสารที่เป็นรูปธรรม

          เรื่ององค์กรจัดการน้ำ ที่มีจำนวนมากมายและโดนตำหนิมากว่า ทำงานแบบต่างหน่วยต่างทำ ไม่ประสานงาน ไม่บูรณาการภารกิจ  ก็มีการวิจัยเสนอรูปแบบทางเลือกและขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงอย่างดี โดย รศ. ดร. กอบเกียรติ ผ่องพุฒิ แห่งภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มก.  โดยรับทำงานวิจัยให้แก่ กพร.   แต่ยังไม่มีการเอาไปดำเนินการ  ดร. กอบเกียรติบอกเป็นนัยว่า เอาไปใช้ยากเพราะติดขัดที่คนไม่ยอมรับ หรือขัดผลประโยชน์ของคน

          ผมชื่นชมโครงการวิจัยทดลองปฏิบัติในสภาพจริงเรื่อง บูรณาการ ข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยาในลุ่มน้ำชี-มูล เพื่อจัดทำระบบช่วยตัดสินใจในการ บริหารจัดการวิกฤติน้ำท่วมและดินถล่มโดย ดร. จิระวัฒน์ กณะสุต แห่ง มก.  ที่จะช่วยบูรณาการทั้งการจัดการข้อมูลในพื้นที่  และบูรณาการความ ร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้วย   น่าชื่นชมมาก ที่ สกว. ริเริ่มโครงการนี้

          ขอนำบันทึกระหว่างการประชุม ที่ผมใช้ iPad บันทึกไว้ (ไม่เน้นจดให้ครบถ้วน) มาลงไว้ที่นี่   ตรงที่มีดอกจันทน์ ๒ ดอกนำหน้า คือความคิดปิ๊งแว้บของผมระหว่างนั่งฟัง) 

          ผมลืมเอากล้องถ่ายรูปไป ใช้ iPhone ถ่ายรูปมาได้ชัดเพียงบางรูป   จึงนำมาลงประกอบได้เพียงบางส่วน

 

วิจารณ์ พานิช
๒ ธ.ค. ๕๔
 

 

อภิปรายหมู่ในภาคบ่าย ดำเนินการโดยคุณดาริน คล่องอักขระ แห่ง สสท.

 

ผังรวมแนวทางจัดการน้ำยามอุทกภัยใหญ่ ใช้หลายวิธีประกอบกัน

 

ข้อเสนอแนะระบบช่วยการตัดสินใจ เสนอโดย ดร. จิระวัฒน์

 

ข้อเสนอแนะระบบช่วยการตัดสินใจ ๒

 

รศ. ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล

 

ห้าปัจจัยหลักสำหรับใช้กำหนดยุทธศาสตร์ เสนอโดย รศ. ชูเกียรติ

 

หมายเลขบันทึก: 471183เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2011 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

*อยากเห็นการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางดีๆข้างต้นค่ะ..

*เก็บภาพ"ไทยพาณิชย์กับน้ำท่วมปี 2554" มาฝากค่ะ

Large_11-12-13-05 

ผมคิดว่าส่วนหนึ่ง เราคงต้องมองหาเมืองทางเหนือที่จะพัฒนาให้เติบโตควบคู่ไปกับ กทม ได้แล้วนะครับ และควรจะเริ่มควบคุมการเติบโตของ กทม ไม่ให้มากเกินไป เพราะถ้าวันหนึ่งเราเอาน้ำจากทะเลไม่อยู่แล้วจริงๆ ประเทศจะได้ไม่ล่มสลายไปพร้อมกับเมืองหลวงของเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท