ดนตรีจิตอาสา


ดนตรีควรจะสอดคล้องกับการตอบสนองต่อเสียงดนตรีจากผู้ฟัง ซึ่งมีสองด้านเสมอ คือ การตอบสนองทางกาย กับ การตอบสนองทางจิต

         ปีกลายนี้ ผมไปพบวงดนตรีสตริงควอร์เตตเล่นที่โถงใหญ่หน้าห้องจ่ายยาโรงพยาบาลสวนดอกเชียงใหม่ช่วงพักเที่ยงวันพฤหัสบดี บนเวทีเล็กๆที่มีป้ายเขียนคำว่าดนตรีจิตอาสาไว้ด้วย   วงดนตรีนั้น เป็นวงของโรงพยาบาลสวนดอกเอง  นักดนตรีเป็นหมออินเทิร์นกับนักศึกษา  เพลงที่เล่นมีทั้งเพลงบรรเลงและเพลงร้องประเภทฟังสบาย  

        ต่อมาต้นปีนี้ ผมไปพบว่า มีดนตรีให้ฟังทุกวันตลอดสัปดาห์ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ จากหลายกลุ่มสลับกัน ผมเก็บข้อมูลจากภาพถ่ายบนกระดานและจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกิจกรรมนี้  ทราบว่าเป็นการเล่นดนตรีสดๆโดยนักดนตรีจริงๆ เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นชมรมผู้สูงวัยจากหมู่บ้านรุ่งอรุณ อำเภอหางดงเท่านั้น ที่เป็นกลุ่มนักร้องล้วนๆ ใช้ดนตรีสำเร็จรูปในคาราโอเกะเป็นหลัก  กลุ่มที่เล่นเครื่องดนตรีกันจริงๆมีสี่กลุ่ม เป็นดนตรีสากลสามกลุ่ม ดนตรีพื้นเมืองหนึ่งกลุ่ม  ต่อมา ผมมีโอกาสได้ไปชมการแสดงของบางวง ก็ทราบว่าวงดนตรีสากลของบุคคลภายนอกเป็นของนักดนตรีระดับมืออาชีพที่มีงานประจำตอนกลางคืนสองกลุ่ม  อีกกลุ่มหนึ่งเป็นตำรวจ ซึ่งทราบจากภาพถ่ายว่าบางครั้งมาเล่นดนตรีทั้งเครื่องแบบด้วยเพราะเพิ่งออกเวร  ส่วนวงดนตรีพื้นเมืองนั้น ยังไม่พบ จึงไม่ทราบว่าเป็นนักดนตรีระดับไหน

       ผมทราบต่อมาว่ากลุ่มดนตรีสากลกลุ่มหนึ่งกับกลุ่มนักร้องสูงวัยที่ใช้คาราโอเกะได้แวะเล่นที่โรงพยาบาลประสาทในช่วงเช้าก่อนจะมาเล่นต่อที่สวนดอกในวันที่ถึงตาของกลุ่มตน 

      ผู้ฟังทั้งสองแห่งส่วนใหญ่มีสถานะเป็นผู้ป่วยตามทะเบียนของโรงพยาบาล มีบ้างประปรายที่เป็นญาติผู้ไปส่งและเดินไปยังจุดต่างๆตามขั้นตอนแทนผู้ป่วย   ที่สวนดอก ดนตรีเล่นใกล้บันไดเลื่อนในห้องโถงใหญ่ซึ่งเป็นที่คัดกรองผู้ป่วย ที่ชำระเงิน และที่รอรับยา ที่นี่จึงมีคนมาก และเดินไปมาขวักไขว่ ส่วนที่โรงพยาบาลประสาท เป็นห้องโถงยาว เป็นที่รอพยาบาลเรียกชื่อให้เข้าพบแพทย์ ไม่ค่อยมีใครลุกเดินไปมามาก  เพราะที่นี่เป็นที่สำหรับโรคเฉพาะเพียงโรคเดียว ผู้ป่วยจึงอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ไม่แพ้ที่ห้องโถงดนตรีของสวนดอก

       การเล่นดนตรีต่อสาธารณชนกับต่อผู้ฟังเฉพาะกลุ่ม ไม่น่าจะเหมือนกัน  แม้แต่การเล่นต่อสาธารณชนก็ยังมีข้อแตกต่าง เช่น การแสดงคอนเสิร์ตบนเวทีกับการเล่นบนถนนคนเดินซึ่งได้สตางค์เหมือนกันก็ยังไม่ใช่อย่างเดียวกัน  การเล่นดนตรีในโรงพยาบาลนั้น  โดยสามัญสำนึก(และโดยไม่ต้องเรียนวิชาจิตวิทยาดนตรีก็ได้) จึงต้องต่างกับคอนเสิร์ต(แบบไทยๆ) ซึ่งเป็นมหรสพเต็มตัว และนักร้องจะต้องเป็นทั้งศิลปิน  เป็น entertainer  และเป็น  presenter ไปด้วยพร้อมๆ กัน

       การเล่นดนตรีในโรงพยาบาลควรเป็นอีกแบบหนึ่ง  คือเป็นอย่างที่หัวหน้าแผนกคนไข้นอกของโรงพยาบาลประสาทเสนอว่า ควรเป็นดนตรีที่เรียบๆ ฟังสบายๆ อย่างผ่อนคลาย ไม่ดังอึกทึก จึงจะเหมาะสมกับสถานะและวัยของผู้ฟัง และกับสถานที่

      และนี่คือหลักการที่ถูกต้องตามหลักวิชาจิตวิทยาดนตรี  นี่คือหลักการที่ทำให้นักดนตรีต้องมีโจทย์ในการเลือกสรรสไตล์ดนตรีที่เหมาะสม สำหรับทั้งผู้ฟัง วาระโอกาสและสถานที่  ดนตรีควรจะสอดคล้องกับการตอบสนองต่อเสียงดนตรีจากผู้ฟัง ซึ่งมีสองด้านเสมอ คือ การตอบสนองทางกาย (physical response) กับการตอบสนองทางจิต (spiritual response)  ดนตรีในโรงพยาบาลควรเน้นการตอบสนองทางจิตมากกว่าทางกาย (ซึ่งตรงกับความประสงค์ของโรงพยาบาลพอดี) 

       ความสำคัญของการเลือกชนิดของดนตรี ไม่ใช่เรื่องใหม่ อาริสโตเติล (Aristotle) และ เพลโต (Plato) ปราชญ์ชาวกรีกยุคคลาสสิกมีความเห็นตรงกันว่า เราสามารถใช้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพของประชากรได้  เพลโตนั้นเชื่อในดนตรีเต็มที่ถึงกับเคยโม้ว่า เขายินดีแต่งเพลงให้แก่ประเทศชาติ แล้วจะไม่มีใครออกกฎหมายเลยก็ไม่เป็นไร

      ผมไม่ได้เชื่อถือดนตรีมากถึงขนาดเพลโต  แต่เห็นตรงกับเงื่อนไขของโรงพยาบาล และนี่ทำให้การนำเสนอดนตรีของผมที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ทุกเช้าวันศุกร์เว้นศุกร์ไม่ค่อยเหมือนกับของคนอื่นเท่าไหร่

 

หมายเลขบันทึก: 471177เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2011 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับท่านอาจารย์ สล่ากวาม ครับผม

ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในพลังแห่งสุนทรียภาพด้านนี้ครับ ผมคิดว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์และสามารถอธิบายได้ (เท่าที่เคยศึกษาเรียนรู้มาบ้างนะครับ) ซึ่งในอดีตผมไม่เคยคิดว่าสิ่งนี้จะมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์เลย

ขอบพระคุณสำหรับการแบ่งปัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท