การละชั่ว ทำดี อย่างไหนสำคัญกว่ากัน


บางครั้ง บางคน ก็มีข้อสงสัยขึ้นมาได้ว่า การละเว้นความชั่ว กับการทำความดี อย่างไหนจะสำคัญกว่ากัน

จากคำตรัสของพระพุทธองค์ที่ว่า

"การไม่ทำบาปทั้งสิ้น

การยังกุศลให้ถึงพร้อม

การทำจิตของตนให้ผ่องใส

นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย....."

แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการไม่ทำบาป การสร้างกุศล และการฝึกจิตมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และ

และจากคำตรัสในขุททกนิกาย ธรรมบท ปาปวรรคที่ว่า

"บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป"

ย่อมยืนยันได้ว่า ทั้งการละบาป ทำบุญ ต้องทำไปด้วยกัน

การละบาป เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ใช้คำพูดส่อเสียด ยุยงผู้อื่น คือการรักษาศีล สำรวมอินทรีย์ อันเป็นหลักเบื้องต้นที่ทำให้บุคคลมีชีวิตอย่างปกติ เมื่อชีวิตเป็นปกติแล้ว (เช่น เมื่อไม่ลักทรัพย์ก็ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะถูกจับ ถูกลงโทษ) การทำความดีเช่น การช่วยสงเคราะห์ผู้อื่น จัดเป็นบุญ เมื่อทำบุญ ย่อมเกิดปีติ สุข ซึ่งปีติ สุข นี้ คือผลที่ได้รับทันทีในปัจจุบัน อันเป็นปีติ สุข ที่เป็นของบุคคลทั่วไป

บุญ นอกจากจะนำสุขมาให้ในปัจจุบัน เป็นหลักประกันในภพหน้าแล้ว ยังเป็นเครื่องประดับจิต ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อใช้จิตที่เป็นสมาธินี้พิจารณาธรรม จนรู้ทั่วถึงธรรมที่พิจารณาตามความเป็นจริง ย่อมเกิดปีติ สุข อันเป็นปีติ สุข ที่ไม่ใช่เป็นของบุคคลทั่วไปซ้ำขึ้น ซึ่งมีความสำคัญคือสามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังคำตรัสนี้

" [๓๓๓] ภิกษุผู้เข้าไปในเรือนว่าง

มีจิตสงบ เห็นแจ้งธรรมโดยชอบ

ย่อมเกิดความยินดีที่ไม่ใช่เป็นของคนทั่วไป

[๓๓๔] ขณะใด ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิด

และความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลาย

ขณะนั้น เธอย่อมได้รับปีติปราโมทย์

ซึ่งเป็นอมตธรรมสำหรับผู้รู้ทั้งหลาย

[๓๓๕] ในอมตธรรมนั้น ธรรมนี้คือ

ความสำรวมอินทรีย์ ความสันโดษ

และความสำรวมในปาติโมกข์

เป็นเบื้องต้นของภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้

[๓๓๖] เธอจงคบภิกษุที่เป็นกัลยาณมิตร

มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน

ควรทำการปฏิสันถาร และฉลาดในเรื่องมารยาท

เพราะปฏิบัติตามคุณธรรมดังกล่าวนั้น

เธอก็จักมากด้วยปราโมทย์

จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้"

ขุ.ธ. (แปล) ๒๕/๓๓๓-๓๓๖/๑๔๙-๑๕๐

การละเว้นความชั่ว รวมไปถึงการสำรวมอินทรีย์ การทำความดี และการหมั่นพิจารณาธรรม จึงต้องควบคู่กันไปในบุคคล เพื่อการพบความสงบที่แท้จริง

....................

บันทึกที่ต่อเนื่องจากบันทึกนี้ " จิตผ่องใส ทั้งที่พึงและไม่พึงเป็นไป "

หมายเลขบันทึก: 471021เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2011 05:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เจริญพร โยมณัฐรดา,

  • "ความชั่วต้องหลีกหนี ความดีต้องเกลือกกลั้ว ใจตัวต้องพัฒนา"
  • เหล่านี้คือ "มรรคาแห่งสันติสุข"
  • ขออนุโมทนาด้วยสาราณียธรรม

สวัสดีวันหยุดค่ะพี่ตุ๊กตา

มารับธรรมะ เป็นมงคลชีวิตของวันค่ะ อิอิ

พี่ตุ๊กตาสบายดีนะคะ ^v^

นมัสการเจ้าค่ะพระคุณเจ้า

ขอบพระคุณเจ้าค่ะที่แวะมาให้ความเห็น

อันเป็นกำลังใจเจ้าค่ะ

นมัสการลา

สวัสดีค่ะคุณหมอดาว

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

อากาศเย็น รักษาสุขภาพนะคะ

  • สวัสดีครับ
  • แวะมาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้
  • การละชั่ว ทำดี อย่างไหนสำคัญกว่ากัน...
  • แม้ว่าจะสำคัญในทุกสิ่ง (เพราะต้องปฏิบัติเหมือนกัน)
  • แต่คำสอนของพุทธองค์ มีนัยเสมอ
  • เหมือนศีล...ความสำคัญจะเรียงลำดับจากสำคัญ....กว่า...น้อย
  • เรียงตามข้อ 1...5
  • ละชั่ว..ทำดี ก็น่าจะนัยเดียวกัน
  • ผมคิดว่าละชั่วต้องมาก่อน...แล้วค่อยยกระดับต่อๆ ไป
  • แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ทั้ง 3 ส่วนล้วนต้องปฏิบัติทุกข้อ
  • ลปรร.นะครับ

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา

ผมหายไปนาน กลับมาอ่านข้อเขียนของพี่เช่นเดิมครับ

ผม(คิดว่า)ถ้าเราไม่ทำความชั่ว ก็อนุโลมได้ว่าเป็นการสร้างความดีอย่างหนึ่งนะคัรบ

ขอบคุณครับ

อ่านคำสอนของพระอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์ และศึกษาเองจากหนังสือ เข้าใจว่า เมื่อเราถือศีล อันหมายถึงดำรงตน ละจากการทำความไม่ดี เพิ่มการเจริญสติสมาธิและดำรงจิตให้ผ่องใส

เท่ากับดำเนินรอยตามคำสอนของพระพุทธองค์

 

เข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ พี่ตุ๊กตา(ขอเรียกชื่อน่ารักนี้บ้างค่ะ)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท