เรียนรู้จากหนังสือ “อยู่ทุกที่ก็มีสุข”


พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้

 

 

ผมได้หนังสือราคาถูกแต่มากไปด้วยคุณค่าเล่มนี้ จากร้าน 7-11 ความหนาของหนังสือ 133 หน้า แต่ขายราคาเพียง 39 บาทเท่านั้นเอง อีกทั้งยังแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งสมทบทุนสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม ณ มูลนิธิอุทยาน อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ด้วย หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจได้ดีมากๆ เล่มหนึ่ง ผู้เขียนแต่ละท่านต้องขอบอกว่าเป็นปราชญ์นักเทศน์ชื่อดังระดับชาติเลยทีเดียว ได้แก่ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) วัดสวนแก้ว, พระศรีศาสนวงศ์ วัดหงษ์รัตนาราม, พระมหากิตติศักดิ์ โคตมสิสโส(ศ. สียวน) วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์, พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุขะโต จังหวัดชัยภูมิ, พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) วัดเบญจมบพิตร และพระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ(สุปัญบุตร) วัดลานนาบุญ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี   เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 6 ภาค ตามผลงานของผู้เขียนแต่ละท่าน แต่ละภาคก็แบ่งเป็นกลุ่มเนื้อหาเป็นบทๆ ไป แต่ละเรื่องอ่านง่าย อ่านสนุก มีตัวอย่างนิทาน เหตุการณ์ สถานการณ์เล่าประกอบให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น

 

พระไพศาล วิสาโล

ภาพจาก http://www.matichon.co.th/online/2010/07/12794374261279437463l.jpg

 

ภาคที่หนึ่ง เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุขะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เนื้อหาของภาคนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจกับความสุขที่แท้จริง ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุเงินทอง สภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือคนอื่นๆ จิตใจคนเราต่างหากที่ปรุงแต่งไป ท่านสอนว่า คนเราจะเป็นสุขได้ก็ต้องยอมรับความจริง และไม่ว่าจะเจอกับสถานการณ์อย่างไรเราก็จะเป็นสุขได้ทุกที่ทุกเวลา

 

พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ)

ภาพจาก http://www.junghoo.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=27694&Ntype=4

 

ภาคที่สอง เขียนโดย พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) แห่งวัดสวนแก้ว เนื้อหาของภาคนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับมือกับความทุกข์ โดยท่านได้เล่าประสบการณ์ที่พวกเราหลายคนคงได้ประสบกับตัวเองมาทั้งที่กำลังพบและกำลังจะผ่านไปนั่นคือเหตุการณ์มหาอุทกภัยนั่นเอง แทนที่จะจมกับความทุกข์ ก็เอาความทุกข์นั่นแหละมาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เกิดเป็นปัญญา ท่านได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมหลายๆ ตัวได้เกิดขึ้นมาในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ทั้งนี้เราต้องรู้จักสังเกต และคิดแนวขวางนอกกรอบ ต่อยอดออกไป

 

พระมหากิตติศักดิ์ โคตมสิสโส(ศ. สียวน)

ภาพจาก http://siamclassview.edu.chula.ac.th/cudm/assets//images/board_admin/13.jpg

 

ภาคที่สาม เขียนโดยพระมหากิตติศักดิ์ โคตมสิสโส (ศ. สียวน) แห่งวัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์ เนื้อหาของภาคนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำธรรมะมาใช้อย่างมืออาชีพ โดยให้สมดุลทั้งปัญญาและศรัทธา กลมกลืนไปกับวิถีชีวิต ท่านยังได้อธิบายหลักของอิทธิบาท 4 ที่แปลความหมายแล้วหมายถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จนั่นเอง ด้วยตัวอย่างเหตุการณ์ประสบการณ์ของการใช้ชีวิตในสังคมให้เข้าใจแบบง่ายๆ ทำให้ตอกย้ำและซาบซึ้งกับองค์ความรู้ที่องค์พระศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อกว่า 2,500 กว่าปีก่อนหน้านี้แล้ว เรื่องเหล่านี้มิใช่เรื่องคร่ำครึโบราณเลย เพียงแต่เราไปเห่อพวกฝรั่งมังค่า กับคำศัพท์หรูหราภาษาอังกฤษด้วยค่านิยมแบบผิดๆ

 

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี)

ภาพจาก http://www.prachachat.net/online/2009/07/12471062431247106443l.jpg

 

ภาคที่สี่เขียนโดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) แห่งวัดเบญจมบพิตร เนื้อหาของภาคนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเป็นเศรษฐีที่แท้จริง จากเนื้อหาดังกล่าวทำให้ผมเพิ่งได้รับความกระจ่างว่าคนมีเงินไม่ใช่เศรษฐีเสมอไป เพราะคำว่า “เศรษฐี” หมายถึงผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ คำศัพท์ที่แท้จริงที่ใช้เรียกคนที่มีเงินหรือทรัพย์สินมาก เรียกว่า “วาณิช” แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมเรียก ดังนั้นคนที่ มีเงินหรือทรัพย์สินมากแต่ยังไม่เป็นผู้ให้ที่ดีก็ยังสามารถไม่เรียกว่าเป็น “เศรษฐี” ได้

 

พระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ(สุปัญบุตร)

ภาพจาก http://www.facebook.com/Chutipunyo?sk=photos#!/photo.php?fbid=130862203595666&set=a.160075930674293.43187.130861856929034&type=3&theater

 

ภาคที่ห้า เขียนโดยพระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ(สุปัญบุตร) วัดลานนาบุญ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี  เนื้อหาของภาคนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ ท่านสอนให้เราเข้าใจชีวิต รู้เป้าหมายของชีวิต โดยใช้นิทานเซนเป็นตัวเล่าเรื่องเพื่อโยงให้เห็นภาพ นอกจากนี้ท่านยังให้หลักธรรมที่เป็นองค์ความรู้ในการตอบโจทย์ชีวิตไว้ 4 ประการดังนี้ การจัดหลักระบบความคิดความเชี่อให้ถูกต้อง การการถึงพร้อมด้วยศีลดำเนินชีวิตด้วยความเป็นปกติด้วยศีล (ศีลแปลว่าปกติ) จัดระเบียบชีวิตให้ชัดเจนและเหมาะสม การถึงพร้อมด้วยการเสียสละ โดยสละสิ่งที่ดีงามให้กับผู้อื่นและลลัดสิ่งที่ไม่ดีออกจากตัวเรา และสุดท้ายคือการถึงพร้อมด้วยปัญญา เข้าใจโลกเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ตามหลักความจริง 3 ประการคือ ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรได้ดังใจทั้งหมด และไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ

 

พระศรีศาสนวงศ์ วัดหงษ์รัตนาราม

ภาพจาก http://www.alittlebuddha.com/News%202011/May%202011/28%20May%202011.html

 

ภาคที่หก เขียนโดยพระศรีศาสนวงศ์ วัดหงษ์รัตนาราม เนื้อหาของภาคนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องกรรม การที่เราจะเข้าใจกรรมได้ เราจะต้องมีศรัทธาเสียก่อน ซึ่งเหตุและผลของกรรมในพุทธศาสนามีความสลับซับซ้อน บางเรื่องก็เป็นเรื่องลึกซึ้งมากจนกระทั่งปัญญาของปุถุชนอย่างเราก็ไม่สามารถเข้าใจได้ โดยได้อธิบายผลของกรรมไว้ 4 ประเภท คือ กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลาในชาตินี้ กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไปต่อจากชาติหน้า และสุดท้ายคืออโหสิกรรมที่ผลกรรมชั่วไม่สามารถตามสนองได้ทัน หรือการที่ได้รับผลกรรมนั้นแล้ว ดังนั้นท่านจึงสอนให้เรายึดมั่นในการทำคุณงามความดี ตามพระพุทธคุณทั้งสาม คือ พระมหากรุณาธิกุล พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกไปยังอบายภูมิได้

 

หมายเลขบันทึก: 470837เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2011 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เดินทางมาอยู่ในห้องสมุดส่วนตัวแล้วครับ เล่มนี้ ;)...

ขอบคุณครับ

เด็กน้อยขอพี่ขี่หลัง
เด็กใหญ่มีพลังเหลืออยู่
แม่สายดุ่มเดินเพลินดู
แม่อยู่ดูร้านไหนเอย

 

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ หลังจากที่น้ำท่วมผ่านไปแล้วผมก็ไม่ค่อยเข้ามา เพิ่งได้เข้ามาเมื่อไม่นานนี้เอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท