งูกัด ปลิงเกาะ แมลงต่อย ทำอย่างไรดี


ที่มา: คู่มือประชาชนสำหรับป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม โดยสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
http://www.ddc.moph.go.th/emg/flood/showimgpic.php?id=365

การปฏิบัติตัวเมื่อถูกสัตว์ แมลงมีพิษกัด

งูกัด เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจพบได้กรณีน้ำท่วมผู้ถูกงูกัดควรดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น ดังนี้

  1. ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจเกินเหตุ เนื่องจากผู้ถูกงูกัด บางรายที่ถูกงูพิษกัดอาจไม่ได้รับพิษ เพราะบางครั้งงูพิษกัดแต่ไม่ปล่อยพิษออกมา หรืองูพิษตัวนั้นได้กัดสัตว์อื่นมาก่อนและไม่มีน้ำพิษเหลือ ในกรณีที่ได้รับพิษงู ผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรงทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที จึงจะเริ่มมีอาการรุนแรง
  2. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (ถ้ามี) ห้ามทำสิ่งต่อไปนี้ คือ กรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษาผู้ถูกงูกัด แต่จะมีผลเสีย เช่น เพิ่มการติดเชื้อ เนื้อตาย และที่สำคัญทำให้เสียเวลาที่จะนำส่งผู้ถูกงูกัดไปสถานพยาบาล
  3. เคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด
  4. การเคลื่อนไหวร่างกายมาก ๆ อาจจะทำให้มีการดูดซึมพิษงูจากบริเวณที่ถูกกัดเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดมากขึ้น และถ้าทำได้ให้ใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดและใช้ผ้าพันยืด หรือผ้าสะอาดพันทับให้แน่นพอประมาณ คล้ายการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก หรือ ข้อมือข้อเท้าซ้น
  5. ไม่ควรทำการขันชะเนาะ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดเป็นเนื้อตาย
  6. นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด
  7. ระหว่างการนำส่ง ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยหายใจ เช่น การช่วยหายใจแบบปากต่อปาก จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้นานพอที่จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลได้เพราะงูพิษบางอย่าง เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา มีพิษทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัว ผู้ถูกงูกัดจะเสียชีวิตจากการหยุดหายใจ

สิ่งที่ควรรู้

  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบลักษณะงูที่กัด และกัดบริเวณใด เมื่อไร ถ้านำซากงูไปด้วยก็จะดีมาก แต่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาตามหา และไล่ตีงูเพื่อนำไปด้วย เพราะจะทำให้เสียเวลาในการรักษาโดยไม่จำเป็น ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เคยมีประวัติแพ้ยาหรือสารใด ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
  • ผู้ถูกงูกัดไม่จำเป็นต้องได้รับเซรุ่มแก้พิษงูทุกราย แพทย์จะให้เซรุ่มแก้พิษงูเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น 

แมลง สัตว์อื่นๆ

  • ผึ้ง ต่อ แตน กัดต่อย ให้ใช้หลอดเล็กๆ แข็งๆ หรือปลายด้ามปากกาลูกลื่นที่ถอดไส้ออกแล้ว ครอบจุดที่ถูกกัดต่อยและกดให้เหล็กในโผล่ขึ้นมา แล้วจึงใช้วิธีคีบดึงออก อย่าใช้วิธีบีบหรือเค้น เพราะจะทำ ให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัดต่อยบวมได้ ทาแผลด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลน
  • ตะขาบ แมงป่องกัด ให้ทาแผลด้วยแอมโมเนีย หรือครีมไตรแอมซิโนโลน
  • ถ้ามีอาการปวดมากมีอาการแพ้ เช่น หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก ควรรีบไปพบแพทย์

ปลิง

ปลิง เป็นสัตว์ที่กัดและดูดเลือดคนและสัตว์เป็นอาหาร โดยปล่อยสาร ที่กระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว และ
สารต้านทานการแข็งตัวของเลือด ทำให้คนที่ถูกกัดเลือดไหลไม่หยุดและเสียเลือดเรื่อยๆ หากปลิงไชเข้าไปในลำไส้ใหญ่และทะลุลำไส้ จะทำให้ช่องท้องอักเสบ หากปลิงเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะจะทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วในภายหลังแต่พบได้น้อย
อาการที่พบจากการถูกปลิงกัดคือ มีเลือดไหลออกมาจากทวาร รู หรือโพรงหลังการแช่น้ำ เช่น เลือดกำเดาออก ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด มีเลือดออกทางทวารหรือช่องคลอด ทำให้เสียเลือดมาก ถ้าหากปลิงอยู่ในโพรงจมูกอาจทำให้ปวดศีรษะเป็นเวลานาน ถ้าอยู่ในกล่องเสียงจะทำให้ไอเป็นเลือด หายใจไม่ออก
การดูแลตนเองเบื้องต้น

  1. ควรเดินทางโดยเรือหรืออุปกรณ์อื่นที่ลอยน้ำได้ ถ้าจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำท่วมสูงระดับเอวขึ้นไป ขอให้แต่งตัวให้มิดชิด ควรใส่กางเกงใน สวมกางเกงขายาวและสวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าและหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง แล้วรัดด้วยเชือกหรือยางเพื่อป้องกันไม่ให้ปลิงเข้าไปในกางเกงได้
  2. หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือแช่น้ำนานๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่น้ำท่วมขัง
  3. ระมัดระวังบุตรหลานหรือเด็กเล็กที่เล่นน้ำในบริเวณน้ำท่วมขัง เพราะเสี่ยงต่อการที่ปลิงจะเกาะและชอนไชเข้าไปในทวาร รู ช่อง และโพรงต่างๆ ของร่างกายได้
  4. กรณีถูกปลิงกัดหรือดูดเลือด
    1. หากเห็นตัวปลิงเกาะอยู่บนร่างกายไม่ควรดึงออกทันที เพราะจะทำให้เนื้อฉีกขาดเป็นแผลใหญ่ และเลือดหยุดยากขึ้น ควรใช้น้ำเกลือเข้มข้น (ใช้น้ำผสมเกลือแกง) น้ำส้มสายชูแท้ หรือแอลกอฮอล์ 70% หยดบริเวณรอบๆปากของปลิง หรืออาจใช้ไม้ขีดหรือบุหรี่ที่ติดไฟจี้ตัวปลิง จะทำให้ปลิงหลุดออกได้
    2. ทำความสะอาดบาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อเบตาดีนหยดลงบนสำลีหรือไม้พันสำลีที่สะอาด เช็ดเป็นวงรูปก้นหอยจากส่วนในแผลออกสู่ส่วนรอบนอกของแผล
    3. กรณีไม่มียาทำความสะอาดบาดแผล อาจใช้วิธีการพื้นบ้าน เช่น ใช้ใบสาบเสือล้างให้สะอาดนำมาขยี้ปิดปากแผล ใช้ยาเส้นพอกปิดปากแผล เป็นต้น
    4. หากเลือดยังไม่หยุดไหล ให้ใช้ยาซึ่งมีฤทธิ์ช่วยในการหดตัวของเนื้อเยื่อและหลอดเลือด เช่น คาลามาย โลชัน ทาบริเวณปากแผล
    5. หากสงสัยว่า ปลิงชอนไชเข้าไปในร่างกาย เช่น มีเลือดออกตามช่องหรือโพรงต่างๆ ไม่หยุด ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล แพทย์จะได้ช่วยเหลือคีบปลิงออกได้ทัน
หมายเลขบันทึก: 470693เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2011 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีประโยชน์มากค่ะ ต้องขอแบ่งปันไปเขียนไว้ เกิดเหตุจะได้ช่วยเหลือเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท