แก้หนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน : กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง


แก้หนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

“แก้หนี้นอกระบบ” อย่างยั่งยืน

ที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง หมู่ที่ 10 ตำบลดงขี้เหล็ก

อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี

“หนี้นอกระบบ” ถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมมาช้านานแล้ว การจะแก้ปัญหาให้หมดไปอย่างยั่งยืนนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแหล่งเงินกู้ใหม่ที่มีสัญญายุติธรรมกว่าบางครั้งก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะอาจเป็นเพียงการย้ายหนี้จากที่หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่งและแก้ปัญหาได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ที่หมู่บ้านขอนขว้างเองก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้ชาวบ้านกับหนี้นอกระบบก็เคยเป็นของคู่กันมาก่อน เพราะการพึ่งพาเงินทุนและปัจจัยการผลิตจากนายทุนคือหนทางเดียวที่ทำให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่หากปีใดฝนฟ้าดีก็ได้ผลผลิตดีมีเงินใช้หนี้ แต่หากปีใดฝนแล้งหรือน้ำท่วมภาพของชาวบ้านถูกริบผลผลิตจนไม่เหลือไว้บริโภคหรือบางรายอาจถูกริบที่ดินทำกินไป จึงเป็นสิ่งคุ้นเคยตาที่ชาวบ้านที่นี่เคยพบเจออยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นภาพบาดใจของผู้ใหญ่บ้านหนุ่มใหญ่ที่ชื่อ “ผู้ใหญ่บุญศรี จันทร์ชัย” เป็นอย่างมาก

เมื่อสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองปราจีนบุรี ได้ประชาสัมพันธ์หลักการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในที่ประชุมผู้ใหญ่บ้านประจำเดือน ว่าเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมตัวกันออมเงินเล็กน้อยอย่างสม่ำเสมอไว้เป็นแหล่งทุนในยามขาดแคลน ที่ดำเนินงานภายใต้หลักคุณธรรม ๕ ประการคือ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้วางใจกัน จึงสร้างแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าให้กลับมาชักชวนลูกบ้านร่วมกัน “ปลดแอกหนี้นอกระบบ” ออกไปจากหมู่บ้าน และในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๔ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง ก็ได้กำเนิดขึ้นโดยมีสมาชิกแรกตั้งส่วนใหญ่คือผู้เฒ่าผู้แก่ ๔๘ คน มีเงินฝากสัจจะครั้งแรก ๑,๑๕๐ บาท โดยการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดจาก “คุณฉลวย เคลือบพาย พัฒนากรประจำตำบลในขณะนั้น

การดำเนินงานของกลุ่มในช่วงแรกตั้งนั้น ยังไม่มีปัญหาอะไรให้หนักใจมากนัก เพราะกิจกรรมหลักมีเพียงการรับฝากและให้กู้เงินแก่สมาชิก หากจะมีบ้างก็คือการส่งเงินฝากสัจจะล่าช้าของสมาชิกบางราย ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ ๒ บาทต่อเดือนนั้น เมื่อเทียบกับหนี้นอกระบบร้อยละ ๕-๑๐ บาทต่อเดือนแล้วยังถือว่าถูกกว่ามาก เพราะเมื่อสิ้นปียังสามารถนำผลกำไรนั้นมาปันผลและเฉลี่ยคืนแก่ผู้กู้รวมถึงจัดเป็นกองทุนสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือกันในหมู่บ้านกลับคืน

แต่เมื่อกลุ่มมีเงินกองทุนมากขึ้นและได้ขยายวงเงินกู้เพิ่มขึ้นภายในกำหนดเวลาเดิม ทำให้เมื่อครบรอบสัญญาส่งคืน สมาชิกส่วนใหญ่ไม่สามารถชำระคืนเงินต้นได้และจะขอชำระเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น จึงทำให้การหมุนเวียนเงินทุนของกลุ่มขาดสภาพคล่อง เมื่อคณะกรรมการขอร้องให้นำเงินต้นมาคืนทั้งหมดกลับทำให้สมาชิกหันไปยืมเงินนอกระบบหรือเงินจากกองทุนอื่นมาชำระคืนแก่กลุ่ม และเมื่อครบกำหนดคืนเงินอีกกลุ่มก็จะไปขอกู้เงินอีกกลุ่มมาคืนโดยจ่ายเพียงดอกเบี้ยเท่านั้น เสมือนเป็นวงจรอุบาทว์ที่หาทางออกไม่ได้ จึงทำให้คณะกรรมการเกิดความตระหนักร่วมกันอีกครั้งว่า หากยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อไปอีก การตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในหมู่บ้านขึ้นมาก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับชาวบ้านเลย เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและพัฒนาคนให้มีคุณธรรมตามหลักการของกลุ่มได้

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้นำหมู่บ้านและสมาชิกกลุ่มได้หันกลับมาครุ่นคิดเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง และได้แนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันคือ ให้สมาชิกแบ่งชำระเงินต้นเป็นรายเดือนพร้อมขยายสัญญาเงินกู้ออกไปให้เหมาะสมกับวงเงินและความสามารถในการชำระคืนของแต่ละคนหากสมาชิกรายใดมีหนี้สินซ้ำซ้อนอยู่หลายแห่งก็ให้รวบรวมยอดหนี้มาขอกู้เงินที่กลุ่มให้พอกับหนี้สินเดิมและวงเงินที่ต้องนำไปลงทุน โดยใช้วงเงินฝากของสมาชิกด้วยกันหรือหลักทรัพย์มาค้ำประกัน หากเดือนใดเกิดเหตุฉุกเฉินในครอบครัวก็ให้ชำระคืนเพียงดอกเบี้ยก่อนได้และเมื่อดำเนินการมาระยะหนึ่งทำให้พบว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ช่วยให้สมาชิกส่วนใหญ่มีกำลังใจในการประกอบอาชีพมากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลกับหนี้สินที่กระจายอยู่หลายแห่ง หลายครอบครัวพัฒนาอาชีพจากการทำไร่ทำนาเพียงอย่างเดียวมาเพาะเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับเป็นอาชีพเสริม บางรายมองเห็นช่องทางการทำกินถึงกับยึดเป็นอาชีพหลักไปก็มี และปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักในนามของหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับในระดับประเทศไปแล้ว ส่วนรายที่ชอบอาชีพค้าขายก็นำไปค้าขายจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ ซึ่งพวกเขาเรียกการแก้ปัญหารูปแบบนี้ว่า “เป็นการทำให้หนี้ใหญ่...ให้กลายเป็นหนี้เล็ก”หรือ “ทำเรื่องใหญ่...ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก” นั่นเอง

ต่อมากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง ได้ยกฐานะขึ้นเป็นสถาบันการเงินโดยการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน โดยขอคงชื่อกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเอาไว้และได้ขยายการรับสมาชิกจากทั้งตำบล เพิ่มวันดำเนินการเพื่อให้สะดวกในการรับฝากเงินสัจจะรายเดือน รับเงินฝากพิเศษอื่น รับชำระหนี้ และรับคำขอกู้เป็นเดือนละ ๔ วันคือ ทุกวันที่ ๕,๑๒,๒๐,๒๘ ซึ่งคณะกรรมการกลุ่มจะผลัดเปลี่ยนกันมาทำงานครั้งละ ๑๑ คน โดยได้รับค่าตอบแทนคนละ ๒๐๐ บาท/วัน ที่นี่จะทำงานแบบมีส่วนร่วมและปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบนั้นมีหลายขั้นตอน หลังปิดทำการในแต่ละวันยอดเงินที่ตรวจสอบในแต่ละจุดจะต้องถูกต้องตรงกัน ส่วนสมาชิกก็ต้องเรียนรู้โดยการเขียนใบนำฝาก ใบถอนเงิน และใบสัญญาทางการเงินต่างๆ ด้วยตนเอง หากนั่งสังเกตการณ์การทำงานตลอดทั้งวันแล้วจะเห็นว่า วิธีปฏิบัติงานของคณะกรรมการที่นี่จะเป็นระบบไม่ต่างอะไรจากธนาคารเลย จะต่างกันก็เพียงแต่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต “เป็นการบริหารเงินของชาวบ้านโดยชาวบ้าน และก็เพื่อชาวบ้าน” ที่พนักงานไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาทางด้านการเงินมาจากสถาบันการศึกษาที่ไหน ถือเป็นการ “สร้างทำนบกั้นไม่ให้เงินไหลออกนอกหมู่บ้าน ที่แยบคายอีกวิธีหนึ่ง

ส่วนการลงทุนของกลุ่มนั้น นอกจากจะให้สมาชิกกู้ยืมประเภทต่างๆ แล้ว ยังได้ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซื้อสลากออมสิน ให้บริการรับชำระค่าสาธารณูปโภคและรับโอนเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า ๖๐ ล้านบาท สมาชิกกว่า ๑,๙๐๐ คน มีกำไรสำหรับปันผลและจัดสวัสดิการถึงปีละกว่า ๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสวัสดิการของที่นี่จะดูแลครอบคลุมวิถีชีวิตตั้งแต่แรกเกิดไปจนเสียชีวิต ภายใต้ปณิธานว่า “ใครก็ตามที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมชายคาบ้าน ขอนขว้าง ผู้นั้นย่อมได้รับสิทธิในสวัสดิการตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวันตาย” ให้ถือเป็นการดูแลกันไม่ให้คิดถึงเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะสวัสดิการนี้จะดูแลครอบคลุมทั้งบุคคลที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก นอกจากนี้ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองโดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันอยู่เสมอ มีการจัดงบประมาณสำหรับฝึกอบรมและศึกษาดูงานกองทุนการเงินอื่นทุกปี การมีคณะศึกษาดูงานจากที่ต่างๆ หมุนเวียนมาเยี่ยมเยือนยังเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีอีกด้วย จึงทำให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่นี่มีพัฒนาการที่ล้ำหน้าจนเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน สมาชิกของกลุ่มส่วนใหญ่จะมีเงินฝากไม่ต่ำกว่าครอบครัวละ ๑ แสนบาท เพราะหลังจากมีแหล่งทุนประกอบอาชีพที่ช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้แล้ว ได้ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านขอนขว้างดีขึ้นมากและที่เป็นเช่นนี้ได้พวกเขาบอกว่า “เป็นเพราะหมู่บ้านมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เข้มแข็งโดยการนำของผู้นำหมู่บ้านที่เข้มแข็ง” ที่บริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ เสียสละ มีใจรักงาน ไม่ทอดทิ้งชาวบ้าน ดังนั้นไม่ว่าผู้นำหมู่บ้านจะคิดหรือชักชวนทำอะไร ชาวบ้านขอนขว้างทุกคนก็จะให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ

นางประมวล มีแก้ว สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้างเล่าว่า เดิมตนมีอาชีพเข็นรถขายก๋วยเตี๋ยว สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ โดยฝากเงินสัจจะครั้งแรก ๕๐ บาท ตนเป็นคนหนึ่งที่เคยประสบปัญหาหนี้นอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ บาทต่อเดือน และเคยได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่ม โดยการให้กู้ครั้งแรก ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อไปลงทุนขายก๋วยเตี๋ยว ตอนที่เข็นรถขายก๋วยเตี๋ยวนั้นลำบากมาก ตอนหลังจึงนำที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ขอกู้เงินกับกลุ่ม ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำมาลงทุนเปิดร้านขายของชำและขายก๋วยเตี๋ยว และตนสามารถชำระคืนหมดภายใน ๒ ปี ตอนนี้ได้ฝากเงินกับกลุ่มเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท และตอนที่นอนป่วยรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลถึง ๑๘ คืน ยังได้รับเงินช่วยเหลือจากกลุ่มคืนละ ๑๐๐ บาท วันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนดีขึ้นมากสามารถนั่งยิ้มได้

นางมัจฉา สุพารัตน์ สมาชิกอีกคนที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับบอกว่า ปัจจุบันได้ฝากเงินกับกลุ่มเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท รู้สึกภูมิใจที่มีแหล่งเงินทุนอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ได้เก็บออม ตอนนี้ชาวบ้านที่นี่มีเงินเก็บกันมากขึ้น ตนเองก็สามารถซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก สร้างบ้านและซื้อรถยนต์สำหรับขนส่งผลผลิตไปให้ลูกค้าได้ ชีวิตครอบครัววันนี้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก

ส่วนพ่อกำนันบุญศรี จันทร์ชัย ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงผลงานเอาไว้อย่างน่าประทับใจว่า “รู้สึกภูมิใจที่เกิดมาแล้วมีโอกาสได้สร้างคุณงามความดีตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด ตอนนี้ตายไปก็ไม่เสียดายชีวิตแล้ว เพราะได้สร้างมรดกอันมีค่าเอาไว้ให้ลูกหลานในชุมชนแล้ว” และที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้างสามารถพัฒนาตนเองจนมีเงินทุนกว่า ๖๐ ล้านบาท ในวันนี้ได้นั้น นอกจากความมุ่งมั่นทุ่มเทของผู้นำหมู่บ้านและกำลังใจที่ดีจากลูกบ้านแล้ว “กรมการพัฒนาชุมชน” ก็ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบุญคุณต่อหมู่บ้านแห่งนี้มาก เพราะหากไม่มีกรมการพัฒนาชุมชนก็จะไม่มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในประเทศไทย และสิ่งที่อยากฝากถึงกรมการพัฒนาชุมชนคือ “อยากให้สร้างระบบการบริหารจัดการที่ดีรองรับให้กับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการตรวจสอบ ที่ผ่านมามีหลายกลุ่มต้องล้มเลิกไปก็เพราะไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี และอยากให้ส่งเสริมระบบการจัดสวัสดิการชุมชนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนเพื่อนคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอื่นๆ นั้น ก็ขอให้เป็นแบบอย่างในเรื่องความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความโปร่งใส และมีคุณธรรม หากสามารถทำได้ก็จะได้รับการยอมรับและสมาชิกจะเดินเข้ามาหากลุ่มเอง เมื่อเราสามารถทำได้ก็จะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้อื่นได้ ถือเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่และทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า ส่วนผลพลอยได้จากการทุ่มเททำงานของพ่อกำนันบุญศรีนั้น คือการได้รับรางวัลกำนันแหนบทองคำถึง ๓ ครั้ง ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดอันหนึ่งของชีวิตนักปกครองท้องที่ที่น่าภาคภูมิใจ

จะเห็นได้ว่าวิธีแก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ” อย่างยั่งยืนและเรียบง่ายนั้น ชุมชนสามารถร่วมกันแก้ได้ด้วยตนเองเพราะคนในชุมชนย่อมรู้ปัญหาของคนในชุมชนดีที่สุด และการแก้ปัญหาโดยใช้หลักการดำเนินของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นเครื่องมือนั้น มิใช่วิธีการแก้หนี้โดยการเปลี่ยนเจ้าหนี้เท่านั้น แต่หากมีการส่งเสริมการออมด้วยพลังกลุ่มไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นชาวบ้านที่นี่แม้จะมีหนี้แต่ก็ถือเป็นหนี้ของตัวเอง ถือเป็นลูกหนี้ที่มีภูมิคุ้มกัน ส่วนการจัดการภายในกลุ่มก็สามารถทำได้อย่างยืดหยุ่นและเรียบง่ายสอดคล้องกับบริบทของชุมชนเอง จึงทำให้เกือบ ๓๐ ปีที่ดำเนินงานมา กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้างไม่มีปัญหาหนี้เสียแม้แต่รายเดียว

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

หมายเหตุ : เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ "เสียงจากชุมชน คน พช." หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์แล้ว

หมายเลขบันทึก: 470584เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2011 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2017 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท