(2) ครูจรรยา ธนะนิมิตร รับรางวัลพระราชทาน “ครูเกียรติคุณ” ผู้ตามรอย “ครูแห่งแผ่นดิน”


เหตุผลที่เสนอให้ได้รับการสรรหาและคัดเลือกเป็น“ครูเกียรติคุณ” ผู้ตามรอย “ครูแห่งแผ่นดิน”๑.เป็นครูที่นำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็น“ครูแห่งแผ่นดิน” มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
                    

(ต่อ)

ตอนที่๒ เหตุผลที่เสนอให้ได้รับการสรรหาและคัดเลือกเป็น“ครูเกียรติคุณ” ผู้ตามรอย “ครูแห่งแผ่นดิน” ๑.เป็นครูที่นำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็น“ครูแห่งแผ่นดิน” มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและการทำงาน

แนวพระราชดำริที่นำมาปฏิบัติ คือ พระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗) “...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” (๔ ธันวาคม ๒๕๑๗) “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า ๓๐ ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

        จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้ามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างทั้งด้านการดำเนินชีวิตตามวิถีพอเพียง   การสอดแทรกแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดการเรียนรู้และการอบรมบ่มนิสัยให้แก่ผู้เรียนในการตั้งมั่นยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินชีวิตจนเป็นวิถึชีวิตที่ยั่งยืน  ซึ่งในปัจจุบันเด็กและเยาวชนยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในวิธีการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เด็กและเยาวชนดำเนินชีวิตด้วยความประมาท ฟุ่มเฟือย ขาดภูมิคุ้มกัน  ขาดคุณธรรมจริยธรรม  ขาดเหตุผล  ใช้ความรุนแรง จนเป็นวิถีชีวิตที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม  สร้างความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติทั้งปัจจุบันและอนาคต

วิธีปฏิบัติ การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดย

๑. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต “เข้าห้างสรรพสินค้า ไม่รู้จะซื้ออะไร…..” ครูจรรยา มักพูดคุยกับนักเรียน เพื่อนครู หรือคนคุ้นเคยอยู่เสมอ เนื่องจากครูจรรยาเป็นผู้ที่ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆใช้เอง ดังนั้นในการเข้าร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าจึงใช้จ่ายแต่ของใช้จำเป็นที่ทำเองไม่ได้เท่านั้น ปัจจุบันจะหมักชีวภาพจากเศษอาหารไว้ใช้ทำความสะอาดภายในบ้าน บำรุงต้นไม้ หมักสมุนไพรและผลไม้ไว้รับประทานเป็นยารักษาและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพูสระผม ครีมอาบน้ำ น้ำยาซักผ้า บ้วนปากน้ำยาล้างจาน ล้างรถ เช๊ดกระจกและอื่นๆ จึงเป็นการประหยัดตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน และยังแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังช่วยรักษาโรคบางโรคด้วยน้ำหมักเอนไซม์แก่ผู้อื่น เช่น ลูกศิษย์ชื่อนายวรนนท์ ขวัญดี ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งรักษายากมาก ซึ่งได้เรียนการหมักเอนไซม์ในวิชาเกษตร จึงเกิดการเรียนรู้ว่า การนำน้ำหมักเอนไซม์จากมะเฟืองไปใช้ทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำจะสามารถช่วยรักษาได้ จึงได้ใช้เอนไซม์มะเฟืองมาโดยตลอด จนมีอาการที่ทุเลาลงมาก ปัจจุบันจึงได้แนะนำให้หมักใช้เองอย่างต่อเนื่องในครัวเรือน นักเรียนที่มีสิว ฝ้า ก็นำไปใช้จนหายหรือทุเลาลงมาก
ในด้านการจัดการเรียนรู้ การปฐมนิเทศนักเรียนก่อนการเรียนวิชาเกษตร จะกำหนดข้อตกลงร่วมกับนักเรียนเสมอว่า “วิชาเกษตรห้ามใช้สมุดใหม่ เพราะเชื่อว่านักเรียนต้องมีสมุดที่ยังใช้ไม่หมดในภาคเรียนที่ผ่านมา ให้นำกลับมาใช้ด้วยการตกแต่งให้เป็นสมุดที่น่าใช้ และยังกำหนดว่าห้ามใช้น้ำยาลบคำผิด ซึ่งมีราคาแพง เพราะวิชาเกษตรถ้าเขียนผิดให้ขีดฆ่าอย่างเรียบร้อย และนักเรียนทุกคนต้องมีกล่องหรือซองใส่เครื่องเขียน เนื่องจากนักเรียนมักทำปากกา ดินสอหายบ่อยมากซึ่งเป็นการสิ้นเปลีอง” นอกจากนั้นในการเรียนวิชาเกษตรภาคปฏิบัติก็ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างประหยัด ซึ่งการอบรมสั่งสอนเบื้องต้นจะเป็นการปลูกผังนิสัยให้เด็กเป็นผู้ที่รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตตามวิถีพอเพียง ตามรอยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนเป็นวิถีชีวิตต่อไป ๒. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต ครูจรรยา ธนะนิมิตร ยึดมั่นในความถูกต้อง เคารพกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆของทางราชการ ได้ปฏิบัติงานโดยอาศัยสำนึกถึงหลักคุณธรรมและจริยธรรม หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจเกิดความขัดแย้ง ทำงานด้วยความโปร่งใส ถูกต้องตามขั้นตอนและระเบียบ เปิดเผยข้อมูลและรายงานความไม่ปรกติทันทีเมื่อพบ พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบได้ และยินดีนำผลการตรวจสอบไปปรับปรุงแก้ไข ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากผู้เรียน ดูแลและให้บริการผู้เรียนด้วยความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีอคติลำเอียงต่อลูกศิษย์ ไม่เห็นว่าคนที่มีปัญหาเป็นคนน่ารังเกียจ หรือพอใจแต่เฉพาะศิษย์ที่เรียนเก่ง ไม่สร้างปัญหาเท่านั้น มีความเป็นธรรมในการให้คะแนน และอธิบายวิธีการให้คะแนนทุกครั้งที่วัดและประเมินผล ตัดเกรดอย่างเที่ยงตรงมีหลักฐานผลงานผู้เรียนชัดเจน พูดในสิ่งที่เป็นความจริง เปิดเผยและตรงไปตรงมา และรักษาคำพูด จดจำสิ่งที่พูดได้และมุ่งมั่นอย่างดีที่สุดเพื่อบรรลุตามสิ่งที่พูด ปฎิบัติงานด้วยความสำนึกถึงภาระความรับผิดชอบ ยอมรับความผิดพลาด และความเสียหายของผลการตัดสินใจและการดำเนินงาน พร้อมที่จะชี้แจงเหตุผลตามความเป็นจริง และรีบปรับปรุงแก้ไข ไม่ผลักหรือกลบเกลื่อนความผิดพลาดของตนเองให้แก่ผู้อื่น ไม่โกรธและอาฆาตผู้ที่ติเตียนการกระทำ หรือรายงานความผิดพลาด เป็นผู้ตัดสินใจดำเนินการใดๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบโดยใช้เหตุผลและข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ ก่อนดำเนินการใดๆ คำนึงถึงผลการทบและความเสี่ยงต่างๆอย่างดีที่สุด สามารถแยกอารมณ์ ความรู้สึก ความชอบส่วนตัวได้ในการตัดสินใจ เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีสำนึกจิตสาธารณะด้วยการทำประโยชน์เพื่อสังคมสม่ำเสมอ ดำเนินชีวิตโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเสมอ ช่วยเหลือและร่วมทำประโยชน์เป็นการตอบแทนให้แก่สังคม
๓. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง ซึ่งมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ว่า “...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนา และการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...” ครูจรรยา ธนะนิมิตร ดำรงชีวิตเป็นแบบอย่างและจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เกิดพื้นฐานความคิดและพฤติกรรมสู่การสร้างชุมชนและสังคมที่พอเพียงเพื่อลดการแก่งแย่ง แข่งขันและความรุนแรง เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ผลิตสิ่งที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างคุ้มค่า มีพื้นฐานการทำเกษตรที่เน้นปลูกเพื่อกินเอง และการทำกิจกรรมที่เป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ การปลูกผักและพืชปลอดสารพิษ การทำสวนสมุนไพร การแปรรูปผลผลิตและการทำเกษตรผสมผสาน จนผู้เรียนเข้มแข็ง สามารถพึงตนเองได้ มีจิตสำนึกที่ดี เช่น นำความรู้จากการเรียนโครงงาน “เกษตรปลอดสาร อาหารปลอดโรค พลโลกปลอดภัย” ด้วยการผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การผลิตน้ำยาทำความสะอาดต่างๆจากน้ำหมักเอนไซม์ชีวภาพ ไปรณรงค์แก่เพื่อนๆ เด็กและเยาวชน บุคคลทั่วไป ให้รู้จักการผลิตและใช้เพื่อการพึ่งพาตนเอง ผู้เรียนมีความเอื้ออาทร ประนีประนอม และนึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก จึงทำให้คนและสังคมละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และการแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง ๔. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราโชวาท ว่า “...พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัว ทำลายผู้อื่น พยายามลดพยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้น ให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น...”

    ครูจรรยาเป็นผู้ประพฤติ ปฏิบัติตนตามพระราโชวาท ในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา เป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย    โดยประพฤติ ปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม  ด้วยการแต่งกายแบบไทยในโอกาสต่าง ๆ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน อย่างสม่ำเสมอตลอดปีการศึกษา โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานอาสาสมัครเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน  ด้านวัฒนธรรม  ประเพณี  พิธีกรรมทางศาสนา  และวันสำคัญต่างๆ  เช่น ประเพณีแห่เทียน  เข้าพรรษา  ประเพณีลอยกระทง  ประเพณีสงกรานต์  การทอดผ้าป่า  ทอดกฐิน  กิจกรรมวันแม่  กิจกรรมวันพ่อ ตลอดจนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น กิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชน   กิจกรรมส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น  ทำให้เกิดความร่วมมือ  ความเข้าใจที่ดีต่อกัน  เกิดความรักและความภาคภูมิใจในโรงเรียนและท้องถิ่น     

ในการดำเนินงานหัวหน้าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่๕ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ตามหลักศาสนา มารยาทไทย ศีลธรรมจรรยาต่าง ๆ เพื่อธำรงรักษาเอกลักษณ์ของชาติ ดังนี้ - กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา การสวดมนต์ การเวียนเทียน ด้วยการนิมนต์พระวิทยากรมาให้ ความรู้และจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ -จัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมการไหว้ ด้วยการเชิญวิทยากรให้การอบรมฝึกฝนการไหว้และแสดง ความเคารพที่ถูกต้องตามประเพณีไทยอย่างสม่ำเสมอ จนได้รับการเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์ช่อง๓

            รายการ “ร้อยเรื่องเมืองไทย”   ออกอากาศวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔ 

-การถ่ายทอด สืบสานวัฒนธรรม ในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ป้ายโฆษณา แผ่นพับ เสียงตาม
สาย เป็นต้น เพื่อธำรงรักษาวัฒนธรรมสืบไป

 -สร้างความรู้ความเข้าใจโดยเน้นการส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกัน ประกวดการร้องเพลงลูกทุ่งและเพลงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย โดยสอดแทรกปรัชญาและวิธีการดำเนินชีวิตแบบไทย  ชี้นำให้ผู้เรียนเลือกสรรวัฒนธรรมที่ดีงาม และปฏิเสธวัฒนธรรมอื่น ที่ไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตแบบไทย 
            -จัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีไทย โดยใช้การท่องเที่ยว  โดยนำผู้เรียนไปทัศนศึกษาที่       เมืองเก่าอยุธยา                                                  -เสนอข่าวประกาศเกียรติคุณนักเรียนที่ประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทน
      เป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักเรียนทั่วไป  เช่น แม่ดีเด่น ลูกกตัญญู ผู้ที่มีผลงานได้รับรางวัลเด็กดีศรีสันติราษฎร์     
           จากการทำกิจกรรม

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 470288เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2011 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2013 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท