LLEN นาสีนวน_01 เริ่มแล้ว สมุนไพรป่าโรงเรียน


สงสัยผมจะถูกชะตากับคนชื่อ “เพ็ญศรี” เพราะไม่เฉพาะคุณอาเพ็ญศรี ที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม และครูเพ็ญศรีที่โรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์นี้เท่านั้นที่ให้โอกาสผมได้ทำงานนี้ แต่ผู้อำนวยการที่โรงเรียนที่นี่ยังชื่อ “เพ็ญศรี” อีก นอกจากนี้แล้ว ตอนนี้ที่โรงเรียน ขามป้อมพิทยาคม น้องใหม่ของ LLEN มหาสารคาม ยังมีครูผู้ประสานงานชื่อ “เพียรศรี” เกือบจะเป็น “เพ็ญศรี” คนที่ 4 ในปีนี้ปีเดียวที่ผมได้เจอ...ฮา..

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2554

                วันนี้ผมก็ยังทำงานหลายๆ อย่างเหมือนเดิม ยังดีที่ยังไม่ได้ทำเวลาเดียวกัน วันนี้ตอนบ่ายโมงมีนัดกับ อาจารย์เพ็ญศรี ที่โรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์ และตอนบ่ายสามโมงครึ่งมีนัดลงพื้นที่เพื่อไปดูภูมิลักษณ์หนองตีนบ้าน ตามที่ตกลงไว้กับหัวหน้าหลักสูตรที่จะเขียนข้อเสนอโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”

                สงสัยผมจะถูกชะตากับคนชื่อ “เพ็ญศรี” เพราะไม่เฉพาะคุณอาเพ็ญศรี ที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม และครูเพ็ญศรีที่โรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์นี้เท่านั้นที่ให้โอกาสผมได้ทำงานนี้ แต่ผู้อำนวยการที่โรงเรียนที่นี่ยังชื่อ “เพ็ญศรี” อีก นอกจากนี้แล้ว ตอนนี้ที่โรงเรียน ขามป้อมพิทยาคม น้องใหม่ของ LLEN มหาสารคาม ยังมีครูผู้ประสานงานชื่อ “เพียรศรี” เกือบจะเป็น “เพ็ญศรี” คนที่ 4 ในปีนี้ปีเดียวที่ผมได้เจอ...ฮา..

                ครูเพ็ญศรี นาสีนวน (ขอเรียกตามโรงเรียนนะครับ) โดยการสนับสนุนอย่างดีจาก ผอ.เพ็ญศรี และเพื่อนครู ได้รับทุนวิจัยจาก สสค. (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ Quality Learning Foundation: QLF) ตามข้อเสนอโครงการเรื่อง “โครงการพัฒนาทักษณะการคิดด้วยการเรียนรู้ผ่านโครงงานสมุนไพรป่าโรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์” ต่อไปผมจเรียกสั้นๆ ว่า “LLEN นาสีนวน” ผมคิดว่าคำนี้จะครอบคลุมสิ่งที่ครูเพ็ญศรีจะดำเนินต่อไปแน่นอน ต้องขอชื่นชมการทำงานแบบเชิงรุกของคนชื่อ “เพ็ญศรี” ทั้งสอง ที่สร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สู่โรงเรียนนาสีนวนฯ ซึ่งมีทั้ง ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบล โดยประธานคณะกรรมการการศึกษามาเอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ปราชญ์ชาวบ้าน (หมอยา) โรงพยายบาลส่งเสริมสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ และที่สำคัญ ครูเพ็ญศรีได้ รู้จักขอความอนุเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ผศ.ดร.สมบัติ ท้ายเรือคำ อาจารย์ที่ปรึกษาของตัวเองให้ช่วยแนะนำการเขียนข้อเสนอ

                เวทีเสวนาวันนี้เป็นครั้งแรกของ LLEN นาสีนวน มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายหน่วยงานตามที่ได้เกริ่นไปแล้ว รวมทั้งมีตัวแทนผู้ปกครอง ครู และผู้นำนักเรียนในแต่ละชั้น เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย โดยเป้าหมายของการเสวนาคือ การประชาสัมพันธ์และร่วมกันวางแผนการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม ผมตระหนักในใจผมดีว่า งานแบบนี้จะต้องมอบให้ผู้ที่จะลุยงาน หรือคนทำงานต้องเป็นผู้ดำเนินการเสวนาเอง แต่อีกมุมหนึ่งก็คิดถึงว่า การทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า การขับเวทีเสวนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในเวลาอันจำกัดนั้น ต้องฝึกฝนตนเองนานพอควร ก่อนที่จะตัดสินใจ “แย่งไมค์” (หมายถึงเป็นผู้ผู้ดำเนินการเสวนา) มาจากครูเพ็ญศรี ผมนึกถึงตอนที่ผมมาทำโครงการนี้ใหม่ๆ ตอนนั้นกับตอนนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอะไรแตกต่างกันมาก แต่ความมั่นใจ และการ “ชง เชื่อม ใช้” ประเด็นต่างๆ สู่เป้าหมาย ในตัวผมก็พัฒนามาบ้างแล้ว จึงขอลุยเองให้ครูเพ็ญศรีดูเป็นตัวอย่างก่อน

                ผม “ชง” ด้วยการพูดถึงที่มา ที่ไป และสิ่งที่จะได้ในอนาคต โดยเน้นให้เกิดภาพ “สวยหรู” เพื่อดึงความสนใจของทุกคนในที่ประชุม ก่อนที่จะ พูดถึงเป้าหมายให้ “ชัด” ว่าวันนี้ เรามาวางแผนร่วมกันว่า ทำอย่างไรจะทำให้เกิด 1) พัฒนาการด้านทักษะการคิดของนักเรียนโดยผ่านการทำโครงงานสมุนไพรป่าโรงเรียน 2) พัฒนาการด้านทักษะชีวิตของนักเรียนผ่านกระบวนการทำโครงงานแต่ละขั้นตอน 3) เครือข่ายพัฒนาการเรียนรู้ หรือ LLEN นาสีนวน และ 4) การอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรอย่างยั่งยืน

                ผม “เชื่อม” วัตถุประสงค์เหล่านี้กับประเด็นที่เราต้องช่วยกันนำเสนอว่า การทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น จะต้องทำอะไรบ้าง (มีวิธีดำเนินการอย่างไร) ผมเพียงแต่จับประเด็นและเรียงร้อยเป็นขั้นตอน และยิงคำถามให้วิธีการที่สมาชิกในวงเสวนาตอบให้ “วิธีการเดิน” มันชัดขึ้นๆ รายละเอียดต้องให้ครูเพ็ญศรีเขียนนะครับ ผมขอสรุปไว้ตรงนี้สั้นๆ ว่า

                การดำเนินการแบ่งได้เป็น 4 ข้อ (ไม่ได้ใช้คำว่า “ขั้น” หรือ “ช่วง” เพราะบางข้ออาจดำเนินการพร้อมๆ กัน) ได้แก่ 1) การสำรวจเรียนรู้สมุนไพรในโรงเรียน 2) การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการการปรุงยาสมุนไพร 3) และการนำยาสมุนไพรไปทดลองใช้ และ 4) การเรียนรู้การอนุรักษ์สมุนไพรและสืบสานภูมิปัญญา

                ข้อแรกวงเสวนาสรุปร่วมกันว่า ครูจะคุยกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจัดเวลาให้มีชั่วโมงเกี่ยวกับโครงการนี้อาทิตย์นี้ 3 ชั่วโมง โดยจะเชิญปราชญ์หมอยา ทั้ง 4 ทั้งท่าน สลับการมา (หรืออาจมาพร้อมกัน) เพื่อพานักเรียนออกเดินป่าสำรวจสมุนไพรในโรงเรียน และจัดทำป้ายชื่อ บันทึกจำนวนสมุนไพรแต่ละชนิด เพื่อทำแผนที่สมุนไพรในป่าโรงเรียนต่อไป

                ข้อที่สอง จะมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในเวลา 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยจะเรียนเชิญปราชญ์หมอยา และ ดร.วิลาวรรณ จาก มมส. ฯลฯ มาเป็นวิทยากรรับเชิญ จำนวนครั้งตามความรู้ความเข้าใจของนักเรียน

                ข้อที่สาม ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และหัวหน้า อสม. เป็นผู้รับอาสาจะเป็นที่ปรึกษาของเด็กๆ ในการคัดเลือกคนไข้ ที่จะมาเป็นกลุ่มตัวอย่าง ตลอดทั้งให้คำปรึกษาถึงวิธีการ และเครื่องมือ วัดปริมาณต่างๆ ที่จะสามารถพิสูจน์ผลยืนยันได้ว่า สมุนไพรได้ผลหรือไม่อย่างไร

                ข้อที่ 4 ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างนักเรียน ครู นักวิชาการ และปราชญ์ชาวบ้าน เพราะการปลูกสมุนไพรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความรู้และผ่านการทดลองปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือวิธีการที่จะกลายเป็นองค์ความรู้อันล้ำค่า เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความยั่งยืนต่อไป

ขอจบบันทึกเพียงเท่านี้นะครับ ที่เหลือที่ขาดอย่างไร ฝาก ครูเพ็ญศรีช่วยเขียนเพี่มเติมในบล็อกของท่านเองก็ได้ครับ

หมายเลขบันทึก: 470265เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2011 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท