TRIPS – Plus ทริปส์ผนวก กรณีการขยายอายุการคุ้มครอง


TRIPS – Plus, ทริปส์ผนวก, ขยายอายุการคุ้มครอง

ความตกลง TRIPS เป็นผลจากการเจรจารอบอุรุกวัยของ GATT ระหว่างปี    2529-2537 นับว่าเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของ WTO ที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากสิ้นสุดการเจรจารอบอุรุกวัย ( อีกสองเสาหลักคือการค้าสินค้าและการค้าบริการ) การเจรจารอบอุรุกวัยแบ่งออกเป็นหลายเรื่อง และความสำเร็จของการเจรจาก็เป็นผลจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศกำลังพัฒนายอมรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับการที่ประเทศพัฒนาแล้วยอมเปิดตลาดการค้าสิ่งทอและสินค้าเกษตร

TRIPS กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองขั้นต่ำสำหรับทรัพย์สินทางปัญญาหลายด้าน รวมทั้งสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า ทำให้ประเทศสมาชิก WTO ต้องออกกฎระเบียบรองรับ รวมทั้งกำหนดกระบวนการพิจารณาคดีความด้านทรัพย์สินทางปัญญาในศาลภายในประเทศ ซึ่งทำให้ผู้ทรงสิทธิไม่ว่าจะเป็นคนในชาติหรือคนต่างชาติสามารถยื่นคำร้องขอความคุ้มครองและชดเชยในกรณีที่สิทธิถูกละเมิด และหากประเทศสมาชิก WTO ไม่ปฏิบัติตามความตกลง TRIPS ก็อาจถูกฟ้องร้องตามระบวนการยุติกรณีพิพาทของ WTO TRIPS มีหลักการที่จะสร้างความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆและการพัฒนาเทคโนโลยี กับการใช้ประโยชน์ของสาธารณชนจากความรู้ใหม่ๆ แต่สาระของความตกลงเน้นน้ำหนักที่การคุ้มครองสิทธิเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่า ในด้านสิทธิบัตร เมื่อพิจารณาตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การให้ความคุ้มครองอย่างเข้มข้นจะทำให้เกิดผลลัพธ์สองด้านคือ ในระยะสั้นจะทำให้ผู้ทรงสิทธิมีอำนาจผูกขาดและลดการแข่งขัน ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ และทำให้สินค้าที่ผลิตตามสิทธิบัตรมีราคาสูง แต่ในระยะยาวจะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพราะจะทำให้ได้กำไรคุ้มกับการลงทุน และส่งผลต่อเนื่องในการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาสินค้า แต่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลทางเศรษฐกิจที่ต่างไปเนื่องจากสาเหตุสองประการ คือ

(1) ประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรสุทธิ (net user) ไม่ใช่ผู้ส่งออกสินค้าที่เป็นผลพวงจาก R&D จึงไม่ได้รับประโยชน์จากกำไรที่เกิดจากการผูกขาดเพราะการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร และในทางตรงกันข้าม ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาก็เผชิญกับสภาวะที่สินค้านั้นๆ มีราคาสูง

(2) ตลาดของประเทศกำลังพัฒนามีเล็กเมื่อเทียบกับความต้องการสินค้าในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษาโรคที่เป็นปัญหาระดับโลกอย่างเช่น มะเร็ง และความดันสูง เป็นต้น ทำให้การดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิบัตรของประเทศกำลังพัฒนาไม่อาจสร้างข้อจูงใจได้มากนักสำหรับการทำ R&D ฉะนั้น ผลระยะสั้นจากการคุ้มครองสิทธิที่ทำให้สินค้าราคาสูงบวกกับการที่ไม่ได้รับประโยชน์ระยะยาวในด้าน R&D หมายถึงการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะไม่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มระดับการคุ้มครองสิทธิบัตร และมีผลการศึกษาหลายฉบับที่ชี้ให้เห็นผลในทางลบที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างชัดเจน เช่น ราคายาอาจสูงขึ้นถึง 25-50% หากมีการคุ้มครองสิทธิบัตรยานั้นๆ และมีการศึกษาเปรียบเทียบราคายาบางชนิดในสหรัฐฯและอังกฤษซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างเข้มแข็ง กับราคาในอินเดียและบราซิลซึ่งให้การคุ้มครองต่ำ ปรากฏว่ายาที่ใช้รักษาโรค AIDS ในสองประเทศแรกสูงถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ในสองประเทศหลัง ราคายาชนิดเดียวกันมีราคาเพียง 200-350 เหรียญสหรัฐฯ แตกต่างกันถึง 4,000 %

ความตกลง TRIPS ได้วางหลักการพื้นฐานในการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และได้เปิดประเด็นหลายประเด็นที่ไปไกลกว่ากรอบของ WTO ประเด็นสำคัญ คือ

(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับยา เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศที่ยากจนที่สุดไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการเพิ่ม R&D ในระดับโลก แต่ในประเด็นข้อเรียกร้องให้ประเทศที่กำลังพัฒนาที่ใหญ่กว่าหรือรวยกว่ามีส่วนร่วมในการลงทุนด้าน R&D นั้น จนถึงบัดนี้ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกันในระดับนานาชาติ

(2) ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหามากเกี่ยวกับการระบาดของโรคเมืองร้อน เช่น อหิวาต์ มาเลเรีย โปลิโอ และหัด เป็นต้น ซึ่งการคุ้มครองสิทธิบัตรจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการศึกษาวิจัยเพื่อบำบัดรักษา แต่การที่ประเทศกำลังมีตลาดขนาดเล็กและรายได้ต่อหัวต่ำ ก็ไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจมากนัก ขณะนี้ ความสนใจขององค์กรนานาชาติได้มุ่งไปที่การหาหนทางแก้ไขปัญหาของประเทศที่ยากจนที่สุด โดยเฉพาะแอฟริกาปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

(3) ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันมุ่งไปในทิศทางการให้อำนาจผูกขาดแก่ผู้ทรงสิทธิซึ่งเป็นการส่งเสริม R&D แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายสินค้าที่เป็นผลจากสิทธิบัตรและก่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ทรัพย์สินทางปัญญา จึงยังคงเป็นเรื่องสำคัญในการเจรจาระหว่างประเทศ ทั้งในเวที WTO และ FTA ประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป รวมทั้งไทย จำเป็นที่จะต้องตั้งหลักให้ดีเพื่อต่อสู้ป้องกันผลประโยชน์โดยชอบธรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ความเป็นมาและความสำคัญของ Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights (TRIPS) ความตกลงทริปส์ (TRIPS Agreement) เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของความตกลงของประเทศสมาชิกองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งผูกพันประเทศสมาชิกขององค์กรการค้าโลกทุกประเทศ ความตกลง TRIPS ที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องจำใจลงนามยอมรับในการประชุม WTO เมื่อ พ.ศ. 2537 ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และ กรรมวิธีในทุกสาขาเทคโนโลยี ยกเว้นพืชหรือสัตว์ที่ไม่ใช่จุลชีพ และกรรมวิธีทางชีววิทยาที่จำเป็น สำหรับการผลิตพืชหรือสัตว์ อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกจะต้องให้การคุ้มครองพันธุ์พืชไม่ว่าโดย สิทธิบัตรหรือโดยระบบกฎหมายเฉพาะ (ประเทศไทยได้เลือกให้การคุ้มครองพันธุ์พืชโดยใช้ กฎหมายเฉพาะ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช) ประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องปฏิบัติตามความตกลงทริปส์ภายใน 1 ปี ส่วนประเทศกำลังพัฒนาจะต้องปฏิบัติภายใน 5 ปี

ประเทศไทยนั้น เราได้ยอมรับการจดสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และได้มีการแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตรให้เป็นไปตามความตกลงทริปส์เรียบร้อยแล้วในปี พ.ศ. 2542 หมายถึงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ไทยไม่สามารถผลิตหรือนำสั่งยาตัวเดียวกับเจ้าของสิทธิบัตรเพื่อนำมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าได้อีกต่อไปจะต้องรอจนกว่าสิทธิบัตรหมดอายุ คือ 20 ปี นับจากวันยื่นคำขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทย

ส่วน TRIPS – Plus  หรือทริปส์ผนวก เป็นความต้องการของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ประเทศคู่ค้าคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็น FTA ที่กำหนดให้ประเทศคู่ค้าต้องให้การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของคน         ชาติสหรัฐอเมริกาในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของ TRIPs ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถปรับปรุงมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในการ WTO สูงกว่าการคุ้มครองที่มีอยู่  ซึ่งข้อเรียกร้องของประเทศสหรัฐอเมริกาใน TRIPS – Plus นั้น ได้กำหนดการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรใน 3 ประเด็นหลักคือ

1.คุ้มครองการประดิษฐ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิต ทำให้ประเทศที่ยอมรับข้อตกลงตาม TRIPS – Plus นี้ ต้องสละประโยชน์จากข้อยกเว้นตามความตกลง TRIPS อาจทำให้เกิดการผูกขาดในสินค้าบางประเภทเพราะสินค้าอาจจะมีราคาแพงเพราะมีมูลค่าในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

2. การเข้าร่วมในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางสิทธิบัตรหรือสนธิสัญญา PCT เป็นสนธิสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอรับสิทธิบัตร กล่าวคือยื่นครั้งเดียวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในทุกประเทศที่เป็นภาคีในสนธิสัญญา

3. การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร ข้อเรียกร้องนี้กำหนดให้ขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปี จากเดิม 20 ปี เป็น 25 ปี

 

ความเห็น


ประเด็นการเรียกร้องของ TRIPs Plus หรือทริปส์ผนวกของสหรัฐนั้น มีข้อน่าพิจารณาในหลาย ๆ ประเด็น เพื่อมองอย่างไม่ลำเอียง ต้องมองทั้งสองด้าน คือ ด้านบวก ด้านลบ โดยเฉพาะการขยายความคุ้มครองในงานสิทธิบัตรออกไปเป็น 25 ปี (ปกติ 20 ปี) ตามมาตรา 35  แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522

 

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 (1980’s) เป็นต้นมา กระแส “โลกาภิวัตน์” (Globalization) ได้แผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก ประกอบกับประเทศสหรัฐอเมริกาโดยนายจอร์จ บุช(ผู้พ่อ) ได้ประกาศ “การจัดระเบียบโลกใหม่” (New World Order) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 1990 (พ.ศ.2533)ใน 5 เรื่อง (issues) ที่สำคัญ คือ (1) เรื่องความเป็นประชาธิปไตย (Democracy) (2) เรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Right) (3) เรื่องสภาพแวดล้อม (Environment) (4) เรื่องการค้าเสรี (Free Trade-FTA) และ (5) เรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร (Copyright) (อิศราวดี  ชำนาญกิจ, “New World Order การจัดระเบียบโลกใหม่ ที่ผู้นำควรรู้”, 2552)

 

ฉะนั้น เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจแนวคิด เรื่อง กระแส “โลกาภิวัตน์” และเรื่อง “การจัดระเบียบโลกใหม่” ในแนวคิดดังกล่าวเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเหมือนเป็นอันเดียวกัน  สหรัฐอเมริกาถือเป็นเจ้าโลกที่นำทางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจการเมือง  จากกระแสโลกได้พยายามจัดระเบียบโลกใหม่ตามแนวทางที่สหรัฐอเมริกาต้องการ  แรก ๆ ก็ดูจะขัดข้องกับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสังคมนิยมทั้งหมด ต่อมาบทบาทของประเทศกลุ่มสังคมนิยมก็ได้หันมายอมรับและผ่อนคลายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ลง  นับตั้งแต่การรวมเยอรมันในปี 1990 และ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

 

มีการกล่าวกันว่าระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องของ “การค้าที่จัดการโดยบรรษัทข้ามชาติ” (Corporate Managed Trade) ซึ่งแผ่ขยายมาพร้อมกับการขายตัวของเขตการค้าเสรี ตามกฎเกณฑ์ของ WTO (Lori Wallach and Michelle Sforza, 1999)

 

ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาปี 1776 จะเน้นปัจเจกบุคคล(Individualism)และเอกชน (Privatism) มาก่อน  ทำให้อเมริกันชนมีแนวความคิดที่คุ้มครองและให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคลและเอกชนเป็นที่ตั้ง  จึงแผ่ขยายแนวคิดดังกล่าวออกไปทั่วโลกไปตามกระแสโลกและแนวคิดการจัดระเบียบโลกใหม่ซึ่งถือเป็นกระแสโลกด้วยอย่างหนึ่ง  เริ่มตั้งแต่การพยายามจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น ไปจนถึงการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในผลงานอันเกิดจากปัญญาของมนุษย์ แน่นอนว่า TRIPs Plus หรือทริปส์ผนวก คือ เครื่องมือ(Instruments)ที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา

 

ปัจจุบันถือว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ในแง่สิทธิเสรีภาพ หรือ การปกป้องคุ้มครอง อย่างหนึ่ง

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไทย ขณะนี้ คือ ยังขาดความเข้าใจในกระบวนการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ในทางกฎหมาย ทำให้หลายครั้ง หลายเหตุการณ์ที่คนไทยเสียเปรียบและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องสูญเสียผลงานหรือภูมิปัญญาไปให้ชาติอื่น อย่างน่าเสียดาย เช่น กรณีของพืชสมุนไพร กวาวเครือ ของไทยแท้และดั้งเดิม มีคุณสมบัติช่วยรักษาทรวดทรงสตรี และบำรุงสุขภาพเพศชาย แต่ปัจจุบันกลายเป็นของต่างชาติไปแล้ว โดยขณะนี้ ญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรกวาวเครือแล้ว 6 ฉบับ ,เยอรมันจดสิทธิบัตรกวาวเครือแล้ว 8 ฉบับ  (ชุติมา สุขวาสน,“บทวิเคราะห์ :ทรัพย์สินทางปัญญา บทเรียนที่สังคมไทยต้องเรียนรู้”. [Online].Available URL: pcoc.moc.go.th/pcocsys/uploadfile/72/doc/บทวิเคราะห์.doc)

 

ชุติมา ได้เสนอว่า หลักการสำคัญที่ คนไทยต้องเรียนรู้ คือหลักการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา 4 ข้อสำคัญ ได้แก่ (ชุติมา สุขวาสน, Ibid.)

1.ทำให้มี นั่นคือสร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่น และเกิดประโยชน์คุ้มค่า

2.เมื่อมีแล้วก็ต้องรู้ว่าควรทำอย่างไร สิ่งไหนควรจดสิทธิบัตร ไม่ควรจดสิทธิบัตร เพื่อให้เกิดสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย

3.รู้จักนำไปใช้ ให้เกิดเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบธุรกิจหรือชุมชน

4. เมื่อถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ก็ต้องรู้จักรักษาสิทธิ์ และโต้แย้ง

 

 

ผู้เขียนมีแนวโน้มไม่เห็นด้วยกับการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร จากเดิม 20 ปี เป็น 25 ปี เพื่อเป็นการคุ้มครองความคิดสติปัญญาของคน แม้จะอ้างว่าเพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดงานสร้างสรรค์ (Standing on the shoulder of giant)อันเป็นหลักการหนึ่งของการวิจัยและพัฒนา (Research&Development-R&D) ที่ต้องมีการคิดค้นและพัฒนาไปสู่วิถีทางที่ดีที่สุดแก่มวลมนุษยชาติ  เพราะเป็นการมุ่งขยายความคุ้มครองแก่ปัจเจกบุคคลมากว่า โดยให้ขยายออกไปอีก 5 ปี ซึ่งจะมีผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเฉพาะบุคคลและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากคิดเป็นมูลค่าภายในอีก 5 ปีก็นับว่ามหาศาล และอีกประการใหญ่ระยะเวลา 20 ปี น่าจะสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับ “อายุความ” ในการฟ้องร้องทางอาญาที่สูงสุดคือภายใน 20 ปีเท่านั้น

 

สหรัฐอเมริกามีเครื่องมือสำคัญที่จะบังคับ(ทั้งทางอ้อมและทางตรง)ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษ GSP ในการลดภาษีการค้า หรือมาตรการแซงค์ซัน(Sanction)ต่อต้านต่าง ๆ แก่ประเทศทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาให้ยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการ อันถือว่าเป็นเอาเปรียบและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน  ซึ่ง จักรกฤษณ์  ถือว่า “ขัดต่อเจตนารมณ์ของปฏิญญาโดฮา ปี 2001 (จักรกฤษณ์  ควรพจน์, ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา : ปัญหาว่าด้วยทริปส์ผนวก, 2547)

 

อย่างไรก็ตาม ความเห็นผู้เขียนมีความเห็นต่อไปอีกว่าต้องวิเคราะห์ถึงความสมประโยชน์ที่ได้รับ หากมีผลดีหรือมีประโยชน์มากกว่าก็ควรนำมาใช้ แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดที่มีทุกด้านว่า ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน (Public Interest) มิใช่ผลประโยชน์แก่ปัจเจกบุคคลมากเกินไป

 

บรรณานุกรม 

Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights – TRIPs. [Online]. Available URL : http://www.wto.org/english/tratop_e/trips_e/t_agm0_e.htm

 

Lori Wallach and Michelle Sforza, “The WTO:five years of reasons to resist corporate globalization.” Seven Stories Press, 1999.

 

Master of Laws 4 (NaKoRn Si DhAmMaRaj) http://masteroflaws4.blogspot.com/2010/10/1_27.html

 

ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ (Thailand-US Free Trade Agreement : TUSFTA). [Online]. Available URL : http://www.exim.go.th/doc/research/FTA/4487.pdf

http://eeas.europa.eu/delegations/thailand/documents/more_info/eu_today_no37_en.pdf

 

จักรกฤษณ์  ควรพจน์, ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา : ปัญหาว่าด้วยทริปส์ผนวก, 2547. [Online]. Available URL : http://www.news.cedis.or.th/detail.php?id=1369&lang=en&group_id=1

 

ชุติมา สุขวาสน,“บทวิเคราะห์ :ทรัพย์สินทางปัญญา บทเรียนที่สังคมไทยต้องเรียนรู้”. มปป. [Online].Available URL: pcoc.moc.go.th/pcocsys/uploadfile/72/doc/บทวิเคราะห์.doc

 

ธนิกานต์ เอี่ยมอ่อง.  ข้อเรียกร้องTRIPS-PLUSที่เพิ่มขึ้นนั้นคืออะไร. 30 พฤศจิกายน 2549. [Online]. Available URL : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/64524

 

ธนิกานต์ เอี่ยมอ่อง.  TRIPS-PLUS มาตรฐานที่เพิ่มขึ้นในทรัพย์สินทางปัญญา. 29 พฤศจิกายน 2549. [Online]. Available URL : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/64273

 

ธนิกานต์ เอี่ยมอ่อง.  การให้ความคุ้มครองแก่สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ TRIPs. 29 พฤศจิกายน 2549. [Online]. Available URL : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/64266

 

ธนิกานต์ เอี่ยมอ่อง.  ทรัพย์สินทางปัญญากับทรัพย์สินโดยทั่วไป. 29 พฤศจิกายน 2549. [Online]. Available URL : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/64260

 

ธนิกานต์ เอี่ยมอ่อง.  มาทำความรู้จักกับความตกลง TRIPs กันดีกว่า. 29 พฤศจิกายน 2549. [Online]. Available URL : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/64248

 

อิศราวดี  ชำนาญกิจ, “New World Order การจัดระเบียบโลกใหม่ ที่ผู้นำควรรู้.” 2552. [Online]. Available URL : http://leadership.exteen.com/20090420/new-world-order

หมายเลขบันทึก: 470216เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2011 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จวกกรมเจรจาการค้าฯ ยัดไส้มั่วข้อมูลชงรัฐบาลทำเอฟทีเอผูกขาดยา

http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000099409

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 สิงหาคม 2555 15:51 น.  

       รุมประณามกรมเจรจาการค้าฯ ยัดไส้มั่วข้อมูลชงรัฐบาลทำเอฟทีเอผูกขาดยาตามอียู อ้างไม่มีผลกระทบ ด้านนักวิชาการเตรียมล่ารายชื่อร้องนายกฯ

       จากการที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย เมื่อวันที่ 9 ส.ค.55 ที่ผ่านมา ที่เสนอต่อรัฐบาลว่า ‘ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPs หรือยอมรับ TRIPs Plus ในการจัดทำการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity) เพิ่มเติม 5 ปี จะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อยามีจำกัด’ และจะเร่งนำร่างกรอบดังกล่าวเข้าสู่ ครม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อทันการพิจารณาของรัฐสภาใน ส.ค. 55

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท