๒๑๘.3 ศาสนากับ 5 วิธี เพื่อชีวีที่มีสุข


ในช่วงสุดท้ายผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า เราอย่ามุ่งทำความดีถวายพระองค์ท่านในระดับชาติหรือระดับโลกเลย แต่การทำความดีถวายพระองค์ที่เราสามารถทำได้ทันที ที่นี้ หรือที่บ้าน ซึ่งผู้เขียนให้หลัก ๕ ประการที่ผู้เขียนเองได้ทำอยู่เป็นประจำไว้โดยตั้งชื่อให้ว่า "หลักเบญจวิธี เพื่อชีวีที่มีสุข" คือ

     วันนี้ ผู้เขียนไปร่วมเสวนาร่วม ๓ ศาสนาคือพุทธ-คริสต์-อิสลาม เนื่องจากจังหวัดพะเยาได้จัด "พิธีทางศาสนามหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"  เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นการจัดพิธีพร้อมกันทั่วประเทศ

     วันนี้ กิจกรรมจัด ณ หอประชุมโรงเรียนพะเยาพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีกิจกรรมสำคัญ ๆ ดังนี้

          ภาคเช้า :  การประกอบพิธีทางศาสนา โดยจัดงานศาสนพิธี ๓ ศาสนาในจังหวัดพะเยาคือพุทธ-คริสต์-อิสลาม เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความกตัญญูกตเวที น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในพิธี

          -พิธีกรรมทางพุทธศาสนา คือ พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์

          -พิธีกรรมทางคริสตศาสนา คือ การประกอบวจนพิธีกรรมนมัสการพะเจ้าพร้อมกล่าวคำอธิษฐาน

          -พิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม คือ การประกอบพิธีขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า

     ภาคบ่าย  :  การประชุมสัมมนา เรื่อง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศาสนา" ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานด้านศาสนา โดยตัวแทนของแต่ละศาสนา ดังนี้

          ศาสนาพุทธ โดย ผู้เขียน

          ศาสนาคริสต์ โดย บาทหลวงหิรัญ กลิ่นบัวแก้ว และศาสนาจารย์นิรันดร์ เมืองแก้ว

          ศาสนาอิสลาม โดย คอเต็บสิทธิโชค หากิจ

     ดำเนินรายการโดย นายมงคล สิทธิหล่อ วัฒนธรรมจังหวัดพะเยา ซึ่งแต่ละศาสนาได้ให้ทัศนะใน ๓ ช่วง โดยมีประเด็นที่วางไว้คือ ๑)หลักการและวิธีการของแต่ละศาสนาเป็นอย่างไร? ๒)พะบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับศาสนา...เป็นอย่างไร?  ๓)สรุปประเด็น

     สำหรับผู้เขียนได้ให้ทัศนะในแต่ละประเด็น ดังนี้

     ๑)หลักการและวิธีการของแต่ละศาสนาเป็นอย่างไร?

     พุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นแค่ศาสนาอย่างเดียว แต่เป็น scince of mind คือเป็นศาสตร์แห่งจิตวิญญาณ ซึ่งองค์ดาไลลามะ ได้ให้ความหมายไว้เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับภาษาบาลีว่า อกาลิโก (ไม่ขึ้นอยู่กัลกาละเวลา) เอหิปสฺสิโก(สามารถท้าทายให้คนมาพิสูจน์ได้) โอปนยิโก(สามารถน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติได้ทันที) ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ (สามารถรับรู้ได้เฉพาะตน)

     ดังนั้น ก่อนประกาศพระศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประกาศนโยบายให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า แนวทางที่พระองค์จะนำความเชื่อของคนในยุคนั้นอย่างไรบ้าง คือทรงตรัสโอวาทปาฏิโมกข์ ว่า

     สพฺพปาปสฺส อกรณํ (การไม่ทำบาปทุกชนิด)      

     กุสลสฺสูปสมฺปทา (การทำแต่คุณงามความดี-ให้ถึงพร้อม)

     สจิตฺตปริโยทปนํ  (การทำจิตใจให้ผ่องใส)

   

     เราจะเห็นว่าหลักการทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นพุทธวิสัย(วิสัยทัศน์) ของพระพุทธเจ้าอย่างชัดเจน เพื่อให้เห็นสภาพของความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนกับศาสนาแล้ว เราจะเห็นว่าหนีไม่พ้นกายกับจิตเท่านั้นเอง โดยจะขออนุญาตนำแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มาอธิบายโดยการตั้งคำถาม ๓ คำถามว่า

    คำถามแรก ชีวิตแท้จริงแล้วมันคืออะไร? (ขันธ์ห้า) คือรูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ

     คำถามที่สอง ชีวิตที่เราดำรงอยู่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร? (ไตรลักษณ์) คือ ความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา-อนิจฺจํ, สภาวะที่เราทนอยู่ไม่ได้-ทุกฺขํ, ความไม่มีตัวตน/ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามอำนาจของเราได้-อนตฺตา

     คำถามที่สาม แล้วชีวิตควรจะดำเนินต่อไปอย่างไรดี? (ไตรสิกขา) คือ การตั้งใจรักษาศีล, การมีอารมณ์ตั้งมั่น/ปณิธาน-สมาธิ, การใช้ปัญญาในการใช้ชีวิตด้วยสติ 

     ๒)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับศาสนา...เป็นอย่างไร? 

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ปกครอง หรือผู้นำ ฝ่ายอาณาจักร ที่ใช้การปกครองในอดีตด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ทรงมีพระเดชหรืออำนาจเต็มในยุคสมัยนั้น แต่พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นฝ่ายศาสนจักรก็มีธรรมเป็นเครื่องผ่อนปรนหรือเครื่องห้ามล้อให้ผู้ปกครองได้มีพระคุณอยู่ในสังคมได้

     หากดูพระราชประวัติของกษัตย์ไทยที่มีต่อพระพุทธศาสนานั้นมีมากมายหลายประการ แต่ขอยกตัวอย่าง เช่น

     ในยุคสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช "...คนในเมืองสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน....ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง..มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว..."

     ในยุคอยุธยา พระนเรศวรมหราช ได้ทรงรำพึงพระราชหฤทัยตรัสแก่เทพยดาทั้งปวงว่า  "...ให้บังเกิดมาในประยูรมหาเศวตฉัตร จะให้บำรุงพระบวรพุทธศาสนา ไฉนจึงมิช่วยให้สว่างแลเห็นข้าศึกเล่า..."

     ในยุคธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตรัสประกาศว่า  "...อันตัวพ่อ ชื่อว่าพระยาตาก  ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา  แด่พะศาสดา สมณะ พระพุทธโคดม..."

     ในยุครัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงตรัสประกาศว่า "...ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขันฑสีมารักษาปะชาชนและมนตรี..."

     ในรัชสมัย ร.๕ พระปิยมหาราช ทรงตรัสประกาศว่า  "...ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะต้องทำนุบำรุงพะพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งคู่กับพระราชอาณาจักรให้ดำเนินไปในทางวัฒนาถาวรพร้อมกันทั้งสองฝ่าย..."

     ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรัสประกาศว่า  "...จะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม..."

     นั่นสะท้อนให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ยิ่งหากนำเอาองค์ประกอบทั้ง ๔ ประการมาจับแล้วย่อมเห็นว่า

     ทางด้านศาสนธรรม พระมหากษัตริย์ไทยทรงออกผนวชทุกพระองค์ บางพระองค์ผนวชก่อน-บางพระองค์ผนวชหลังการขึ้นครองราชย์ และยิ่งในยุคปัจจุบันในรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยระบุไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ นั่นก็แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นชาวพุทธแน่นอน

     ทางด้านศาสนพิธี ในวัดสำคัญต่าง ๆ เช่น วันสำคัญทางศาสนาพระองค์ก็จะไปบำเพ็ญทานบารมี ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชทานกฐินที่ผ่านมา และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลงานต่างๆ

     ทางด้านศาสนวัตถุ พระมหากษัตริย์ไทยทรงสร้างและบูรณะศาสนวัตถุไว้มากมาย จนมีวัดประจำรัชกาล เช่น วัดพระแก้ว เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑, วัดอรุณฯ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ ฯลฯ

     ทางด้านศาสนทายาท ทรงแต่งตั้งเปรียญธรรม, แต่งตั้งสมณศักดิ์, พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงให้กับพระภิกษุสามเณร เป็นต้น

     หากเรามองดูเฉพาะพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ยิ่งจะเห็นได้ชัด เช่น

     -ทุกวันที่ ๔ ธันวาคม พระองค์จะทรงสอนธรรมะให้ข้อคิด หลักดำเนินชีวิตที่เกี่ยวกับหลักการทางพระพุทธศาสนาแก่ประชาชน

     -พระบรมราโชวาทเนื่องในงานพระราชทานปริญญาบัตร ที่พระองค์ทรงให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาล้วนแล้วแต่เป็นหลักธรรมแทบทั้งสิ้น เช่น หลักการครองเรือน หลักสังคหวัตถุ หลักทศพิธราชธรรม เป็นต้น

     -ทรงดัดแปลง เสริมแต่งเรื่องราวของพระมหาชนก เพื่อทรงสอนพสกนิกรของพระองค์ในเรื่องของความเพียรพยายาม อย่างพระโพธิสัตว์ที่ชื่อว่ามหาชนก

     -พระนามของพระมหากษัตริย์ต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น เช่น พระพุทธยอดฟ้าฯ , พระพุทธเลิศหล้าฯ, พระพุทธเจ้าหลวง เป็นต้น

     ๓)สรุปประเด็น

     ในช่วงสุดท้ายผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า เราอย่ามุ่งทำความดีถวายพระองค์ท่านในระดับชาติหรือระดับโลกเลย แต่การทำความดีถวายพระองค์ที่เราสามารถทำได้ทันที ที่นี้ หรือที่บ้าน ซึ่งผู้เขียนให้หลัก ๕ ประการที่ผู้เขียนเองได้ทำอยู่เป็นประจำไว้โดยตั้งชื่อให้ว่า "หลักเบญจวิธี เพื่อชีวีที่มีสุข" คือ

     หลักที่หนึ่ง เมื่อเราตื่นขึ้นมา ให้คิดว่า เรารอดตายมาแล้วอีกครั้ง เราจะทำลมหายใจและกิจกรรมในวันนี้ให้มีประโยชน์เหมือนวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา

     หลักที่สอง ให้สมาทานว่าเราจะระวัง รักษากาย-วาจา-ใจ ให้ดีและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างรู้ระลึกตัวด้วยสามัญสำนึกที่ดีต่อกัน (ศีล)

     หลักที่สาม ให้ตั้งใจ หรือมีปณิธานประจำวันว่า วันนี้เราจะทำอะไรบ้าง? ๑-๒-๓...อะไรจะทำก่อน/หลัง แล้วทำทีละอย่าง ๆ สำเร็จเป็นอย่าง ๆ (สมาธิ)

     หลักที่สี่ เมื่อภารกิจประจำวันจบลงในตอนค่ำ ให้ประมวลความคิด โดยการคิด พูด อธิบาย หรือจดบันทึกก็ดี สิ่งนั้นจะทำให้เราวิเคราะห์จุดด้อย จุดเด็น อุปสรรค์ โอกาส ของงานที่เราทำผ่านมาตลอดทั้งวัน ซึ่งจะทำให้เราได้ตกผลึกทางด้านความคิดและจะสรุปเป็นปัญญาติดตามตัวเราไป (ปัญญา)

     หลักที่ห้า ก่อนนอนให้สวดมนต์ไหว้พระ ไหว้ผู้มีพระคุณบิดามารดา แผ่เมตตาให้ตัวเองและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เป็นการแบ่งปันบุญกุศลให้แก่กันและกัน

     เบญจวิธีที่กล่าวมานี้ขอให้เราทำทุกวัน ๆ ชีวิตนั้นจะมีความสุข ตลอดไป

 

หมายเลขบันทึก: 470211เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2011 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท