ปมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย


อะไรคือความแตกต่าง ชาติกำเนิด ความขยัน หรือเพราะโครงสร้างแบบไทยๆที่ไม่เป็นธรรม ?

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมบังเอิญดูบางรายการของ TPBS ไปสะดุดกับวีดีโอสั้นๆประมาณ 5 นาทีชุดหนึ่งเป็นลักษณะของ Info Graphic มีเนื้อหาเกี่ยวกับปมความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทย เมื่อตั้งใจดูจนจบยอมรับว่าเขาสามารถอธิบายเรื่องราวได้ชัดเจนค่อนข้างครอบคลุมและเข้าใจง่ายมากที่สุดเท่าที่เคยดูหรือฟังเรื่องราวแบบเดียวกันนี้จากที่อื่นๆไม่ว่าจะเป็นวงเสวนาที่ไหน

คลิปนี้อัพโหลดขึ้น YouTube โดย hunjos เมื่อ 22 พ.ย. 2011 โดยไม่มีคำอธิบายรายละเอียดอย่างอื่นนอกจากส่วนแสดงเพิ่มเติมว่า http://v-reform.org/ ซึ่งก็เป็นหนึ่งใน url ที่ปรากฏท้ายวีดีโอ ซึ่งเมื่อตามไปที่เว็บไซต์นี้ก็ไม่พบข้อมูลอะไรเป็นเพียงหน้าเพจว่างๆเหมือนเพิ่งกำลังสร้าง แต่ก็มีคำอธิบายในส่วนของหน้าเกี่ยวกับเราว่า "V-Reform หรือ เครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป เป็นโครงการภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช. - http://www.thainhf.org/) ซึ่งนอกเหนือจากการรวบรวมข้อมูลความรู้เพื่อเผยแพร่สู่สังคมแล้ว โครงการยังมีเป้าหมายในการสังเคราะห์ให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายจากข้อเสนอที่หลากหลายของภาคส่วนต่างๆในสังคม เพื่อนำมาขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปในประเด็นต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม" และเมื่อได้เข้าไปดูที่ Facebook ของ v-reform ก็พบว่ามีความเคลื่อนไหวอยู่พอสมควร แต่เมื่อเข้าไปในเว็บของ มสช.ก็ยังไม่พบข้อมูลของ v-reform ครับไม่ทราบเหมือนกันว่าไปซ่อนอยู่ที่หน้าไหน

ที่ผมต้องสนใจหาข้อมูลของผู้จัดทำมากหน่อยก็เพราะสังคมในยามนี้เชื่อถือใครยากครับ สิ่งที่เผยแพร่ออกมาสู่สังคมเราไม่รู้ว่าคนทำเป็นใคร อยู่ฝ่ายไหน ทำโดยมีวัตถุประสงค์อะไรแอบแฝงอยู่หรือเปล่า หากว่าเราถูกใจอยากจะช่วยเผยแพร่ก็ไม่อยากจะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของใครโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เมื่อดูรายละเอียดของวิดีโอชุดนี้แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรแอบแฝงในทางที่ไม่ดี อีกอย่างเราเองก็คงวิจารณ์ได้บ้างไม่ใช่ว่าถูกใจก็ยกยอกันไม่บันยะบันยัง

เนื้อหาของวีดีโอชุดนี้ที่ผมว่าน่าสนใจเพราะเป็นเรื่องที่มีการดำเนินความพยายามในการเรียกร้องเพื่อหาหนทางไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว จำได้ว่าท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ประธานกรรมการ มสช. ก็มีบทบาทสำคัญซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราจะพบในสื่อต่างๆอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่ v-reform อ้างว่าเป็นโครงการหนึ่งของ มสช. ก็น่าจะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าสังคมยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในระดับที่ไม่น่าพอใจเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอำนาจบริหารประเทศที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญเลยก็ว่าได้ (อาจจะให้แค่คำพูดบ้างแต่ไม่มีการปฏิบัติ) สื่อก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ยิ่งในปัจจุบันนอกจากเราจะหาสื่อแท้ๆได้ยากเย็นแล้วสื่อบางส่วนยังหันไปฝักใฝ่พวกที่ไม่ศรัทธาเสียงส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อหวังประโยชน์ทางธุรกิจของพวกตนเสียอีก เรื่องที่จะทำเพื่อคนที่ขาดโอกาสจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมคงไม่ต้องไปคาดหวังอะไร

ต้องชมว่าผู้ที่สร้างวีดีโอชุดนี้มีความตั้งใจ มีความรู้และเข้าใจเรื่องราวที่สื่อออกมาอย่างลึกซึ้ง แสดงให้เห็นว่าคลุกคลีกับข้อมูลเหล่านี้มาเป็นเวลานาน ที่สำคัญก็คือสามารถนำเสนอออกมาแล้วผู้ชมเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายและชัดเจนมากที่สุด

ประเด็นของปมปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ v-reform นำเสนอสองประเด็นหลักคือเรื่องของการเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและขบวนการยุติธรรมนั้นตรงกับความเห็นของผมมากที่สุด โดยผมจะให้น้ำหนักไปที่ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพราะเป็นต้นตอที่สำคัญที่สร้างปัญหาให้กับทุกเรื่องซึ่งหากแจกแจงออกมาในเวลานี้คงมีร้อยแปดพันประการซึ่งในวีดีโอก็ได้เสนอตัวอย่างบางประการไปแล้ว และหากว่าท่านได้ติดตามข่าวสารประจำวันจากสื่อ (เลือกที่มีคุณภาพหน่อย) ก็จะพบเห็นเหตุการณ์ความอยุติธรรมที่สร้างความสลดหดหู่ไปจนถึงความคับแค้นแน่นใจอยู่เป็นประจำ

สำหรับในเรื่องของระบบการศึกษาสาเหตุสำคัญนอกจากเรื่องของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับสารพัดแล้ว กระบวนการในการบริหารจัดการรวมทั้งวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับนโยบายซึ่งผูกขาดอยู่เพียงบางกลุ่มก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ผมมองว่าความล้มเหลวของระบบการศึกษาซึ่งได้พัฒนาให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากจนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบันน่าจะมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่การเริ่มใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2520 เป็นต้นมาแล้วเพราะเราดึงเอาการศึกษาระดับพื้นฐานจากชุมชนมารวมกันไว้ที่ส่วนกลาง เมื่อไม่มีขีดความสามารถที่จะบริหารจัดการเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะโครงสร้างใหญ่เกินขีดความสามารถก็ปล่อยปละละเลยจนมีสภาพเป็นเช่นทุกวันนี้

ที่จริงทางแก้มันมีและไม่คิดว่าจะยากเย็นมากมายอะไรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระเบียบกฏเกณฑ์ โครงสร้างการบริหารจัดการ กระบวนการ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้คือความเห็นแก่ตัวของทั้งบุคลากรและผู้บริหารที่เกรงกลัวว่าจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป อีกประการหนึ่งก็คือผู้บริหารในระบบการศึกษาที่มีอำนาจบริหารจัดการจริงๆไม่มีความรู้และวิสัยทัศน์ทางด้านการบริหารจัดการและการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ เล่นพรรคเล่นพวกรวมกลุ่มกันสลับเป็นกรรมการในองค์กรต่างๆเฉพาะพวกของตนเองรวมแล้วทั้งประเทศมีไม่กี่คน ไม่มีแนวความคิด วิสัยทัศน์ หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพิ่มเติมเพราะไม่นำเอาคนใหม่ๆเข้ามาเสริม ใครที่มีความคิดเห็นต่างก็ไม่สามารถก้าวขึ้นมาได้ ตัวอย่างที่เราเห็นชัดเจนในรอบหลายปีที่ผ่านมาก็เช่นความพยายามในการหลีกเลี่ยงการถ่ายโอนโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยอ้างว่าจะทำให้ถูกนักการเมืองท้องถิ่นครอบงำครูและการศึกษา และที่สำคัญก็คือกลัวว่าครูจะเสียผลประโยชน์ "ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันให้ครู ทำให้ครูกว่า 5 แสนคนวิตกกังวลว่าโอนไปแล้วการศึกษาจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง" http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=areanan1&id=30 ทั้งๆที่ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษานับหมื่นแห่งที่ระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการคิดได้วิธีแก้ไขได้เพียงแค่ "ยุบเสีย" เท่านั้นเอง

นักวิชาการท่านหนึ่งท่านเป็นเจ้าของโรงเรียนนานาชาติเคยให้ความเห็นไว้ว่าการปฏิรูปการศึกษาไม่มีวันสำเร็จไปได้หากไม่เปลี่ยนคน เพราะแม้จะเปลี่ยนกฎหมายเปลี่ยนระบบอย่างไรก็ตามการบริหารจัดการโดยคนเดิมๆก็คงได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆนั่นเอง

ส่วนเรื่องการผูกขาดของบริษัทเอกชนผมเห็นด้วยเป็นบางเรื่องครับ เพราะเงื่อนไขที่บริษัทเอกชนจะผูกขาดตัดตอนนั้นลำพังแค่การมีเงินมีทุนสูงคงไม่สามารถทำได้หากไม่มีอำนาจรัฐเข้ามามีส่วนสมรู้ร่วมคิดด้วย ผมเชื่อว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลเหล่านี้ล้วนมีนักการเมือง(หรืออาจเป็นระดับพรรคการเมือง)และผู้มีอำนาจในประเทศให้การหนุนหลังอยู่ทั้งสิ้น ดังนั้นขณะที่ขั้วการเมืองหนึ่งเข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ อีกขั้วการเมืองหนึ่งย่อมสูญเสียผลประโยชน์และพยายามออกมาโจมตี การฟันธงลงไปว่าใครดีไม่ดีอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ดังนั้นเราจึงต้องบอกว่าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผูกขาดใดก็ตามที่เอารัดเอาเปรียบประชาชนอยู่ควรได้รับการประณามเท่าเทียมกันทุกกลุ่มครับ

สิ่งที่อยากให้เพิ่มเติมขึ้นมาอีก(ถ้าจะทำตอน2) คือการผูกขาดกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ที่ผ่านมาชาวนาถูกกลุ่มคนเหล่านี้เอาเปรียบมาก เป็นหนี้เพิ่มขึ้นทุกวัน ในขณะที่พ่อค้าส่งออกกลับร่ำรวยมหาศาลมานานนับศตวรรษ สามารถเป็นเจ้าของสถาบันการเงินระดับโลกได้ รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมาให้ความสนใจพ่อค้ามากกว่าชาวนาหรือเกษตรกร ถึงขั้นมีบางรัฐบาลเอาเงินภาษีไปอุดหนุนพ่อค้าส่งออกผ่านชาวนาหรือเกษตรกร ก็ยังทำกัน แถมออกมาขู่ด้วยว่าถ้าเราขายข้าวหรือผลิตผลทางการเษตรราคาสูงเราจะสูญเสียตลาดไป ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ยังไม่เคยพิสูจน์ว่าเป็นจริงและขัดกับการคาดการณ์ขององค์กรโลกอย่าง FAO ที่บอกว่าราคาพืชผลการเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น http://www.ryt9.com/s/expd/1204956

ผมเอาบทความและข่าวที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของปมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เอามาให้ลองอ่านดูครับ

หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1632 ประจำวันที่ 25 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2554
บทความเรื่องชาตินิยมกับชาติพันธุ์นิยม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

    "รัฐบาลไทยนับตั้งแต่ ร.6 เป็นต้นมา ใช้นโยบายที่เป็นทั้งไม้นวมและไม้แข็ง เพื่อให้ประชาชนทั้งหมดยึดถือชาติพันธุ์ "คนไทย" ร่วมกันให้ได้
    และในวัฒนธรรมทางการเมือง คุณสมบัติซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของชาติพันธุ์ "คนไทย" ก็คือ สองมาตรฐานไงครับ พูดอีกอย่างหนึ่งคือการไม่ยอมรับความเสมอภาค การรู้จักที่สูงที่ต่ำ (เช่นการนับถือพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำของ ร.6) การกระจายสิทธิต่างๆที่ต้องลดหลั่นกันลงไปตามแต่ช่วงชั้นทางสังคม
    คุณจะเป็นเจ๊กเป็นจีน เป็นแขกเป็นมอญ เป็นฝรั่งมังค่า เป็นม้งเป็นเย้าอะไรก็ตาม คุณคือ "คนไทย" หากยอมรับว่าความไม่เสมอภาคคือหลักการที่เราจะอยู่ร่วมกันโดยสงบ
    น่าสังเกตุนะครับว่า พฤติกรรมที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า" นั้น มักเป็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับความเหลื่อมล้ำต่างๆ เสมอ"


ปัญหาของ เอกสาร (ศักดิ์) สิทธิ์ ใน “กระบวนการยุติธรรม”
รายงานโดย: กฤษดา ขุนณรงค์ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ที่มาภาพ: เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
http://www.tcijthai.com/citizen-journalist-story/1009

“ถ้าจะพูดกันตรงๆ วันนี้ เรายังยืนอยู่กับกฎหมายที่ยังล้าหลังมากๆ ในการจัดการทางด้านคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะระหว่างความถูกต้อง ถูกกฎหมายของชั้นศาลหรือกระบวนการยุติธรรมกับความเป็นธรรมของคนจนมันไปด้วยกันไม่ได้ มันเหมือนเหรียญคนละด้านที่อยู่ด้วยกัน

 .... ยกตัวอย่างว่าวันนี้มีที่ดินแปลงใหญ่หลายแปลงที่กลุ่มนายทุนเข้าครอบครองอยู่ แต่ได้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานหรือองค์กรภาคประชาชนร่วมกับภาครัฐและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พบว่าการเข้าครอบครองที่ดินของบริษัทหรือเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่นายทุนถือครองอยู่มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลายเป็นว่าในทางกระบวนการยุติธรรมหรือศาลยังไปยอมรับ รับรอง ปล่อยให้กลุ่มนายทุนเอาความไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นมาฟ้องร้องประชาชนโดยที่ไม่ได้มีการตรวจสอบก่อน” (บุญฤทธิ์ ภิรมย์ : ตุลาคม ๒๕๕๓ สัมภาษณ์)


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ออกแถลงการณ์จี้ปล่อยตัวอำพล หรือ 'อากง' ที่ถูกตัดสิน 20 ปีจากการถูกกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นหาเลขาฯ อภิสิทธิ์ ระบุศาลไทย "เป็นที่ที่ไม่อาจหาความยุติธรรม"
http://www.prachatai.com/journal/2011/11/38018


THAILAND: Twenty years in prison for four SMS messages
November 24, 2011
http://www.humanrights.asia/news/ahrc-news/AHRC-STM-180-2011

The Asian Human Rights Commission wishes to express grave concern over this conviction and sentence of a person in Thailand for a crime of freedom of expression -- .  Ampon Xxxxxx has been sentenced to the longest period in prison to date for alleged violations of Article 112 and the 2007 Computer Crimes Act. Particularly given the weak nature of the evidence deployed against him, and the extenuating circumstances of health and age, this case indicates that the Xxxx xxxxxxxxx has become a place where justice is foreclosed and injustice flourishes. When murderers walk free, as they did in the case of the disappearance of Somchai Xxxxxxxx, yet a 61-year-old man can be imprisoned for twenty years for allegedly sending four SMS messages with alleged anti-xxxxxxxx content, it is clear than human rights are in deep crisis in Thailand.

หมายเลขบันทึก: 469824เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2011 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/460308

http://www.mediafire.com/?qqmsqphprpbzjee

บัณฑิต อยู่สุข. "ปมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย." 30 พฤศจิกายน 2554. [Online]. Available URL:
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/469824

ขอบคุณสำหรับบทวิเคราะห์ค่ะ บางส่วนเห็นด้วย บางส่วนเห็นต่าง แต่ชื่นชมวิธีนำเสนอที่ชัดเจน..

ปัญหาความแตกต่าง เหลื่อมล้ำ มีในอเมริกาเช่นกัน

ล่าสุดมหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนีย นักศึกษาออกมาประท้วง

เพราะรัฐเพิ่มค่าหน่วยกิต รวมทั้ง scholarship ลง ชดเชยงบขาดดุล

แต่การศึกษาขึ้นพื้นฐาน ก่อนระดับ collage ไม่โดนกระทบ

ตราบใดสังคมยึดมั่นกันแต่หลัก "ความชอบธรรม" โดยไม่คิดที่จะปฏิบัติตาม "ความเป็นธรรม" แล้วละก็....ลงเอยแบบนี้ครับ ลองวิเคราะห์ข้อเลือกตอบแต่ละข้อดู

-ข้อ ก.เรื่องของชาติกำเนิด เป็นเรื่องที่มาจาก "กรรม" ร่วมกับการ "ปฏิสนธิทางวิญญาณ"

-ข้อ ข.เรื่องของความขยัน อันนี้เป็นเรื่องของศักยภาพในบุคคล ที่ผมเชื่อว่าทุกคนมี แต่ต่างกันที่ ความพยายามที่จะนำสิ่งดีที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้

-แล้วข้อ ค. เป็นเรื่องของอะไร? "ความชอบธรรม" หรือ "ความเป็นธรรม"

"ความชอบธรรม" ในมุมมองของผม คือ ความชอบที่กลุ่มคนส่วนใหญ่กำหนดขึ้นว่าเหมาะสม ซึ่งคนกลุ่มนั้นได้ผ่านการรับรองสมมติบทบาทให้จากคนส่วนใหญ่ ที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนทั้งหมด

"ความเป็นธรรม" ในมุมมองของผม คือ ความเหมาะควรที่มีเป็นธรรมดาอยู่ในธรรมชาติ และธรรมชาติมอบให้กับมนุษย์ทุกคนโดยความเท่าเทียมกันอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันองค์ความรู้ครับผม

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมบีบบังคับประชาชนให้ต้องเลือกสี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท