จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ปรับแผนเพื่อให้บรรลุเป้า


ค่อนข้างจะเป็นบทเรียนในหลายๆ ครั้งของการทำวิจัยปฏิบัติการของผมครับว่า ถึงจะออกแบบกิจกรรมการวิจัยให้มีความรัดกุมแล้ว เมื่อการวิจัยเริ่มขึ้นมักจะหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนกิจกรรมไม่ได้เลยเช่น กัน และรอบนี้สำหรับการวิจัยระบบและกลไกการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ระยะที่ 2 เราก็เจอสถานการณ์ที่ต้องทำให้มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการวิจัยจากแผนเดิม ที่ตั้งไว้เช่นกันครับ อันเนื่องจากวัตถุประสงค์การวิจัยหนึ่งข้อสำคัญคือการขยายผลการนำระบบและ กลไกการประกันคุณภาพฯ  “มีการนำไปปฏิบัติอย่างยั่งยืน” ซึ่ง เดิมทีเราตั้งเป้าว่า เพียงแค่มีโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมการวิจัยกับเราเพิ่มขึ้น เราก็ถือว่าตอบโจทย์ได้แล้ว แต่พอเราทำไปก็พบว่าแค่นั้นน่าจะยังไม่ใช่ ซึ่งทำให้ทีมวิจัยต้องมานั่งคิดวิเคราะห์หาแนวทางใหม่เพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์นี้ได้ชัดเจนที่สุด

 เราวิเคราะห์กันว่า ความยั่งยืนของระบบการประกันคุณภาพภายในอยู่ที่ไหน? คำตอบของเราก็มาจากคำถามถัดไปที่ว่า แล้วกระบวนการประกันคุณภาพภายในจบกระบวนการ ณ จุดใด คำตอบก็มาทันทีครับ คือ การตรวจสอบภายในโดย “หน่วยงานต้นสังกัด” แล้วเราก็เกิดความกระจ่างชัดขึ้นมาทันทีว่า ถ้าจะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบได้ มันก็ต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ควบคุมการนำระบบและกลไกนี้ไปใช้ สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หน่วยงานต้นสังกัดก็คือ สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) นั่นเองครับ ซึ่งความจริงการทำงานทั้งในระยะแรกและปัจจุบันเราทำงานร่วมกับ สช.มาโดยตลอดครับ เพียงแต่ที่รับทราบมาพร้อมๆ กันคือ สช. ก็ออกแบบระบบของเขาอยู่เหมือนกัน ครั้งเมื่อตอนเราเปิดโครงการระยะที่สอง ครั้งนั้น สช.ก็แจ้งให้เราทราบว่า เขากำลังพัฒนาคู่มือการประกันคุณภาพของเขาอยู่ใกล้เสร็จแล้ว ด้วยข้อมูลนั้นเราเลยไม่กลับไปแก้ไขคู่มือประกันที่เคยทำกันในระยะที่หนึ่ง (เพราะถือว่ายังไงๆ รร.เอกชนฯ ก็ต้องใช้ฉบับ สช. แน่ๆ) เราเลยมุ่งมาที่เครื่องมือเพื่อการบริหารจัดการภายในเป็นการเฉพาะ ซึ่งเท่าที่สอบถามก็พบว่า มันช่วยโรงเรียนได้จริง ต้นปีที่ผ่านมา สช.ปัตตานีประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ให้ทีมวิจัยเป็นผู้พัฒนาบุคลากรด้านการประกันคุณภาพ เพียงแต่ที่ทำได้เป็นเพียงการให้ความรู้เบื้องต้น ยังไม่สามารถลงไปสู่การนำระบบและกลไกไปใช้ใน รร. ได้สมบูรณ์แบบ

ด้วยนิยามที่ชัดเจนของการประกันคุณภาพภายในและคำสำคัญที่ว่า “อย่างยั่งยืน” ทำให้ทีมวิจัยเห็นกลุ่มใหม่ที่เราต้องมีการสานความร่วมมือที่เป็นกิจลักษณะ ขึ้นครับ แต่เราก็เจอประเด็นว่า เรายังไม่รู้เลยว่า ระบบและกลไกใดที่ สช.ใช้อยู่กับ รร.เอกชนฯ เพราะที่ฟังโรงเรียนมาเป็นกระบวนการปกติที่ยังไม่ได้มีการสร้างเครื่องมือ เฉพาะเพื่อการประกันคุณภาพ ทีมวิจัยเลยตัดสินใจจะกิจกรรมใหม่ขึ้นมา เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานในการติดตาม กำกับดูแลงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของ สช.ต่อโรงเรียนเอกชนฯ รอบนี้เราเล็งเป้าไปถึงระดับอำเภอครับ เพื่อให้การขยายผลของเรามีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น งานนี้เลยเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 23 พย. 54 ที่ผ่านมา

ผลจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสะท้อนให้เห็นว่า หนึ่งคือ เรามาถูกทาง ระบบและกลไกที่ออกมาแบบน่าสนใจที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนขยายผลต่อ สองคือ สช.พร้อมนำไปใช้ แต่ 1) ต้องมีการพัฒนาบุคลากรของ สช. ให้มีความเข้าใจระบบและกลไกของการวิจัยนี้ก่อน เพราะไม่ใช่จะนิเทศได้อย่างไร ในเมื่อโรงเรียนเข้าใจระบบและกลไกมากกว่า สช.ที่จะเป็นผู้นิเทศ 2) ควรมีการทำบันทึกร่วมระหว่างโครงการวิจัยกับ สช. เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานของโครงการวิจัยฯ และทีม สช.เองก็ทำงานได้อย่างเต็มกำลัง และ สามคือ การประเมินผลความสำเร็จต้องทำให้เป็นรูปธรรม ซึ่งอันนี้แน่นอนอยู่แล้วครับ เพราะมันต้องเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบการวิจัยด้วย

หมายเลขบันทึก: 469266เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2011 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท