ชีวิตที่พอเพียง : 1441. เดินทางไปและกลับจากต่างประเทศในสถานการน้ำท่วม


น้ำท่วมครั้งนี้กระทบชีวิตผู้คนมากเหลือเกิน มันควรเตือนสติเราในเรื่องการวางระบบต่างๆ ในสังคม

ชีวิตที่พอเพียง  : 1441. เดินทางไปและกลับจากต่างประเทศในสถานการณ์น้ำท่วม

สถานการณ์น้ำท่วมสร้างปัญหานานัปการ   ผมอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย   แต่ก็ต้องว่องไว ปรับตัวตามสถานการณ์   จึงนำประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ มาบันทึกไว้   ว่าการเดินทางด้วยแท็กซี่ ก็มีผลกระทบ มาก

คืนวันที่ ๗ พ.ย. ๕๔ ผมโทรศัพท์จองแท็กซี่ให้มารับเพื่อเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา ๕.๓๐ น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๑๖๘๑ เจ้าประจำ   เขาบอกว่าเวลาตี ๕ จะโทรมาแจ้งเบอร์รถ   ผมบอกว่าในระบุในใบงานว่าบริเวณบ้านผมน้ำไม่ท่วม   เพราะเมื่อเช้าวันที่ ๒๖ ต.ค. ไม่มีแท็กซี่ยอมมารับ เนื่องจากคิดว่าน้ำท่วมแถวปากเกร็ด  

เช้าวันที่ ๘ พ.ย. ๕๔ ผมรอจน ๕.๒๐ น. ก็ไม่มีโทรศัพท์มา    จึงโทรไปที่ ๑๖๘๑ ได้รับตอบจากเครื่อง อัตโนมัติว่า “เนื่องจากมีปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ศูนยฯ จึงเปิดทำการระหว่าง ๕.๓๐ ถึง .... น.   ขออภัยใน ความไม่สะดวก”   ผมจึงรีบออกจากบ้าน ไปหารถแท็กซี่ที่หน้าหมู่บ้าน   พอออกไปก็ใจชื้นเพราะมีจอดอยู่ ๑ คัน    แต่พอบอกว่าไปสุวรรณภูมิ เขาก็บอกว่ารถของเขาเก่า วิ่งได้เฉพาะใกล้ๆ    รอคันอื่นดีกว่า ไม่ทันขาดคำรถก็แล่น มาจากในหมู่บ้านเอื้ออาทร    เพิ่งออกมาเป็นเที่ยวแรก   คนขับพูดจาดีมาก ผมจึงจดชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ เรียกใช้    คิดว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินน่าจะเชื่อถือได้มากกว่าแท็กซี่เรดิโอ ๑๖๘๑

ที่จริงเครื่องบินฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ เที่ยวที่ผมเดินทางไปมานิลา เพื่อต่อไปเซบู ออกตั้ง ๙.๓๐ น. แต่ผมวางแผนออกจากบ้านแต่เนิ่นๆ มาก   จึงไปนั่งทำงาน เพราะเคาน์เตอร์เช็คอินยังไม่เริ่มทำงาน  

ตอนนี้คนแปลกหน้าพบกันก็จะทักทายกันด้วยคำถาม “บ้านโดนน้ำท่วมไหม”   ทั้งที่เคาน์เตอร์ของ ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์  และที่ ตม. ผมได้รับคำถามนี้   และคุยกันเรื่องทำไมน้ำไม่ท่วมปากเกร็ดอย่างสนุกสนาน   เจ้าหน้าที่ของฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ (สาวไทย) บอกว่าเขาพูดกันว่าห้างเซ็นทรัลออกเงินค่าใช้จ่ายหนุนเทศบาล ถึง ๓๐ ล้านบาท   ผมจึงเอ่ยว่า ถ้าเช่นนั้น อิมแพ็คท์เมืองทองธานีจ่ายเท่าไร

แปลกมาก ตรงหน้าทางออก D2 มี Wifi ของการบินไทยให้ใช้ฟรี   ผมจึงฉลองศรัทธาด้วยการเอาบันทึก ใน บล็อก council ขึ้นเสีย ๑ บันทึก

แล้วท้องของผมก็ร้องเตือนว่าเช้านี้ยังไม่มีอาหารตกถึงกระเพาะเลย   จึงนึกขึ้นได้ว่าลืมกินข้าวเช้าที่ เตรียมไว้   อารามกังวลเรื่องรถแท้กซี่ทำให้ผมลืมสนิท ทั้งๆ ที่เตรียมใส่ตู้เย็นไว้ตั้งแต่เย็นวาน    จึงต้องไปอุดหนุน ร้านอาหารที่สนามบิน โดยผมเลือกร้านอาหารเอเซีย และสั่งเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วหมู เพื่อจะได้รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร   คำตอบคือไม่เอาไหนเลย   เรื่องอาหารนี้ผมไม่ชอบอาหารฝรั่ง ชอบอาหารไทยมากกว่า เพราะดีต่อสุขภาพ   และถูกปากมากกว่า

เนื่องจากเข้าอินเทอร์เน็ตได้จึงเก็บลิ้งค์ภาพน้ำท่วมมาเก็บไว้ดูด้วยที่

ตอนนั่งแท็กซี่ไปสนามบินสุวรรณภูมิ ผมโทรไปหาสาวน้อยที่คอนโด พญาไทพลาซ่า   เธอบอกว่ายังไม่ แน่ใจว่าวันที่ ๑๑ พ.ย. ที่ผมจะไปรับเธอกลับบ้านน้ำจะไม่ท่วมแถวนั้น   ตอนผมไม่อยู่ สาวน้อยเขาไปนอนที่ คอนโดกับป้าอี๊ดและ “เลขา”  

ขากลับวันที่ ๑๐ พ.ย. ๕๔ ผมเดินทางกับ อ. วิม (ศ. พญ. วณิชชา ชื่นกองแก้ว) แห่งภาควิชาจักษุฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานโครงการปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพใน ประเทศไทย และใน ๕ ประเทศของภูมิภาคเอเซีย  

เรานั่งเครื่องบินสายการบิน Cebu Pacific Airline ซึ่งเป็น low-cost airline  ไปมานิลา   แล้วต่อสายการบินฟิลิปปินส์กลับกรุงเทพ โดยต้องนั่งรอที่สนามบิน ๔ ชั่วโมง   ก่อนหน้านั้นก็ผ่านด่าน การทำงานแบบประสิทธิภาพต่ำ   ทั้งของพนักงานขับรถ shuttle bus ของสายการบิน ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์   ที่ขับรถอ้อมจาก Terminal 3 Domestic ไปส่งสาวก่อน แล้วจึงวนไปส่งเราที่ Terminal C2    และกระบวนการ เช็ก-อินก็ยืดยาดล่าช้า    หย่อนยานไปเสียทุกจุด   ได้มาเห็นที่ฟิลิปปินส์แล้วก็คิดว่ามาตรฐานการทำงานของคนไทย เราสูงกว่ามาก

สนามบินส่วน Terminal C2 เล็กกว่าสนามบินเชียงใหม่   และมีสินค้าปลอดภาษีเป็นร้านเล็กๆ ประมาณ ๑๐ ร้าน   นอกจากนั้นมีร้านขายเครื่องดื่ม ร้านขายฮ็อทด็อก ร้านขายหนังสือ และร้านขายซิการ์บุหรี่และเหล้า ที่เป็นสินค้าพื้นเมือง    ผมเดินไปดูร้านซิการ์ฟิลิปปินส์ รู้สึกว่าน่าจะคุณภาพดี

เครื่องบินเที่ยวนี้ลำเล็ก คือ Airbus 320  ผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งลำ    เดาว่านักท่องเที่ยวคงหลีกเลี่ยงมากรุงเทพเพราะเหตุน้ำท่วม  

เมื่อมาถึงกรุงเทพผ่าน ตม. ออกมาขึ้นรถแท้กซี่ก็โชคดี ได้โชเฟอร์ที่คล่องแคล่วและช่างคุย    ผมรีบบอกเขาว่าที่ปากเกร็ดน้ำไม่ท่วม   เขาบอกว่าเขาเพิ่งไปส่งผู้โดยสารมา   ตอนแรกเขาบอกว่าเขาเป็นคนกรุงเทพ   ระหว่างทางเขาคุยให้ฟังเรื่องการรวมตัวกันของแท้กซี่เพื่อช่วยเหลือกันเองในฐานะคนจน   ให้ไม่ต้องถูกขูดรีดโดยคนรวย และเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน   เขาบอกว่าในปีที่ผ่านมาการลงทุน ๑ แสนบาทของเขา ได้กำไรคืนมากว่า ๘ หมื่นบาท   ผมถามว่าทำไมกำไรดีอย่างนั้น     

เขาบอกว่าเป็นการรวมตัวลงหุ้นหุ้นละ ๑ พันบาท ในหมู่คนขับแท้กซี่ที่คัดเลือกแล้วว่าเป็นคนดี พูดกันรู้เรื่อง    เอามาเป็นทุนให้กู้ยืมและให้บริการต่างๆ แก่แท้กซี่ด้านการซ่อมรถ   ที่ดีกว่า ราคาถูกกว่าในตลาดทั่วไป   โดยคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละสามต่อเดือน   ในขณะที่เขากู้กันทั่วไปร้อยละสิบขึ้นไป   เขาบอกว่านี่คือการช่วยเหลือคนจนโดยคนจน   ผมฟังแล้วก็แนะนำเขาว่า การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือพึ่งพากันนั้นเป็นเรื่องดี   แต่ก็มีเทคนิคปลีกย่อยหลายอย่างที่ต้องระวัง และควรเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์   ผมเอ่ยชื่อครูชบ ยอดแก้ว ปรมาจารย์ผู้ริเริ่มกลุ่มออมทรัพย์ ที่ อ. จะนะ  จ. สงขลา    โชเฟอร์บอกว่า นั่นบ้านเขา 

ผมจึงชวนเขาแหลงใต้   เขาจึงเรียกผมว่า “หลวง” ซึ่งมีความหมายว่าพี่   คุยกันอย่างเพลิดเพลินจนถึงบ้านอย่างไม่รู้ตัว    ตอนผ่านทางด่วนไม่ต้องเสียเงิน

วันรุ่งขึ้นเช้ามืดผมขับรถขึ้นทางด่วนไปรับสาวน้อยและป้าอี้ดที่คอนโดกลับบ้าน   ใช้ทางด่วนโดยไม่เสียเงิน สะดวกสบายเพราะไม่ต้องรอจ่ายเงิน   แต่ขากลับเวลา ๘ น. สังเกตว่ารถบนทางด่วนขาเข้าติดยาวมาก

บ่ายวันที่ ๑๑ พ.ย. ผมขับรถขึ้นทางด่วนไปตึก เอสเอ็ม เพื่อประชุมที่ สสส. จึงรู้รสของทางด่วนยามขึ้นฟรี ว่ารถมันติดแค่ไหน   ตอนค่ำกลับจากประชุมที่สวนจิตรฯ ทางด่วนก็ติดมากเช่นเดียวกัน

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย.​๕๔

หมายเลขบันทึก: 469099เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2011 05:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตอนนี้ภัยหนึ่งของกรุงเทพฯ คือ แท๊กซี่ เพราะชอบขับพาหลง เพื่อให้ได้เงินเพิ่มค่ะ น่ากลัวจริงๆ ถ้าไป กทม คนเดียวแทบจะไม่กล้านั่งแท๊กซี่แล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท