เรียนรู้ ดูเป็น...ในช่วงมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ ตอนจบ


หากเลือกที่จะไม่ไปเป็นผู้อพยพ ก็ต้องเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อม โดยไม่เป็นภาระของผู้อื่น

ตอนที่ ๔

          นอกจากจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือข้าวของต่างๆ แล้ว การปรับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อม

          จากเดิมออกไปไหนมาไหนได้ เปลี่ยนมาเป็นว่า จะใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ในบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง/วัน เป็นเวลาอย่างน้อยๆ ๑ เดือนได้อย่างไร และจะอยู่ในบ้านบนชั้น ๒ กัน ๒ คนตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นเวลาอย่างน้อยๆ ๑ เดือนอย่างไร ซึ่งหากผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติไปแล้ว ถ้าไม่รักกันมากขึ้นอย่างดูดดื่มก็อาจจะเบื่อหน้ากันไปเลยก็ได้

          หาอะไรทำเพื่อใช้เวลาช่วงนี้ไปกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองมากขึ้น เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ คิดงานใหม่ๆ หรือวางแผนเรื่องงานที่ต้องรับผิดชอบ ฝึกทำงานฝึมือหรืองานประดิษฐ์ที่ไม่เคยทำและพอจะจัดหาได้ ฝึกทักษะการร้องเพลง ฝึกการเต้น การออกกำลังกาย เป็นต้น หรือทำอะไรที่เมื่อก่อนนี้เราเคยบอกตัวเองว่า “ไม่มีเวลา”

           สำหรับเพื่อนบ้านในชุมชนเดียวกัน อุทกภัยครั้งนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อแบ่งปันกันมีมากขึ้น ใครหาปลาได้ก็จะแบ่งให้เพื่อนบ้านด้วย บ้านไหนสวนไหนที่ยังพอจะมีผลไม้ออกผล ก็นำมาแบ่งปันกัน ใครไปได้รับถุงยังชีพมาก็จะแบ่งกันไป รวมทั้งแต่ละบ้านก็จะช่วยกันระแวดระวังภัยจากผู้ไม่หวังดีทั้งหลาย เนื่องจากละแวกบ้านผู้เขียน มีบ้านอยู่เพียงไม่กี่สิบหลัง และส่วนใหญ่จะมีผู้อยู่อาศัยทุกหลังคาเรือน แม้ผู้คนในชุมชนจะน้อยลงไป เพราะบางส่วนที่ยังต้องทำงาน หรือทำมาหากิน จึงออกไปอยู่อาศัยด้านนอกแทน เมื่อเห็นสิ่งผิดปกติก็จะช่วยกันดูแลบอกกล่าวกัน

           และสิ่งที่ควรระวังเป็นอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ คือ

          อย่าหวังรอการช่วยเหลือจากใคร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง เพราะไม่ว่าใครก็เข้ามาหาหรือช่วยเหลือเราได้ยากลำบาก

          อย่าหวังรอการช่วยเหลือจาก อบต. หรือหน่วยงานรัฐใดๆ ทั้งสิ้น เพราะผู้เขียนอยู่กับบ้านมาเกือบ ๑ เดือน ยังไม่เห็นหน้า อบต. หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเลยสักคนเดียว

          อย่าหวังรอถุงยังชีพ หรือข้าวของเครื่องใช้เพื่อยังชีพ รวมไปถึงเรือจากใครหรือหน่วยงานไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ หน่วยงานองค์กร หรือแม้กระทั่งสื่อต่างๆ ที่นำเสนอข่าวว่า สื่อของตนเองได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มากมาย ไม่มีทางที่หน่วยงานต่างๆ จากภายนอกจากรู้จักและเข้าถึงพื้นที่ทุกตารางนิ้วได้

          ผู้เขียนไม่ไปขอรับหรือรอรับถุงยังชีพที่มีมาแจกให้กับผู้ประสบภัยเลย เพราะคิดว่า เราพึ่งพาตนเองได้ เราเตรียมข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกินและความเป็นอยู่อื่นๆ ที่พร้อมพอที่จะใช้ชีวิตกับน้ำท่วมได้อย่างสบาย จึงไม่อยากไปแย่งหรือเบียดบังคนอื่น ซึ่งยังมีคนอื่นๆ ที่รอการช่วยเหลือและอดอยากลำบากกว่าเรามากนัก อีกทั้ง เราจะได้ฝึกฝนตนเองที่จะดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความไม่สะดวกสบายกายหลายอย่างให้ได้ด้วย

          ที่สำคัญอย่าคิดว่า เราเป็นทุกข์หรือเดือดร้อน ให้คิดใหม่ว่า ยังมีคนอื่นที่เดือดร้อนมากกว่าเราอีกมากมายหลายแสนคน เราโชคดีแค่ไหนที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านของเราเองได้อย่างมีความสุข 

 

หญิง สคส.

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

 

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 467766เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2011 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท